HIGHLIGHT
|
เพราะการประเมินและการคัดเลือกคนในองค์กร เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ การเลือกคนที่เหมาะสมกับองค์กร ไม่เพียงจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
คุณ รุตม์ – อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ VP of People จาก LINE MAN Wongnai เป็นอีกคนหนึ่งในวงการทรัพยากรบุคคลที่พูดถึงเรื่องของการประเมินพนักงานโดยประยุกต์ใช้หลักการของ 9-Box Grid มาพัฒนาเป็นการประเมินคนที่มีความเฉียบขาดและเน้นที่คุณค่าทางวัฒนธรรมองค์กรตามแบบฉบับของ LINE MAN Wongnai
วันนี้ HREX จะมาอธิบายถึงแนวคิดการประเมินคนของ LINE MAN Wongnai ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีความสามารถ ที่จะนำพาองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง
Contents
หลักการประเมินผลที่ประยุกต์จาก 9-Box Grid
จริง ๆ แล้วแนวทางการประเมินของ LINE MAN Wongnai เป็นการประยุกต์ใช้จาก 9-Box Grid หนึ่งในเครื่องมือการบริหารจัดการบุคลากรที่มีชื่อเสียงมาก โดยใช้ระบบเมทริกซ์ 3×3 ในการจัดกลุ่มพนักงานออกเป็น 2 มิติ คือ แนวนอน – วัด Performance และ แนวตั้ง – วัด Potential เมื่อตัดกันก็จะแบ่งออกเป็น 9 ช่อง
ขณะที่คุณรุตม์มีการปรับเปลี่ยนหลักการประเมินผลแบบสองมิติ คือ
- แนวนอน – Value/Cultural Fit วัดทัศนคติและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในองค์กร
- แนวตั้ง – Performance วัดผลลัพธ์และความสำเร็จในการทำงาน
แนวทางการประเมินตามแบบฉบับ LINE MAN Wongnai
เมื่อเราได้ตารางแล้ว ทาง HR ก็จะให้หัวหน้าทีมประเมินลูกน้อง โดยมีการแบ่งวิธีการให้คะแนนดังนี้
แนวตั้ง : Performance
การประเมินจะใช้เกณฑ์ 0, 1, 2, 3 เรียงลำดับตามนี้
- 0: ผลงานไม่เป็นตามเป้าหมาย ยังขาดทักษะและความสามารถ ต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอ
- 1: มีทักษะและความสามารถ มีความรับผิดชอบตามเป้าหมายพอดี
- 2: มีผลงานที่โดดเด่นมากกว่าที่คาดหวังไว้ และสร้างผลกระทบทางบวกอย่างชัดเจนให้กับบริษัท
- 3: มีผลงานโดดเด่นมากในระดับ Top 10% ของบริษัท
แนวนอน : Value/Cultural Fit
การประเมินจะใช้เกณฑ์ A, B, C เรียงลำดับตามนี้
- C: ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร มีทัศนคติเชิงลบ และปล่อยพลังงานด้านลบออกมาอย่างต่อเนื่อง
- B: เข้าใจและมีทัศนคติสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร
- A: เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร มีทัศนคติที่ดี และปล่อยพลังงานด้านบวกออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่น
ต่อมาเมื่อมีการประเมินแล้ว คะแนนจะประกอบกันเป็นเลขและตัวอักษรที่สะท้อนถึงคนคนนั้น เช่น
- 0C เป็นกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพและไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร
- 1B เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในออฟฟิศที่ทำงานได้ตามเป้าหมาย และมีทัศนคติที่ดี ซึ่งคุณรุตม์เทียบเคียงว่าเป็นปลาการ์ตูน “นีโม่” ในองค์กร
- 3A เป็นกลุ่มคนที่ทำงานได้ดีมาก ส่งพลังบวกตลอดเวลา มีจำนวนไม่ถึง 10% ของออฟฟิศ เปรียบได้กับ “โลมา” ที่เป็น Star/Talent
- หรือ 3C เป็นกลุ่มคนที่ทำงานได้ดีมาก ทว่ามีทัศนคติที่แย่ ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร เปรียบได้กับปลา “ปิรันยา” หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากลุ่มคน Toxic ที่พร้อมจะทำร้ายคนอื่นเสมอ
ทำไมไม่ควรเก็บปิรันยาในออฟฟิศ ?
คุณ รุตม์ – อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ VP of People, LINE MAN Wongnai เน้นว่า การเก็บพนักงาน 3C หรือปิรันยานั้น แม้จะมีความสามารถสูง แต่มีทัศนคติแย่จะทำให้องค์กรเกิดปัญหาในระยะยาว ปิรันยาเหล่านี้อาจทำลายบรรยากาศการทำงาน และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการร่วมมือกันของทีม
เพราะการที่องค์กรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ ต้องไม่เพียงแค่มีคนที่ทำงานเก่ง แต่ต้องมีคนที่สามารถร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมกันและกันในเชิงบวก
การคัดเลือกพนักงานใน LINE MAN Wongnai จะพิจารณาทั้งด้านทักษะและทัศนคติอย่างรอบคอบ พนักงานที่มีคะแนน Performance ในระดับ 0-1 หรือได้คะแนน Value/Cultural Fit ระดับ C จะได้รับการตักเตือนพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข โดยอาจจะให้เวลา 3-6 เดือนในการปรับตัวขึ้นอยู่กับกรณี และหากไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจต้องแยกทางกันในที่สุด
ตรงกันข้าม กลุ่มพนักงานที่ได้คะแนน 3A หรือปลาโลมา ก็จะเป็นกลุ่มที่ต้องรักษาไว้อย่างดีที่สุดนั่นเอง
บทสรุป
การประเมินคนในองค์กรไม่ใช่แค่การดูผลงานที่ผ่านมา แต่ยังต้องพิจารณาทัศนคติและความเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรด้วย
การเก็บปิรันยาในที่ทำงานอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงาน
ดังนั้นการประเมินคนในองค์กรควรทำอย่างรอบคอบและเน้นที่การสร้างทีมที่มีความสมดุลทั้งทักษะและทัศนคติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานร่วมกันและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
Source: |