Soft Skills หรือ Hard Skills องค์กรต้องการอะไรมากกว่ากัน?

HIGHLIGHT

  • Soft Skills ไม่ใช่ความรู้ทางวิชาการอันเกิดจากการศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัย สำหรับใช้ในความรู้ความสามารถเฉพาะการทำงานในแขนงนั้น ๆ นั่นเอง แต่เป็นทักษะที่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่หล่อหลวมรวมเป็น “ส่วนหนึ่ง” ที่ช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานสัมฤทธิ์ผลได้
  • หากพนักงานมีเพียงความรู้ความสามารถทางวิชาการล้วน ๆ แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการปฏิบัติงาน รวมถึงขาดความสัมพันธ์กับคนภายนอกที่เกี่ยวกับกับประสานงาน ก็อาจทำให้งานล้มเหลวได้ ดังนั้นในยุคนี้ Soft Skills จึงมีความสำคัญมากกว่า Hard Skills นั่นเอง
  • ในปัจจุบันก็มีเทรนด์ Hard Skills ที่สำคัญที่องค์กรต้องการให้พนักงานมีมากที่สุด เพื่อให้องค์กรได้รับงานที่เต็มประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ของงานมากที่สุด คือระบบคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์เชิงตรรกะ การบริหารจัดการคน และการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน
  • HR สามารถช่วยให้พนักงานพัฒนาทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ได้พร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการอบรมพัฒนาบุคลิกภาพอันส่งผลต่อการทำงาน การจัดโครงการอบรมพัฒนาเสริมสร้างความรู้และศักยภาพในการทำงาน หรือการลดการจับผิดกลายมาเป็นการให้ความรู้และการแนะนำการทำงานให้แก่พนักงาน

การทำงานในยุคปัจจุบันไม่เพียงแค่เป็นการทำงานไปวัน ๆ เท่านั้น เพราะหากพนักงานคิดแค่นั้นจริง ๆ ในการทำงานแต่ละวัน ก็ย่อมไม่เหลือความมีตัวตนและหัวใจให้กับการทำงาน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การทำงานอย่างไม่มีความสุข จนอาจนำไปสู่จุดจบของการทำงานนั้น ๆ ได้ เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะเมื่อพนักงานทำงานอย่างไร้ตัวตน ไม่มีความสุขในการทำงาน ก็ไม่อยากตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อทำงาน รวมไปถึงการทำงานอย่างไร้ทิศทาง ดังนั้นการทำงานในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ได้มากที่สุด จะมีเพียงแค่การใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว หรือจะใช้เพียงหัวใจอย่างเดียวก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดคำว่า “Soft Skills” และ “Hard Skills” ขึ้นมา ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ เปรียบได้กับการมี “หัวใจ” และ “สมอง” ในการทำงานควบคู่กันไป ซึ่งพนักงานคนไหนที่มีทั้ง 2 อย่างนี้ในเวลาบอกเลยว่าคุณจะกลายเป็นคนทำงานที่มีความสุขที่สุด รวมถึงองค์กรของคุณก็จะมีความสุขจากการทำงานของคุณไปพร้อม ๆ กัน

Soft Skills คืออะไร?

คำว่า Soft Skills สามารถแปลตรงตามตัวแบบง่าย ๆ ได้ว่า “ทักษะอย่างอ่อน” ซึ่งก็คือ สิ่งที่เกิดจากความรู้สึก จินตนาการต่าง ๆ ไหวพริบ การประพฤติปฏิบัติตน รวมไปถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับวางตัวในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน การใช้ทักษะรอบตัวหรือความรู้รอบด้านมาประยุกต์ในการทำงาน หรือพูดง่าย ๆ ว่า Soft Skills ไม่ใช่ความรู้ทางวิชาการอันเกิดจากการศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัย สำหรับใช้ในความรู้ความสามารถเฉพาะการทำงานในแขนงนั้น ๆ นั่นเอง แต่เป็นทักษะที่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่หล่อหลวมรวมเป็น “ส่วนหนึ่ง” ที่ช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานของคุณสัมฤทธิ์ผลได้ หากประกอบกับการทำงานโดยการใช้ความคิด หรือหากจะพูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพกันชัดเจนสักหน่อย Soft Skill ก็คือการใช้หัวใจเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานนั่นเอง

Soft Skills & Hard Skills ต่างกันยังไง?

ความแตกต่างระหว่าง Soft Skills และ Hard Skills เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะทั้ง 2 อย่างนี้เรียกได้ว่าอาจอยู่คนละขั้วของการทำงานเลยก็ว่าได้ แต่ทั้ง 2 อย่างนี้ควรมีร่วมกันระหว่างการทำงาน เพราะหากพนักงานในองค์มีเพียงแค่ Soft Skills แต่ไม่มีทักษะ Hard Skills ก็จะไม่สามารถทำงานในด้านวิชาการอันเกี่ยวกับตำแหน่งงาน หรือความรู้เจาะลึกในงานนั้น ๆ ได้อย่างแน่นอน หรือหากพนักงานคนนั้นมีแต่ Hard Skills แต่ไม่มี Soft Skills ก็เปรียบเสมือนคนที่ทำงานอย่างไร้หัวใจ มีเพียงแค่ความรู้ที่เกี่ยวกับทักษะการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์หรือทักษะที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานร่วมกับผู้อื่นเลย ซึ่งการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะต่าง ๆ ที่อยู่ในองค์ประกอบของ Soft Skills ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนร่วมกันได้ทั้งหมด เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่ง คงไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงทุกขั้นตอนทั้งหมดภายในคนคนเดียวได้แน่ ๆ 

ดังนั้นเมื่อพนักงานทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีทั้ง 2 ทักษะในเวลาเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่าง Soft Skills และ Hard Skills สามารถแตกออกเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ดังนี้

  • Soft Skills คือความคิดสร้างสรรค์ แต่ Hard Skills คือความรู้วิชาการของการทำงานในกระบวนการนั้น ๆ โดยตรง
  • Soft Skills คือการทำงานร่วมกับผู้อื่น แต่ Hard Skills คือการบริหารจัดการคนในองค์กร
  • Soft Skills คือการใช้ประสบการณ์หรือความรู้สึกในการวิเคราะห์ แต่ Hard Skills คือการใช้กระบวนการวิเคราะห์เชิงตรรกะ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์เท่านั้น หากแต่ยังต้องมีความรู้ด้านวิชาการมารองรับเป็นเหตุและผลสอดคล้องกันด้วย

จากความแตกต่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าระหว่าง Soft Skills และ Hard Skills มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ทั้งสองอย่างควรจะต้องมีร่วมกัน เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ที่สำคัญพนักงานมีความสุขในการทำงานร่วมกัน องค์กรก็มีความสุขจากผลสัมฤทธิ์ของการทำงานไปด้วย แต่แม้ทั้งสองอย่างจะอยู่กันคนละฝั่งก็ตาม แต่หากมองอย่างละเอียดแล้ว ถือว่าทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ต่างก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้กระบวนการทำงานสำเร็จนั่นเอง

ทำไมยุคนี้ Soft Skills ถึงสำคัญ?

บางครั้งความฉลาดก็มีความสำคัญมากกว่าทักษะหรือความรู้รอบด้าน หรืออาจเรียกอีกอย่างได้ว่า ความรู้ทางวิชาการสำคัญน้อยกว่าการทำงานด้วยความสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานที่สัมฤทธิ์ผลเช่นเดียวกัน หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การทำงานที่มีผลลัพธ์เช่นเดียวกัน คือความสำเร็จของงานอย่างเดียวกัน แต่สำหรับกระบวนการระหว่างทางของความสำเร็จนั้นต่างกัน โดยมีกรรมวิธีการผลิตที่ต่างกัน เช่น การทำอาหาร หากเน้นหนักไปในเรื่องของวิชาการเพียงอย่างเดียว เปิดตำราทำอย่างเดียวโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างที่อาจทำให้อาหารนั้นอร่อยหรือมีหน้าตาที่น่าทานมากขึ้น มุ่งไปเพียงแค่ความอร่อยที่ได้จากสูตรอาหารเท่านั้น แต่เชฟกลับไม่สนใจลวดลายของจานที่ใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร หรือไม่สนใจหน้าตาของอาหาร ก็อาจทำให้อาหารไม่มีความน่าสนใจ แม้ว่าจะได้ความอร่อยตามสูตรอาหารแบบเป๊ะ ๆ ก็ตาม 

สีมงคลของ HR : เลือกสีเสื้อ ใช้สีห้องอย่างไรให้ถูกใจคนทำงาน สายมูต้องอ่าน !

ด้วยเหตุนี้ในยุคนี้ที่พนักงานจำเป็นต้องมีทักษะหลาย ๆ ด้านมากกว่าเพียงแค่ความรู้ทางวิชาการในการตำแหน่งงานนั้น ๆ เพราะโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ก็มากขึ้น ดังนั้นหากพนักงานมีเพียงความรู้ความสามารถทางวิชาการล้วน ๆ แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการปฏิบัติงาน รวมถึงขาดความสัมพันธ์กับคนภายนอกที่เกี่ยวกับกับประสานงาน ก็อาจทำให้งานล้มเหลวได้ ดังนั้นในยุคนี้ Soft Skills จึงมีความสำคัญมากกว่า Hard Skills นั่นเอง

Top 5 Soft Skills ที่องค์กรต้องการมีอะไรบ้าง?

ความรู้และทักษะในด้าน Soft Skills มีมากมายหลายแขนง แต่สำหรับท็อป 5 อันดับที่องค์กรต้องการมากที่สุด LinkedIn แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ให้ข้อมูลจากการสำรวจทักษะที่องค์กรทั่วโลกต้องการในปี 2019 ไว้แล้ว ได้แก่

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

เป็นความคิดที่พนักงานสามารถผุดไอเดียเกี่ยวกับการทำงาน หรือกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้แก่องค์กรได้ ซึ่งหากมีพนักงานหลาย ๆ คน เสนอไอเดียที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งทำให้องค์กรมีตัวเลือกในการทำงานที่หลากหลายอันอาจนำไปสู่เส้นทางของความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

การโน้มน้าวและต่อรอง (Persuasion)

เพราะยุคนี้มีการติดต่อประสานงานร่วมกันในหลากหลายมิติ ดังนั้นการเจรจาพูดคุย หรือการต่อรอง โน้มน้าวระหว่างกันจึงมีความสำคัญ ดังนั้นทักษะในด้านนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรต้องการมากที่สุด

การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)

งานทุกอย่างภายในองค์กรไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยดีเพียงพนักงานคนเดียวอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อน้ำต้องพึ่งเรือเสือยังต้องพึ่งป่า เช่นนั้นพนักงานในองค์กรที่มีหน้าที่การทำงานแตกต่างกันไป ก็ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยและทำงานร่วมกันด้วย หากเกิดความขัดแย้งในการทำงาน แน่นอนว่างานก็อาจไม่สำเร็จตามเป้าประสงค์ได้ ตรงกันข้ามหากพนักงานมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ก็จะช่วยทำให้งานไหลลื่นและไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น

การปรับตัว (Adaptability)

โลกกำลังก้าวไกลจากคำว่ายุคโลกาภิวัตน์ออกไปอย่างมาก เพราะในตอนนี้โลกก้าวไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยการทำงานที่ต้องมีกระบวนการทางด้านเทคโนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งตลอดเวลา ไม่เพียงแค่การทำงานเท่านั้น แม้แต่รูปแบบการสื่อสารธรรมดา ๆ ก็ยังต้องพึ่งพาการใช้สื่อเทคโนโลยี ดังนั้นการปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงถือว่าเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรต้องการมากที่สุดเช่นกัน

การบริหารเวลา (Time Management)

การสร้างความสมดุลให้กับสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การทำงานขึ้นได้ ซึ่งหากพนักงานสามารถบริหารจัดการเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานได้อย่างบาลานซ์ ก็จะทำให้งานนั้น ๆ สำเร็จได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งพนักงานคนนั้นก็จะมีความสุขในระหว่างการทำงานตามไปด้วย ส่งผลให้องค์กรได้รับงานที่มีประสิทธิภาพในทางอ้อมเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันก็มีเทรนด์ Hard Skills ที่สำคัญที่องค์กรต้องการให้พนักงานมีมากที่สุด เพื่อให้องค์กรได้รับงานที่เต็มประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ของงานมากที่สุด ดังนี้

  • ระบบคลาวด์ (Cloud Computing)

ระบบการจัดการที่ถือว่าตอนนี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของการทำงานในหลาย ๆ องค์กรไปเสียแล้ว ดังนั้นทักษะในด้านนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรให้ความสำคัญและอยากให้พนักงานติดเทรนด์นี้ไว้

  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

การใช้ประโยชน์ของความฉลาดทางกลไก AI ซึ่งถือว่าเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรได้มากที่สุด เพราะจริงอยู่ว่าปัญญาประดิษฐ์มีคุณค่าในตัวเองตั้งแต่ก่อกำเนิดขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถส่งผลให้เกิดความสำเร็จแก่งานได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้หยิบเอาประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดนั่นเอง

  • การวิเคราะห์เชิงตรรกะ (Analytical Reasoning)

เป็นการประมวลผลความรู้ทางวิชาการ ประกอบกับความน่าจะเป็นจากความรู้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเป็นการนำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาทำการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลสรุปอันนำไปสู่แนวทางการทำงานที่สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด

  • การบริหารจัดการคน (People Management)

เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เทรนด์อื่น ๆ ที่เรากล่าวมา เพราะอะไรทำไมทุกองค์กรจึงต้องมี HR ก็เพราะการบริหารจัดการคนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในองค์กรทุกองค์กร ดังนั้นทักษะในการบริหารจัดการคนจึงเป็นเทรนด์ Hard Skill ที่องค์กรต้องการในยุคนี้ เพราะหากมีการบริหารจัดการคนที่ดี ก็จะทำให้องค์กรใช้คนได้ถูกที่ถูกเวลา 

  • การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX Design)

การกลั่นกรองนำเอาประสบการณ์ของผู้ใช้งาน มาวิเคราะห์เป็นต้นแบบของการทำงาน ซึ่งการดึงเอาประสบการณ์ตรงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงประสบการณ์จริง และใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งเหมาะสมกับยุคดิจิทัลในตอนนี้และลงตัวในการขับเคลื่อนองค์กรมากที่สุด

HR จะช่วยพนักงานพัฒนาทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ได้อย่างไร?

HR ไม่ใช่เพียงแค่ตำแหน่งงานที่มีหน้าที่จ้องจับผิดพนักงานเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว HR ที่หลาย ๆ คนรู้จักมีหน้าที่ในการทำงานที่มากกว่านั้น เพราะยังต้องสามารถสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้พนักงานเกิดการพัฒนาในตัวเอง อันนำไปสู่การพัฒนาขององค์กรได้ ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของการทำงานของ HR ดังนั้น HR จึงสามารถช่วยให้พนักงานพัฒนาทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ได้พร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการอบรมพัฒนาบุคลิกภาพอันส่งผลต่อการทำงาน การจัดโครงการอบรมพัฒนาเสริมสร้างความรู้และศักยภาพในการทำงาน หรือการลดการจับผิดกลายมาเป็นการให้ความรู้และการแนะนำการทำงานให้แก่พนักงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้พนักงานลดความคิดในแง่ลบที่มีต่อ HR และกลายมาเป็นหน่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถซัพพอร์ตการทำงานของกันและกันได้ดีขึ้น

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Soft Skills และ Hard Skills ต่างก็มีความสำคัญเท่า ๆ กัน เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถผลักดันให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้องค์กรได้รับชิ้นงานที่มีคุณภาพ โดยยุคนี้ถือว่า Soft Skills มีความสำคัญไม่แพ้ Hard Skills เพราะการทำงานที่ดีไม่ใช่มีเพียงแค่การใช้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะเกี่ยวกับ Soft Skills ในหลาย ๆ ด้านด้วย ซึ่งในทักษะในหลาย ๆ อย่างของ Soft Skills ได้รับการยกให้เป็นทักษะที่สำคัญแซงหน้าทักษะของ Hard Skills ในหลาย ๆ ด้านไปแล้ว

ฉะนั้นหากองค์กรหรือ HR ของคุณต้องการพัฒนา Soft Skills และ Hard Skills ให้กับพนักงานของคุณ เราขอแนะนำ HREX แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ HR มากที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเทรนนิ่งในบริษัท หรือเทรนนิ่งออนไลน์ HREX ก็พร้อมต่อยอดและช่วยให้การพัฒนาองค์กรของคุณเป็นเรื่องง่ายขึ้นแน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง