สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา NEO ACADEMY ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คุณได้อัปเดตเทรนด์และเพิ่มเคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานให้หลากหลายครบเครื่อง (Multi-Skills) มากกว่าที่เคย งานเสวนานี้ดำเนินงานโดยคุณอติชาต วงศ์วุฒิวัฒน์ และได้ผู้ร่วมเสวนาชั้นนำจากหลายหน่วยงานประกอบด้วย

1. สหธร เพชรวิโรจน์ชัย : Manager of HREX.asia แพลตฟอร์มที่สนับสนุนการทำงานของ HR ทั้งคอนเทนต์ เว็บบอร์ด และเว็บค้นหา HR Products & Service

2. ชุติมา สีบำรุงสาสน์ : ที่ปรึกษาอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและบริหารงานบุคคล อดีต Chief Human Resources Officer EVP, Gulf Energy Development Public Company Limited

3. ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์ : อดีตผู้ประกาศข่าว MCOT ผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA เครือข่ายออกแบบพัฒนาเมือง นักเรียนทุนชีฟนิ่ง รัฐบาลอังกฤษ​ มหาวิทยาลัย London School of Economics

เสวนา : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

คุณสหธร เพชรวิโรจน์ชัย กล่าวว่าปัจจุบันการมีทักษะหลากหลายถูกมองเป็นเรื่องสำคัญกว่าเดิมถึง 85% หากเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักอย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ทำให้โลกการทำงานเปลี่ยนไป เกิดกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานที่องค์กรจำเป็นต้องหาคนมาทดแทนพนักงานและองค์ความรู้ที่ขาดหายไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการมีทักษะหลายอย่าง (Multi Skills) กับการทำหลายอย่าง (Multi Tasking) มีความหมายต่างกัน แต่ก็เป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมกัน พนักงานควรมีทักษะทั้งสองประเภท เพราะถ้าเราเป็นคนที่มีความรู้เยอะ แต่บริหารจัดการงานพร้อมกันไม่ได้ ความรู้นั้นก็จะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับถ้าเรามีทักษะบริหารงานดีเยี่ยม แต่ไม่มีความรู้ในหัวมาให้จัดการก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอยู่ดี

Multi Skills ทำไมพนักงานต้องมี นายจ้างต้องการ ?

ดังนั้นองค์กรยุคใหม่จึงแสวงหาพนักงานที่ทำได้หลายอย่างในลักษณะของคนที่เป็น “เป็ด” อธิบายเพิ่มเติมได้ว่าเมื่อ “อัตราความต้องการลาออกของพนักงาน” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงไปถึง 60% องค์กรก็เลือกหันมาโฟกัสที่ความสามารถมากกว่าจำนวนคน พวกเขาอยากจ้างพนักงานจำนวนน้อยลง แต่ได้องค์ความรู้เท่าเดิม ตลอดจนการพัฒนาพนักงานที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งพร้อมรับมือกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น กลยุทธ์นี้ต้องตามมาด้วยการพิจารณาค่าตอบแทนกับสวัสดิการที่เหมาะสมซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของ HR 

ผู้บรรยายเน้นย้ำว่าทักษะทุกอย่างมีวันหมดอายุ ดังนั้นทักษะที่เราชำนาญที่สุดอาจกลายเป็นสิ่งไร้ค่าเมื่อเวลาผ่านไป เราจึงควรเปลี่ยนตัวเองให้รู้รอบด้านขึ้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องรู้ลึกเท่าเดิม แต่ก็ขอให้มีข้อมูลสำคัญมากพอให้สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ที่มีได้อย่างเป็นรูปธรรมก็พอ เรียกได้ว่า Multi Skills คือภาพสะท้อนของการปรับตัวภายในองค์กรยุคปัจจุบันนั่นเอง

การปรับตัวสำคัญอย่างไร ? มีรายงานจาก World Economic Forum ว่ามนุษย์มีโอกาสถูกแย่งงานโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายในปีค.ศ.2025 แต่แทนที่เราจะมานั่งกังวล ผลสำรวจก็เผยว่าจะมีงานใหม่ ๆ ถึง 133 ล้านประเภทที่จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งล้วนเป็นงานที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นงานที่เกิดขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างแม่ค้าออนไลน์, พนักงานควบคุมโดรน, วิศวกรรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ หน้าที่ของพนักงานจึงเป็นการหาความรู้ให้มากขึ้นโดยเร็วที่สุด ขณะที่องค์กรก็ต้องวางแผนจัดอบรมเพื่อยกระดับทีมให้ได้เช่นเดียวกัน

เราสามารถสรุปได้ว่า Multi Skills คือ The Way of Life หรือวิถีชีวิตใหม่ที่ทุกคนต้องมีหากต้องการเติบโตในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

ขณะที่คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ กล่าวว่า โลกกันทำงานกำลังเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดและมีผลวิจัยที่พบว่างานถึง 60% ที่เกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21 จะใช้ความรู้เพียง 20% จากที่เรามีในปัจจุบัน โดยทักษะที่จำเป็นในอีกสามปีนับจากนี้มีอยู่ 10 หัวข้อ ประกอบไปด้วย

  1. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking & Innovation)
  2. การวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ (Learning Activities & Learning Strategies)
  3. การแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน (Complex Problems Solving)
  4. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
  5. การมีความคิดสร้างสรรค์, ความคิดริเริ่ม และความเป็นต้นแบบ (Creativity, Original, Initiative)
  6. การเป็นผู้นำในสังคม (Leadership & Social Influence)
  7. การใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ (Technology Uses, Monitoring, Control)
  8. การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเขียนโปรแกรม (Technology Design & Programming)
  9. การมีความยืดหยุ่นและรับมือกับความเครียดได้ดี (Stress Tolerance & Resilience)
  10. การแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล (Reasonable Problem Solving)

จากทักษะเบื้องต้นนี้ กล่าวได้ว่าเคล็ดลับความสำเร็จที่องค์กรต้องมีคือการแบ่งระยะการทำงาน (Framework) เป็น 3 ช่วง คือตั้งเป้าหมาย (Purpose) ลงมือทำ (Action Plan) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Outcome) ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยากได้ปลายทางแบบไหน จะเน้นความสำเร็จในระยะสั้นด้วยผลกำไร หรือสร้างองค์กรที่ยังยืนเพื่ออนาคต สิ่งแรกที่องค์กรต้องลงทุนก็คือการพัฒนาทรัพยากรคนให้พร้อมกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม

วิธีพัฒนาบุคลากรเบื้องต้นคือการหาคำตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่าทักษะที่สำคัญต่อองค์กรที่สุดคืออะไร จากนั้นก็ค่อยวางแผนว่าต้องใช้วิธีใดบ้างที่จะทำให้พนักงานก้าวไปสู่จุดที่เราวางวิสัยทัศน์เอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องไม่ใช่การกระทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นแต่จำเป็นต้องตอกย้ำให้มากที่สุดจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อโน้มน้าวให้ทุกคนมีแรงผลักและพร้อมพัฒนาตัวเองตลอดเวลา สรุปให้เห็นภาพคือองค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่อง 3R ได้แก่ Right Structure (โครงสร้างถูกต้อง), Right Culture (วัฒนธรรมถูกต้อง) และ Right Development (พัฒนาถูกต้อง)

POLC ทฤษฎีการจัดการ

ผู้บรรยายกล่าวว่าการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลายนั้นองค์กรต้องให้การสนับสนุนด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม (Ecosystem), เป็นสื่อการสอนที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์และสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ (Delight Experience) โดยทั้งหมดต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้เสมอ ทั้งนี้วิธีสร้างแรงบันดาลใจที่ง่ายที่สุดคือการให้ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง (Leadership by Example) รวมถึงสร้างแนวคิด (Vision) ออกมาว่า การลงมือทำจะทำให้องค์กรรอด แต่การปรับตัวต่างหากที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน (Transform to Sustain) 

อนึ่งผู้นำสามารถใช้วิธีเล่าเรื่อง (Storytelling) มาพูดถึงพัฒนาการของงานให้พนักงานได้ยินบ่อย ๆ ว่าความพยายามในแต่ละครั้งออกดอกออกผลในแง่บวกอย่างไร ไม่จำเป็นต้องรอให้เห็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก่อน พนักงานจะได้มีแรงกระตุ้นให้รู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำอยู่มีความสำคัญ ไม่ใช่เสียเวลาไปอย่างไร้ค่า

การพัฒนาองค์กรจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายดังนั้น HR ต้องเข้าใจเป้าหมายและคอยผลักดันให้ทีมก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

ปิดท้ายด้วยคุณธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์ ที่กล่าวว่าโลกการทำงานในปัจจุบันให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่

  • Mindset : ชุดความคิด, แนวคิด, ปรัชญา หรือค่านิยมขององค์กร
  • Skillset : ชุดทักษะ ความรู้ ความสามารถที่จำเป็นเพื่อตอบโจทย์ชุดความคิด
  • Toolset : ชุดเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ตอบสนองชุดทักษะและชุดความคิด

ชุดความคิดถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินการขององค์กรแต่ไม่ว่าจะอย่างไรองค์ประกอบทั้งสามก็ควรดำเนินอย่างควบคู่กันภายใต้แนวคิดใจเขาใจเรา (Know Myself, Understand Others) รับรู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน มีจุดดีจุดด้อยอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจความรู้สึกของคนรอบตัวด้วย ไม่ยึดถือเอาความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้งเด็ดขาด

ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างเรื่อง “ภูเขาน้ำแข็ง โลกภายในของคน” กล่าวคือพฤติกรรมที่เราเห็นคนอื่นเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาเท่านั้น ยังมีส่วนที่ลึกลงไปคือความรู้สึก (Feeling) และลึกที่สุดคือความต้องการกับคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ (Need) ดังนั้นถ้าเรามีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งรอบตัวเราก็จะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ พยายามเพิ่มทักษะเพื่อหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย ช่วยให้เราได้พัฒนาทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ไปพร้อม ๆ กัน

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

การเป็นคน Multi Skills จึงเป็นการบูรณาการทุกสิ่งที่สำคัญในโลกการทำงานเอาไว้ คนที่หาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาจะเป็นคนที่ก้าวนำผู้อื่นเสมอ และงานครั้งนี้จาก NEO ACADEMY ก็ถือเป็นงานเสวนาคุณภาพที่เราได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาให้คุณอ่านได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากงานเสวนานี้แล้ว เรายังมีสรุปเสวนาอื่น ๆ ที่น่าสนใจเอาไว้ในหมวด HR Insight สามารถไล่ตามอ่านได้เลย รับรองว่ามีประโยชน์ทั้งกับคนที่ทำงานสาย HR หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจแน่นอน 

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน NEO ACADEMY  : คนเก่งหลายทาง สร้างอย่างไร

ทำความรู้จักกับ Neo Academy ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการบริหารธุรกิจระยะสั้น Mini MBA และ Executive Course ในความร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มเติมได้บนแพลตฟอร์ม HR Products & Services

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง