สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากการอบรม Manager of the Future #1

HIGHLIGHT

  • Manager of the Future Class แรก จัดขึ้นโดย Disrupt Technology Venture เริ่มด้วยการบรรยายของคุณโยโย่ – ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย Head of Digital & Marketing Communications จากบริษัท เงินติดล้อ จำกัด แชร์ประสบการณ์การเป็น Manager ที่ดีว่า การเป็น Manager เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องวุ่นวายกับการบริหารคน แต่หาก Manager รู้วิธีบริหารทีม บริหารคนในการดูแล จะทำให้ทุกคนพร้อมใจกันเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ
  • คุณโยโย่เตือนว่า การเรียนทฤษฎีเรื่องการเป็น Manager ที่ดีนั้นง่าย แต่สิ่งที่ยากคือการนำไปปฏิบัติจริง คนที่จะเป็น Manager ที่เก่ง คือคนที่สามารถปฏิบัติจริง เก่งในการทำงานจริง ไม่แพ้เก่งการวางกลยุทธ์และเก่งตำรา แต่เหนืออื่นใด อย่าลืมมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ด้วย
  • Agile นั้นสำคัญไฉน คุณวอร์ม ติรศักดิ์ วงศ์อหิงสา Senior Agile Coach จาก Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) อธิบายว่า ยิ่งโลกมีความซับซ้อนขึ้น หากองค์กรและผู้นำมี Agile หรือความยืดหยุ่นในการทำงาน จะยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ
  • หลายคนอาจคิดว่า Agile หมายถึงการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเร็ว แต่จริง ๆ แล้ว Agile คือการทำงานด้วยความคล่องตัว และเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำงานต่าง ๆ จนคล่องแคล่วว่องไว ความเร็วก็จะเกิดขึ้นเอง

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากการอบรม Manager of the Future #1

ผู้จัดการ หรือ Manager คือผู้นำที่มีบทบาทต่อองค์กรมาก ในฐานะตัวกลางที่เชื่อมผู้บริหารระดับสูงและพนักงานเข้าด้วยกัน ไม่เพียงแค่นั้น Manager ยังต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อบริษัทบ่อยครั้ง หากองค์กรไหนมี Manager ที่เก่งกาจมากความสามารถ จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

Disrupt Technology Venture ผู้มีประสบการณ์บ่มเพาะผู้นำธุรกิจมากกว่า 3,000 คนทั่วไปประเทศไทย จึงจัดคอร์สเรียน Manager of The Future ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยยกระดับ Manager ให้กลายเป็นผู้นำขององค์กรชั้นยอดแห่งอนาคต โดยแต่ละคลาสที่เรียนจะนำ Speakers ที่มีประสบการณ์ตรง และมีความรู้ครบครับในเรื่อง Leadership, Data and AI, Communication, Coaching และ Innovation มาบรรยายโดยเฉพาะ  

คอร์สเรียน Manager of the Future เริ่มต้นคลาสแรกแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา HREX มีโอกาสเข้าเรียนด้วย ในงานมีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราสรุปมาให้อ่านกันแล้วทางบทความนี้

Manager of the Future ไม่เพียงต้องแม่นทฤษฎี แต่ต้องเก่งปฏิบัติ เก่งการบริหารคนให้เป็น

คลาสแรกเริ่มต้นด้วยการบรรยายในหัวข้อ Transitioning to Manager of the Future โดยคุณโยโย่ – ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย Head of Digital & Marketing Communications จากบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ที่มาแชร์ประสบการณ์ตรงของการขึ้นเป็น Manager ในช่วงเวลาที่เงินติดล้อมีการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายด้าน โดยมีใจความสำคัญดังนี้

คุณโยโย่ เล่าว่า รากฐานของการเป็น Manager ที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ 10 ประการ ประกอบด้วย

  1. มี People Skill รู้วิธีบริหารคน รู้ว่าลูกน้องต้องการอะไร รวมถึงรู้ว่าถ้าเราเป็นลูกน้อง เราเองจะต้องการให้หัวหน้าสนับสนุนอะไรบ้างเช่นกัน
  2. Clear Communication สามารถสื่อสารได้ชัดเจน ให้คำตอบคนในทีมได้เสมอ หากมีข้อสงสัยอะไรระหว่างทาง
  3. Visionary Thinking มีวิสัยทัศน์ และสามารถทำให้ทีมมองเห็นภาพรวมของงานที่ตรงกัน ซึ่งข้อนี้สอดคล้องกับการสื่อสารที่ดี
  4. Adaptability ปรับตัวเก่ง ปรับตัวไว เพราะใครที่ปรับตัวได้เร็วกว่า คนนั้นจะอยู่รอด ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด คือช่วงที่กระตุ้นให้เกิดสิ่งนี้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น Manager ที่ดีต้องอย่าย่อท้อต่อการเปลี่ยนแปลง
  5. มี Empathy สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการมี People Skill ผู้นำควรรู้ว่าเมื่อไหร่ควรฟัง เมื่อไหร่ควรพูด เวลาทำ One on One หรือการคุยกับคนในทีมตัวต่อตัว ซึ่งควรต้องทำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ไม่เพียงใช้เวลานั้นฟังเสียงของคนในทีม แต่ต้องช่วยแก้ปัญหา ช่วยให้เขาสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุขด้วย
  6. Delegation ไม่เก็บงานทั้งหมดไว้ทำคนเดียว แต่ต้องรู้วิธีกระจายงานให้แต่ละคน รู้ว่าจะเลือกใช้ใครเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  7. Continuous Learning อย่าหยุดเรียนรู้ หาโอกาสเปิดโลก เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยการอ่านหนังสือ หรือหากิจกรรมใด ๆ ก็ตาม
  8. Problem Solving รู้วิธีแก้ปัญหาที่ราก เพราะเมื่อคิดจะแก้ปัญหา ก็ต้องแก้ให้ถูกต้อง ทำให้ดีตั้งแต่ขั้นแรก
  9. Decision Making หน้าที่สำคัญของผู้นำคือการตัดสินใจ มิฉะนั้นเพื่อนร่วมงาน รวมถึงทีมจะทำงานต่อไม่ได้ การตัดสินใจจะรอช้าไม่ได้ และต้องตัดสินใจให้ดี ซึ่งการจะตัดสินใจได้ดี เกิดขึ้นจากการมีข้อมูลที่เพียงพอนั่นเอง
  10. Feedback Loop หมั่นขอฟีดแบ็คจากผู้อื่น เช่น ลูกทีม เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร รู้ว่าต้องปรับแก้อะไร เพื่อทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น

จาก 10 ข้อที่ผ่านมาจะเห็นว่า งานของผู้นำ งานของ Manager นั้นต้องเหนื่อยไปกับการบริหารคนมากกว่าเรื่องใด ๆ ทั้งนี้มี 3 สิ่งที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เพื่อให้การบริหารคนเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

  1. Manage Your Personal Energy คนเป็น Manager ต้องหาวิธีบริหารพลังของตัวเอง ถ้ามีพลังด้านบวก มี Passion เสมอ พลังนั้นก็จะส่งไปยังผู้อื่น เติมไฟให้ผู้อื่นด้วย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แสดงความเหนื่อยออกมา คนในทีมก็จะรู้สึกเหนื่อยตามเช่นกัน 
  2. Shift Your Lens รู้จักเปลี่ยนมุมมอง ไม่มองเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแง่มุมร้าย แต่พลิกมุมมอง หาด้านดี ๆ แล้วต่อยอดต่อไป
  3. Find Your Sense of Purpose หาเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนว่า เราตื่นขึ้นมาทำงานในแต่ละวันเพื่ออะไร รู้ว่าจะนำจุดแข็งของตัวเองมาใช้ในการทำงานอย่างไร และจะมีความสุขกับงานได้อย่างไร

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากการอบรม Manager of the Future #1

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณโยโย่เตือนว่า สิ่งต่าง ๆ ที่อธิบายมานี้ถือเป็นเรื่องทางทฤษฎี สิ่งที่ยากก็คือการนำไปปฏิบัติจริง คนที่จะเป็น Manager ที่เก่ง คือคนที่สามารถปฏิบัติจริง เก่งในการทำงานจริง ไม่แพ้เก่งการวางกลยุทธ์และเก่งตำรา เพราะในชีวิตจริงมีความท้าทายที่มากกว่าในตำราเสมอ

Head of Digital & Marketing Communications ยกตัวอย่างประสบการณ์จริงที่เธอรู้สึกว่า เป็นงานที่ทำแล้วเกิดความภาคภูมิใจในการบริหารคน และบริหารงาน นั่นคือช่วงที่ต้องนำ TIDLOR เข้า IPO ในตลาดหุ้น ต้องบริหารจัดการคนครั้งใหญ่ และนำทีมทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนหนึ่งในนั้นคือการทำแอปพลิเคชั่น Tidlor ขึ้นมา แล้วให้บริการลูกค้าผ่าน Chatbot 

เธอเล่าว่ากระบวนการช่วงนั้นเกิดขึ้นก่อนที่โรคโควิด-19 จะมา การทำงานยังไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน เพราะเทรนด์ในขณะนั้นยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง AI เอามาใช้งานแทนมนุษย์ ช่วยทุ่นแรงในการทำงานนัก 

ผลปรากฏว่าพอโควิด-19 อาละวาด หลายองค์กรเจอผลกระทบหลายประการ แต่ เงินติดล้อ กลับไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่คิด ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานล่วงหน้าก่อนใคร ช่วยให้มีผู้ใช้งานแอปฯ สูงมาก โปรแกรม Chatbot ยังช่วยเก็บ Lead ของผู้ใช้งานแทนการใช้มนุษย์ได้มาก คิดเป็นเงินมูลค่าสูงกว่า 6-7 ล้านบาท และช่วยให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากขึ้น 

อีกเรื่องที่คุณโยโย่เน้นย้ำก็คือ Manager ต้องรู้จักอยู่กับปัจจุบัน ต้องรู้วิธีเจรจากับคน รู้วิธีต่อรอง ไม่เพียงแค่นั้นต้องรู้จักตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร การรู้จักนพลักษณ์ (Enneagram) ของตัวเองและผู้อื่น จะทำให้รู้ว่าควรดึงจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้อย่างไร  ใครทำงานกับใครจะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมี Empathy ให้มาก ๆ พร้อมกับย้ำถึงการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็ว เวลาเกิดปัญหา การตัดสินใจเร็ว จะช่วยควบคุม Damage ได้ดีกว่าการปล่อยสถานการณ์ดำเนินต่อไปโดยไม่ควบคุม 

“การเป็นผู้นำต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) อย่าลืมยิ้มเสมอแม้ชีวิตจะบัดซบ ไม่งั้นทุกคนจะเครียดกับเราค่ะ” คุณโยโย่ย้ำกับผู้เรียนทุกคน พร้อมให้กำลังใจให้ทุกคนเติบโตไปเป็น Manager ที่เก่งขององค์กรต่อไป

Agile ไม่ได้เน้นที่ความเร็ว แต่เน้นที่ความคล่องตัวในการทำงาน

สำหรับบทเรียนต่อไปได้รับเกียรติจาก คุณวอร์ม ติรศักดิ์ วงศ์อหิงสา Senior Agile Coach จาก Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) มาให้ความรู้เรื่อง Agile Team Management ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรในปัจจุบัน รวมถึง Manager of the Future ควรต้องมี 

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากการอบรม Manager of the Future #1

ทำไมทุกองค์กรต้อง Agile? คุณวอร์ม มื่อก่อนการทำงานอาจไม่มีความสลับซับซ้อน ความต้องการของคนไม่มีความซับซ้อน แต่พอยุคสมัยการทำงานเปลี่ยนไป บริบทการทำงานก็เปลี่ยนไป ความต้องการของแต่ละคนก็ซับซ้อนขึ้น หากใครต้องทำงานกับลูกค้าก็จะเจอโจทย์ที่มีความซับซ้อนขึ้นขึ้นเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายที่มีหลายขั้นตอนมากขึ้น ทำให้เกิดคำว่า VUCA ขึ้นมา ซึ่งแต่ละตัวอักษะหมายความว่า

  • V- Volatility ความผันผวน สิ่งที่ยากจะคาดเดา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว
  • U-Uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ชัดเจน ยากจะอธิบาย
  • C-Complexity มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ
  • A-Ambiguity มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้

ดังนั้นการจะดำเนินงานในยุคต่อจากนี้ ผู้นำในยุค VUCA จึงจะต้องมุ่งเน้นความยั่งยืน รู้จักใช้อำนาจอย่างสมดุล สร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้คุณค่ากับการดูแลและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงต้องคิดและวางแผนแบบองค์รวม ซึ่ง Agile ตอบโจทย์ในการทำงานอย่างยิ่ง

Agile นั้นบัญญัติขึ้นมาโดยกลุ่มคนทำงานสาย Software Development จำนวน 17 คนที่ร่วมกันคิดกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ขึ้นมา เกิดเป็น Manifesto ในการทำ Agile Software Development เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความคล่องแคล่ว คล่องตัว เดิมทีหลักการของ Agile มีไว้สำหรับงานสายนี้เท่านั้น (Better way of developing software) ก่อนที่ในเวลาต่อมา คนทำงานสายอื่น ๆ เช่น HR รวมถึงสายการเงิน จะนำไปดัดแปลงใช้ต่อด้วย

จุดเด่นของการทำงานแบบ Agile หลายคนอาจคิดว่าต้องทำงานอย่าง รวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วคุณวอร์มอธิบายว่าความคล่องตัวต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด ความรวดเร็วคือสิ่งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น และมันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ หากทุกคนรู้สึกคล่องตัวในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความชำนาญการ

คุณวอร์มเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่เรียกว่า Waterfall กับ Agile ดังนี้

  • Waterfall กระบวนการที่เป็นขั้นตอน ทำ 1 2 3 4 5 จนเสร็จสมบูรณ์ เป็นกระบวนการที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้วิธีการใหม่
  • Agile คือกระบวนการทำงานรอบสั้นๆ ที่คล่องตัวมากขึ้น ได้ฟีดแบ็คเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำจนครบขั้นตอน 1 2 3 4 5 แต่จะทำของชิ้นเล็กลง กระบวนการที่สั้นลง แล้วเอาของที่ออกมาไปรับฟีดแบ็คก่อน เพื่อตรวจสอบว่า ต้องการให้ปรับแก้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนดำเนินการในขั้นตอนที่เหลือ นั่นทำให้ระหว่างทางจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและทดลองสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นเสมออ

ทั้งนี้การทำงานด้วยหลัก Agile ก็มีข้อควรระวังนั่นคือ พอต้องทำงานเป็นรอบสั้นๆ ปัญหาก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยกว่า และเกิดปัญหาเร็วกว่าแบบ Waterfall แต่เมื่อแก้ไขปัญหาได้แล้วก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องเหนื่อยขึ้น กับการต้องไปแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งหมดทีเดียวในขั้นตอนสุดท้าย

ทั้งนี้ วิธีการที่เกิดขึ้นมาจาก Agile ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือ การทำ SCRUM (ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Agile บัญญัติขึ้นมา) และ KANBAN Board ซึ่งบริษัทรถยนต์ Toyota ริเริ่มขึ้นนั่นเอง 

Senior Agile Coach เน้นย้ำว่า องค์กรที่เอื้อให้เกิดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น (Agile Organization) จะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผล ที่แต่ละฝ่ายจะวัด KPI เฉพาะฝ่ายตัวเองไม่ได้แล้ว แต่จะเกิด KPI ใหม่ ที่ไว้ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

ชั้นเรียน Manager of the Future โดย Disrupt ยังมีอีก 4 คลาสให้เรียน เนื้อหาในครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร ติดตามแบบ Exclusive ได้ที่ HREX ที่นี่ที่เดียว

สุดท้ายนี้ คอร์สเรียน Manager of the Future รุ่นที่ 2 เปิดรับสมัครแล้ว เริ่มเรียนวันที่ 5 ก.ค. – 2 ส.ค. 2567 สามารถสมัครได้ทางลิงก์นี้ https://forms.gle/tPeRmed8XsffdFYk7

5 เหตุผลที่ควรใช้ Disrupt Corporate Program เทรนนิ่งยุคใหม่ ที่ช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรอย่างแข็งแกร่งจากภายใน

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง