สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เทรนด์เอาใจพนักงานปี 2024

HIGHLIGHT

  • โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สวัสดิการแบบเหมารวมไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป องค์กรต้องปรับมาทำสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เพื่อให้พนักงานได้เลือกสิ่งตอบแทนที่ต้องการที่สุด
  • สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) จะช่วยให้องค์กรควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น, ตอบสนองความต้องการของบุคลากรทุกวัย โดยมีรายงานระบุว่าสวัสดิการแบบนี้จะช่วยลดอัตราการลาออกได้ถึง 78%
  • การคิดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) ควรเริ่มต้นจากการศึกษางบประมาณในภาพรวม เพราะสวัสดิการไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยสร้างความพึงพอใจให้พนักงาน แต่องค์กรยังต้องการเงินสำหรับกระบวนการทำงานด้านอื่นด้วย
  • สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เป็นสิ่งที่พนักงานควรได้ ไม่ต่างจากสวัสดิการแบบทั่วไป องค์กรไม่มีสิทธิ์ลดเงินเดือนเพื่อแลกกับการได้รับสวัสดิการส่วนนี้
  • สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) มักครอบคลุมเรื่องของค่ารักษาพยาบาล, การเดินทาง, การศึกษา, ประกันชีวิต, สวัสดิการครอบครัว, ค่าอาหาร เป็นต้น

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เทรนด์เอาใจพนักงานปี 2024

เมื่อพูดถึงสวัสดิการพนักงาน องค์กรทั่วโลกพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะช่วยดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมงานได้แล้ว ยังถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยรักษาพนักงานไว้กับองค์กร

อย่างไรก็ตามการสรรหาสวัสดิการที่เหมาะสมนั้นจำเป็นต้องเข้าใจพนักงานอย่างละเอียด แถมยังต้องมีความมั่นคงทางงบประมาณ เพื่อให้แน่ใจว่าการตอบแทนพนักงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง จนรบกวนแผนงานในส่วนอื่น ๆ โดยแนวคิดเหล่านี้นำไปสู่การคิดค้น สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) ที่จะช่วยให้พนักงานพึงพอใจ ซึ่ง Global Benefits Attitudes Survey ระบุว่าสวัสดิการแบบนี้ช่วยลดอัตราการลาออกได้ถึง 78%

Flexible Benefit คืออะไร สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร หาคำตอบพร้อมกันได้ที่นี่

Contents

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) คืออะไร ?

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) คือ สิ่งตอบแทนพนักงาน ที่องค์กรเป็นผู้ช่วยให้พนักงานจ่ายเงินค่าบริการถูกลงหรือไม่เสียเงินเลย สามารถเป็นสวัสดิการในด้านใดก็ได้ เช่นด้านสุขภาพ, ด้านการทำกิจกรรม, ด้านการเรียนรู้ หรือด้านอื่น ๆ แล้วแต่ความสะดวกใจขององค์กร แนวคิดหลักของเรื่องนี้คือความเชื่อว่าสวัสดิการแบบเหมารวม (One-Size-Fits-All) ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้อีกต่อไปในปัจจุบัน และสวัสดิการแบบยืดหยุ่น จะเข้ามาช่วยแบกรับความแตกต่างของพนักงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

สวัสดิการแบบยืดหยุ่นจะกำหนดให้พนักงานเลือกสวัสดิการที่ตนอยากได้ ภายใต้งบประมาณรายบุคคลที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานในองค์กรมีความหมายยิ่งขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนที่ตรงกับความต้องการจริง ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาจได้สวัสดิการจากองค์กร แต่เป็นสวัสดิการที่ไม่เคยคิดจะใช้งานเลย เช่น บางคนได้สิทธิ์ใช้โรงยิมในละแวกออฟฟิศฟรี แต่ก็มีฟิตเนสที่เป็นสมาชิกเองอยู่แล้ว หรือบางคนก็ได้รับหลักสูตรอบรมฟรี แต่ก็ดันไปซ้ำกับเรื่องที่ลงทะเบียนไว้เองแล้ว เป็นต้น

ในทางกลับกัน หากพนักงานรุ่นใหม่สามารถแลกสวัสดิการบางอย่างกับวันลาได้, สามารถเอางบประมาณเพิ่มเติมไปเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ หรือพนักงานที่มีครอบครัว สามารถขอสวัสดิการด้านทุนการศึกษาเพื่อบุตรหลานได้ เราก็จะได้พนักงานที่จงรักภักดี (Loyal Employee) แก้ปัญหาเรื่อง Retention ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เริ่มต้นตอนไหน ?

สวัสดิการแบบยืดหยุ่นในอดีตนั้น มักรู้จักในชื่อของ Cafeteria Benefit มีจุดเริ่มต้นราวปี ค.ศ.1978 เมื่อคุณ Thomas Ellsworth Wood ในฐานะประธานของ International Foundation of Employee Benefit และทำงานอยู่ที่ Hewitt Associates บริษัท Global Human Resources Consulting Firm สัญชาติอเมริกันที่ปัจจุบันควบรวมกับ Aon จนถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านคนระดับโลก โดยเขาได้สังเกตโลกการทำงานในขณะนั้น และเกิดแนวคิดว่า ‘สวัสดิการแบบเดียว (One Benefit Program) ตอบโจทย์คนไม่ได้อีกแล้ว’ เพราะโลกมีความซับซ้อนและเป็นสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ

แนวคิดของ Thomas Wood คือการสร้างโครงข่ายที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย (Safety Net) ซึ่ง Employee Benefit Research Institute กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติของเขาคือการใส่ใจด้านปัญทางการเงิน (Financial) อันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น, ความพิการ หรือการเสียชีวิต ตลอดจนความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลและอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นตามช่วงเวลา

สวัสดิการแบบยืดหยุ่นได้เข้ามาลดปัญหาเรื่องการ ‘รีบใช้ให้คุ้ม ถ้าไม่อยากเสียสิทธิ์ฟรี‘ (Use it or Use it) และการให้พนักงานมีส่วนร่วม ก็สามารถเพิ่ม Engagement Rate ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ข้อดีของสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) 

สำหรับองค์กรที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าควรปรับสวัสดิการขององค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหรือไม่ เราขอพูดถึงประโยชน์ของ Flexible Benefit ดังนี้

ช่วยรักษาพนักงาน

พนักงานทุกคนล้วนอยากมีสิทธิ์มีเสียงในองค์กร รู้สึกว่าตนเป็นผู้ตามตลอดเวลา การได้เลือกสวัสดิการจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำเรื่องนี้เป็นอย่างดี และพอพนักงานได้รับสวัสดิการที่ต้องการจริง ๆ พวกเขาก็จะมีความพึงพอใจมากขึ้น (Improve Satisfaction Rate) ซึ่งท้ายสุดแล้ว เมื่อองค์กรมีอัตราการรักษาพนักงานที่สูง เราก็จะมีงบประมาณมากขึ้นในการยกระดับสวัสดิการให้เข้มข้นกว่าเดิมต่อไป ต่างจากองค์กรที่มีพนักงานลาออกตลอดเวลา ที่ต้องใช้งบประมาณในการหาคนใหม่ตลอดเวลา

ช่วยให้เราดึงดูดคนเก่งง่ายกว่าเดิม

สวัสดิการที่น่าสนใจจะกลายเป็นคำแนะนำแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ให้คนอยากมาร่วมงานกับเรามากขึ้น การมีผู้สมัคร (Candidate) มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้องค์กรมีโอกาสพิจารณาเลือกคนที่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรจริง ๆ ไม่ได้วัดเพียงแค่คนที่มีฝีมือเพียงอย่างเดียว

การได้คนที่เหมาะสมรอบด้านแบบนี้ จะช่วยให้องค์กรสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า องค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลพนักงานนั้นจะทำให้พนักงานโฟกัสไปในทิศทางเดียวกัน ไม่วอกแวก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ช่วยให้องค์กรไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

ที่ผ่านมาการให้สวัสดิการแบบเหมารวมนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในองค์กรทั่วโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการให้สวัสดิการแบบเหมารวมนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะมีหลายครั้งที่สวัสดิการไม่ตรงโจทย์ ทั้งที่งบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในแง่อื่นได้อีกมาก ดังนั้นสวัสดิการแบบยืดหยุ่นจะทำให้เรารู้ว่างบประมาณด้านสวัสดิการจะมีขีดจำกัดสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ จึงสามารถวางแผนงบประมาณในส่วนอื่นได้เลย

HR และผู้บริหารไม่ต้องเสียเวลาคาดเดา

แม้จะเป็นการหวังดี แต่ ปฎิเสธไม่ได้ว่าสวัสดิการแบบเหมารวมนั้น ไม่มีทางสร้างความพึงพอใจให้กับทุกคนเหมือน ๆ กัน ยิ่งเมื่ออยู่ในโลกที่คนพร้อมแสดงความคิดเห็นออกมาอยู่ตลอดเวลา การคาดเดาที่ผิดพลาด หรือทำให้พนักงานเห็นว่าไม่มีสวัสดิการองค์กรใดที่ทำให้พวกเขารู้สึกถึงการตอบแทนที่คุ้มค่าเลย ก็จะยิ่งกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกหมดไฟ และอยากออกไปหาที่ ๆ เหมาะกับตนเองมากกว่า เราจึงควรตัดปัญหาตรงนี้ และนำอำนาจตัดสินใจไปอยู่ในมือของพนักงานโดยตรงดีกว่า

ข้อเสียของสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) 

สวัสดิการแบบยืดหยุ่นมีข้อที่ควรระวังอยู่เหมือนกัน และ HR ควรมีข้อมูลให้รอบด้านเพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยเราสามารถอธิบายข้อเสียของ Flexible Benefit ได้ดังนี้

HR ต้องบริหารเวลามากขึ้น

การให้สวัสดิการแบบยืดหยุ่นจำเป็นต้องมาพร้อมกับกรอบเวลาในการเลือก และกรอบเวลาในการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม มิฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะกลายเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับ HR นอกจากนี้สวัสดิการที่พนักงานเลือกเองอาจทำให้ HR กำกับดูแลได้ยากกว่าเดิม กล่าวคือสวัสดิการแบบยืดหยุ่นต้องมาพร้อมกับระบบที่เหมาะสม ในบางองค์กก็มีการแต่งตั้งบุคลากรมาดูแลเรื่อง Flexible Benefit โดยตรง

ใช้งบประมาณมากขึ้นกว่าเดิม หากไม่มีการจำกัดวงเงิน

สำหรับสวัสดิการแบบเหมารวมนั้น พนักงานที่รู้สึกว่าสวัสดิการขององค์กรไม่ตอบโจทย์ก็จะไม่เลือกใช้ องค์กรก็ไม่ต้องเสียงบประมาณ แต่สวัสดิการที่พนักงานเลือกเอง จะเป็นสวัสดิการที่พวกเขาต้องการ ทุกคนจึงเลือกใช้สวัสดิการแน่ ๆ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายขององค์กร อย่างไรก็ตามเราต้องคิดว่าสวัสดิการเป็นสิ่งตอบแทนที่พนักงานควรจะได้ เราควรมอบให้พวกเขาภายใต้ข้อจำกัดที่เหมาะสม มากกว่าการคิดสวัสดิการที่ ‘แค่ต้องมี‘ โดยไม่คิดถึงการใช้งานจริงเลย

หากมีการทำแบบสำรวจกับพนักงานแล้ว องค์กรต้องนำไปปฏิบัติจริง ห้ามละเลยเด็ดขาด

องค์กรต้องหมั่นทำแบบสำรวจกับพนักงาน เพื่อดูว่าความต้องการของคนในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันไหม หรือมีข้อเรียกร้องอะไรที่เราต้องเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ ในจุดนี้ถ้าเราทำแบบสำรวจและได้ความเห็นของพนักงานมาแล้ว เราก็ควรมีข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลตอบกลับไปหาพนักงานด้วยว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ทำแบบสำรวจเสร็จ แต่ไม่มีสวัสดิการหรือสิ่งที่พนักงานอยากได้ปรากฎออกมาเลย เพราะจะไปลดทอนความเชื่อมั่น จนพนักงานไม่อยากคาดหวังในตัวของ HR อีกต่อไป เราต้องคิดว่าสวัสดิการเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก HR ควรนึกถึงจิตใจของพนักงานตลอดเวลา

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เทรนด์เอาใจพนักงานปี 2024

Employee Benefit สวัสดิการ เรื่องที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรใส่ใจ 

HR มีวิธีคิดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) อย่างไร ?

ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่าควรจะมีสวัสดิการแบบยืดหยุ่นภายในองค์กร ก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยกระบวนการเหล่านี้

คำนวณงบประมาณ 

สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการคำนวณว่าองค์กรมีงบประมาณสำหรับการออกแบบสวัสดิการอยู่เท่าไหร่ และเลือกสวัสดิการในลิสต์ให้อยู่ในงบประมาณนั้น เราไม่จำเป็นต้องงบประมาณที่มากมายจนกระทบโครงสร้างในภาพรวม ให้เริ่มจากการกำหนดสวัสดิการที่สอดคล้องกับคนทุกเพศทุกวัยได้จริงก่อน แล้วค่อยขยับขยายขยายในอนาคต เพราะสิ่งที่สร้างความสุขให้พนักงานไม่ใช่แค่เรื่องของสวัสดิการเท่านั้น องค์กรยังจำเป็นต้องมีงบประมาณสำหรับการทำงานในส่วนอื่นด้วย

ทำแบบสำรวจกับพนักงาน 

เมื่อเราทราบงบประมาณแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าควรเอาเงินไปลงทุนกับสวัสดิการในส่วนใดก่อน ซึ่งเราสามารถสอบถามจากพนักงานโดยตรง การสื่อสารอย่างต่อเนื่องจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจริง ๆ แม้เราอาจตอบสนองทุกความต้องการไม่ได้ในช่วงต้น แต่การทำแบบสำรวจอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราเลือกสวัสดิการที่ตรงโจทย์ที่สุดได้เอง

หาหน่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการที่สุด

เมื่อได้สวัสดิการที่ต้องการแล้ว HR สามารถหาบริษัทที่ดูแลสวัสดิการแบบที่พนักงานต้องการได้เลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงบริษัทเดียว แต่ควรพิจารณาจากหลายตัวเลือก เพื่อดูทั้งสไตล์ที่เหมาะสมกับเรา, ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับเรา, ผลงานในอดีต เป็นต้น ในที่นี้ต้องเลือกสวัสดิการที่สร้างประโยชน์กับพนักงานได้จริง ไม่ใช่เอาแต่ราคาถูกหรือความสะดวกสบายเข้าว่า

จัดอบรมพนักงาน

ถึงแม้สวัสดิการแบบยืดหยุ่นจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้เลือกเอง แต่ทักษะในการเลือกสิ่งที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ HR ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน แน่นอนว่าหากพนักงานจะเลือกสวัสดิการเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว องค์กรก็คงไม่มีสิทธิ์ไปห้ามได้ แต่ถ้าเราปลูกฝังเป็นระยะว่าสวัสดิการองค์กรสามารถช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร การเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งให้เลือกสวัสดิการเพื่อพัฒนาชีวิตมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเองและองค์กร ดังนั้นเราต้องถามตัวเองดูว่าพนักงานของเรามีความเข้าใจเรื่องสวัสดิการดีพอไหม รวมถึงพูดคุยกันเองในหมู่ HR ด้วย ว่าสวัสดิการที่มีอยู่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงหรือยัง

ตัวอย่างของสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) ในองค์กร

โดยปกติแล้วสวัสดิการแบบยืดหยุ่นที่มักเป็นตัวเลือกให้พนักงานจะอยู่ในกลุ่มเหล่านี้

สวัสดิการสำหรับการออกกำลังกาย

ยิ่งพนักงานมีสุขภาพกายใจดี ก็ยิ่งมีพลังในการสร้างสรรค์งานมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าราคาของฟิตเนสในปัจจุบันค่อนข้างสูง หากเราไม่มีสวัสดิการมารองรับตรงนี้ พนักงานก็คงไม่สามารถเข้าถึงได้ และคงดียิ่งขึ้นหากพนักงานมีสิทธิ์เลือกสาขาของยิมได้ด้วยตัวเอง เพราะสามารถเลือกให้อยู่ใกล้กับที่พักของตนมากที่สุด ในที่นี้หากการดูแลค่าฟิตเนสแบบเต็มจำนวนเป็นภาระขององค์กรมากเกินไป ก็สามารถเป็นส่วนลดตามอัตราที่เหมาะสมได้เช่นกัน

การแลกสวัสดิการบางส่วนเป็นจำนวนวันลาที่มากขึ้น

สวัสดิการนี้ต้องทำภายใต้การพิจารณาจากหัวหน้าทีม ว่าการลางานของพนักงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของทีมในภาพรวม หากพิจารณาแล้วโอเค เราสามารถให้สิทธิ์พนักงานในการซื้อหรือขายวันลาของตนได้เลย เช่นการแลกสวัสดิการบางส่วนกับการมีวันลามากขึ้น หรือการเอาวันลาที่เหลือขายกลับมาให้องค์กรเป็นเงินเพื่อไปใช้จ่ายตามความพอใจส่วนตน

สวัสดิการนี้มีต้นทุนตั้งต้นไม่สูงมาก และตอบโจทย์กับการทำงานในปัจจุบันที่พนักงานหลายคนล้วนมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่อยากทำ อันเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

สวัสดิการด้านการศึกษา

ปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) องค์กรต้องหาหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจให้พนักงาน จะได้แน่ใจว่าคนของเราสามารถปรับตัวทันยุคสมัย ไม่ล้าหลังจนถูกคู่แข่งแซง แต่การให้ HR เป็นฝ่ายหาข้อมูลอยู่คนเดียวก็อาจไม่ทันการณ์ เราสามารถให้พนักงานเลือกสวัสดิการด้านการเรียนที่เขาสนใจได้เลย แต่ HR ก็สามารถช่วยเลือกว่าหลักสูตรไหนดี หลักสูตรไหนไม่คุ้มค่า ซึ่งหาก HR มีการเก็บสถิติไว้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น ในที่นี้เราสามารถดูแลไปถึงการศึกษาของครอบครัวพนักงานก็ได้ เพราะความเครียดจากปัญหาครอบครัว ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรลดลง

สวัสดิการด้านอุปกรณ์ทำงาน

เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจะดีแค่ไหนหากเรามีสวัสดิการที่สามารถเลือกเก้าอี้สุขภาพเป็นของตัวเอง, สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้น, สามารถเลือกอุปกรณ์ตกแต่งโต๊ะทำงานตามใจชอบ ซึ่งหากต่อยอดได้ ก็สามารถรวมถึงอุปกรณ์การทำงานแบบไฮบริด (Work From Home) เพื่อช่วยให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

สวัสดิการด้านการเดินทาง

พนักงานแต่ละคนมีวิธีเดินทางแตกต่างกัน คนที่ขับรถก็อยากได้สวัสดิการด้านที่จอดในราคาถูกหรือฟรี คนที่ใช้บริการรถสาธารณะก็อาจต้องการงบประมาณสนับสนุนให้พวกเขาได้ขึ้นรถแท็กซี่ หรือซื้อความสะดวกสบายอย่างอื่นดูบ้าง คนที่ปั่นจักรยานก็อยากได้ค่าดูแลรักษาเพิ่มเติม เป็นต้น

สวัสดิการด้านอาหาร

องค์กรสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้เลย เช่น คำนวณว่าพนักงานน่าจะใช้เงินสำหรับทานอาหารวันละ 300 บาท เราก็ก็เปลี่ยนเงินตรงนั้นเป็นสวัสดิการให้พนักงานได้เลือกใช้ในแต่ละเดือน โดยอาจเป็นร้านที่อยู่ในเครือ หรือร้านที่ทำสัญญากันไว้ วิธีนี้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของพนักงาน แล้วเมื่อกินอิ่ม รู้สึกอร่อย พนักงานก็จะมีแรงมาทำงานกว่าเดิม

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) เทรนด์เอาใจพนักงานปี 2024

กลยุทธ์ในการรักษาพนักงานฝีมือเยี่ยมให้อยู่กับองค์กร (Employee Retention Strategy) 

บทสรุป

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) คืออีกหนึ่งข้อพิสูจน์สำคัญว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง ก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เลือกภายใต้การกำกับดูแลของ HR ที่มีความรู้ความเข้าใจแบบรอบด้าน 

อย่างไรก็ตามเราต้องเน้นย้ำว่าสวัสดิการที่ดีของแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกัน แม้เราจะมีตัวอย่างจากบริษัทชั้นนำระดับโลกมาให้เรียนรู้มากแค่ไหน แต่เราก็ไม่สามารถหยิบยกความสำเร็จของพวกเขามาปฏิบัติตามได้แบบ 100% เพราะไม่มีองค์กรใดที่เหมือนกัน

HR ต้องรู้ว่าสิ่งที่พนักงานต้องการที่สุดคืออะไร และพยายามตอบสนองความต้องการนั้น หรือหาเหตุผลมาอธิบายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่พนักงานต้องการบางอย่างสามารถทำได้ หรือไม่สามารถทำได้เพราะอะไร หากเราอยู่ร่วมกันด้วยความจริงใจ พยายามทำให้เห็นว่าทุกความตั้งใจของบุคลากรมีคุณค่าและเรารู้สึกขอบคุณ ก็รับรองว่าทุกคนจะอยู่ร่วมภายใต้เป้าหมายเดียวกันได้อย่างสันติสุขแน่นอน

CTA HR Products & Services

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง