HIGHLIGHT
|
ปี 2024 การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่บังคับให้องค์กรต้องปรับตัวแบบทันที รวมไปถึงเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วอย่าง Generative AI ก็กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน และบทบาทของพนักงานไปอย่างสิ้นเชิง
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในปี 2024 HR Leader จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มกลยุทธ์ที่สำคัญ 6 ประการ ดังนี้
Contents
1. รับมือคลื่นลูกใหม่ของ AI
กลายเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วกับ Generative AI เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ล้ำหน้าไปมากจนกำลังเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานในหลายด้าน โดยเฉพาะงาน HR ที่สามารถช่วยทำงานที่ซ้ำซากพร้อมสร้างสรรค์งานเนื้อหาใหม่ได้
โดยการเปิดตัว ChatGPT 3.5 ในปลายปี 2022 ทำให้เกิดกระแสการนำ AI มาใช้ในองค์กรอย่างรวดเร็ว และมีผู้ใช้มากกว่า 2 ล้านคนที่ลงทะเบียนใช้ ChatGPT ภายในสองเดือนแรก และยิ่งการมาถึงของ GPT-4o ที่มีความสามารถในการประมวลผลและตอบสนองต่อข้อมูลทั้งรูปแบบเสียง ภาพ และข้อความแบบเรียลไทม์ ยิ่งตอบโจทย์การใช้งานให้หลาย ๆ องค์กรเสียอีก
HR สามารถใช้งาน AI ได้หลายทิศทาง ยกตัวอย่างที่ง่ายสุด คือการใช้ GenAI ในการตอบคำถามพื้นฐานและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของพนักงาน จำพวกวันลาหรือกฎระเบียบ ซึ่งทำให้พนักงานสามารถนำเวลาไปทำงาน หรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือล้ำไปกว่านั้นคือการใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของ HR เช่น การคัดกรองพนักงาน การวิเคราะห์ข้อมูลพนักงาน หรือกระทั่งการวางแผนโครงสร้างองค์กรได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก แต่ก็ยังมีความท้าทายในการจัดการ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล, การป้องกันความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการพัฒนาแนวปฏิบัติและนโยบายที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centric) จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
2. ต้องยกระดับประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience)
ประสบการณ์พนักงาน (Employee Experience) คือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและมีส่วนร่วมกับองค์กร โดยแนวคิดนี้เน้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่นและการตอบสนองความต้องการของพนักงานที่หลากหลาย
ทั้งนี้การวิจัยของ WFH Research แสดงให้เห็นว่าพนักงานโดยเฉลี่ยใน 34 ประเทศทำงานจากที่บ้านประมาณ 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งการทำงานที่ยืดหยุ่นนี้เพิ่มความท้าทายให้กับ HR ในการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพสำหรับพนักงานทุกคน
ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ช่วยให้พนักงานรู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กร และสร้างความเป็นเจ้าของให้พนักงาน หรือ Sense of Ownership เช่น Teamlink ที่มีลักษณะเป็น Corporate Hub ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น
เพราะองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างประสบการณ์พนักงานที่ดี มักจะเน้นที่การสร้างความผูกพันและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนองค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกว่ามีคุณค่าและสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
8 วิธีพัฒนา Employee Experience ในระยะยาว |
3. การตัดสินใจด้วยข้อมูลที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centric)
Data is New Oil เป็นประโยคคลาสิกที่ได้มานานแล้ว ปัจจุบันการใช้ Data เพื่อตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ ทว่าการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจนั้น ต้องมีความโปร่งใสและให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีใช้ข้อมูล ภายใต้กฎหมาย PDPA
ขณะเดียวกัน การบริหารข้อมูลพนักงานต้องมีการสร้างกรอบการทำงานที่ป้องกันความเสี่ยงและรับประกันความเป็นธรรมจากอคติทาง AI ตัวอย่างเช่น Amazon ได้พัฒนาระบบสรรหาพนักงานที่ใช้ AI แต่พบว่ามีความลำเอียงต่อเพศหญิงเพราะข้อมูลที่ใช้ในการฝึกระบบมาจากการปฏิบัติในอดีตที่มีอคติ
การนิยามใหม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการใช้ข้อมูลพนักงานในบริบทของการตัดสินใจที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ฉะนั้น HR ต้องสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานในการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสนั่นเอง
AI Bias in HR อคติของปัญญาประดิษฐ์ ภัยเงียบขององค์กร |
4. ทักษะสำคัญกว่าปริญญา
เพราะในอดีตการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรมักมองแค่ใบปริญญา การศึกษา หรือประสบการณ์เป็นหลัก ซึ่งทำให้การจ้างงานล่าช้าและอาจสร้างความไม่เท่าเทียมในการจ้างงานได้ ทว่าแนวคิดใหม่คือการจ้างงานที่เน้นมองทักษะมากขึ้น (Skill-base)
ทั้งนี้ Ginny Rometty อดีตซีอีโอของ IBM ได้ริเริ่มโครงการ SkillsFirst เพิ่มการจ้างงานผู้สมัครที่ไม่มีปริญญา โดยประกาศว่า กว่า 50% ของตำแหน่งงานที่เปิดรับไม่ต้องการปริญญาโดยใช้คำว่า “New Collar” แนวทางนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้จัดการการจ้างงาน ให้ออกแบบงานตามปัญหาที่ต้องแก้ไขพร้อมทักษะที่จำเป็น
ฉะนั้น HR ที่เน้นทักษะ (Skills-centric) จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ทักษะและฐานข้อมูลที่มี เพื่อให้องค์กรจับคู่ทักษะกับบทบาทงานได้อย่างตรงจุด ไปจนถึงกลยุทธ์การคิดโครงการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
5. สร้างวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงในองค์กร
การสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานทุกคนรู้จักการจัดการความเสี่ยงในองค์กร (Risk Management) จะช่วยลดการละเมิดความปลอดภัย และลดการกระทำที่เสี่ยงต่อทั้งภาพลักษณ์ ทรัพย์สิน รวมไปถึงข้อมูลองค์กร
ทั้งนี้งานวิจัยของ ESG/ISSA แสดงให้เห็นว่า พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับว่าพวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ หากนโยบายนั้นขัดขวางกระบวนการทำงานของพวกเขาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน
ฉะนั้น HR จึงต้องทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารความเสี่ยงขององค์กรอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมและการสร้างความตระหนักรู้ในพนักงานในเรื่องนี้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติที่ปลอดภัยและการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปกป้องทรัพยากรขององค์กร
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) |
6. HR ในฐานะบริการระดับโลก
เพราะคนรุ่นใหม่มองตัวเองเป็น Global Citizen หรือพลเมืองโลกกันแล้ว การเป็นแรงงานข้ามพรมแดนจึงเป็นเรื่องปกติในสายตาพวกเขา ฉะนั้นประเด็นเรื่องเวลาทำงาน เขตเวลา ภาษา สกุลเงิน และวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ HR ต้องตระหนักถึง เพื่อพัฒนานโยบายที่ยืดหยุ่นทั่วโลก ยกตัวอย่าง หากมีระบบคลาวด์ในการจัดการข้อมูลพนักงานและการสื่อสาร ก็จะทำให้พนักงานทำงานร่วมกันข้ามโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้จึงมักจะเน้นที่กลยุทธ์ที่สนับสนุนการทำงานในระดับโลก พัฒนาระบบและนโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่ใช่ One size fits all นอกจากนี้ HR ยังต้องมีความสามารถในการจัดการกับความซับซ้อนของการจ้างงานข้ามพรมแดน และเข้าใจการบริหารทรัพยากรบุคคลในหลาย ๆ ประเทศ
การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ HR สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยให้พนักงานพึงพอใจและมอบประสิทธิผลในงานของตนเองมากขึ้น
ภาษาอังกฤษช่วยสร้าง Multicultural Organization เปิดโลกความเป็นสากลสู่องค์กร |
บทสรุป
การเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่า HR จะตามทันการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ เพราะกลยุทธ์ทั้ง 6 นี้ จะช่วยให้ HR สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง
Source |