HIGHLIGHT
|
แต่ละคนมีความหมายของคำว่า “บ้าน” ต่างกัน แต่ทุกบ้านย่อมมี “คน” เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บ้านนั้นมีความหมายมากขึ้น
ไม่ต่างอะไรกับแนวคิดของบริษัท นีโอ คอร์เปอเรท จำกัด (NEO Corporate) ผู้นำด้านสินค้าอุปโภคมาตรฐานสากล เจ้าของแบรนด์ดัง อาทิ Fineline, D-nee, BeNice, Smart, Eversence, Tros ฯลฯ ที่ตั้งใจสร้างสำนักงานให้เปรียบเสมือน “บ้านหลังที่สอง” เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความสุขที่สุดในการทำงานแต่ละวัน
HREX.asia ได้คุยกับคุณ ณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าบริหาร NEO Corporate ถึงแนวคิดการพัฒนาบุคลากรอันโดดเด่น กระทั่งได้รับรางวัล Best Companies To Work For จาก HR Asia ประจำปี 2022 เคล็ดของที่นี่คืออะไร หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์นี้
ที่ผ่านมาหลายบริษัทเผชิญหน้ากับวิกฤต COVID-19 ทางด้าน NEO Corporate รับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไรบ้าง ?
ณิศรา: ต้องบอกว่าทุกคนในนีโอปรับตัวและเหนื่อยกันทุกคน แต่มันเป็นความท้าทายค่ะ เพราะสถานการณ์โควิดได้เปลี่ยนธรรมชาติ (Nature) ของบริษัทไปเลย จากที่เราต้องเข้าออฟฟิศเช้า-เย็น กลายเป็น Remote Working เปลี่ยนจากเจอกัน Face-to-face กลายเป็นเจอกันใน MS Teams หรือ Zoom แทน แถมเปลี่ยนในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทำให้เกิดอาการช็อก เราจึงกระจายอำนาจไปทาง Head Team ต่าง ๆ ในการดูแลทีมงานของตนเอง เพราะในช่วงปรับตัวทุกคนพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เราก็ชัดเจนว่างานเราต้องเดินหน้าต่อไปได้นะ ทุกคนต้องรู้สึกว่าตัวฉัน งานฉันมีความสำคัญ มีคุณค่า (Value) อยู่ และเรายังทำต่อได้ นี่คือสิ่งแรกในการจัดการสถานการณ์โควิดเลยค่ะ
ส่วนที่สองคือเรื่องอุปกรณ์เสริมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เนื่องจากบริษัทเราค่อนข้างมีของเล่นในแง่ Infrastructure เยอะ ขออนุญาตเรียกว่าของเล่นนะคะ เราค่อนข้างพร้อมและเปลี่ยนได้เร็ว ก็มีสะดุดบ้างนะคะ แต่ความพร้อมของเราทำให้ทีมงานปรับตัวกันได้เร็ว
พอผ่านเรื่องช็อกมาได้ เรื่องสุดท้ายที่เราจะเจอคือธรรมชาติใหม่ขององค์กรที่เปลี่ยนแปลง เราเลยมีการสื่อสาร พูดคุย ให้กำลังใจกันอยู่เสมอในรูปแบบต่างๆ เช่น มีการประชุมย่อยเพื่อคุยกับทีมมากขึ้น มี Morning Talk ออนไลน์ แม้กระทั่งผู้บริหารก็ปรับรูปแบบการสื่อสารเหมือนกัน มีการทำคลิป ทำ Town Hall ออนไลน์ ฯลฯ เราคิดว่าองค์กรของเราก็ปรับตัวได้ทันในสถานการณ์นี้
ในพาร์ทโรงงานต่าง ๆ ช่วงนั้นรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 อย่างไรบ้าง ?
ณิศรา: หนักค่ะ (หัวเราะ) อย่างที่ทราบกันว่า ธรรมชาติของงานโรงงานคือต้องเข้าไปที่ทำงาน ช่วงนั้นเราก็ออกกฎระเบียบมากมายที่เกิดจากความเข้าใจร่วมกัน เช่น ต้องสวมหน้ากาก ต้องตรวจอุณหภูมิ ต้องใส่ถุงมือ ฯลฯ แน่นอนว่าช่วงแรกไม่มีใครชอบหรอก เพราะไม่เคยมีใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่เราก็ขอความร่วมมือทุกคน และค่อย ๆ ปรับกฎระเบียบที่มากหรือน้อยเกินไปจนทุกอย่างลงตัว เรามีการสื่อสารกันค่อนข้างมากทั้งในโรงงานและโรงงานอื่นในแถบเดียวกันเพื่อช่วยและป้องกันโควิดไม่ให้เข้ามาในเขตพื้นที่ของเรา ในขณะเดียวกัน ทีมผู้บริหารได้มีการไปเยี่ยมตามบ้านผู้ร่วมงานต่าง ๆ ด้วย พร้อมนำอุปกรณ์ป้องกันโควิดไปแจกจ่าย เพราะไม่ใช่แค่พนักงานที่ต้องปลอดภัย แต่รวมถึงบุคคลในบ้านของเขาด้วยค่ะที่เราใส่ใจ
อะไรคือบทเรียนสำคัญในช่วง COVID-19 ?
ณิศรา: เรื่องแรกคือได้ลองของเล่นใหม่ (หัวเราะ) เช่น พวกเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราใช้จนชำนาญมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเราเข้าใจความหมายของคำว่า “ทีมเวิร์ค” (Teamwork) มากขึ้น เพราะภาพทีมเวิร์คสมัยก่อนโควิดคือการนั่งทำงานด้วยกัน แต่ทีมเวิร์คหลังโควิดคือการสื่อสาร การประสานงาน การทำให้งานสำเร็จแม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากันก็ตาม เราเลยรู้สึกว่าความหมายของทีมเวิร์คเปลี่ยนไป เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ถ้าทุกคนเห็นเป้าหมาย (Goal) เดียวกัน เราก็จะช่วยกันผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้
ล่าสุด NEO Corporate ได้รับรางวัล Best Companies To Work For คิดว่าทำไมบริษัทของคุณถึงเหมาะสมกับรางวัลนี้
ณิศรา: ตอบยากนะ (หัวเราะ) เราว่าความหมายของ “Best Companies To Work For” ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เหมือนเราเลือกบ้านค่ะ บ้านบางหลังออกแบบมาดีมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านนั้นเหมาะกับเรา แต่บ้านหลังนี้ที่เป็น Best Companies To Work For เหมาะสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสุขในการทำงานที่นี่ฉะนั้นตัวรางวัลเองเป็นการคอนเฟิร์มว่า คนของ NEO Corporate เหมาะกับ NEO Corporate จริง ๆ
คนของ NEO Corporate ต้องบ้างานหน่อย ต้องชอบในสิ่งที่ทำอยู่ เราเคยสังเกตว่า คนที่มาทำงานไปวันวันแล้วจบไปมักจะอยู่กับเราไม่นาน ฉะนั้นที่นี่ต้องเอ็นจอยกับสิ่งที่ทำ เพราะงานหนักนะคะ (หัวเราะ) ถ้าไม่เอ็นจอยจะหมดไฟเร็วมาก
ทุกวันนี้เราเองก็เอ็นจอยกับเนื้องาน เอ็นจอยกับทีม เอ็นจอยกับสภาพแวดล้อม ทุกวันนี้เราตื่นเช้ามาเรารู้สึกอยากมาทำงาน แต่เสาร์-อาทิตย์ เราก็พักผ่อนเต็มที่ เราว่า NEO Corporate มีคนกลุ่มนี้อยู่เยอะ คนที่อยากมาทำงานและรู้สึกสนุกกับงานค่ะ
ทราบมาว่า NEO Corporate มุ่งเน้นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับการพัฒนาคนอย่างไรได้บ้าง ?
ณิศรา: จริง ๆ การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเราพูดในหลากหลายมิติ เช่น ในแง่การพัฒนาสินค้า การพัฒนาระบบการทำงาน และการพัฒนาคน สำหรับเราการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงมีความหมายความว่าคุณต้อง Keep Going อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนในแง่การพัฒนาคนนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น หลายคนมีความคิดที่ดีนะคะ แต่เขาไม่กล้าแชร์ เก็บไว้กับตัวเอง เราว่าการพัฒนาคนต้องพัฒนาความคิด และเตรียมสภาพแวดล้อมให้เขากล้าแสดงความคิดนั้น ๆ ออกมาด้วย
นอกจากนี้ NEO Corporate ยังพยายามสร้าง Happy Workplace ด้วย ?
ณิศรา: ใช่ค่ะ เราอยากให้สำนักงานเปรียบเสมือน “บ้านหลังที่สอง” เพื่อให้ทุกคนมีความสุขที่สุดในการทำงานแต่ละวัน ไม่ได้มาแล้วทำหน้าเคร่งเครียดอย่างเดียว ฉะนั้นออฟฟิศเราจะมีบรรยากาศของการคุยเล่นกันได้ แต่ก็ยังมี Productive อยู่ ไม่ใช่เดินเข้ามาด้วยอาการคอตกและเดินออกไปแบบคอตกเหมือนกัน ดังนั้น Energy ออฟฟิศของเราจึงมีความกระตือรือร้นและสนุกสนานกับงานค่ะ
เราสร้างบรรยากาศแห่งความสุขพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสำนักงาน เพื่อช่วยให้เกิด Work-Life Flow เรามีทั้ง Co-Working Space ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ทุกเมื่อ มีห้องฟิตเนส มีลู่วิ่งบริเวณสนามหญ้า มีแคนทีน และมีร้านกาแฟ รวมทั้งมีการนำผลผลิตจากพืชผักที่ปลูกบนชั้นดาดฟ้ามาปรุงเป็นเมนูพิเศษให้พนักงานอีกด้วย
ประเด็นเรื่องความแตกต่าง (DEI) เป็นธีมหลักของรางวัล HR Asia ประจำปี 2022 NEO Corporate มีมุมมองต่อเรื่องความหลากหลายในองค์กรอย่างไร ?
ณิศรา: เราไม่อยากให้องค์กรมี type ของคนแบบเดียว เราอยากได้ความหลากหลายทางความคิด หลากหลายทางคาแรคเตอร์ ซึ่งมันมีคุณค่า (Value) มากกว่า คนของเรามีความหลากหลาย และความหลากหลายเป็นตัวขัดเกลาทำให้เกิดคุณค่าในแต่ละคน เราไม่ได้อยากให้ทุกคนเป็น Mr. Yes Man กันหมด มีคนไม่เห็นด้วยบ้าง มีมุมมองแตกต่างกันได้ เราชอบตรงนี้ ขอแค่ทุกคนมีจุดประสงค์ร่วมกันค่ะ
ความหลากหลายของเราอาจไม่ได้ออกเป็นนโยบายหรือเขียนเป็นกระดาษ มันเกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่ปิดกั้น ทุกคนมีสิทธิ์พูด ทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนสามารถเดินเข้าไปหา CEO ได้เลย แน่นอนว่าทุกองค์กรมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งวัฒนธรรมของ NEO Corporate คือทุกคนพูดคุยกันได้ มีความสัมพันธ์ที่ดี รับฟังกัน และทุกคนชอบในงานที่ตัวเองทำ
ในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน คุณคิดว่า HR เตรียมพร้อมรับมือกับอะไรบ้าง ?
ณิศรา: Hybrid Environment Working ค่ะ ซึ่งตอนนี้เราทำและลงตัวแล้ว โจทย์ต่อไปคือการสร้างทีมในสภาพแวดล้อมที่เราเจอกันน้อยลงยังไง เพราะบางกิจกรรมกลายเป็นออนไลน์ไปแล้ว รวมไปถึงในแง่เวลาการเข้าออฟฟิศที่เปลี่ยนไปด้วย เราจะทำจะยังงัยให้พนักงานรู้สึกมีความสุขและสนุกไปกับการทำงานในรูปแบบ Hybrid โดยไม่ Burnout
ประเด็นที่สองที่น่าสนใจคือ Gig Economy เรารู้สึกเป็นเทรนด์ที่กำลังมา NEO Corporate ก็เริ่มคุยกันแล้ว แต่อาจจะยังไม่มีระเบียบแบบแผนออกมาเป็นรูปธรรม พูดง่าย ๆ เรากำลังมองการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ที่เป็น Specialist เฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งโจทย์คือเราจะ Engage กลุ่มคนเหล่านั้น ให้เข้ากับ DNA ขององค์กรยังไง ให้เค้ารู้สึกว่าเค้าเป็นพนักงานเรา เป็นเจ้าของกิจการนะไม่งั้นเขาจะเข้ามาทำงานแต่ไม่ได้โอบรับวัฒนธรรมของเรา สิ่งนี้เป็นความท้าทายที่ยากมาก เพราะคนนอกจะรู้สึกว่าฉันมาทำงานเท่านั้น แต่ไม่เห็นว่าเขาสร้าง Impact ต่อบริษัทหรือผู้บริโภคอย่างไร
สุดท้ายคือเรื่องของคนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและไวมากๆ แนวคิดของคนก็เปลี่ยนตามเช่นกัน เรามีวิธีการแบบไหนที่จะบริหารจัดการทัศนคติของคนให้เห็นและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องเปิดใจว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว เราจะไม่มาตั้งคำถามว่า ‘ทำไมมันเปลี่ยน’ แต่เราเปลี่ยนความคิดข้างในแล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราจะปรับตัวอย่างไร’ เราพยายามรักษาทัศนคติตรงนี้เอาไว้
ทำไมคุณถึงสนใจ Gig Economy แล้ว NEO Corporate เตรียมความพร้อมสำหรับเทรนด์นี้อย่างไรบ้าง ?
ณิศรา: มันเป็นความชัดเจนมาก ๆ ว่า คนเริ่มอยากจะควบคุมเวลาทำงานของตัวเองมากขึ้น และไม่อยากยึดติดกับกรอบหรือกฎของบริษัท เขาก็เลยเลือกเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น เลือกรับงานที่ตัวเองอยากทำ เราเห็นเทรนด์ตรงนี้มากขึ้นจริง ๆ ก็เลยคิดว่า Gig Economy อาจตอบโจทย์ในอนาคต ที่สำคัญคือทุกคนจะเป็น Specialist กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าฉันต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ฉันทำเรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ จนกลายเป็นจุดขายเลย สิ่งนี้จะทำให้องค์กรได้สัมผัสพนักงานคนเก่ง (Talent) ใหม่ ๆ ใน Pool ที่กว้างขึ้น ทำให้องค์กรเจอความสามารถใหม่ ๆ และองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่องค์กรยังไม่เคยมี และมีโอกาสได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย
สุดท้าย คิดว่าทำไม HR ถึงสามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้
ณิศรา: ทุกองค์กรมีคนค่ะ (หัวเราะ) คนเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต ดังนั้น “คน” จึงมีความสำคัญ และ HR ก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกันในฐานะผู้ดูแล “คน” นั่นหมายถึงการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ HR ต้องคิด Gimmick ที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของ “คน” และพัฒนา “คน” ในแต่ละ Generation ให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ๆ และเป้าหมายที่องค์กรต้องการเติบโต
เรามองว่า “คน” คือหัวใจสำคัญขององค์กรนะ ฉะนั้นความหมายขององค์กรก็คือ การที่คนมารวมตัวกันเพื่อบรรลุจุดประสงค์บางอย่างร่วมกัน ดังนั้นถ้าไม่มีคน ก็ไม่มี HR และคำว่าองค์กรก็จะไม่เกิดขึ้นค่ะ