กลับมาอีกครั้งกับฝุ่น PM 2.5 HR ควรมีมาตรการป้องกันและรับมือให้กับพนักงานอย่างไร

กลับมาอีกครั้งกับฝุ่น PM 2.5 HR ควรมีมาตรการป้องกันและรับมือให้กับพนักงานอย่างไร

กลับมาอีกครั้งกับปัญหาฝุ่นควันของกรุงเทพฯ ทุกช่วงต้นปีทีไร ภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 จะกลับมาอาละวาดกันเป็นประจำ และดูเหมือนว่าพอเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำก็ทำให้ใครหลายคนเริ่มชินชา และเริ่มรู้สึกไปแล้วว่านี่คือเรื่องธรรมดา

แต่ถึงอย่างนั้นผลกระทบที่มีต่อสุขภาพก็ไม่ได้ลดลงไปแม้แต่นิดเดียวเลย

บทความนี้ของ HREX จึงตั้งใจจะนำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับฝุ่นร้ายตัวนี้ วิธีการป้องกัน และสิ่งที่ HR สามารถทำได้ในวิกฤติครั้งนี้เพื่อแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยพนักงาน

การที่องค์กรแสดงความเห็นอกเห็นใจและมีนโยบายที่ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ดีมีสุขของพนักงาน (Well-being) ในช่วงเวลาเช่นนี้ สามารถบ่งบอกได้ถึงคุณค่าที่องค์กรให้ความสำคัญ เมื่อสื่อสารถึงสิ่งเหล่านี้ออกมาก็สามารถเพิ่มความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรให้มากขึ้นได้อีกด้วย

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ทำไมอากาศที่แย่จึงส่งผลเสียต่อร่างกาย

ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ การสูดเอา ฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด กระแสเลือด แทรกซึมกระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และในปี 2556 องค์การอนามัยโลกยังจัดให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็ง ทำให้มีโอกาสเป็นโรงมะเร็งปอดอีกด้วย

สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพอยู่ในระดับเตือนภัย-ไม่ปลอดภัยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปลายปี 2561 และคิดว่าสถานการณ์แบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร

https://www.airvisual.com/thailand/bangkok

และในการจัดอันดับคุณภาพอากาศทั่วโลก กรุงเทพมหานครของเราอยู่ในอันดับ 8 ของเมืองที่มีภาวะมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก

https://www.airvisual.com/

 ซึ่งการเกิด PM 2.5 คาดว่าจะมีสาเหตุมาจาก

  • ควันพิษจากการจราจรและการคมนาคม ปัจจุบันในกรุงเทพ มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยควันที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์เป็นสาเหตุหลักที่ปล่อย PM2.5
  • ควันและฝุ่นจากการเผาต่างๆ จริงๆแล้วในพื้นที่ของกรุงเทพไม่ได้มีพื้นที่เกษตรที่จะทำให้เกิดการเผาได้ แต่เป็นเพราะจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านที่เผาเพื่อทำการเพาะปลูกประกอบกับกระแสลมที่พัดเอาควันเหล่านั้นเข้ามา ทำให้อากาศแย่ลง
  • ฝุ่นละอองจากภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ในปีนี้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ามากถึง 3 สายตามเส้นทางหลัก นอกจากนั้นยังมีการสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศจำนวนหนึ่ง

ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ

จากปริมาณฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานอีกครั้ง จริงๆแล้วปัญหาฝุ่นละออง ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแต่ปีนี้เกิดขึ้นเร็วและนานกว่าปีที่ผ่านๆมา

ฝุ่นละออง PM2.5นี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ฝุ่นละอองนี้อาจสร้างความเสียหายต่อประสิทธิภาพด้านการคิดและสติปัญญาของเราและเพิ่มความเสี่ยงให้เป็น Degenerative disease (โรคความเสื่อมถอยต่างๆ)ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อม

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า

  • 91% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตที่คุณภาพอากาศเลวร้ายกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
  • 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปในร่างกาย
  • แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน
  • เมื่อปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 4.2 ล้านคนทั่วโลก
  • 14 เมืองของอินเดียถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 20 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก

HR ควรมีมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้แก่พนักงานอย่างไร

เพื่อป้องกันตัวเองและพนักงานภายในบริษัทจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นนี้ ฝ่าย HR ต้องหามาตรการในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของพนักงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ซึ่งวิธีที่จะสามารถป้องกันได้คือ

  • ให้หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 กับพนักงานในการเดินทางมาทำงานหรือหากต้องออกไปพบลูกค้านอกสถานที่ การใส่หน้ากากจะช่วยลดปริมาณฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายได้
  • หากไม่สามารถหาซื้อหน้ากาก N95 ได้ก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น ก็สามารถช่วยป้องกันได้
  • ให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางฝุ่นละออง ช่วยลดการเดินทางและจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพด้วย หรือหากงานไหนที่ไม่สามารถให้ที่บ้านได้ตลอดเวลา เช่นการบริการลูกค้าก็ให้พนักงานสามารถทำงานวันเว้นวันได้
  • ใช้โซเชียลมีเดียหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น หากไม่ต้องออกไปพบลูกค้าแบบตัวต่อตัว ก็ให้ใช้การติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ อีเมลล์หรือโซเชียลมีเดียแทน รวมไปถึงการส่งงานหรือสั่งงาน
  • หากพบพนักงานมีปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละออง เช่น ไอ จาม แสบตา มีอาการของโรคภูมิแพ้ ฯลฯ HR ควรจัดให้มีเครื่องมือปฐมพยาบาล หรือบุคลากรที่สามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้
  • หากพนักงานจำเป็นต้องให้พนักงานเข้าออฟฟิศ การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไว้ตามจุดต่าง ๆ ในองค์กร ก็น่าจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการทำงานในดีขึ้นเช่นกัน

หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5

หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้มีดังนี้

  • หน้ากาก รุ่น N95 สามารถกรองฝุ่นทั่วไป ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ได้
  • หน้ากาก รุ่น R95 หน้ากากกรองอนุภาคสำหรับงานพ่นสีและกันกลิ่น สามารถกรองฝุ่นละอองและฟูมโลหะที่ 0.3 ไมครอน รวมถึงกลิ่นสี และไอของสารระเหยยกเว้นสารเคมีได้ ประสิทธิภาพการกรองไม่น้อยกว่า 95%
  • หน้ากากกรองอนุภาคเส้นใยไฟฟ้าสถิต สามารถกรองฝุ่นละอองและฟูมโลหะที่ 0.3 ไมครอนยกเว้นละอองของน้ำมันได้
  • หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ต้องระบุว่าสามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM 0.3 ได้

ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละออง PM2.5

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการทดลองความเหมาะสมของหน้ากากกันฝุ่น โดยใช้เครื่องทดสอบ Koken รุ่น MT-03 ผลการทดสอบพบว่า

  • หน้ากากอนามัย N95 มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ประมาณ 99.59%
  • หน้ากากอนามัย 1 ชิ้น มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ประมาณ 66.37%
  • หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชิ้น มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ประมาณ 89.75%
  • หน้ากากอนามัย 1 ชิ้น และกระดาษทิชชู 1 แผ่นพับครึ่ง มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ประมาณ 98.05%
  • หน้ากากอนามัย 1 ชิ้น และกระดาษทิชชู 2 แผ่นพับครึ่ง มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ประมาณ 67.04%

สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัย 1 ชั้นและกระดาษทิชชู่ 2 แผ่นพับครึ่ง มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นลดลง
สิ่งสำคัญควรสวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า และใส่อย่างถูกวิธี

ที่มา FPH Thammasat

HR ในต่างประเทศมีวิธีรับมือกับปัญหามลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ให้แก่พนักงานอย่างไร

เนื่องจากปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่กรุงเทพกำลังประสบ เราจึงอยากแนะนำวิธีการที่บริษัทหลายแห่งกำลังใช้แก้ไขอยู่ในขณะนี้

ในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงของประเทศจีน หากวันไหนต้องเจอกับมลพิษทางอากาศที่สูง หน่วยงานของรัฐบาลหรือภาคเอกชนในเมืองได้ให้พนักงานหยุดงานในวันนั้น หรือ เปลี่ยนแปลงเวลาในการทำงาน

ในกรุงปักกิ่งบริษัทจัดหางานหลายๆแห่งที่เจอปัญหามลพิษทางอากาศได้มีนโยบาย ให้ครอบครัวของพนักงานที่ประจำอยู่ในเขตที่มีมลพิษสูงเดินทางกลับประเทศ ส่วนพนักงานที่ยังต้องประจำอยู่จะได้รับ Hardship Allowance (ค่าตอบแทนความยากลำบาก เมื่อพนักงานต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงภัยต่างๆ)

บริษัทพานาโซนิคและโคคา โคล่าออกนโยบายให้ค่าตอบแทนแก่พนักงานที่ต้องทำงานอยู่ในเขตมลพิษทางอากาศสูงเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลเมื่อคราวเจ็บป่วย หรือช่วยค่าเดินทางมาทำงาน

บริษัทส่วนใหญ่ในเมืองอื่นๆของจีนเอง ได้มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประสิทธิภาพสูงขนาดใหญ่ไว้ในออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานที่ทำงานที่นั่นปลอดภัยจากมลพิษให้ได้มากที่สุด

วิธีรับมือฝุ่น PM2.5 ของเมืองใหญ่ทั่วโลก

เมืองใหญ่หลายๆเมืองทั่วโลกกำลังคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังเป็นอันตรายอยู่ในขณะนี้เช่น

ในกรุงปารีส เอเธนส์ เม็กซิโกซิตี้และมาดริด มีแผนจะห้ามใช้รถยนต์ดีเซล และผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปเริ่มมีแผนผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแทนที่รถที่มีเครื่องยนต์แบบเก่า

ที่ฮ่องกงได้มีเตรียมเปิดใช้หอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศ

ส่วนสิงคโปร์มีการรณรงค์ให้คนหันมาใช้ระบบการขนส่งสาธารณะ มีการใช้รถไฟ ควบคู่กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้รอบเมืองเพื่อลดมลพิษทางอากาศและควบคุมคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดมาตรฐานการปล่อยไอเสียของรถทุกคัน มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม

สรุป

สำหรับประเทศไทยปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกฝ่ายในขณะนี้ ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไขที่ดีปัญหานี้ก็จะวกกลับมาหาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นบริษัทควรเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา ทางผู้บริหารและฝ่าย HR ควรมีวิธีแก้ไขปัญหาออกมาเพื่อช่วยเหลือพนักงาน

ถึงอย่างไรก็ตาม พนักงานเองก็ควรป้องกันและรับมือกับฝุ่นพิษร้ายนี้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหลีกเลี่ยงการออกมาในที่โล่งแจ้งหรือบริเวณริมถนนที่มีรถเยอะ เพื่อให้สุขภาพของเราไม่มีปัญหาในอนาคต

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง