“Passion, Innovation, Insightful, Resourceful” 4 คุณค่าที่นำพา NEO Corporate เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย

“Passion, Innovation, Insightful, Resourceful” 4 คุณค่าที่นำพา NEO Corporate เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย

การที่องค์กรหนึ่งสามารถก่อตั้งมาจนถึง 35 ปีได้ นอกจากองค์กรนั้นจะต้องมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจ สามารถทำสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้คน แต่ยังต้องมีการดูแลพนักงานที่ดีเสมอต้นเสมอปลายด้วย เพื่อให้พนักงานร่วมกันขับเคลื่อนความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันได้

หนึ่งในบริษัทที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจนครบ 35 ปีก็คือ NEO Corporate บริษัทที่ทำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เป็นต้น ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย รวมถึงชื่อเสียงของการดูแลพนักงานด้วย สะท้อนออกมาเป็นรางวัล Best Companies To Work For จาก HR Asia

HREX เคยสัมภาษณ์คุณ ณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ NEO Corporate ไว้เมื่อปีที่แล้วหลังจากได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2022 ล่าสุดเมื่อ NEO Corporate ยังได้รับรางวัล Best Companies To Work For in Asia 2023 และเราก็ได้รับโอกาสให้พูดคุยเจาะลึกถึงความสำเร็จในการบริหารงาน HR อีกครั้ง

เคล็ดลับความสำเร็จของ NEO Corporate เป็นอย่างไร มาหาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์นี้เลย

Contents

คิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ NEO Corporate ได้รับรางวัลจาก HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2023 และรางวัลนี้มีความหมายต่อองค์กรอย่างไร?

ณิศรา: DNA ของคน NEO เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราได้รับรางวัลค่ะ เราค่อย ๆ เจียระไนให้คนของเรามี DNA ที่เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้อยู่บ้านหลังที่ 2 อย่างมีความสุขและสนุกไปด้วยนั่นคือ เราควรมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน ยอมรับกฎกติกาซึ่งกันและกัน เพื่อให้อยู่ในบ้าน NEO ได้ยาวนานและมีความสุข 

ดังนั้น DNA จึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เราได้รางวัลนี้ DNA ตัวแรกเลยคือ “Passion” คนของเรามี Passion มีพลังและกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนงานของเราไปข้างหน้า โดยไม่หยุดที่จะแก้ไขปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

เรามักจะพูดว่า “สิ่งที่ทำออกมานั้นมันดีแล้วใช่ไหม? มันยังดีกว่านี้ได้อีกไหม? ให้ดีขึ้นจนถึงดีที่สุดที่เราทำได้แล้ว” เราทุ่มสุดตัวในการทำให้งานออกมามีคุณภาพและดีที่สุดสำหรับทุก ๆ คน โดยผ่านการทำงานแบบ Cross-Function ที่ทุกคนมีพลังเหมือนกัน มองที่เป้าหมายเดียวกันค่ะ

DNA ตัวที่สองที่คน NEO มีคือ “Innovation” ด้วยความที่เราเป็นบริษัท FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) สิ่งที่เรามีอยู่ในสายเลือดและทำให้เราไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนากันตลอดเวลาคือ Innovation ดังนั้นในทุกวันเราเชื่อว่าการพัฒนาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงาน เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบุคลากรของเรามันดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้นในทุก ๆ วัน

หากเราลงมือทำแบบจริงจัง มองไปข้างหน้า สังเกตตลอดเวลาว่าอะไรที่เป็นเทรนด์ใหม่ เราศึกษา ยอมรับ และประยุกต์หรือบูรณาการกับสิ่งที่มีอยู่ในองค์กรให้เป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยประโยคที่เรามักชอบตั้งคำถามกับตัวเองในงานของเราว่า “แล้วถ้า…. มันจะเป็นอย่างไร แล้วถ้า….. มันจะเกิดอะไรขึ้น” ความเป็นคนที่ชอบค้นหา ชอบมีเสียง “เอ๊ะ” ในหัวใจและความคิด มันช่วยสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ได้เสมอ  

DNA ตัวที่สามที่คน NEO มีคือ “Insightful” เรามองว่าบุคลากรของ NEO ทุกคนมีความสำคัญ ทั้งในแง่ที่เราเป็นผู้ขายและผู้บริโภคสินค้า รวมถึงความสำคัญในบทบาทการงาน การจะทำงานร่วมกันเป็นทีมอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือก็คือควรมี Insight เข้าใจคนที่เราจะทำงานด้วย การถ่ายทอดและพยายามทำความเข้าใจระหว่างกันจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่น่าทำงาน

และสำหรับ DNA ตัวสุดท้ายที่คน NEO มีก็คือ “Resourceful” เราปลูกฝังคนของเราให้มีทัศนคติ “ฉันทำได้” (Can-do Attitude) ที่ NEO เราจะเริ่มมองทรัพยากรรอบตัว และดูว่าเราจะนำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ทุกอย่างจัดการได้เพียงแค่เราต้องมีสติและวางแผน จัดการทรัพยากรที่เรามีในมืออย่างมีประสิทธิภาพค่ะ 

DNAs ของ NEO ได้แก่ “Passion, Innovation, Insightful, Resourceful” เป็นเหมือนคุณค่าร่วมที่เรายึดถือเหมือนกันเป็นเหมือนพันธุกรรมของพวกเราที่ถ่ายทอดกันผ่านการทำงานแบบพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน หรือผ่านกิจกรรมในรูปของการเรียนรู้/ Workshop ทำให้เรายกระดับความสุขของเราให้ทุกวันเป็นวันที่ดียิ่งขึ้น มีความสุขมากขึ้นค่ะ 

รางวัล HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2023 เป็นรางวัลที่รับประกันว่า NEO เป็นบริษัทที่น่าอยู่ น่าทำงานด้วยสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เราไม่ได้อยากบอกว่าบริษัทเราน่าทำงานด้วยจากปากของเราเอง เราอยากให้มีบุคคลที่ 3 หรือบริษัทภายนอกมาประเมินและตรวจสอบคุณภาพชีวิตคนของเรา คุณภาพการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่าอยู่ในระดับไหนเทียบกับตลาดไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เป็นต่างประเทศ 

รางวัลนี้ช่วยรับรองคุณภาพชีวิตคนของ NEO และคุณภาพการทำงานของฝ่าย HR ว่าอยู่ในมาตรฐานสากลระดับโลกเช่นกัน ทำให้มีแคนดิเดตสนใจที่จะมาร่วมงานกับเราเป็นอย่างมากค่ะ

ที่ผ่านมา HR ฟังเสียงของพนักงานแล้วนำมาปรับปรุงองค์กรให้น่าอยู่ น่าทำงานด้วยอย่างไรบ้าง

ณิศรา: สำหรับ NEO การฟังเสียงของผู้ร่วมงาน คือการให้ผู้ร่วมงานได้มีพื้นที่และโอกาสที่จะพูดถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกหรือต้องการในมิติต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะกระบวนการทำงาน ความเป็นอยู่ พฤติกรรมของผู้ร่วมงาน หรือสิ่งใดก็ตามที่พวกเขาต้องการจะออกความคิดเห็น 

เรากระตุ้นและส่งเสริมเกี่ยวกับการรับฟังเสียงของผู้ร่วมงาน ซึ่งเราให้ความสำคัญมากเพราะเป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบเปิดกว้างและสร้างความไว้วางใจกันระหว่างผู้ร่วมงาน หัวหน้างาน และฝ่าย HR หลังจากเรารับฟังสิ่งที่ผู้ร่วมงานสื่อสารแล้ว เรายังให้ผู้ร่วมงานเข้ามามีส่วนร่วมในข้อเสนอแนะที่พวกเค้าแนะนำอีกด้วย 

โดยผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุนทุกหน่วยงานให้ดำเนินการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งแจ้งกลับไปยังผู้ร่วมงานอีกเช่นกัน เพราะเราไม่เพียงแต่จะต้องรับฟังสิ่งที่พวกเขาพูดเท่านั้น แต่เราสนับสนุนทุกคนให้ลงมือทำจริงด้วย

สำหรับช่องทางรับฟังเสียงผู้ร่วมงาน NEO  มีหลากหลายช่องทาง เช่น ทำ Employee Engagement Survey, รับฟังผ่านกิจกรรม “Idea Ido”, ทำ Focus Group กับผู้ร่วมงานแต่ละส่วน เป็นต้น เรามองว่าเสียงของผู้ร่วมงานช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยพัฒนา NEO ให้เติบโตได้

ส่วนบรรยากาศการทำงานใน NEO จริง ๆ แล้ว เมื่อคุณทำงานร่วมกันบ่อย ๆ ในแต่ละระดับพนักงาน แต่ละหน่วยงาน ความมั่นใจ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจก็จะเพิ่มตามมากขึ้น กลายเป็นบรรยากาศของความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (Psychological Safety) ที่ส่งผลให้คนของเราดึงเอาศักยภาพมาใช้ได้อย่างเต็มที่ค่ะ

“Passion, Innovation, Insightful, Resourceful” 4 คุณค่าที่นำพา NEO Corporate เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย

HR ยุคใหม่ สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรให้เป็นองค์กรที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วยได้อย่างไร

ณิศรา: HR ต้องค้นหาศักยภาพของตนเองก่อนค่ะว่า จุดเด่นของตัวเราเองอยู่ตรงไหน เราต้องพัฒนาจุดไหนให้เราเกิดความเชี่ยวชาญ ถ้าเราเชี่ยวชาญมากขึ้น เราก็จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญไปประยุกต์และบูรณาการเข้าด้วยกัน ต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ ๆ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพด้วยค่ะ 

สิ่งที่กล่าวมาสักครู่เป็นในเชิงการค้นหาพัฒนาให้ทุกคนในทีมเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Mastery) หากเรากลับมามองภาพรวมของการทำงาน HR สิ่งสำคัญคือ 

  1. ทีม HR ควรมีทักษะเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจในธุรกิจและดิจิทัลเทคโนโลยี (Business & Technology Acumen) ธุรกิจของเราเป็น FMCG ซึ่งมีความ Agility และ Acceleration ทีม HR จำเป็นต้องเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ AI เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้งานเดินหน้าไปไวขึ้น เราไม่อยากให้ HR ทำงานแบบ Silo แต่ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วยงาน เพื่อเชื่อมต่องานของทุกส่วนงานให้เป็นภาพเดียวกัน
  2. มีทักษะด้านการบริหารอารมณ์ (Emotional Intelligence & Management) การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมงาน จะช่วยสนับสนุนผู้ร่วมงานให้ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่สร้างความสำเร็จขององค์กรได้  
  3. มีทักษะในการแก้ไขปัญหา (Solution Focus) สามารถวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาแล้วนำแนวทางในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วย Solution พร้อมทางเลือกหลายด้าน   

หากเราพัฒนาความรู้ทีม HR อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้เครื่องมือ HR Digital เข้ามาประยุกต์ และบูรณาการเข้ากับการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในงานของ HR เอง การทำงานในทีม HR จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การสนับสนุนหน่วยงานอื่นรวดเร็วขึ้น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในงานก็จะสูงขึ้นตามมา

มีคำกล่าวว่า HR ยุคใหม่ต้องเป็นนักวางกลยุทธ์และเป็น Business Driver เราจะเปลี่ยนตัวเองให้มีความพร้อมได้อย่างไร

ณิศรา: เมื่อทุกอย่างก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว การบริหารองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับกระแสโลก เท่าทันกับเทคโนโลยีด้วย ทุกอย่างต้องรวดเร็วมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น เพราะเพียงเสี้ยวนาทีทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากเรายังใช้วิธีทำงานแบบเดิม ๆ ความสามารถในการแข่งขันหรือการทำงานอาจด้อยลงเช่นกัน

HR จำเป็นต้องปรับตัว เราต้องเป็นนักวางแผนเชิงกลยุทธ์ เราต้องรู้กว้าง รู้ลึก รู้จริง และจำเป็นต้องรู้มากกว่างานประจำที่ทำอยู่ทุกวัน ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ต้องรู้กระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รู้ถึงโครงสร้างตำแหน่งต่าง ๆ ภายในองค์กร รู้การตลาด และรู้ว่าคู่แข่งขันในธุรกิจเป็นอย่างไร รู้กระบวนการผลิต รู้ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กร และสามารถลำดับประเด็นสำคัญทางธุรกิจได้

ความรู้ที่เรามีรอบด้าน จะสามารถวางกลยุทธ์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ HR ยุคใหม่ควรจัดการและบริหารความหลากหลายของกลุ่มผู้ร่วมงานในองค์กร โดยเฉพาะการบริหารคนในแต่ละ Generation ให้ทำงานร่วมกันในแบบมีช่องว่างน้อยที่สุด ทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ร่วมงานมีความเข้ากันได้ดี ทำงานแบบทีมได้ดี สิ่งที่ HR เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยคือการสร้างบรรยากาศของสถานที่ทำงานให้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองให้รู้สึกถึงความผูกพัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้วางใจกันและกัน 

ทุกวันนี้เราก็ทำอยู่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงการที่เราทำงานแบบ Hybrid ทีม HR ก็ต้องเข้าช่วยส่งเสริมบรรยากาศและลดช่องว่างในการทำงาน หรือทำให้ผู้ร่วมงานที่ Work From Home รู้สึกเหมือนทำงานที่บริษัท ผ่านกิจกรรมภายในที่หลากหลาย 

นอกจากนี้ HR ยุคใหม่ควรมีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น สามารถทำงานแบบ Multi-Tasks อาทิ สามารถจัดการงาน วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลก่อนนำไปปฏิบัติหรือส่งมอบต่อ สามารถตัดสินใจในงานได้กับข้อมูลที่เรามีอยู่ได้ เป็นต้น ถ้า HR มีแหล่งทรัพยากรที่พร้อมแล้วมีทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ที่หลากหลายจากการทำงาน จะช่วยให้ HR ตัดสินใจในงานและแก้ไขปัญหาที่มาพร้อมกับ Solution ได้ถูกต้องตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้เป็นอย่างดี 

HR ต้องเพิ่มคุณค่าให้ตนเองด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด พลิกบทบาท และการจัดการ เพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าตามอย่างที่ควรจะเป็น  HR ต้องมองคนอื่นเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ต้องทำ และปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดรับกับความต้องการของผู้คน

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าปรับแบบนี้ ก็ย่อมสอดคล้องกับองค์กรและธุรกิจในปัจจุบันที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งสามารถสวมบทบาทในการช่วยผู้บริหารวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วย คือสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้บริหารได้ด้วยเช่นกัน

เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน คิดว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้ HR มีภารกิจอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อยกระดับองค์กรและรับมือสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน

ณิศรา: ใน 5 ปีข้างหน้า ภารกิจที่ HR ต้องทำคือการปรับบทบาทความรับผิดชอบตนเอง ทำงานแบบนักวิเคราะห์ นักเปลี่ยนแปลง นักพยากรณ์ โดยพิจารณาปัจจัยภายในและภายนอกอะไรที่จะกระทบกับองค์กรได้ และมุ่งเน้นงาน 3 ส่วน อาทิ

  1. งานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (HR Tech/People Analytics) 

การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและการพัฒนาของเทคโนโลยีส่งผลกับรูปแบบการทำงานของ HR ที่ทีม HR เองต้องปรับตัวให้สอดคล้องตอบโจทย์ธุรกิจ การนำระบบ AI มาใช้ในระบบงาน HR อาทิ งานด้าน Talent Attraction การประกาศรับสมัครผู้ร่วมงาน การทำ Employee Onboarding หรือ การอบรมพัฒนาผู้ร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ที่ทีม HR ต้องคิดนอกกรอบและออกแบบการทำงานบนระบบในการดึงดูดและเข้าถึงผู้สมัครได้ตรงตามที่ต้องการ เป็นต้น

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ฐานข้อมูลหรือพฤติกรรมคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครงานหรือผู้ร่วมงานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องค้นหา เจาะลึก และวิเคราะห์ในหลายมิติ เพื่อให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ต่างออกไปสำหรับนำไปพัฒนากลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

  1. งานที่เกี่ยวกับการ Transform องค์กรและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน HR ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับภาวะวิกฤตที่คาดเดาไม่ได้ การเปลี่ยนแปลง การปรับตัวที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น HR อาจต้องปรับบทบาทตนเองให้เป็น Strategic HR Communicator หมายถึง การที่ HR เรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว สื่อสาร และลงมือทำให้ผู้ร่วมงานเชื่อมั่น รู้สึกปลอดภัย และสบายใจพอที่จะทำให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติงานของตนเองได้ในวิกฤตที่เกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ 

การสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมองค์กร คือการให้ผู้ร่วมงานเข้าใจ เชื่อมั่น และมีพฤติกรรมตาม Character ที่องค์กรต้องการ HR จะแสดงบทบาทนี้ในฐานะ Culture Facilitator  เราแสดงบทบาทในฐานะผู้สนับสนุน ผู้ประสานงาน ผู้จัดการในทุกเรื่องที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กร เพราะทุกคนในองค์กรคือ CCO (Chief Culture Officer) ผู้ที่จะทำให้วัฒนธรรมองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านพฤติกรรมและด้านความคิด

  1. งานที่เกี่ยวกับการปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ

ในปัจจุบัน เราทำงานแบบ Hybrid คือ Work from Home หรือ Work from Anywhere ดังนั้น HR ปรับตนเองเป็น WFH Facilitator หมายถึง HR ต้องคิดในการสร้าง Engagement กับผู้ร่วมงานในที่ทำงานแล้ว ยังจะต้องดูแลคนที่ทำงานจากบ้าน (Remote Worker) ด้วย 

ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้ร่วมงานเรามีความยืดหยุ่นทางสภาวะจิตใจ และเป็นผู้อำนวยให้เกิดความสามารถในการทำงานอย่างคล่องตัว การออกแบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับทั้งองค์กรและผู้ร่วมงานรวมถึงการเป็น Health Checker เพื่อดูว่า Productivity ของการทำงานเป็นอย่างไร มีผลกระทำต่อผู้ร่วมงานในด้านสภาวะจิตใจหรือไม่ และออกแบบกระบวนการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ผู้ร่วมงานมีความสุขในการทำงานแบบระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานหรือสถานที่ทำงานทั้งแบบออนไซต์หรือแบบไฮบริด

ปัจจุบัน เวลาผู้ร่วมงานกลับเข้าออฟฟิศทำงาน เราจัดให้มีนักกายภาพมาประจำเพื่อให้คำแนะนำวิธีการดูแลตนเองอันเกิดความสภาวะออฟฟิศซินโดรม รวมถึงการบริหารร่างกายเพื่อคลายเครียดในขณะทำงานที่บ้านเช่นกัน

อยากบอกอะไรกับ HR / คนทำงานที่กำลังหมดไฟ และต้องการกำลังใจเพื่อเดินหน้าต่อไปบ้าง

ณิศรา: ไม่ผิดที่คนเราจะหมดแรง หมดใจหรือหมดไฟ เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือถ้าหมดไฟแล้ว เราจะปล่อยตัวเองจมหายไปกับมัน หรือ รีบดึงตัวเองกลับขึ้นมาแล้วสู้กันใหม่อีกหน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่ต้องเลือกทำ

ถ้าถามว่าจะทำอย่างไร คิดว่าง่ายที่สุดคือการมองไปที่ความสำเร็จของคนอื่นว่า เขาเหล่านั้นพยายามแค่ไหนถึงไปจุดนั้นได้ เราเห็นแล้ว ลองมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่เป็น Small Win ตามแบบฉบับของเราเอง เรียนรู้ คิด และสิ่งสำคัญคือ การลงมือทำ ทำแล้วลงมือทำอีก แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายได้ 

การยอมแพ้ไม่ได้หมายถึงการที่เราอ่อนแอนะ แต่เป็นความเข้มแข็งที่เรายอมรับความเป็นจริงและยอมที่จะปล่อยให้มันผ่านไปแล้วเริ่มต้นใหม่ บางคนเวลาท้อหรือเครียดหนัก ๆ ชอบฝากชะตาไว้กับหมอดู ไม่ผิดนะคะ แต่คิดว่าถ้าให้ดีเราฝากชะตาไว้กับตัวเราเองดีกว่า อย่าปล่อยให้ชีวิตเดินไปตามทางของมัน แต่เราควรดำเนินชีวิตไปในทางของเรา ทางที่เรากำหนดเอง ชะตาของเราอยู่ที่ตัวเราเองค่ะ ถึงมีการบอกว่า ให้เรามองที่เส้นชัย แล้วสิ่งที่เราเจอในวันนี้พอเราหันกลับไปมองอีกครั้งจะกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไปเลยค่ะ 

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง