Agile คือ Mindset ไม่ใช่กระบวนการ : เข้าใจแนวคิด Agile ให้มากขึ้นเพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กร

Agile คืออะไร ?

Agile เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2001 โดยกลุ่มนักพัฒนาซอฟแวร์ที่มาประชุมหารือกันว่า จะพัฒนาซอฟแวร์ตัวใหม่ให้ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ภายใต้ระยะเวลาอันสั้นและให้เกิดข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด พวกเขาพบว่าสิ่งที่พวกเขาหารือกันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง หากอาศัยปัจจัย 2 อย่างคือ

1. ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง เช่น เอกสาร หรือแผนการที่ต้องรอการตัดสินใจของบุคคลที่สาม แต่ใช้วิธีส่ง Prototype ออกสู่ตลาดก่อน แม้งานชิ้นสุดท้ายจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์

2. รับ Feedback จากลูกค้าอย่างรวดเร็วเพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงประโยชน์การใช้งานและข้อผิดพลาดที่พบเจอ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ทันท่วงทีก่อนที่จะปล่อย Product ชิ้นสุดท้ายที่เสร็จสมบูรณ์จริงๆ

หลายๆครั้งเราได้ยินมาตลอดว่า องค์กรต้องทำ Agile จะได้ปรับตัวได้เร็ว ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว แต่ยังไม่รู้ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำ Agile ว่าจริงๆแล้ว ทำไปเพื่ออะไร ?

ในการจะทำ Agile ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและประสบความสำเร็จนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ถามตัวเองก่อนว่า ต้องการอะไรจาก Agile ? เพราะบางครั้ง หากในองค์กรไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ Agile ก็ได้ เพราะ Agile ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น และก็ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กรเสมอไป เพราะจริงๆ แล้ว Agile ไม่ใช่กระบวนการที่มีไว้เพื่อทำให้งานเร็วขึ้น แต่มันคือ Mindset ที่ทำให้ทุกคนไม่ต้องเกี่ยงงาน แต่รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โฟกัสที่ความรับผิดชอบของตัวเองเป็นหลัก และงานจึงเสร็จได้ง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องควบคู่ไปกับการมีวินัย (Discipline) ที่สูงมากด้วยเช่นกัน

Agile = วินัย + ความรับผิดชอบ

การทำ Agile นอกจากต้องมีวินัยกับตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีด้วยเช่นกันก็คือ “ความรับผิดชอบ” ซึ่งจริงๆแล้ว คำว่า ความรับผิดชอบ หรือ Responsibility นั้น หลายคนนิยามว่า ความรับผิดชอบคือการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า Responsibility เพราะหากเราแยกคำว่า Responsibility ออกเป็น 2 คำ คือ Response (การตอบสนอง) + Ability (ความสามารถ) มันจะมีความหมายว่า ความสามารถในการตอบสนองไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม และหากทุกคนในทีมสามารถคิดแบบนี้ได้ก็จะเลิกเกี่ยงงาน เลิกโยนความผิด เลิกถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะ “ทุกคน” รับผิดชอบร่วมกัน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Agile คือ Agile เน้นการใช้งานได้จริง มากกว่าการเสียเวลาวางแผน เพราะ Plan มันมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำงานเสร็จ เพราะฉะนั้นหากจะทำ Agile แต่ทำตามแผนอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค การวาง Plan การทำงานเรื่อยๆควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริงจะทำให้เกิด Agile ได้มากกว่า เพราะจริงๆแล้ว Planning สำคัญกว่า Plan การเน้นวางแผนเรื่อยๆ และไม่ได้ยึดติดอยู่กับแผนเดิมตลอดแต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาจะทำให้คนในทีมเห็นภาพชัดเจนที่ตรงกัน เพราะจุดประสงค์ของ Agile คือ “การใช้งานได้จริง” เพราะฉะนั้นการ Feedback คนในทีมเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน

องค์ประกอบหลักของ Agile คือ คน + ความรับผิดชอบ

ทั้งสองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน Agile ถึงจะเกิดผล เพราะวัตถุประสงค์หลักของ Agile ไม่ใช่การทำเพื่อบริษัทหรือองค์กร แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือทำเพื่อ “คน” ในองค์กรต่างหาก เพื่อให้คนในองค์กรสามารถบริหารจัดการงานของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการเกี่ยงงาน Workload จนทำไม่ทัน การปัดความรับผิดชอบและโยนความผิดให้ผู้อื่น วัตถุประสงค์ของ Agile คือลดปัญหาเหล่านี้ และนั่นคือเป้าหมายของ Agile คือการทำให้วิถีชีวิตของคนในองค์กรดีขึ้น ไม่ได้ทำให้องค์กรดีขึ้น เพราะคำว่าองค์กรนั้นไม่มีจริง หากปราศจาก “คน”

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง