สรุปทุกเรื่องที่ควรรู้จากงานเสวนา WAYS AI ENHANCES AN EMPLOYER’S BRANDING

HIGHLIGHT

  • HR Tech เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เรื่อยมาจนปัจจุบัน และตอนนี้กระแสของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เริ่มถูกพูดถึงในแวดวง HR มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการสรรหาบุคลากร (Recruting)
  • Employer’s Branding เปรียบเสมือนการตั้งร้านกาแฟอยู่ในทำเลที่มีคาเฟ่เต็มไปหมด เราจะสร้างจุดเด่นอย่างไรให้คนเลือกเข้ามาที่ร้านของเรา ?
  • AI สามารถช่วยในเรื่องของการวางแผนงาน, เก็บข้อมูล, สรรหาบุคลากร, ออกแบบสวัสดิการ เป็นต้น โดยสิ่งที่นำเสนอออกไป ต้องเป็นสิ่งที่ดีต่อภาพลักษณ์และ HR ทำได้จริง ห้ามเพ้อฝันหรือปราศจากแผนงานรองรับเด็ดขาด
  • AI คือเครื่องมือ (Tools) ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา (Solutions) เราต้องหาความรู้ให้ตัวเองสามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะ AI ไม่สามารถเข้าใจบริบทของเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จำเป็นต้องมีคนคอยกำกับดูแลด้วย
  • HR ในปัจจุบันต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ทักษะในการเรียนรู้ (Ability To Learn) ทักษะในการปรับตัว (Ability to Adapt) และทักษะในการโอบรับทุกสิ่งที่เข้ามาด้วยความพร้อม (Ability to Embrace)

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ชนิดที่เราคงนึกไม่ถึงหากพูดถึงเรื่องนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างภาพขึ้นมาจากตัวหนังสือ, สามารถเขียนบทความยาว ๆ ได้ด้วยคีย์เวิร์ดไม่กี่ตัว และล่าสุดบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ก็ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ Vision Pro ที่จะมาผสานโลกจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน นี่คือข้อพิสูจน์ว่าโลกดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

ในแง่ HR เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง ? คำตอบก็คือ ‘ทุกแง่มุม’ ไล่ตั้งแต่การวางระบและโครงสร้าง (System & Structure) การจัดอบรม (Training & Coaching) หรือแม้แต่การสร้างภาพลักษณ์ (Branding) ซึ่งถือเป็นวิธีสร้างความน่าเชื่อถือที่ทรงอานุภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของบุคลากรในตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน

ก่อนที่จะถึงงาน Thailand HR Tech 2023 ทาง PMAT ได้จัดงาน Pre-Conference ขึ้นมา ในประเด็นเรื่อง WAYS AI ENHANCES AN EMPLOYER’S BRANDING ภายใต้แนวคิดว่าเราไม่สามารถดึงดูดผู้สมัครด้วยผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้วย เพราะเมื่อผู้สมัครเห็นว่าเป้าประสงค์ (Purpose) และเป้าหมาย (Goal) ขององค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่คิด ก็จะอยากร่วมงานด้วยมากกว่า หากเทียบกับองค์กรที่แทบไม่มีอะไรตรงกันเลย

การเสวนานี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยองค์กรของคุณได้อย่างไร ผ่านการพูดคุยเชิงวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่

  1. คุณวริศ ชนาเทพาพร : Executive Vice President จาก JOBTOPGUN.com
  2. คุณสุขวัฒน์ เพ็ญโภไคย : HR Transformation Office จาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
  3. ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ : ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยมีคุณภคภัค สังขะสุนทร : People Director จาก FINNOMENA รับหน้าที่เป็น Moderator

เราเรียนรู้อะไรจากงานนี้บ้าง ติดตามไปพร้อมกับ HREX.asia ได้เลย

WAYS AI ENHANCES AN EMPLOYER’S BRANDING

Employer’s Branding ที่จะพูดในงานเสวนานี้จะเน้นในเรื่องของการสรรหาบุคลากร ในที่นี้คุณภคภัค จาก FINNOMENA เปรียบการทำ Employer’s Branding เหมือนการตั้งร้านกาแฟในจุดที่มีร้านอยู่มากมาย เราจะทำให้คนเลือกเข้าร้านเราได้อย่างไร ? คำตอบก็คือร้านที่หาจุดเด่นเจอ มีความน่าดึงดูด ก็จะได้ลูกค้าไป 

คุณวริศ ชนาเทพาพร Executive Vice President จาก JOBTOPGUN.com กล่าวว่ากระแส (Trend) ของการหาพนักงานในเมืองไทยคือเรากำลังอยู่ในยุคที่มีการแข่งขันกันสูง และจะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นองค์กรที่ดีก็ต้องมีกลยุทธ์สรรหาเชิงรุก (Proactive) คือมุ่งไปหากลุ่มเป้าหมายโดยตรง หรือแม้แต่การหาเด็กฝึกงานที่ช่วยให้เรามีโอกาสเข้าถึงพนักงานที่มีฝีมือตั้งแต่ระดับต้นน้ำ

คุณวริศมองว่าความท้าทายของ HR Recruiter ในช่วงประมาณ 2 ปีข้างหน้า คือเราต้องสร้าง HR ให้มีทักษะในการเรียนรู้ (Ability To Learn), ทักษะในการปรับตัว (Adapt) และสามารถโอบรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาด้วยความพร้อมเสมอ (Embrace) เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาไปอยู่ในจุดไหน ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ต้องสามารถปรับตัวเข้าหาสิ่งนั้น ๆ และรู้ว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับงาน HR ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

ทางด้านคุณสุขวัฒน์มองว่าสิ่งที่องค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่มองหาก็คือเรื่องของผลลัพธ์ (Productivity) บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มต้องการคนที่ทำงานได้หลายอย่าง มีความคุ้มค่า ดังนั้นทักษะเรื่องของ Multi Skills จึงสำคัญมาก ซึ่งหมายรวมถึงทั้ง Soft Skills และ Hard Skills โดยทางองค์กรก็ต้องหาเครื่องมือมาตรวจสอบด้วยว่าพนักงานของเรา หรือแม้แต่ผู้สมัครใหม่มีทักษะอื่น ๆ ที่น่าสนใจหรือไม่ ซึ่งการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาตรวจสอบก็จะช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ง่ายขึ้น 

จุดที่น่าสนใจก็คือเราต้องให้ความสำคัญกับการหาพนักงานที่มีพฤติกรรม (Behavior) และทัศนคติ (Attitude) ให้ตรงกับวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Fit) ด้วย การค้นหาพนักงานจึงต้องมีความเข้มข้นมากกว่าที่เคย

นอกจากนี้คุณสุขวัฒน์ยังมองว่าพนักงานเริ่มมีทักษะที่แปลกขึ้นเรื่อย ๆ เป็นทักษะที่เราอาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่กลับกลายเป็นทักษะที่สร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ดังนั้นจึงมีเทรนด์ของการ “จ่ายเพื่อทักษะ” (Pay for Skills) หากองค์กรเห็นว่าพนักงานมีความสามารถ ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสม ต้องปรับปรุงโครงสร้างด้านสวัสดิการให้ครอบคลุม ชัดเจน ต้องตอบให้ได้ว่าทิศทางในระยะยาวเป็นอย่างไร เช่น สนใจเรื่องความเท่าเทียม (Sustainability) หรือไม่, ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศหรือเปล่า ? เป็นต้น 

ขณะที่ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ กล่าวว่าทิศทางในการสรรหาบุคลากรจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยอธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าในความเป็นจริงนั้น การหาพนักงานแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลา เราไม่สามารถบอกว่า “รออีกสักนิด” หากเป็นตำแหน่งที่องค์กรต้องการทันที ดังนั้นความท้าทายของ HR ในอนาคตอันใกล้ก็คือ

1.) ต้องมีความรวดเร็วและแม่นยำ

2.) ต้องมีความสามารถในการ Pre-Screen และ Shortlist ได้ดีขึ้น

3.) ต้องมีความสามารถในการใช้ข้อมูล (Data) เพื่อเข้าหาคนที่น่าสนใจ ซึ่งกลไกทั้งหมดนี้สามารถใช้ HR Tech ช่วยเหลือได้โดยตรง

ดร.สุรพิชย์ กล่าวเสริมในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ (Employer’s Branding) ว่าก่อนจะไปคิดถึงเรื่องอื่น เราต้องคิดถึงการสร้างรากฐานที่แข็งแรงก่อน อย่างการตรวจสอบว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) พื้นฐานขององค์กร เช่น LinkedIn สมบูรณ์หรือยัง,​ เว็บไซต์ขององค์กรให้ข้อมูลชัดเจนหรือยัง เป็นต้น

เมื่อเราแน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ค่อยไปคิดถึงการสร้างจุดเด่นอื่น ๆ โดยการคิดว่ามีอะไรบ้างที่จะสื่อสารออกไปสู่สังคมได้ เราต้องรู้ว่า Pain Point ของคนรุ่นใหม่คืออะไร, คนรุ่นใหม่ชอบอะไร แล้วค่อยคิดเนื้อหาเพื่ออธิบายว่าการร่วมงานกับเรา จะทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่กังวลตลอดช่วยส่งเสริมในสิ่งที่พวกเขามุ่งหวังได้อย่างไร  ซึ่งทุกสิ่งที่องค์กรนำเสนอออกไป ต้องเป็นสิ่งที่ HR ทำได้จริง ห้ามประดิษฐ์เรื่องขึ้นมาตามกระแสโดยปราศจากการวางแผนเด็ดขาด

มาถึงเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) คุณสุขวัฒน์ กล่าวว่าเรามีการใช้ AI แบบพื้นฐานมาเป็นระยะอยู่แล้ว เช่น พวก RPA (Robotic Process Automation) หรือ Bots ต่าง ๆ แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า AI จะไม่ได้เข้ามาแทนการทำงานทุกอย่าง เราต้องมองมันเป็นเครื่องมือ (Tools) อย่างหนึ่งที่ควรเอามาร่วมงานกับทักษะของคน อย่ามองว่ามันเป็นวิธีแก้ปัญหา (Solution) ที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกได้

เช่น เราใช้ ChatGPT มาช่วยคิดงาน เราก็ต้องเข้าใจว่าข้อมูลที่ ChatGPT มีนั้น ส่วนใหญ่เป็น input จากสหรัฐอเมริกา คำตอบที่เราได้รับจึงไม่สามารถใช้งานกับตลาดในเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องมีความรู้ว่าข้อมูลแบบไหนที่ใช้งานได้ (Valid) ข้อมูลแบบไหนที่ใช้งานไม่ได้ การใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพที่สุดจึงต้องมาคู่กับองค์ความรู้ของตัวผู้ใช้เองด้วยเช่นกัน

คุณวริศ มองว่า AI จะมีส่วนสำคัญในเรื่องการสรรหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะจะช่วยให้เกิดความแม่นยำและความครอบคลุม เนื่องจาก AI สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล และสามารถเข้าใจว่าเรากำลังพยายามหาคนแบบไหนอยู่ โดย AI จะเข้ามาช่วยเราได้ใน 3 ประเด็นหลักคือ

1.) การค้นหา (Searching) ที่เราสามารถใส่ข้อมูลที่ต้องการอย่างละเอียดเข้าไปในระบบได้เลย ซึ่งละเอียดได้ถึงการกำหนดว่าเราต้องการผู้สมัครที่มีงานอดิเรกแบบไหนด้วยซ้ำ แล้ว AI ก็จะค้นหาจากฐานข้อมูลทั้งหมดว่ามีผู้สมัครคนไหนที่ตรงกับ Job Post ของเราบ้าง

2.) การจับคู่ (Matching) เมื่อ AI พบเจอคนที่ตรงแล้ว ระบบก็จะติดต่อไปทันที ซึ่ง JOBTOPGUN.com พบว่าวิธีนี้ได้ช่วยให้การสรรหามีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 20%

3.) การคัดเลือก (Screening) คือ AI สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าแท้จริงตำแหน่งต่าง ๆ ต้องการคนแบบไหนกันแน่

‘Getting the right information to the right people’ คือคอนเซปต์ที่คุณวริศมองว่า AI จะช่วยเสริมให้การทำงานของ HR ง่ายขึ้น และเทคโนโลยีที่พัฒนานั้นจะช่วยให้ Employer’s Branding เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ เราสามารถใช้ AI วางแผนเรื่องนี้เบื้องต้นได้ในเวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น โดยสามารถทดลองที่บูธของ JOBTOPGUN ได้ที่งาน Thailand HR Tech 2023 ได้เลย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง