สรุปสัมมนา “Employee Financial Wellbeing สิ้นเดือนไม่สิ้นใจ HR และองค์กรควรทำอย่างไรเพื่อสร้างความสุขและสวัสดิภาพทางการเงินให้กับพนักงาน” 

HIGHLIGHT

  • ปัญหาเรื่องการเงินของพนักงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสุขและประสิทธิภาพการทำงาน หากเราจัดการปัญหานี้ได้ องค์กรของเราก็จะแข็งแรงขึ้น
  • องค์กรจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพการเงิน เพื่อให้พนักงานรู้จักเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสิ้นใจตั้งแต่ยังไม่สิ้นเดือน เพื่อวางแผนด้านการเงินอย่างยั่งยืน
  • คำว่า HR คือคำว่าการบริหารทรัพยากร “มนุษย์” หากพนักงานมีปัญหาหนี้สิน พวกเขาจะกลายเป็นคนที่ทำงานเพื่อใช้หนี้ เพื่อเอาตัวรอด ไม่ได้คิดถึงเรื่องอนาคตเลย
  • ปัญหาเรื่องการเงินของพนักงาน จะส่งผลกระทบใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ปัญหาด้านคุณภาพการทำงาน, การเพิ่มอัตราลาออก และการทำลายภาพลักษณ์ขององค์กร
  • Red Flag ที่ชัดเจนที่สุดก็คือตอนที่ HR ได้รับหมายศาล, ได่รับคำขอใบรับรองเงินเดือนอยู่บ่อย ๆ หรือสอบถามเรื่องการเพิ่มเงินเดือนอยู่ตลอดเวลา

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา HREX.asia ได้เข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง “Employee Financial Wellbeing สิ้นเดือนไม่สิ้นใจ HR และองค์กรควรทำอย่างไร เพื่อสร้างความสุขและสวัสดิภาพทางการเงินให้กับพนักงาน” สัมมนาสำหรับชาว HR และผู้ที่สนใจเรื่องการเงินของพนักงาน

ทั้งนี้เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน และสภาพสังคมในปัจจุบัน อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องเจอทางตัน อัางอิงจากผลสำรวจของสถาบันสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2564 คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 205,679 บาทต่อครัวเรือน ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 328,224 บาทต่อปี และมีรายจ่ายเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 259,392 บาทต่อปี 

ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วทุกหย่อมหญ้า และเมื่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในช่วงวัยทำงาน องค์กรหลาย ๆ แห่งจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสัมมนานี้จะมอบทางออกและแนวคิดในแง่บวกให้กับทุกคน

สัมมนานี้มีผู้ร่วมบรรยายคือ “มาดามฟินนี่” พนิดา ชูกุล จากเพจ Money-More-Fin และผู้เขียนเรื่อง “เก็บเงินแสนแรก จะต้องทำให้ได้!” ในที่นี้ HREX.asia ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากสัมมนานี้ไว้เป็นที่เรียบร้อย สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่

สรุปสัมมนา

ไม่ว่าใครก็อยากให้องค์กรเติบโต แต่จะทำอย่างไรหากปัญหาการเงินของพนักงาน กลายเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการเติบโตขององค์กร จนไปลดทอนศักยภาพในการแข่งขัน ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นองค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีรากฐานด้านการบริหารเงินของพนักงานที่แข็งแรง

เราเริ่มสัมมนานี้ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมองค์กรต้องสนใจปัญหาการเงิน ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวของพนักงาน ? มาดามฟินนี่กล่าวว่าเราต้องย้อนกลับไปมองพื้นฐานก่อนว่า HR คือการบริหาร “ทรัพยากรมนุษย์” ดังนั้นหากพนักงานมีปัญหาการเงิน เราก็จะไม่สามารถใช้งานมนุษย์คนนั้นได้อย่างเต็มที่ ลองจินตนาการดูว่าหากเราโดนทวงหนี้ทุกวัน ไม่มีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยตามความเหมาะสม เราก็คงไม่มีความสุข ไม่มีอารมณ์ไปทำเรื่องอื่น เพราะชีวิตเขาจะเปลี่ยนจากการทำงานเพื่ออนาคต กลายเป็นการใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอด (Survival) เท่านั้น 

เรื่องเงินของพนักงานจะกระทบต่อ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

– กระทบต่อ Performance : พนักงานจะหลุดโฟกัส เกิดการขาดงาน ทำงานไม่เต็มที่ เสียสุขภาพและสุขภาพจิต

– กระทบต่ออัตราการลาออก (Turnover Rate) : พนักงานจะลาออก ทั้งเพราะความเครียด หรือเพื่อหนีภาระหนี้สิน

– ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร : เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดทุจริต ทำให้ธุรกิจเสียทั้งผลประโยชน์และชื่อเสียง

มาดามฟินนี่กล่าวว่า ปัญหาการเงินสามารถเปลี่ยนคนดีเป็นคนไม่ดีได้ และปัญหานี้มักเกิดจากคนที่ไว้ใจกับคนที่อยู่ในองค์กรมานาน เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความเข้าใจว่าจุดอ่อนของบริษัทอยู่ตรงไหน สามารถทำเงินได้จากตรงไหน ดังนั้นองค์กรจึงต้องบริหารจัดการให้ดี มีการตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของพนักงานให้มากที่สุด ดังนั้น HR ต้องปรับมุมมองของตัวเอง

เพื่อให้เข้าใจว่าปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้จริง ๆ สิ่งที่เราต้องทำก็คือการทำให้พนักงานรู้ว่าเราเข้าใจและยินดีหาทางช่วย ต้องมี Growth Mindset เพื่อให้พนักงานสามารถขอคำปรึกษาได้แบบเป็นเรื่องปกติ ในที่นี้ HR จำเป็นต้องติดตามผล (Follow-Up) อยู่ตลอดเวลา

เธอกล่าวว่าาเมื่อได้เงินเดือนมา เราต้องรู้ว่าเงินของเรา “ไปไหนบ้าง” และ “ไปที่ไหนก่อน” การตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้เราบริหารจัดการเรื่องเงินได้ดีขึ้น โดยความเข้าใจผิดของพนักงานของปัจจุบันคือการทำธุรกิจโดยการมองเรื่องการ “กู้ให้ผ่าน” มากกว่าการ “ผ่อนให้ไหว” ซึ่งอัตราที่ถูกต้องคือไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ โดยเราสามารถสรุปสาเหตุการเกิดปัญหาการเงินส่วนตัวได้ดังนี้

การขาดความรู้ในหัวข้อต่อไปนี้

  • การจัดการเงิน ทำงบประมาณ
  • ขั้นตอนวางแผนการเงิน
  • การจัดการหนี้
  • การวางแผนภาษี
  • การลงทุน
  • ไม่มีทางเลือก

นิสัยและพฤติกรรม

  • ไม่มี Mindset ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเงิน
  • เป็นคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
  • ไม่วางแผนทางการเงิน
  • ไม่มีความสามารถในการรับมือและแก้ปัญหา
  • ไม่มีความรับผิดชอบและไม่รู้จักวางแผนงานในระยะยาว

ปัญหาจากคนใกล้ชิดและภาระส่วนตัว

  • ปัญหาจากครอบครัว
  • คนใกล้ชิดที่ส่งเสริมกันในทางที่ผิด

เพื่อให้สังเกตได้ง่ายขึ้น เราต้องสังเกต Red Flag ที่จะบอกกับเราว่าพนักงานในองค์กรกำลังมีปัญหาเรื่องการเงิน โดยมาดามฟินนี่กล่าวว่าพนักงานที่มีลักษณะดังกล่าวจะมีปัญหาเรื่องผลงานที่ตกต่ำลง, มีความกังวล, มีความเครียด, เกิดการยืมเงินของเพื่อนร่วมงาน จนส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม โดยสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดก็คือตอนที่ HR ได้รับจดหมายทวงหนี้, หมายศาล หรือคำขอจดหมายรับรองเงินเดือน

สิ่งที่บริษัททำได้มากที่สุดก็คือการให้ความรู้ (Proactive & Prevent) เช่นการทำ Training และ Workshop อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่คนส่งเสริมเรื่องการจัดการเงิน โดยอาจเป็นการจัดกิจกรรม, มอบรางวัล, สร้าง Role Model หรือกำหนดนโยบายที่สนับสนุนการออมเงิน, ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากเราสร้างองค์กรให้ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ เราก็จะได้องค์กรที่แข็งแรง เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขแน่นอน

5 เหตุผลที่ต้องใช้บริการ FutureSkill For Business

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง