Search
Close this search box.

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

HIGHLIGHT

  • Garden Leave สามารถแปลตรงตัวได้ว่า “การลาเพื่อไปทำสวน” แต่จริง ๆ แล้วหมายถึงการที่องค์กรบอกให้พนักงานไม่ต้องมาทำงานให้บริษัทเต็มเวลาอีกแล้ว แต่เขาก็จะไม่สามารถไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะองค์กรคู่แข่งหรือองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย
  • ข้อดีของ Garden Leave ช่วยป้องกันความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น หากพนักงานไปทำงานให้คู่แข่งทันที ช่วยรักษาความลับทางการค้า แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง เพราะหากต้องการเก็บพนักงานเอาไว้ให้นานขึ้น ก็ต้องใช้เงินเยอะขึ้นเพื่อยื้อพนักงานเอาไว้ และสุ่มเสี่ยงจะทำให้ความสัมพันธ์ของพนักงานและองค์กรมีปัญหา
  • ก่อนจะให้พนักงานสักคน Garden Leave สิ่งที่ HR และผู้บริหารจำเป็นต้องทำคือ ศึกษาสัญญาจ้างงานของพนักงานคนนั้นให้ดีก่อน ศึกษากฎหมายแรงงาน พิจารณาความจำเป็นของการ Garden Leave ดูงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่ และอย่าลืมวางแผนการสื่อสารภายในเพื่อแจ้งพนักงานให้รับทราบร่วมกันด้วย
  • หากอยากได้ความมั่นใจมากขึ้นว่าจะได้พนักงานที่เก่งกาจสมน้ำสมเนื้อกับที่เสียไป มาลองค้นหา Recruitment Agency หรือบริการ Recruitment Solution จากแพลตฟอร์ม HR Products and Services ของ HREX ได้เลย

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

หากองค์กรไหนมีพนักงานชั้นยอดที่สามารถยกระดับองค์กรได้มหาศาล เขาคนนั้นย่อมมีชื่อเสียงดังไกลไปถึงหูคู่แข่ง ซึ่งเชื่อได้ว่า คู่แข่งต่าง ๆ ย่อมพยายามทำทุกอย่างเพื่อดึงตัวคนเก่งคนนี้ไปร่วมงานด้วยให้ได้

แต่มีหรือที่ต้นสังกัดจะยอมปล่อยตัวไปง่าย ๆ แน่นอนว่าต้องยื้อยุดฉุดกระชาก เพื่อรักษาพนักงานคนเก่งเอาไว้สุดฤทธิ์ แต่หากยื้อไม่ไหว ยังไงก็ต้องเสียเขาไปอยู่ดีแน่ ๆ หลายบริษัทก็อาจงัดมาตรการที่ชื่อว่า Garden Leave มาใช้เป็นท่าไม้ตาย เพื่อถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ไปร่วมงานกับที่อื่นช้าลง

ทำไม Garden Leave ถึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อองค์กร ข้อดีข้อเสียของมันเป็นอย่างไร และก่อนใช้ HR รวมถึงผู้บริหารควรต้องคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง หาคำตอบได้ในบทความนี้

Garden Leave คืออะไร ทำไมหลายองค์กรถึงใช้กัน

Garden Leave หรือบางคนอาจเรียกว่า Gardening Leave สามารถแปลตรงตัวได้ว่า “การลาเพื่อไปทำสวน” แต่แน่นอนว่าในทางปฏิบัติจริงไม่ได้หมายความตรงตัวอย่างนั้น

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

เพราะ Garden Leave หมายถึงการที่องค์กรจ้างให้พนักงานคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมาทำงานให้บริษัทเต็มเวลาอีกแล้ว ทว่าเขาก็จะไม่สามารถไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะองค์กรคู่แข่งหรือองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย จนกว่าจะหมดช่วงที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา นั่นทำให้หลายคนนิยามว่า พนักงานจะมีเวลาว่างมาทำสวนแก้เบื่อไปพลาง ๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ Garden Leave ยังทับซ้อนกับ Non-Compete Agreement หรือสัญญาห้ามแข่งขันกัน ซึ่งเป็นสัญญาที่ผูกมัดพนักงานไม่ให้ไปทำงานให้กับคู่แข่งขององค์กร หรือไม่ดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้างเดิม ภายในระยะเวลาและขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่ระบุไว้ 

ความแตกต่างจะอยู่ที่ Non-Compete Agreement เป็นสิ่งที่ใช้หลังจากพนักงานออกจากงานแล้ว ส่วน Garden Leave จะแช่แข็งพนักงานไว้ในองค์กรจนกว่าจะหมดสัญญา แต่หลายคนก็มองว่ามันแทบจะไม่ต่างกันแต่อย่างใด เพราะใจความสำคัญนั้นเหมือนกันนั่นคือ ห้ามไม่ให้เปิดเผยความลับทางการค้าต่อคู่แข่งจนกว่าจะผ่านระยะเวลาหนึ่งไป

จริง ๆ แล้ว Garden Leave สามารถใช้กับพนักงานคนไหนก็ได้ แต่คนที่จะได้รับสิทธิ์นี้มากที่สุดเห็นจะเป็นพนักงานอาวุโสระดับซีเนียร์ หรือพนักงานที่เป็นทาเลนต์ คนที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กรอย่างประเมินค่ามิได้มากกว่า

สาเหตุก็เพราะพนักงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการค้า กลยุทธ์การตลาดที่เป็นความลับไว้เยอะกว่าใคร องค์กรจึงต้องป้องกันไม่ให้พวกเขาเอาความลับไปเผยแพร่กับที่ใหม่ จนสุดท้ายตัวเองโดนแก้เกม แก้กลยุทธ์จนแผนแตก

อีกวิธีหนึ่งในการใช้ Garden Leave เกิดขึ้นหากพนักงานประพฤติตัวผิดกฎ แต่องค์กรตระหนักว่าเขายังมีค่ามหาศาล จึงยังไม่อยากสูญเสียเขาไป ก็จะให้พนักงานได้ลาไปทำสวนแทน จนกว่าจะมีการไต่สวนเรื่องการกระทำผิดจนเสร็จสิ้นก็มี

ข้อดีและข้อเสียของการทำ Garden Leave

Garden Leave ถือเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทใหญ่ ๆ มักทำกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำกันตลอดเวลา เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องพึงระวัง มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรกันบ้าง

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

ข้อดี

  • ช่วยป้องกันความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น หากพนักงานไปทำงานให้คู่แข่งทันที
  • ช่วยรักษาความลับของบริษัท ที่อาจรั่วไหลไปสู่องค์กรคู่แข่งให้รั่วได้ช้าลง 
  • ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านและส่งมอบงานมีความราบรื่น พนักงานในฝ่ายจะมีเวลาปรับตัวในการทำงาน และพร้อมส่งมอบให้คนใหม่เข้ามารับช่วงต่อ
  • ให้โอกาสพนักงานได้พักผ่อน ชาร์จพลัง เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงานใหม่

ข้อเสีย

  • มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง เพราะหากต้องการเก็บพนักงานเอาไว้ให้นานขึ้น ก็ต้อง Counteroffer หรือใช้เงินเยอะขึ้นเพื่อยื้อพนักงานเอาไว้ ในระหว่างที่ยังมีสถานะเป็นพนักงานอยู่ นอกจากจ่ายเงินเดือนเพิ่มแล้ว องค์กรก็ต้องทำเรื่องประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ ให้เช่นเดิมด้วย หรือตามแต่จะตกลงกัน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและพนักงานอาจมีปัญหา เพราะพนักงานอาจรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจที่จะต้องห่างจากงานที่รัก หากพนักงานคนไหนยอมรับชะตากรรมแล้วทำตามสัญญาก็ดีไป แต่หากคันไม้คันมือแล้วหนีไปทำงานกับคู่แข่งทันที ก็จะกลายเป็นกรณีพิพาทตามมา ต้องเสียเวลาทำเรื่องฟ้องร้องทางกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย
  • หลายคนมักมองว่า การทำ Garden Leave เป็นเพียงคำพูดสละสลวยเอาไว้หลอกพนักงานว่า ไม่ได้โดนไล่ออก บางทีองค์กรก็อาจหลอกตัวเองด้วยซ้ำว่า ทำแบบนี้แล้วจะเก็บพนักงานเอาไว้ได้ ซึ่งน้อยครั้งมากที่สุดท้ายจะยื้อใครสักคนเอาไว้ได้จริง ๆ

ต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม Garden Leave แตกต่างกัน

แม้ Garden Leave พบเจอได้บ่อยในแวดวงการทำงาน และใจความสำคัญก็คือการห้ามพนักงานไปร่วมงานกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่ว่าในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่นั้นให้คุณค่ากับวัฒนธรรมการ Garden Leave แตกต่างกันด้วย มากบ้างน้อยบ้าง ดังนี้

อังกฤษ

เมืองผู้ดีถือเป็นประเทศต้นแบบของการให้พนักงานออกไปทำสวนฆ่าเวลา โดยมักใช้กันในธุรกิจด้านการเงิน และในแวดวงกีฬาอย่างเช่นฟุตบอล และจะมีกรอบการทำ Garden Leave ตามปกติอยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปี

สหรัฐอเมริกา

แม้ Garden Leave จะเป็นที่นิยมในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้สนใจการกลยุทธ์นี้ขนาดนั้น มีข้อมูลว่าในสหรัฐอเมริกาจะเรียก Garden Leave ว่า Administrative Leave และแรกเริ่มเดิมทีไมไ่ด้มีกฎหมายรองรับมาตรการนี้ จนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่จะเน้นใช้ Non-Compete Agreement มากกว่า 

จนกระทั่งในปี 2018 ที่มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยการ Garden Leave เริ่มจากในรัฐรัฐแมสซาชูเซตส์ทำให้เริ่มใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ปัจจุบันก็กฎหมายนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้ง 50 รัฐ

ทั้งนี้กรอบเวลาจะค่อนข้างสั้นกว่าอังกฤษ เพียง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แต่บางที่ก็ระบุว่า 30-90 วัน

ออสเตรเลีย

เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร การทำ Garden Leave ที่ออสเตรเลียมักใช้ในแวดวงธุรกิจการเงิน

สิงคโปร์

การ Garden Leave ในสิงคโปร์ มักจะมีข้อกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่า จะใช้เฉพาะพนักงานที่มีความอาวุโสเป็นหลัก

กรณีตัวอย่างของการทำ Garden Leave

หลาย 10 ปีที่ผ่านมา มีกรณีของการทำ Garden Leave ที่น่าสนใจมากมาย แต่เราขอนำเสนอกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ 2 กรณีด้วยกัน ดังนี้

กรณีที่ 1 : IBM vs ปฐมา จันทรักษ์

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

หนึ่งในกรณีที่โด่งดังที่ไม่เพียงเพราะเกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ระดับโลกอย่าง IBM แต่ยังเกี่ยวพันกับคนไทยด้วย กรณีนี้เกิดขึ้นกับคุณปฐมา จันทรักษ์ ผู้บริหารหญิงเก่งในสาย IT ที่ปัจจุบันทำงานเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก Accenture สาขาประเทศไทย

จุดที่ทำให้เธอมีปัญหาก็คือ ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกับที่นี่ คุณปฐมาเพิ่งลาออกจาก IBM เพียงแค่เดือนเดียว ซึ่ง IBM มองว่าระยะเวลาในการเริ่มงานใหม่ของเธอสั้นไป จนตัดสินใจยื่นฟ้องคุณปฐมา ต่อศาลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ข้อหาละเมิดสัญญาที่ตกลง Gardening Leave ว่าจะไม่ให้เปิดเผยข้อมูลของบริษัท และไม่ทำงานกับคู่แข่งในระยะเวลาที่กำหนด (จากการสืบค้นข้อมูล ไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่ากำหนดระยะเวลาไว้นานเพียงใด) แล้วเรียกคืนเงินโบนัส 4.7 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 15.9 ล้านบาทจากเธอ

ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในชั้นศาล แต่คุณปฐมาก็เคยเปิดเผยใน LinkedIn ของเธอว่า สถานการณ์นี้ทำให้เธอถูกตั้งคำถามถึงความซื่อสัตย์ของเธอ ซึ่งเธอก็หวังว่าเวลาจะพิสูจน์ความจริงออกมาเอง

กรณีที่ 2 : Red Bull Racing vs เอเดรี้ยน นิวอี้

Garden Leave กลยุทธ์รักษาความลับทางธุรกิจ ถ่วงเวลาทาเลนต์ให้ร่วมงานคู่แข่งช้ากว่ากำหนด

อีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายน 2024 ในแวดวงการแข่งรถสูตร 1 หรือ Formula 1 เมื่อทีมแข่งรถ Red Bull Racing ตัดสินใจให้ Garden Leave กับ เอเดรี้ยน นิวอี้ (Adrian Newey) วิศวกรสมองเพชรที่ทำงานกับทีมมานาน หลังจากมีข่าวว่าทีม Ferrari พยายามจีบ นิวอี้ เต็มที่ให้ไปร่วมงานด้วย ซึ่งเขาก็สนใจอยากย้ายทีมเช่นกัน

หากเป็นวิศวกรคนอื่น อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่เพราะ นิวอี้ เป็นคนที่เก่งกาจในระดับที่ไปอยู่ทีมไหน ก็มักจะช่วยสร้างรถแข่งชั้นยอด ช่วยให้ทีมได้แชมป์หลายต่อหลายครั้ง ทั้งช่วงที่อยู่กับทีม Williams Racing, ทีม McLaren รวมถึง Red Bull เอง Red Bull ก็ยังไม่อยากเสียเขาไป จึงถือโอกาสนี้ใช้มาตรการ Garden Leave เสียเลย

จากการเปิดเผยมีรายละเอียดว่า นิวอี้ ไม่จำเป็นต้องมาทำงานแบบ Full Time กับทีมแล้ว และจะได้อิสระในการไปร่วมงานกับทีมไหนในแวดวง F1 ก็ได้จนกว่าจะหมดไตรมาสแรกของปี 2025 ซึ่งแม้จะมีข่าวว่า Ferrari น่าจะเป็นตัวเต็งที่จะได้เขาไปครอง แต่หลายทีมเช่น Mercedes และ Williams Racing ก็มีข่าวว่าพยายามจีบวิศวกรคนเก่งสุดฤทธิ์

ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า ใครกัน จะได้ร่วมงานกับวิศวกรระดับตำนานรายนี้

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: เคยมีองค์กรไหนให้ Garden Leave แก่พนักงานไหม

ผมเป็นผู้จัดการตั้งแต่ อายุ 26 ผมเคยแต่ทำตัวเลขทำยอด ปิดเป้าบริษัท ตลอด ผมกลับบริหารให้ลูกน้องรักไม่ได้ ผมควรทำไงให้ลูกน้องเข้าใจ และไว้วางใจเราครับ

A: ยังไม่เคยเห็นตัวอย่างองค์กรในประเทศไทยที่ให้พนักงาน Garden Leave ได้

ละยังไม่มีระบุในกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างที่ให้พนักงานสามารถใช้ Garden Leave เมื่อมีความจำเป็น
Garden Leave นิยมใช้กับการจ้างงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตำแหน่งงานที่เข้าถึงความลับทางการค้าและเทคโนโลยีสำคัญ
ของบริษัท และเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวด้านข้อมูลซึ่งมีผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา…

ก่อนให้พนักงาน Garden Leave องค์กรและ HR ต้องคำนึงเรื่องอะไรบ้าง

การจะให้พนักงานสักคนได้ Garden Leave มีหลายเรื่องที่ HR และผู้บริหารต้องคิดและตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อนลงมือ โดยมี 6 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  1. ศึกษาสัญญาจ้างงานอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสัญญาจ้างงานของพนักงานคนนั้นมีข้อกำหนดรองรับการใช้ Garden Leave รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
  2. พิจารณาความจำเป็นทางธุรกิจให้ดี ว่าพนักงานคนนั้นสำคัญต่อธุรกิจมากน้อยเพียงใด มีโอกาสนำข้อมูลสำคัญไปเปิดเผยกับคู่แข่งหรือไม่ บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องให้ Garden Leave เลยก็ได้ ถ้าประเมินแล้วพบว่า การสูญเสียพนักงานไป อาจไม่ส่งผลกระทบอย่างที่คิด
  3. ต้นทุนค่าใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่ อย่าลืมว่าการจ่ายค่าจ้างช่วง Garden Leave นั้นจะมีราคาสูงกว่าปกติ เพราะฉะนั้นอย่าลืมประเมินผลกระทบด้านการเงินของบริษัทด้วยว่าพร้อมหรือไม่ บางทีเงินที่เสียไปอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้านกว่าที่คิด
  4. กำหนดระยะเวลา Garden Leave ให้เหมาะสม ไม่ควรสั้นหรือยาวเกินไป โดยอาจพิจารณาจากลักษณะงานและข้อมูลที่พนักงานรับผิดชอบว่าเข้าถึงความลับขององค์กรมากน้อยแค่ไหน
  5. อย่าลืมศึกษากฎหมายแรงงาน และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้การใช้ Garden Leave ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องระวังไม่ให้ไปกระทบหรือละเมิดสิทธิ์ของพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องระยะเวลาที่สามารถให้พนักงานลาไปทำสวนได้
  6. วางแผนการสื่อสารให้ดีและรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารภายในองค์กรเกี่ยวกับสถานะของพนักงานที่อยู่ใน Garden Leave เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่า เขายังทำงานอยู่ในองค์กรหรือไม่

หากพิจารณาประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้อย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนใช้ มั่นใจได้ว่าจะช่วยให้การใช้ Garden Leave มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

สรรหาทาเลนต์มากความสามารถตั้งแต่วันนี้ หมดปัญหาไร้คนทำงานเพราะ Garden Leave

เมื่อให้ทาเลนต์ได้ Garden Leave หมายความว่าองค์กรจะต้องสูญเสียพนักงานที่มีค่าไปแน่นอน และจะทำให้การทำงานติดขัดหรือล่าช้าตามไปด้วย

ดังนั้นในช่วงที่พนักงานคนเก่งหายไป องค์กรก็ต้องถือโอกาสนี้มองหาพนักงานใหม่ที่มีความสามารถไม่แพ้กันเข้ามาเติมเต็มด้วย อาจเริ่มจากการโปรโมทคนข้างในขึ้นมาแทน หรือมองหาพนักงานจากองค์กรภายนอกก็เป็นอีกทางเลือกเช่นกัน

ทั้งนี้ หากอยากได้ความมั่นใจมากขึ้นว่าจะได้พนักงานที่เก่งกาจสมน้ำสมเนื้อกับที่เสียไป มาลองค้นหา Recruitment Agency หรือบริการ Recruitment Solution จากแพลตฟอร์ม HR Products and Services ของ HREX ได้เลย ที่นี่รวบรวมบริษัทจัดหางานที่จะตามหาพนักงานชั้นเลิศมาช่วยเติมเต็มองค์กรทุกรูปแบบ ทั้งพนักงานระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งช่วยให้เกิดความอุ่นใจได้ว่า พนักงานใหม่ที่จะเข้ามานั้น น่าจะเข้ามาเติมเต็มองค์กรได้ไม่มากก็น้อย

มาลองค้นหาบริการที่โดนใจได้เลยทางลิงก์นี้

บทสรุป

การที่พนักงานอยากย้ายงาน ไม่อยากอยู่กับองค์กรเดิมอีกต่อไปถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากบริษัทจะยื้อพนักงานเอาไว้ทุกวิถีทาง ก็สามารถทำได้เช่นกัน และ Garden Leave ก็คือกลยุทธ์ที่หลายองค์กรมักจะใช้เป็นท่าไม้ตาย หากไม่อยากสูญเสียคนเก่งไปให้คู่แข่งจริง ๆ

ทั้งนี้ ก่อนหงายไพ่ตายใบนี้ อย่าลืมพิจารณาว่าการทำ Garden Leave นั้นคุ้มหรือไม่ มิฉะนั้นไม่เพียงจะสร้างความชอกช้ำให้กับพนักงาน แต่ยังทำให้บริษัทติดหล่มเสียเองด้วย จนสุดท้ายผู้ชนะตัวจริงคือคู่แข่งที่ไม่ต้องออกแรงมากมาย ก็ได้ทุกอย่างไปครอง ทั้งความเป็นเจ้าตลาด และพนักงานหัวกะทิ

Sources:

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง