สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

HIGHLIGHT

  • ผลการวิจัยของ Google พบว่า ผู้นำสำคัญมากต่อการเติบโตขององค์กร และการมี Well-being ที่ดี คนเป็นผู้จัดการที่ดีจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ Inclusive ไม่แบ่งแยกกัน แต่หลอมรวมความเป็นทีมเดียวกัน มองผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง หมั่นสอบถามฟีดแบ็คของคนในทีม หมั่นปรับปรุงตัวเอง ทีมที่มีผู้จัดการยอดเยี่ยม จะทำให้คนในทีมมีความสุขมาก และทำผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • แต่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการทำงานมักเกิดขึ้นเพราะผู้นำไม่รู้วิธีสร้าง Well-Being ไม่รู้วิธีดูแลคนในทีม แต่หากไม่รู้จะทำอย่างไรจริง ๆ ขอเพียงมี Empathy มีความเห็นอกเห็นใจคนในทีม ก็จะช่วยพากันเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
  • อุปสรรคที่ทำให้องค์กรเดินหน้าไปสู่การเป็นพื้นที่ที่ Well-Being ดี ปลอดภัยทางจิตใจของพนักงานไม่ได้ เกิดขึ้นจากความเคยชินของคนในองค์กร หัวหน้ากลัวโดนมองว่าอ่อนแอ จึงต้องพยายามควบคุมทุกอย่าง สร้างความรู้สึกว่าไม่มีใครแข็งแกร่งเท่าตัวเอง ขาดทักษะความรู้ ในการแสดงออกว่าเป็นหัวหน้าที่ดี เข้าใจลุกน้อง แต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกันแน่
  • ดังนั้น องค์กรต้องส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ Well-Being ที่เอื้อทุกคน ทุกหน่วยงานในองค์กรเข้าใจเรื่อง Empathy เมื่อไหร่ทุกคนให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพจิตของพนักงาน มีนโยบาย และการปฏิบัติจริงอย่างเป็นระบบ โดยไม่มีใครต้องมาสั่ง บ่งชี้ว่าเป็นองค์กรแบบ Advanced Level ที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

การใช้ชีวิตและทำงานอย่างมีความสุข สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือต้องมีสุขภาพแข็งแรงดีด้วย แต่ที่ผ่านมาผู้คนจะเน้นดูแลสุขภาพกายเป็นหลัก จนลืมคำนึงว่าสุขภาพใจนั้นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และหากคนเป็นผู้นำในองค์กรตระหนักถึงประเด็นนี้ หมั่นดูแลพนักงาน ดูแลคนในทีมของตัวเองอย่างดี ย่อมส่งผลถึงธุรกิจที่เติบโต และดึงดูดให้ผู้คนอยากมาร่วมงานด้วย

เมื่อช่วงเวลา 14.00-16.00 น. ของวันที่ 29 มิถุนายน 2566 นี้เอง iSTRONG Mental Health จัดเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางสู่การสร้าง Well-Being ของพนักงาน ด้วยการสร้างวัฒนธรรมแห่ง Empathy ผ่านผู้นำ” เมื่อธุรกิจก็ต้องเติบโต แต่เรื่องสุขภาพใจคนก็ต้องดูแล องค์กรจะมีวิธีสร้างผู้นำให้มี Empathy อย่างสมดุลได้อย่างไร

โดยมีคุณพิชาวีร์ เมฆขยาย Head of Corporate Consulting at iSTRONG Mental Health และคุณกฤษฏิ์พล ศุภรัสมิ์ภากรณ์ Performance & Executive Coach เป็นผู้มาบอกเล่าถึงเรื่องสุขภาพจิตที่น่าจะมีประโยชน์ต่อพนักงงานทุกคนไม่มากก็น้อย

หากใครพลาดงานนี้ไป HREX สรุปสิ่งที่ HR และคนเป็นผู้นำควรต้องรู้มาให้แล้ว อ่านรายละเอียดได้เลยในบทความนี้

ช่วยเสริมสร้าง Well-being เสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี คือหน้าที่ของผู้นำ

สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

โลกการทำงานในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตหลายประการ เกิดช่องว่างระหว่างวัย มีการใช้เทคโนโลยีทุ่นแรงในการทำงาน เกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องทำงานกันคนละที่ ไม่สามารถพบเจอหน้ากันได้ และเพราะโรคระบาดนี้เองที่บีบให้คนเจอสภาวะการทำงานที่ยากลำบากขึ้น จนเกิดเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา 

ปัญหาสุขภาพจิต อาจเป็นปัญหาที่ค่อนข้างนามธรรม จับต้องยาก และอ่อนไหว ผู้คนจึงเลือกจะซุกซ่อนมันไว้ไม่ยอมเปิดเผยออกมา แต่สำหรับคนเป็นผู้นำจะต้องพยายามฟังเสียงของพนักงาน ที่เคยไม่ได้ยิน หรือไม่ได้ตั้งใจฟังมาตั้งแต่แรกด้วย เพื่อช่วยปรับปรุงแก้ให้ดีขึ้น

แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ ผู้นำหลายคนเมื่อต้องดูแลคนในทีม กลับไม่รู้วิธีบริหารจัดการเรื่องนี้ว่าควรทำอย่างไร คุณกฤษฎิ์พล แนะนำว่าหากผู้นำไม่รู้จะทำอย่างไร สิ่งที่ทำได้คือต้องมี Empathy มีความเห็นอกเห็นใจคนในทีม รู้วิธีสื่อสารเพื่อประคับประคองจิตใจคนในทีม ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่กลั่นแกล้งกันในทีม การยื่นมือและมอบความตั้งใจดี ๆ ให้กันช่วยพากันเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

ทั้งนี้สถิติที่ทุกคนต่างรู้กันดีก็คือ เวลาพนักงานลาออก สาเหตุมักเกิดขึ้นจากหัวหน้า และเมื่อต้องสูญเสียคนเก่งมากความสามารถ ทำให้ภาระงานของคนในทีมเพิ่มขึ้น ลดจำนวนคน เกิดเป็นปัญหาการทำงานจนขาด Work Life Balance ตามมา

ผู้นำในองค์กร ทุกระดับ ควรเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อนว่า พร้อมสำหรับการทำงานยุคใหม่แล้วรึยัง โดยเปลี่ยนจากผู้นำที่คอยสั่งให้คนทำตาม เป็นพยายามโน้มน้าว จูงใจพนักงานให้เข้าใจว่า ทำไมควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เลิกวางตัวเป็นเจ้านาย แต่มองตัวเองเป็นเมนเทอร์ เปลี่ยนจากการเป็นหัวหน้าที่ไม่มีคนกล้าวิจารณ์ กลายเป็นคนที่พร้อมโอบรับฟีดแบ็ค ควบคุมลดอารมณ์ให้เป็น หันมาใส่ใจความรู้สึกของพนักงานมากขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้นำพร้อมสำหรับการทำงงานยุคใหม่แล้ว

หากผู้นำไม่ยอมปรับเปลี่ยนเสียที จะทำให้พนักงานเครียดขึ้น ความผูกพันในองค์กรน้อยลง การลาออกสูงขึ้น สุขภาพจิตใจพนักงานย่ำแย่ จะพบเจอพนักงานป่วยเป็นโรคแปลก ๆ เช่น ไทรอยด์ ซึ่งมักจะเกิดกับพนักงานผู้หญิงที่โดนกดดันตลอด ตามมาด้วยผลงานย่ำแย่ เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานลดลง และเมื่อปัญหาไปถึงขีดสุด มันย่อมส่งผลเสียต่อผู้นำเองด้วย

คุณสมบัติของผู้จัดการที่ดี การสร้าง Well-being ต้องมี Empathy

Google เคยทำวิจัยว่า พบว่าทีมที่มีผู้จัดการที่ยอดเยี่ยม จะมีความสุขมากกว่า และทำผลงานได้สูงกว่า 

แต่อะไรคือปัจจัยที่ทำให้หัวหน้างานเป็นหัวหน้าที่ดี คำตอบก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ Inclusive ไม่แบ่งแยกกัน แต่หลอมรวมความเป็นทีมเดียวกัน มองผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง หมั่นสอบถามฟีดแบ็คของคนในทีม หมั่นปรับปรุงตัวเอง คือปัจจัยที่ช่วยสร้างหัวหน้า และสภาพการทำงานที่ดีต่อใจทุกคนได้

การใช้ Empathy จะมีผลต่อทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในระยะสั้น จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจ เพิ่มความปลอดภัยทางใจ ปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน ส่วนในระยะยาวจะช่วยให้เพิ่ม Productivity ลดการเทิร์นโอเวอร์ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในผลงานมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากต้องการ

“แต่ผู้นำหลายคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังสร้างสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยทางจิตใจตลอดเวลา เขาอยากได้ผลระยะยาว แต่กลับพยายามจะทำแต่ระยะสั้น จนความปลอดภัยต่อจิตใจไม่เกิดขึ้นจริง”

สำหรับคุณสมบัติของผู้นำที่มี Empathy สามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้ 

1.มีความสามารถในการรู้สึกแบบเดียวกับที่คนอื่นรู้สึก หัวหน้าที่น้ำตาคลอเวลาฟังลูกน้องเล่าประสบการณ์แย่ ๆ ในการทำงาน หัวหน้าที่ใช้ใจฟัง รับรู้ความรู้สึก ไม่คิดแต่ว่าจะแก้ไขลูกน้องอย่างไร ไม่โทษลูกน้องที่ตกอยู่ในสภาวะนั้น ไม่เผลอสร้างความรู้สึกด้านลบให้เพิ่มเติม 

2.มีความสามารถในการเข้าใจมุมมองของคนอื่น รับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน พยายามคิดตามว่าลูกน้องกำลังคิดอะไร พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในมุมนั้น เวลาฟังแล้ว หัวหน้าบอกว่า “พี่เข้าใจ” โปรดระวังว่าตัวเองเข้าใจจริงหรือไม่ เข้าใจตรงกับเขาหรือไม่ ถ้าเข้าใจกันจริง ๆ รู้ใจกันจริง ๆ จะเกิดเป็นการทำงานในทีมอย่างมีทีมเวิร์คตามมา

3.มีพฤติกรรมช่วยเหลือดูแลผู้อื่น คิดเสมอว่าจะช่วยเหลือลูกน้องอย่างไรได้บ้าง ถ้ายื่นข้อเสนอว่าจะช่วยแล้วก็ต้องช่วยจริง ๆ ลงมือแก้ไขปัญหาจริง ๆ และจะไม่ยืนรอให้เกิดปัญหา แต่จะเดินเข้าไปสำรวจว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวในที่ทำงาน มีสิ่งใดที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างเร่งด่วนบ้าง

สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

อุปสรรคที่ทำให้การเปลี่ยนแปลง สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อ Well-being ดีต่อใจเกิดขึ้นได้ยาก

หลายองค์กรพยายามทำสิ่งดี ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แต่มี 7 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเดินไปถึงจุดนั้นได้ ดังต่อไปนี้

1.ความเคยชิน คุ้นชินแต่วิธีการเดิม ๆ ไม่เคยใช้วิธีการใหม่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ

2.กลัวที่จะโดนมองว่าอ่อนแอ กลัวการโดนด่า กลัวลูกน้องอู้งาน เลยต้องหาวิธีที่จะกำกับ ควบคุมทุกอย่างให้ทุกคน และสร้างความรู้สึกว่าไม่มีใครแข็งแกร่งเท่าตัวผู้นำเอง

3.ผู้นำขาดทักษะความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการแสดงออกว่าเป็นหัวหน้าที่ดี บางคนอาขเข้าใจลูกน้อง แต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกันแน่เพื่อช่วยแก้ปัญหาคาใจ

4.วัฒนธรรมองค์กรอ่อนแอ ผู้นำอ่อนแอ

5.ยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ ที่ได้ผลในระยะสั้น ทำแล้วคิดว่าได้ผลดีตลอด จึงนำกลับไปสู่พฤติกรรมเดิม ๆ เสมอ

6.ถูกปลูกฝังจากผู้นำแย่ ๆ ในอดีต และไม่มีผู้นำที่ดีเป็นแบบอย่างให้เรียนรู้

7.เข้าใจผิดว่าเวลาลูกน้องให้คำแนะนำคือการโดนดูถูก เพราะผู้นำไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความสามารถ จึงต้องพยายามเผยด้านร้าย ๆ เพื่อโชว์ภูมิใส่ลูกน้อง

สุขภาพกาย ใจ สังคม การเงิน ปัจจัย 4 นำสู่สภาพการทำงานที่ดี Well-being แข็งแรง

หากองค์กรใกต้องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ต้องคำนึง 4 ด้านเหล่านี้ มิฉะนั้นจะไม่อาจสร้างความสุขในระยะยาวได้ และเป็นการดูแลที่ครอบคลุมทุกวงจร ดังนี้

1.สุขภาพกาย องค์กร ผู้บริหาร สามารถช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงานได้ ด้วยการให้สวัสดิการหลายอย่าง เช่น ประกันสุขภาพ แอปพลิเคชั่นดูแลสุขภาพกาย ส่วนลดเข้าฟิตเนส แต่ต้องคำนึงด้วยว่า ถ้าให้สวัสดิการดีแค่ไหน หากต้องทำงานโดยไม่มี Work Life Balance ก็พร้อมจะทำให้คนลาออกได้เสมอ

2.สุขภาพใจ หากพนักงานทำงานจนเบิร์นเอาท์ องค์กรควรพิจารณาว่าสามารถสร้างระบบช่วยจัดการความเครียดหรือไม่ สามารถโทรนัดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา จัดเป็นโปรแกรมพื้นฐานได้ไหม ถ้าได้จะช่วยแบ่งเบาภาระหัวหน้างานหรือ HR ด้วย เพราะบางครั้งพนักงานอาจไม่สะดวกใจที่จะคุยกับหัวหน้าหรือ HR เท่ากับคุยกับผู้เชี่ยวชาญ 

3.ความสัมพันธ์ทางสังคม สร้างวัฒนธรรมการเห็นอกเห็นใจ ให้ทุกคนรู้สึกว่ามีใครสักคนที่ช่วยรับฟังได้ พูดอะไรไปไม่โดนด่ากลับมา สร้างความรู้สึกให้พนักงานรู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พร้อมที่จะมาทำงานอย่างมีความสุข 

4.สุขภาพการเงิน เมื่อให้เงินเดือนพนักงานเยอะแล้ว อย่าลืมให้ความรู้การบริหารจัดการด้านการเงิน ให้พนักงานรู้จักใช้เงินอย่างฉลาด รู้จักบริหารเงินได้ทั้งเดือน มีแผนการเกษียณชัดเจน ไม่กู้นอกระบบ เพราะถ้าการเงินมีปัญหา จะสะท้อนกลับมายังปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย ส่งผลให้ทำงานอย่างไม่มีความสุข

สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

10 วิธีสร้าง Well-being Ecosystem ช่วยผู้นำและพนักงานมองเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพใจที่ดี

หลายคนอาจคิดว่า การส่งเสริมให้เกิดสุขภาพใจที่ดีต่อองค์กร แค่จัดเทรนนิ่งอย่างเดียวก็พอ แต่จริง ๆ แล้วถ้าต้องการให้เกิดผลดี ต้องดูแลทั้งองคพยพ สร้าง Ecosystem ขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบ 10 อย่างดังต่อไปนี้

1.Leadership Commitment หัวหน้า นายใหญ่ต้องเป็นตัวตั้งตัวตี สื่อสารกับพนักงาน ผลักดันให้เกิดสุขภาพที่ดีในองค์กรด้วยตัวเอง

2.Policies & Procedures วางนโยบายดูแลสุขภาพจิตที่ยั่งยืน เป็นระบบ HR สามารถขับเคลื่อนประเด็นนี้พร้อมผู้บริหารได้

3.Mental Health Education ฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถ ทำให้รู้ว่าอาการแบบไหนบ่งบอกว่าเครียดมาก เบิร์นเอาท์ ซึมเศร้า เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลและประเมินตัวเองได้

4.Employee Assistant Program เรื่องเฉพาะทางบางเรื่อง อาการวิตกกังวล อาจต้องให้พนักงานคุยกับผู้เชี่ยวชาญ องค์กรควรมีโปรแกรมเหล่านี้เพื่อมอบให้พนักงานด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาที่หัวหน้างาน หรือ HR สามารถแก้ได้เสมอไป

5.Work Life Balance หมั่นตรวจสอบว่า พนักงานต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีเวลาใช้ชีวิตเพื่อตนเองหรือไม่ อย่าบีบเค้นพนักงานจนหมดเรี่ยวแรงในการดูแลตัวเองหรือดูแลคนสำคัญในชีวิต

6.Empathic Leader สนับสนุนให้หัวหน้างานคุยงานด้วยความเข้าอกเข้าใจลูกน้อง ระมัดระวังในการใช้คำพูด

7.Open Communication คุยกันแบบเปิดเผยได้ พนักงานสามารถฟีดแบ็คกับหัวหน้าได้ โดยไม่กลัวเกรง พนักงานเข้าถึงช่องทางให้ฟีดแบ็คได้ และสามารถใช้อย่างเกิดประโยชน์

8.Culture of Empathy สร้างวัฒนธรรมในความเข้าอกเข้าใจ รับฟังกัน ไม่ใช่มีคนเสียงดังกว่าแล้วชนะ 

9.Measure of Evaluate การวัดผลด้านจิตใจอาจทำได้ยาก แต่เป็นหน้าที่ของ HR และหัวหน้าทีมที่จะต้องหาทางวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลข พิสูจน์ข้อมูลให้ได้ว่า วัดผลแล้วช่วยให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง ไม่ได้เป็นวิธีนามธรรม

10.Promote Positive Mental Health ถ้าพนักงานทำดีต้องได้รับคำชมเชย ได้เครดิต การชมเชยแม้เพียงเรื่องเล็ก ๆ จะช่วยให้วันนั้นกลายเป็นวันที่สดใสสำหรับพนักงานได้แล้ว 

4 ระดับขององค์กรที่มี Well-being Empathy องค์กรของคุณอยู่ในระดับไหน ?

มาดูกันว่าองค์กรของคุณตอนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตใจของพนักงานแค่ไหน โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ระดับได้ดังต่อไปนี้

1.Ignored Level

วัฒนธรรมองค์กรที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญเลย นอกจากนั้นยังทำตรงข้าม ด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมแย่ ๆ ไม่มีการให้ความรู้ที่ถูกต้อง เล่นเกมการเมืองภายใน ไม่มีใครคอยห้ามปรามกัน และมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

2.Fundamental Level 

เริ่มพูดถึงการสื่อสารเชิงบวก รับฟัง ผู้นำรับฟัง แต่อาจยังไม่มีความเป็นรูปธรรม มีเทรนนิ่งบ้าง จัดการความเครียด แต่อาจยังไม่เป็นระบบระเบียบดี เทรนนิ่งแล้วไม่มีการวัดผล ลูกน้องฟีดแบ็คตรงไปตรงมาไม่ได้

3.Developed Level

หัวหน้า ลูกน้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ แม้จะไม่ใช่ทุกทีมที่ทำ มีคนที่เริ่มทำมากขึ้น อินกับเรื่องนี้มากขึ้น มีการเทรนเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีโปรแกรมดูแลสุขภาพใจ เช่น ศิลปะบำบัด มีช่วงเวลาให้พนักงานสื่อสารกลับถึงหัวหน้าได้

4.Advanced Level 

ทุกคนในองค์กรเข้าใจเรื่อง Empathy ทุกหน่วยงานมี Empathy และนำไปใช้ช่วยทำให้ลูกค้ามากขึ้น เป็นวิถีปฏิบัติที่ไม่มีใครต้องมาสั่ง แต่ทุกคนมองเห็นความสำคัญ มีนโยบาย และการปฏิบัติจริงอย่างเป็นระบบ

สรุป

สุขภาพใจสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสุขภาพกาย หากคนเป็นผู้นำในองค์กรตระหนักถึงประเด็นนี้ หมั่นดูแลพนักงาน ดูแลคนในทีมของตัวเองอย่างดี ย่อมส่งผลถึงธุรกิจที่เติบโต และดึงดูดให้ผู้คนอยากมาร่วมงานด้วย เริ่มตั้งแต่วันนี้ แล้วจะนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ทุกคนอยากร่วมงาน และทำงานแล้วเปี่ยมด้วยความสุข

หากผู้อ่านและผู้ฟังเสวนาท่านใด ต้องการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม รวมถึงต้องการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://www.istrong.co

สรุปเสวนา iSTRONG สร้าง Well-Being ให้พนักงานได้ ผ่านผู้นำที่มี Empathy

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง