สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงานเสวนา “NEO HR ROADMAP: การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชน”

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงานเสวนา “NEO HR ROADMAP: การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชน”

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา NEO Academy สถาบันที่จัดสอนเรื่องการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัลสำหรับคนทำงาน ได้จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “NEO HR ROADMAP: การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชน” เพื่อชวนสำรวจเทรนด์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเตรียมพร้อม HR ในการวางกลยุทธ์เพื่อให้บริหารจัดการสร้างองค์กรได้อย่างราบรื่น

HREX ได้เข้าฟังสัมมนาดังกล่าวด้วย แล้วเจอเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง จึงขอสรุปมาให้ทุกท่านได้อ่านกันในบทความนี้

สรุป NEO HR Roadmap: องค์กรราชการ เพราะโควิดช่วยราชการพัฒนาติดจรวด

ในช่วงแรกของงาน เป็นการเสวนาแผนพัฒนาบุคลากรสำหรับองค์กรภาครัฐ โดยมีวิทยากรคือ ดร.ชนะกัญจน์ ศรีรัตนบัลลังก์ ผู้อํานวยการหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.โชติมา สงวนพันธุ์ เวชพร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบราชการ สํานักงาน ก.พ.ร. โดยมีคุณกฤชนันท์ กำปั่นทอง ผู้อํานวยการสถาบัน NEO ACADEMY เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.โชติมา ปูพื้นว่า เทรนด์การทำงานในระบบราชการหลาย 10 ปีที่ผ่านมาอาจดูมีความเชื่องช้า แต่เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากช่วงหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 นี้เอง เพราะวิกฤติที่ทำให้ผู้คนออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ เป็นตัวเร่งให้ระบบราชการ บุคลากร และภาครัฐต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น สามารถให้บริการประชาชนได้ตอบโจทย์มากขึ้น

สิ่งที่กลายเป็นเรื่องใหม่ของราชการในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดก็คือ หน่วยงานราชการอนุญาตให้บุคลากร Work from Home ได้ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น เกิดแพลตฟอร์ม Citizen Portal หรือแพลตฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ สำหรับให้บริการประชาชน ด้วยหลักแนวคิดว่า ถึงจะมีโรคระบาด แต่ราชการต้องสามารถเดินหน้าต่อได้

ดร.ชนะกัญจน์ เห็นด้วยว่าโรคโควิด-19 คือจุดเปลี่ยนเกมที่เห็นได้ชัด ช่วยให้การพัฒนาระบบราชการในไทยดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากอ้างอิงผลการสำรวจ E-Government Survey เมื่อปี 2020 จะพบว่า ประเทศไทยได้อันดับที่สูงขึ้นถึง 16 อันดับ และปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 55 ซึ่งแสดงว่ารัฐเอาจริงเอาจังเรื่องนี้มากขึ้นกว่าในอดีตที่เคยอยู่ในอันดับ 102 

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงานเสวนา “NEO HR ROADMAP: การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชน”

กลยุทธ์การพัฒนาราชการ ต้องสอดคล้องกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

สำหรับกลยุทธ์การพัฒนาราชการหลังจากผ่านยุคโควิด-19 มาแล้ว ดร.โชติมา กล่าวว่าจะเป็นการพัฒนาระบบนิเวศให้มีสภาพการทำงานเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการทำงานวิถีใหม่

รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบราชการ สํานักงาน ก.พ.ร. ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสิ่งที่ขาดหายไปหลังจากหมดวิกฤติโควิดก็คือ มีเพียงไม่มีกี่หน่วยงานราชการเท่านั้นในปัจจุบันที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ได้ ซึ่งเหตุผลสำคัญก็มาจากการที่หลายองค์กรยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่นใดนอกออฟฟิศไร้รอยต่อ

ดังนั้น ก.พ.ร. จึงจะเข้ามาช่วยวางรากฐานในประเด็นนี้เช่นกัน และจะพยายามผลักดันให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความพร้อม 

ไม่เพียงแค่นั้นยังต้องขับเคลื่อนเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานด้วย เพราะราชการยุคปัจจุบัน คนทำงานมีหลายช่วงวัย และมีความถนัดที่แตกต่างกัน บุคลากรในระบบราชการรุ่นใหญ่ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้คุ้นชินกับอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างน้อยเวลาเข้าประชุมออนไลน์แล้วจะสามารถตั้งค่า ตั้งระบบต่าง ๆ ได้เอง เป็นต้น

ดร.ชนะกัญจน์ เสริมว่า บางองค์กรอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ได้ แต่จากประสบการณ์ที่พบเจอมา มีหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง หลายกรม ที่ดูเผิน ๆ อาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงานมาก แต่กลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น กรมชลประทาน หรือศาลปกครอง ที่กำลังขับเคลื่อนให้ข้อมูลและระบบทุกอย่างมีความเป็นดิจิทัล

แสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพลของเทคโนโลยีได้อีกต่อไป หากองค์กรมีความพร้อมด้านดิจิทัลจะช่วยให้ระบบราชการเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

ดร.ชนะกัญจน์ อธิบายเพิ่มว่า นับจากนี้ทุกองค์กรจำเป็นต้องมีความพร้อมทางด้านดิจิทัล 6 ด้าน ซึ่งเป็นโมเดลที่ชื่อว่า DMM ของ TM Forum ดังต่อไปนี้

  1. Customer ความพร้อมในการดูแลลูกค้า (ประชาชน) 
  2. Strategy ความพร้อมในการวางแผนกลยุทธ์ รู้ว่าจะทำงานแบบเดิม หรือใช้ดิจิทัลมาช่วยอย่างไรให้เกิดประโยชน์
  3. Technology ความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี 
  4. Operations ความพร้อมในการปฏิบัติงานจริง
  5. Culture ความพร้อมในวัฒนธรรมองค์กร
  6. Data ความพร้อมในการเก็บข้อมูล

ผู้อํานวยการหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เน้นย้ำว่า HR ในระบบราชการของแต่ละองค์กรอย่าลืมนำหลักเกณฑ์นี้ไปประเมินว่า บุคลากรในองค์กรพร้อมแค่ไหน และเช็คลิสต์เหล่านี้จะบอกได้ทันทีว่าคนของเราพร้อมหรือยัง หรือยังต้องปรับปรุงอะไรอยู่

สรุป NEO HR Roadmap: องค์กรเอกชน เทคโนโลยีคือโอกาสมากกว่าอุปสรรค

สำหรับช่วงครึ่งหลังของงาน เป็นการสัมมนาแผนพัฒนาบุคลากรสำหรับองค์กรภาคเอกชน โดยมีดร.ชนะกัญจน์ ศรีรัตนบัลลังก์ ผู้อํานวยการหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ หัวหน้าสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคล จาก AIS เป็นวิทยากร โดยมีคุณกฤชนันท์ กำปั่นทอง ผู้อํานวยการสถาบัน NEO ACADEMY เป็นผู้ดำเนินรายการเช่นเคย

ดร.ชนะกัญจน์ เล่าภาพรวมว่า ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 องค์กรเอกชนจำนวนมากก็ทุ่มเทการพัฒนาองค์กรด้านดิจิทัลกันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจยังพัฒนาได้ไม่เร็วมากนัก การมาถึงของโรคโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคล้ายคลึงกับการปรับตัวของระบบราชการ

แต่การเตรียมพร้อมคนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลคือประเด็นสำคัญ จากประสบการณ์ของ ดร.ชนะกัญจน์ ที่ช่วยให้คำปรึกษาองค์กรต่าง ๆ พบว่าหลายองค์กรกระตือรือร้นมาก ทั้งการเขียนแผนดิจิทัลขององค์กร และการพัฒนาบุคลากร Hard Skills และ Soft Skills ที่ช่วยให้สามารถทำงานได้หลากหลายขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ ดร.สุพจน์ ให้ทัศนะว่านับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด จนปัจจุบันมีเรื่อง AI หลายคนอาจมองว่าการเปลี่ยนแปลงอาจดูเป็นอุปสรรค แต่จริง ๆ แล้วเขาอยากให้ทุกคนมองว่าเป็นโอกาสมากกว่า เพราะอย่างไรเสีย การเปลี่ยนแปลงสักวันหนึ่งก็ต้องมาถึง บางองค์กรอาจเริ่มต้นไปแล้ว บางองค์กรเพิ่งจะเริ่ม ความสำเร็จของแต่ละองค์กรย่อมมากน้อยไม่เท่ากัน แต่การเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ย่อมดีกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย

ดร.สุพจน์ ยกตัวอย่าง AIS ที่ดูแลและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนโควิด-19 แพร่ระบาด องค์กรปรับระบบการเรียนรู้และการทำงานให้เป็นแบบออนไลน์ พนักงานต้องสามารถเรียนออนไลน์ด้วยตัวเองได้ รู้วิธีการใช้เครื่องมือเข้าประชุมออนไลน์ เช่น Zoom, Google Meet, Microsoft Team ไปจนถึงการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย 

ซึ่งโชคดีตรงที่ AIS พยายามผลักดันแพลตฟอร์มออนไลน์ขององค์กรมาก่อนโควิดพอดี ทำให้เมื่อถึงฤกษ์ได้ใช้งานจริง ก็สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม เขาก็พบความท้าทายอีกว่า พอโควิดซาลง ทุกคนก็โหยหาการกลับมาในห้องเรียนมากขึ้น อยากได้ปประสบการณ์ช่วงก่อนโควิดนั้นกลับมา ขณะเดียวกัน หลายคนก็คุ้นเคยกับการประชุมออนไลน์ไปแล้ว ทำให้ HR ที่ออกแบบหลักสูตรพัฒนาบุคลากรเจอความท้าทายมากขึ้นว่า จะทำอย่างไรดีจึงจะบาลานซ์ทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละองค์กรก็จะต้องนำไปขบคิดและพัฒนาให้เข้ากับองค์กรของตัวเองต่อไป

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงานเสวนา “NEO HR ROADMAP: การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชน”

ทิศทางการพัฒนาบุคลากรเอกชนแห่งอนาคต

สำหรับทิศทางการพัฒนาบุคลากรขององค์กรเอกชนในอนาคต ดร.ชนะกัญจน์ เชื่อว่าจำเป็นต้องวางแผน วางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายขององค์กร โดยสามารถนำโมเดลของ DMM จาก TM Forum ที่เอ่ยถึงไปข้างต้นมาปรับใช้ได้เช่นกัน

เพื่อจะได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า หากองค์กรต้องการเดินหน้าไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ตอนนี้เรามีความพร้อมแค่ไหน พร้อมด้านไหนบ้างแล้ว และมีด้านไหนยังต้องเสริมความแข็งแกร่งอีกบ้าง ซึ่งดร.สุพจน์ เห็นด้วยว่าโมเดลนี้สามารถนำไปใช้งานได้

ไม่เพียงแค่นั้น ดร.สุพจน์ ยังเล่าเสริมในมุมที่ AIS นำมาปรับใช้อีกด้วยว่า AIS เป้าหมายอยากให้บุคลากรมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ดังนั้น HR ก็จะไล่ลิสต์ออกมาเลยว่าพนักงานแต่ละฝ่าย ในแต่ละตำแหน่งงานจำเป็นต้องมีทักษะเรื่องอะไร และควรพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง โดยจะลิสต์ไว้มากสุด 10 อย่างด้วยกัน แล้วเอามาพิจารณาว่าทักษะที่มีนั้นตอบโจทย์เป้าหมายองค์กรอย่างไรบ้าง 

จะทำให้เราจะรู้ว่า ควรเพิ่มและเสริมอะไรให้พนักงาน แล้วถ้าพนักงานไม่อยากเรียนขึ้นมา ก็ต้องมีแผนการรองรับด้วยว่า จะกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้และเติบโตต่อไปเช่นไรด้วย

หากถามว่าเทรนด์การพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปในทิศทางไหนได้อีก ดร.ชนะกัญจน์ ให้คำตอบออกมา 2 มุมด้วยกัน ดังนี้

  1. จะเกิดการทำเทรนนิ่งแบบหวังผลมากขึ้น หมายความว่า เป็นเทรนนิ่งงที่กระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมเอาความรู้ไปช่วยพัฒนาองค์กรได้ทันที ผ่านการเอารางวัลมาเป็นแรงจูงใจ เช่น จัดประกวดโครงการ ที่ช่วยยกระดับองค์กรได้ โดยไม่จำเป็นว่าผลงานของพนักงานจะต้องเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่เลิศเลอ แต่ขอเพียงเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เห็นผลก่อนเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้แล้ว 
  2. ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่แรก และถ้าทำได้ การใช้เงินของ HR เพื่อพัฒนาบุคลากรจะทำให้องค์กรได้กำไรกลับคืนมามากกว่าเดิมถึง 10 เท่า

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง