HR ไม่ใช่งานหลังบ้าน แต่เป็นผู้จัดวางกลยุทธ์ : สัมภาษณ์พิเศษกับคุณ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม CHRO แห่ง AIS

HIGHLIGHT

  • HR มักเป็นตำแหน่งที่ถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆว่าเป็นงาน Support  บริหารกิจกรรมเป็นหลักและมักจะดูแลแต่งานหลังบ้าน ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะ HR คืองานบริหารคน คิดกลยุทธ์เพื่อ drive องค์กร และ HR คือตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับคนที่สุด เพราะ “คน” คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในองค์กร
  • สมัยนี้ไม่ใช่ว่า องค์กรจะเลือกอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราเลือกจะออกแบบชีวิตตัวเองให้เป็นแบบไหน เราเป็นคน control destiny ตัวเอง องค์กรช่วยเราได้ในการทำให้เรา access ถึงโอกาส และความรู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดนั้นต้องเริ่มต้นที่ “ตัวเรา” เองก่อน

เพราะคนคือสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร คือฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปต่อข้างหน้าได้ แล้วใครคือคนที่ต้องดูแลและบริหาร “คน” เหล่านั้นให้ขับเคลื่อนองค์กรต่อไป คำตอบอย่างตรงตัวก็คือฝ่ายบริหารบุคคลหรือ HR นั่นเอง แต่ตำแหน่งนี้กลับถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆว่าเป็นแม่บ้านขององค์กร หรือทำงานหลังบ้านจิปาถะ รับคนเข้า เอาคนออก บอกใบเตือน หรือจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเป็นหลัก นั่นอาจเป็นความเชื่อหรือความรู้เก่าๆ เพราะปัจจุบัน HR ไม่ใช่แค่งาน Admin แต่เป็นทั้ง Marketing นักวางกลยุทธ์ และ Business Partner

บทความชิ้นนี้เราจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านเปิดโลกทัศน์การทำงานของฝ่าย HR ให้มากขึ้น และลบล้างความเชื่อเก่าๆของคำว่า HR แล้วแทนที่ด้วยคำว่า ” HR ยุคใหม่” หรือ Business Partner  มาเข้าใจการทำงานของฝ่าย HR มากขึ้นกับคุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ CHRO (Chief Human Resources Officer) แห่ง AIS ซึ่งได้รับรู้และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวมาโดยตลอด ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้รับเกียรติในการสัมภาษณ์พิเศษกับ CHRO แห่ง AIS ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนมากที่สุดเพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่เราอยากทราบเป็นอันดับแรกคือตอนนี้ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการ Disruption การเข้ามาของเทคโนโลยี , VUCA World , New Normal และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของ Generation ด้วยเช่นกัน เมื่อ New Generation ซึ่งมาพร้อมกับทักษะใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ และวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ เริ่มเข้ามาสู่โลกการทำงานมากขึ้น ด่านแรกที่พวกเขาต้องเจอก่อนก็คือฝ่าย HR คนที่ทำงาน HR จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง มีวิธีการรับมืออย่างไร ซึ่งเรารู้ว่ามันคงไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน และวิธีการรับมือใหม่ๆนั้นก็ส่งผลให้ HR เองต้องเปลี่ยน Mindset การทำงานแบบเดิมๆ เมื่อโลกธุรกิจเปลี่ยนไป โลกการทำงานมีการปรับตัว HR ย่อมไม่อยู่เฉย แต่ต้องหาวิธีการหรือ Solutions ใหม่ๆ เปลี่ยนสไตล์การทำงานใหม่ เพื่อเป็น HR ยุคใหม่ที่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเข้าใจการทำงานของโลกธุรกิจด้วยเช่นกัน

เด็กรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น แล้ว HR มีวิธีรับมือ New Workforce อย่างไรบ้าง ?

ต้องยอมรับว่า Talent ทุกวันนี้ไม่ได้มีความคาดหวังเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว เพราะเขาไม่ได้สนใจในเรื่องของเงินเดือนหรือสวัสดิการพื้นฐานเหมือนอย่างแต่ก่อน สิ่งที่เขาสนใจคือพัฒนาการ (Development) หรือความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส และนั่นก็จะส่งผลให้เทรนด์ของการเรียนรู้ของคนค่อยๆเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องมีเทรนเนอร์ที่มาสอนและพูดคนเดียวอยู่หน้าห้องแล้ว แต่จะเป็นในลักษณะของการแชร์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ ซึ่งนั่นจะเป็นความรู้ที่แท้จริง จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น HR ต้องคิดถึง Compensation Benefit ในจุดนี้ด้วยเช่นกัน ต้องออกแบบมาให้มีลักษณะเข้ากับปัจเจกบุคคลมากขึ้น เพราะนั่นคือสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการ

อีกเรื่องคือคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นพนักงานประจำอีกต่อไป เพราะเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง จึงไม่อยากขึ้นอยู่กับระบบการเติบโตแบบเดิม และก็ไม่ได้นับถือผู้บริหารเพราะ Hierarchy แต่นับถือจากประสบการณ์หรือสิ่งที่จะเพิ่มเติมให้กับพวกเขาได้มากกว่า เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีแนวคิดอยากเป็นพนักงานประจำ เขาก็ไม่ได้อยากทำงานให้องค์กรใดองค์หนึ่งอีกต่อไป เพราะฉะนั้นลักษณะการจ้างงานก็เปลี่ยนไป เป็น Co-Hiring หรือการจ้างงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการจับกลุ่มระหว่างบริษัทที่เป็นพันธมิตรกันมาร่วมช่วยกัน ทำให้ลักษณะงานของคนรุ่นใหม่เป็นไปแบบบูรณาการ การที่ตอนนี้หลายๆองค์กรใช้ Outsource ช่วยในการทำงาน ต่อไปสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ

การเข้ามาของ New Generation ทำให้การทำงานมีลักษณะเป็น Cross-Generation มากขึ้น มีวิธีจัดการหรือกลยุทธ์การทำงานอย่างไร ?

อันดับแรกคือต้องกลืนความเป็นตัวเองลง หลายครั้งผู้บริหารยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง หรือสิ่งที่ตัวเองเคยชินจนเกินไป ต้องลืมสิ่งที่เคยยึดถือมาทั้งหมด ต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีกระบวนการพอสมควร เช่น การทำ Workshop การทำ Agile ต่างๆ และนอกจากนี้ก็ต้องเปิดโอกาสตัวเองด้วย สำหรับคนที่ทำงานมาก่อน หรือเป็นคนในช่วงวัย Gen X หรือ Gen Y นั้น จริงๆแล้วเสียสละมากกว่าเด็กรุ่นใหม่หรือ Gen Z เสียอีก เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ในขณะที่คนรุ่นเก่าต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้มากกว่า

และถ้าหากองค์กรทำเพื่อคนที่กำลังจะจากไปมากกว่าคนที่กำลังจะเข้ามา มันก็จะไม่เกิดความยั่งยืนเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรจะทำเพื่อคนที่กำลังเข้ามาดีกว่า เพราะจริงๆแล้วคนรุ่นใหม่ก็มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งการจะทำงานแบบ cross-gen ได้นั้น สำคัญคือทั้ง 2 gen ต้องยอมรับซึ่งกันและกันได้ อย่างเช่นที่ คนรุ่นใหม่มีความพร้อม มี Skill set ที่ตอบโจทย์โลกการทำงานในอนาคต ก็ควรเอามา Blend กันเพื่อทำให้องค์กรไปต่อข้างหน้าได้

แล้ว HR สมัยใหม่ควรให้ความสำคัญกับ Generalist หรือ Specialist มากกว่ากัน

คำว่า Generalist ที่จริงแล้วถูกเข้าใจผิด ตีความผิดไปมากพอสมควร เพราะคนที่เป็น Generalist นั้น ย่อมต้องเคยเป็น Specialist มาก่อน ถึงจะสามารถลุกขึ้นมาแล้วทำได้หลายอย่าง อย่างเช่น คนที่เป็น Lead Team ได้ ไม่ใช่แค่เก่งอย่างละนิดอย่างละหน่อยเท่านั้น แต่ต้องรู้ลึก รู้จริงใน Detail รู้ถึงรายละเอียกเชิงลึก และมีความสามารถในการทำงานลักษณะ End to End ที่สามารถจบได้เพียงคนเดียวด้วย นั่นคือตั้งแต่หัวถึงท้าย ซึ่งนี่ถือเป็น Skill ที่สำคัญกว่า หากองค์กรไหนยังทำงานเป็นชิ้นๆ ไม่สามารถจบงานได้ด้วยตัวเอง ตรงนี้อาจอันตราย เมื่อเปรียบเทียบกับ Start – Up ที่มีจำนวนคนไม่เยอะ และทุกคนสามารถทำงานจบได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะมีความคล่องตัวสูงกว่า ซึ่งทักษะนี้ถือเป็น Life Long Learning จริงๆ ถ้าหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ก็อาจจะถูกทิ้งไว้กลางทางทุกเมื่อ เปรียบเทียบให้เห็นภาพกับสมัยก่อนว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนจังหวะที่ถูกทิ้งนั้นช้ากว่าเพราะโลกไม่ได้ก้าวเร็วเหมือนเช่นสมัยนี้ แต่ยุคสมัยนี้คนจะถูกทิ้งเร็วยิ่งขึ้น ถ้าเราเลือกจะเป็นคนที่ถูกทิ้ง เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เพราะสมัยนี้ไม่ใช่ว่า องค์กรจะเลือกอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราเลือกจะออกแบบชีวิตตัวเองให้เป็นแบบไหน เราเป็นคน control destiny ตัวเอง องค์กรช่วยเราได้ในการทำให้เรา access ถึงโอกาส และความรู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดนั้นต้องเริ่มต้นที่ “ตัวเรา” เองก่อน

“สิ่งหนึ่งที่ Old Generation สามารถทำงานในยุคสมัยนี้ได้เพราะมีความเข้าใจและไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และมีความสามารถในการปรับตัวตลอดเวลา “

HR Admin จะ transform เป็น Business Partner ได้อย่างไร ?

หลายครั้งคนมองว่า HR เป็นงานหลังบ้าน ถ้าองค์กรมองว่าเป็นงานหลังบ้านด้วยก็จะยิ่งเคลื่อนตัวช้า

HR ถ้าอยากยืนอยู่ข้างหน้า ก็ต้องอย่ามัวแต่ Enjoy กับสิ่งที่ทำประจำวัน หรือบริหารกิจกรรมเยอะจนไม่ได้บริหารคน แบบนี้จะไม่ทัน ต้องเข้าใจธุรกิจด้วย ว่าทุกๆอาชีพ ทุกๆตำแหน่งนั้นถือเป็น your own choice อยู่ที่ว่าเราจะลุกขึ้นมาทำตัวเองเป็นคนข้างหลังหรือคนข้างหน้า ต้องปรับ Skill set ตลอดเวลา บางครั้ง HR ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่ไม่ Popular บ้าง เพราะหลายครั้งที่ HR เลือกทำสิ่งที่ Popular เพื่อให้องค์กรพอใจ แต่ความพอใจนั้นกลับทำให้องค์กรเพลี่ยงพล้ำโดยไม่รู้ตัว

จากการสัมภาษณ์พิเศษกับคุณกานติมาในครั้งนี้ ช่วยย้ำเตือนให้เราเข้าใจว่า เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง คนก็จำเป็นต้องเปลี่ยน และ HR ก็ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวอย่างจริงจัง อย่าภูมิใจว่าตัวเองเป็นผู้เขียนกฎระเบียบได้อย่างรัดกุม ซึ่งคำนี้ไม่ได้ทำให้โลกไปข้างหน้า วันนี้งาน HR คือสร้างความพร้อมในอนาคต เข้าใจทิศทางธุรกิจแล้วไปสร้างคน สำคัญคือ HR ต้องอย่าทิ้งตัวเองแล้วพอใจว่าตัวเองเป็นสาย Support อีกต่อไป เพราะวันนี้ HR ไม่ใช่งานหลังบ้านแล้วแต่เป็นผู้จัดกลยุทธ์
ในเมื่อคนรุ่นใหม่วิ่งเร็วกว่า เราอาจวิ่งนำไม่ได้ วิ่งตามบ้างก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญก็คืออย่าวิ่งหนีตัวเอง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง