HIGHLIGHT
|
คำว่า Disruption อาจเป็นคำที่เราได้ยินคุ้นหูมาสักระยะ แต่สำหรับสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าตลอดเวลา หนำซ้ำยังมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มาเร่งปฏิกิริยาให้การ Disruption เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทักษะเก่าหมดอายุเพียงข้ามวัน และตลาดแรงงานก็ต้องทักษะใหม่แทบทันที จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Double Disruption” แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
Future Trends สื่อออนไลน์เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จึงจัดงาน Skillforce Virtual Conference 2021 – COVID-19 Disruption งานสัมมนาเสริมทักษะแห่งอนาคต เจาะลึกแนวคิด พัฒนาสกิล พร้อมก้าวนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ในยุค Disruption กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละวงการที่จะมาแชร์ทักษะและประสบการณ์แบบจัดเต็มกว่า 30 คน โดยงานเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา
วันนี้ HREX.asia จึงได้ทำสรุปงานมาให้อ่านทีเดียวในบทความนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองความต้องการทักษะใหม่ในตลาดแรงงานไทย ที่พวกเราชาว HR ผู้บริหาร หรือผู้จัดการองค์กรทั้งหมดต้องเตรียมตัว
DAY 1: ข้อมูล การตลาด และทรัพยากรมนุษย์
Data Section – ทักษะสำคัญในวันที่โลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
ประเดิมประเด็นแรกกับเรื่องของ Data หรือข้อมูลที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แหล่งใหม่แห่งวงการทำงาน จนมีคำเปรียบว่า Data is The New Oil ซึ่งสำหรับประเด็นนี้มีทั้งหมด 3 Talk ดังนี้
เริ่มต้นที่คุณกนกกร ประสงค์ธนกิจ CEO & Co-Founder Davoy ที่มาพูดถึงประเด็นข้อมูลว่าส่งผลอะไรกับธุรกิจบ้าง ซึ่งเธอบอกว่า การตลาดทุกวันนี้ไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป เทคนิคหรือความรู้เก่ากลายเป็นสิ่งล้าสมัย ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเข้าสู่ Data-Driven Marketing หรือการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งการทำ Data ให้ประสบความสำเร็จต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีข้อมูลที่เข้าถึงได้และพร้อมใช้งาน ฉะนั้นการทำงาน Data Analysis จะช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพรวมได้อย่างรวดเร็วตัดสินได้อย่างแม่นยำ และเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น
ตามมาด้วยคุณณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน ที่ตอกย้ำวิธีการสร้างวัฒธรรม Data-Driven ในองค์กร เพื่อให้องค์กรมีข้อมูลเป็นแกนหลักในการตัดสินใจมากกว่าใช้สัญชาติญาณ โดยผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ
แล้วทำไมคนทำงานต้องเรียนรู้ Data? คุณกษิดิ์เดช พูลสุขสมบัติ CEO & Co-Founder, Ape board และคุณพเนิน อัศววิภาส COO ,Wisesight Thailand ได้กล่าวว่า เพราะทุกวันนี้ Data กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกอุตสาหกรรม การเรียนรู้วิธีการทำงานกับข้อมูลจึงกลายเป็นทักษะจำเป็นสำหรับคนทำงานทุกคน และต้องทำงานให้เปรียบเสมือนนักวิทยาศาสตร์ ตั้งคำถาม หาคำตอบใหม่ เพื่อนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่มากขึ้น
Sale & Marketing – เข้าใจการตลาดแห่งอนาคต
Marketing หรือการตลาดยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของทุกองค์กร เพียงแต่ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการตลาดจนเกิดยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคการตลาดเทคโนโลยี (Marketing Technology: MarTech) โดยคุณจิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ ผู้เขียนหนังสือ Marketing Technology 2021 กล่าวว่า MarTech จะทำให้เข้าใจข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า สร้างโอกาสจากการได้มาซึ่ง Data และสามารถสร้างธุรกิจได้ทันที นี่จึงเป็นยุคของ MarTech ที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างก้าวกระโดดตามเทคโนโลยี
เช่นเดียวกับฝ่ายขาย Sales ที่คุณสาโรจน์ อธิวิทวัส CEO Wisible บอกว่า มีความท้าทายในยุคดิจิทัลไม่ต่างกัน โดยจะต้องคิดแบบ Lifetime Value เสมอว่า ลูกค้าคนหนึ่งจะสร้างรายได้ให้องค์กรเท่าไหร่ รวมไปถึงเจ้าขององค์กรที่ต้องรับหน้าที่ Sales เหมือนกัน เพื่อสร้าง Storytelling ในสินค้าและบริการของคุณเอง
และเพื่อเข้าใจลูกค้ามากขึ้น คุณมัณฑิตา จินดา เจ้าของแฟนเพจ Digital Tips Academy จึงบอกว่าทักษะสำคัญของผู้ประกอบการคือการเดาใจลูกค้าให้เป็น และต้องทำนายได้ว่าเขาอยากรู้อะไร ผ่านการนำ Data ที่มีมาทำ Predictive Marketing ที่จะตีความ เชื่อมโยงข้อมูล และนำไปใช้ในระยะยาวต่อไป
ทิ้งท้ายหมวดหมู่ Sale & Marketing กับคุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด ผู้ก่อตั้งเพจ Ad Addict และคุณจิรายุ อาจสำอาง Co-Founder & MD Dexter Bangkok ที่เน้นย้ำเทรนด์ถึง Nona Influencer ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถเจาะกลุ่มที่ต้องการสื่อสารได้แม่นยำกว่านั่นเอง
HR – แนวทางการบริหารคนสู่ความสำเร็จ
ปิดท้ายวันแรกด้วยหมวดหมู่ HR ที่ HR NOTE จะเจาะลึกอีกครั้งในบทความต่อไป แต่ในครั้งนี้จะพูดถึงภาพรวมที่น่าสนใจ โดย Talk แรกจะกล่าวถึงทักษะของ HR ในยุคใหม่ โดยคุยกับคุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม Group Chief Human Resources Officer G-CHRO AIS and Intouch และคุณอภิชาต ขันธวิธี Co-founder and Managing Director at QGEN
สิ่งที่ทั้งสองเน้นย้ำเหมือนกันก็คือ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติทุกวันนี้ บทบาทของ HR จึงมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหน้าที่สำคัญอย่างการเป็นตัวกลางในการสื่อสารขององค์กร ซึ่งจะต้องสื่อสารให้สั้นที่สุด เร็วที่สุด และกระชับที่สุด แทนการสื่อสารแบบลำดับขั้นแบบเดิม
ถึงแม้ทักษะเดิมของ HR จะยังมีประโยชน์อยู่ แต่ HR ยุคใหม่จะต้องหาประโยชน์จากทักษะใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะทาง Data, ความคิดสร้างสรรค์ในการบริหาร, เทคนิคการตลาดในการสื่อสาร และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ไม่ว่า HR จะใช่เครื่องมืออะไรก็ได้ เทคนิคอะไรก็ได้ แต่วัตถุประสงค์สำคัญคือการทำให้คนในองค์กรได้ใช้ศักยภาพออกมาเต็มที่สุด เพราะถ้าพนักงานทำงานเต็มที่จากตัวเขา ก็จะทำให้องค์กรสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้ แต่บทบาทสำคัญที่ HR ต้องเป็นอยู่คือ การเป็น Business Partner ที่อยู่ข้าง ๆ ผู้นำ รอให้ผู้นำออกคำสั่งไม่ได้ HR ต้องคิดไปข้างหน้าเพื่อรู้ HR จะต้องทำอะไร และยังต้องเป็น Employee Champion ต้องได้ใจพนักงาน รู้ว่าพนักงานต้องการอะไรหรือกังวลอะไร ฉะนั้น Empathy ต้องมีมากกว่าเดิม เพื่อออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ที่มองพนักงานเป็นที่ตั้ง มองที่ความหวังของพนักงาน” คุณอภิชาตกล่าว
ส่วนคุณกานติมาบอกว่า “องค์กรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ HR มีบทบาทสำคัญมาก ไม่น้อยไปกว่าแผนธุรกิจ เพราะ HR ต้องเตรียมคนไว้ข้างหน้า ขณะที่แผนธุรกิจวิ่งตาม แต่ที่ผ่านมาเราปล่อยให้ธุรกิจไปก่อนแล้ว HR มาเสริมทำให้เกิดสภาวะอิหลักอิเหลื่อ ทำให้พูดในเรื่องที่คนยังไม่เห็น ทีนี้ HR จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจ แล้วจึงจะสามารถพูดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ นี่อาจต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า HR แบบเดิมไปต่อไม่ได้แน่นอน”
ที่สำคัญก็คือ HR จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการ L&D แบบเดิม ให้กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ Learning Culture ที่พนักงานต้องอยากเรียนรู้ด้วยตัวเองนั่นเอง
และวิทยากรคนสุดท้ายของวันนี้ก็คือคุณอานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People LINE MAN Wongnai ที่จะมาพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร ที่เปรียบเสมือนระบบปฏิบัติที่ขับเคลื่อนองค์กร เพราะถ้าเรามีระบบปฏิบัติการที่ทันสมัย ก็จะรองรับรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นจึงต้องอัพเดทให้ตรงกับยุคสมัยด้วย
เนื่องจากทุกวันนี้การทำงานไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่องค์กรสามารถออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ได้ ให้สอดรับกับวัฒนธรรมและคนทำงานของตัวเอง เช่น ช่วง Work From Home ควรเปลี่ยนจากการเฝ้าติดตาม Monitor เป็นการทำงานที่ไว้ใจกัน และใส่ใจผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่า
“เด็กรุ่นใหม่ต้องการองค์กรที่ Flexibility องค์กรที่ใจกว้างและเปิดรับความคิดเห็น ความเป็นเจ้านายลูกน้องจะต้องจางลง กลายเป็นคนที่อำนวยความสะดวกมากกว่าในการทำให้คนในทีมใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่”
ท้ายที่สุดนอกจากเรื่องวัฒนธรรมองค์กรแล้ว คุณอานนทวงศ์ยังแชร์เทคนิคที่อยากให้คนเก่งเข้ามาองค์กรคือการมีเครื่องมือโซเชียลในการประกาศให้คนทั่วไปรับรู้ เพราะการสร้างแบรนด์ดิ้งที่ดีจะทำให้คนรับรู้และคิดถึงเป็นอันดับแรก สร้างความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์มากขึ้น ขณะที่คนที่เก่งในองค์กรจะต้องมีแพลตฟอร์มได้โชว์ของ เพื่อทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และภูมิใจในองค์กรของเราด้วยนั่นเอง
DAY 2: ผู้ประกอบการ ผู้นำ บล็อกเชน และคอนเทนต์
SMEs – หน้าต่อไปของธุรกิจหลังวิกฤติ COVID-19
มุ่งหน้าสู่วันที่ 2 กับหมวดหมู่แรก SMEs ที่คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu กล่าวถึงบริบทของธุรกิจ SMEs ในยุคใหม่ว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด SMEs จึงต้องเปลี่ยน Fix Cost ให้กลายเป็น Variable Cost ที่ยืดหยุ่นมากที่สุด และควรมี Exit Strategy ในการเลือกปิดหรือหยุดพักช่วงคราวในขณะที่ยังมีเงินสดเหลืออยู่ ดีกว่าปล่อยให้หมดไปเลย
ขณะที่การตลาดของ SMEs ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร DNA by SPU ได้บอกว่า จำนวนผู้ติดตามไม่ได้วัดความสำเร็จทางธุรกิจ แต่วัดจากการมีส่วนร่วมของลูกค้าที่มากที่สุด จึงต้องสร้าง Community ให้ลูกค้าอยู่กับเรา และมองให้ออกว่าจังหวะซื้อของลูกค้าอยู่ตรงไหนกันแน่?
ส่วนกลยุทธ์การปรับขยายธุรกิจ (Scale Up) คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ B2S-OfficeMate และคุณโรจน์ พุทธคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมน สแตนด์ จำกัด (Main Stand) แนะนำว่า ก่อนธุรกิจจะโต ต้องหาจุดรอดให้ได้ก่อน ถ้ารีบขยายในช่วงนี้อาจล้มเหลวได้ และสิ่งสำคัญคือการยอมรับ Technology เพื่อนำไปสู่ Innovation ถ้าไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ก็รอวันตายอย่างเดียว
Leader – ค้นหาทักษะผู้นำแห่งอนาคต
การเป็นผู้นำเป็นสภาวะที่ท้าทายในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ทุกอย่างพลิกโฉมโลกในทุกองค์ประกอบ สภาวะผู้นำเองก็ไม่ต่างกัน ซึ่งคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer แห่ง SCG กล่าวว่าสภาวะที่ไม่ปกตินี้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ Comfort Zone และที่สำคัญก็คือ ผู้บริหารยุคใหม่ต้องฉลาดที่จะโง่ด้วย
“ถ้าไม่อยากโง่ต้องฉลาดที่จะรู้ว่า สิ่งที่อยู่ในหัวเราไม่ได้มีอย่างเดียว สิ่งที่สะสมมาตั้งแต่ทำงาน พวกนี้เหมือนกับการตกตะกอนความรู้จนกลายเป็นภูมิปัญญา และไม่มีทางหมดอายุ แต่สิ่งที่หมดอายุเร็วในยุคนี้คือสกิลที่อยู่ปากแก้ว เช่น หลักการที่ได้มาจากอาจารย์ตั้งแต่เรียนจบคอร์ส MBA เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความรู้ที่เรารู้จักตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ มันล้าสมัยหมดแล้ว ทั้งพฤติกรรมลูกค้า ช่องทางการขาย วิธีการตัดสินใจซื้อของมัน ล้าสมัยเร็วมาก ต้อง unlearn สกิลหมดอายุ เพื่อ relearn สกิลกลับเข้ามาในแก้วได้ ต้องยอมรับความจริงว่าอะไรหมดอายุแล้ว อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่หมดอายุแล้ว”
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผู้นำจะต้องพร้อมทั้งผลักดันให้พนักงานมีจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพื่อให้มองตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจเหมือนกัน ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองจาก I Shape เป็น T Shape และ O Shape ต่อไป
“เราต้องเปลี่ยนพนักงานเป็น T-Shape ไม่ใช่ I-Shape คือต้องมีความเข้าใจส่วนอื่น ๆ เข้าไป ถ้าเป็นแค่ลูกจ้างก็สำเร็จงานเสร็จก็จริง แต่ถ้าลูกค้าไม่อยากได้ก็ไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จ ถ้าเขามองลูกค้าเป็นหลักเขาจะกล้าเสี่ยงเพราะอยากให้ลูกค้าแฮปปี้ ถ้าผู้นำทำให้ดู ทำให้พนักงานรู้ว่าทำไมต้องเปลี่ยนแล้วคนในองค์กรจะตาม”
ขณะที่ทักษะผู้นำในโลกยุคใหม่ ได้วิทยากรมากความสามารถอย่าง ดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist and MD, Sea Group และ ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล DEPA มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ โดยทั้งสองบอกว่าผู้นำ Responsibility, Accountability และ Commitment เสมอ กล่าวคือผู้นำต้องกล้ารับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย
“สิ่งหนึ่งที่ผู้นำต้องมีมาก ๆ ก้คือ Trust เพราะถ้าไม่มี Trust สื่อสารอะไรออกไปคนก็ไม่เชื่อ และตอนนั้นก็จะเกิดความวุ่นวายมหาศาล แต่ถ้าเกิดความผิดพลาด คนก็จะพร้อมเรียนรู้ไปพร้อมผู้นำ เปรียบเสมือนธุรกิจที่ต้องลองผิดลองถูกว่าโปรดักซ์ใช่ไม่ใช่อย่างไร ซึ่งวิธีการสร้าง Trust ก็คือการมี Humility ความถ่อมตัวว่าเราไม่รู้, ต่อมาคือ Empathy เข้าอกเข้าใจคนอื่น สื่อสารเสร็จแล้วต้องมี Execute ลงมือทำได้ด้วย ต้องมี Integrity ความซื่อสัตย์ของผู้นำ”
เช่นเดียวกับ Talk ที่แล้ว สองคนตอกย้ำว่า ผู้นำไม่จำเป็นต้องทำตัวรู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้ก็ต้องยอมรับในความไม่รู้ และเรียนรู้ใหม่ มีความเป็น Adaptive Problem รวมไปถึงการใช้ศาสตร์ของ Data มาทำนายสิ่งที่อยู่ในใจคน โดยมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก มองภาพใหญ่โดยไม่เอาประโยชน์เข้าตัวเองอย่างเดียว
“ไม่กี่ปีเราพูดถึง Big Data และเชื่อว่าผู้นำหลายคนเริ่มใช้กันในการทำงานมากขึ้น เมื่อก่อนเรารู้ว่าข้อมูลนำมาใช้ในการตัดสินใจ แต่ข้อมูลมันมีความซับซ้อนและละเอียดมากขึ้น ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีซึ่งผู้นำต้องเรียนรู้ในการใช้”
ท้ายที่สุดผู้นำต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อมองปัญหาจากหลายมุม เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้เสียงตัวเองเพื่อแลกเปลี่ยนร่วมกัน
สำหรับใครที่อยากอ่านบทสรุปแบบเจาะลึก สามารถรอ่านได้จาก HR NOTE ที่นี่ในบทความต่อไป
Blockchain & Crypto – ทักษะที่กลายมาเป็นที่ต้องการอันดับ 1 ของโลก
กลายเป็นประเด็นยอดฮิตสำหรับ Blockchain ที่ทุกคนกำลังพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะแค่มุมระบบเบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัล Cryptocurrency ซึ่งทางคุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน Blockchain ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ มากมายจนเกิดมูลค่า ซึ่งอนาคตจะเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมาในเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ทำให้ทุกคนต้องถามตัวเองว่า อนาคตจะเป็น Builder หรือ User ในโลกดิจิทัลนี้
ส่วนในมุมธุรกิจ คุณไพลิน วิชากูล Principle Venture Capital SCB10X บอกว่า หลากหลายองค์กรมีการนำ Blockchain มาใช้กันมากขึ้น ยกตัวอย่าง SCB เองก็นำมาใช้ในเรื่องการโอนเงิน (Transaction) และการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยตัวช่วยทางกฎหมาย ซึ่งระบบการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ
เช่นเดียวกับคุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO and Founder Ookbee ที่พูดถึง Blockchain ในฐานะสินทรัพย์ เช่น NFT, Fan Token และ Token ต่าง ๆ ที่เกิดจาก Smart Contract ว่าเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ โดยแต่ละเหรียญหรือแต่ละสัญญาจะไม่มีเครือข่ายของตัวเอง และไม่ได้มีมูลค่าเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่อาจคิดว่า NFT เป็นเรื่องของศิลปะอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วยังสามารถเป็นไอเท่มในเกม การ์ดสะสมกีฬา หรือแม้กระทั่งที่ดินเสมือนก็ยังได้ สิ่งเหล่านี้จะมีมูลค่าในตัวมันเองทั้งนั้น
Content Creator – สร้างคอนเทนต์อย่างไรในปี 2021
ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นนักสร้างคอนเทนต์ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถหารายได้และสร้างธุรกิจคอนเทนต์เป็นของตัวเองอย่างจริงจัง วิทยากรในหมวดหมู่นี้ประกอบด้วย คุณสรานี สงวนเรือง CEO of Flourish Digital and LDA, คุณภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ กรรมการบริษัท ลิตเตอร์มอนเตอร์ จำกัด, คุณเดชาธร อยู่ยืน และ สัณฐิตา พิมพ์หิรัญ จากเพจไดโนเศร้า ซึ่งทั้งหมดเป็น Content Creator ตัวจริง
สำหรับการหารายได้จากคอนเทนต์นั้น สิ่งสำคัญคือการให้คนอ่านหรือคนติดตามเป็นอันดับหนึ่ง และมองลูกค้าเป็นอันดับสอง ซึ่งจะต้องมองให้ขาดว่าใครคือ Target Audience ของเพจ จากนั้นก็ทำคอนเทนต์อย่างจริงใจในการสื่อสารและจริงใจในการขาย ท้ายที่สุดคือการวางแผนการเติบโตให้กลายเป็นธุรกิจเต็มตัว หาวิธี Scale Up ต่อยอดสู่ช่องทางหารายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
ขยับขึ้นมาในสเกลใหญ่ขึ้นกับสื่อใหม่ New Media กับเส้นทางที่เปลี่ยนไป โดยมีวิทยากรคือคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV, คุณจิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหาร a day และคุณกฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ บรรณาธิการเนื้อหา workpointTODAY ที่บอกว่า การแยกระหว่างสื่อเก่าและใหม่จากแพลตฟอร์มไม่ใช่สาระสำคัญ แต่คือระบบนิเวศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไปต่างหาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนรับสารและคนส่งสารที่ไม่เหมือนเดิม ขณะที่สื่อต้องสร้างความน่าเชื่อถือของข่าว ยังคงต้องทำหน้าที่เป็น Gate Keeper เพื่อหาสิ่งที่น่าเชื่อถือที่สุดโดยจะต้องรักษาจริยธรรรมควบคู่กับโมเดลธุรกิจให้ได้
ปิดท้ายที่เทรนด์คอนเทนต์ในปี 2021 ที่ยังสนุก แต่ด้วยบรรรยายกาศ COVID-19 ทำให้วิทยากรทั้งสามท่าน คุณสิริประภา วีระไชยสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ TikTok Thailand, ปวริศา ตั้งตุลานนท์ THE STANDARD Podcast Manager และพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ บรรณาธิการอาวุโสของ The MATTER บอกว่า คอนเทนต์เชิงข้อมูล Informative จะมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่คอนเทนต์เน้นความเร็วอาจไม่ยั่งยืน แม้จะได้ Engagement จำนวนมาก แต่จะสร้างความเสียหายมากกว่าถ้าเกิดผิดพลาด เพราะผู้เสพยังต้องการความถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีการเน้นย้ำว่า ใคร ๆ ก็เป็น Content Creator ได้ ฉะนั้นจึงเป็นความท้าทายของสื่อที่จะทำอย่างไรให้คอนเทนต์โดดเด่นกว่า Creator ประเภทอื่นนั่นเอง
บทสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสรุปโดยย่อแบบพอดีคำสำหรับงาน Skillforce Virtual Conference 2021 ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการปรับตัวในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทักษะเก่า ๆ กำลังจะหมดอายุ และเกิดความต้องการทักษะใหม่ขึ้นมาในตลาดแรงงาน ฉะนั้นในองค์กรหนึ่ง ๆ ทั้งพนักงาน HR หรือแม้กระทั่งผู้บริหารเองต่างก็ต้องปรับตัวกันทั้งองคาพยพ และใครที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจต้องโบกมือลาจากโลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Double Disruption จึงไม่ใช่แค่คำสวยหรู แต่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง
แล้วองค์กรของคุณล่ะ เตรียมพร้อมการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง?