Thailand HR DAY 2019 : People Transformation การพัฒนาบุคลากรสู่โลกยุคดิจิตอล

ผ่านพ้นกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงาน Thailand HR DAY 2019 ที่จัดกันในวันที่ 20-21 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ณ IMPACT FORUM เมืองทองธานี โดย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand : PMAT) ซึ่งธีมในปีนี้ก็ได้แก่ People Transformation HUMAN X HUMAN ที่มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในแวดวง HR ในยุค Digital Disruption และการเตรียมรับมือรวมถึงปรับตัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคนี้ มาลองดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจในกิจกรรมครั้งนี้บ้าง

PMAT

เจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ก็คือทาง PMAT หรือ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand : PMAT) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลทุกระดับ รวมคณะอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ในสายงานนี้ โดยที่ทางสมาคมมีเป้าหมายในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกาด้านการบริหารงานบุคคล เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นในการพัฒนาสายวิชาชีพนี้ให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand : PMAT) นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อส่งเสริมหลักการ และการปฎิบัติของการจัดการงานบุคคล และการแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทย ให้ก้าวหน้า การให้การศึกษา ให้บริการด้านวิชาการ เพิ่มพูนสมรรถภาพ และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้นำเอาวิธีการจัดการงานบุคคล และแรงงานสัมพันธ์ที่ดีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ถูกต้องและเต็มที่ รวมถึงเป็นศูนย์กลางสำหรับสมาชิกที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการงานบุคคล และแรงงานสัมพันธ์ ประสานงานและร่วมมือกับสถาบันวิชาชีพอื่น เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือในเชิงวิชาชีพด้านการบริหารงานบุคคลสำหรับสมาชิก

Thailand HR DAY 2019

ในยุคนี้มีความท้าทายหลากหลายมิติเกิดขึ้นกับทุกองค์กรและทุกธุรกิจบนโลกใบนี้ ในสภาวะการณ์ Digital Disruption ยังส่งผลให้เกิด Business and Organization Transformation ขึ้นมากมายอีกด้วย หลายองค์กรพยายามปรับตัวตามให้ทัน หลายสายงานต้องตามกระแสนี้ให้ได้ รวมถึงสายงานทางด้าน Human Resource ที่ต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความสำเร็จนี้ก็คือ “คน” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกองค์กรทั้งสิ้น แล้วผู้ที่รับหน้าที่ทำภาระกิจสำคัญในการดูแลคนนั้นก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั่นเอง

ในยุคที่เกิด Business and Organization Transformation ขึ้นนี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งภายใต้ภาวะการณ์นี้ก็คือ People Transformation ที่ต้องทำพร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านขององค์กรสู่โลกยุคใหม่ หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของบุคลากรในโลกยุคหน้านนี้ก็คือการที่ต้องมี Technology Capabilities หรือความสามารถในเชิงเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตลอดจนสกิลต่างๆ ที่ต้องสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งการพัฒนาทักษะในเชิง Hard Skills และ Soft Skills ที่ต้องฝึกฝนและปรับเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอ รวมถึงการ Reskill พัฒนาทักษะเดิมๆ ให้ก้าวหน้าขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรแต่ละคนให้รองรับการทำงานในโลกอนาคตให้ได้ นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้ก็คือการพัฒนา “จิตสำนึกและมนุษยธรรม” ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีช่วยไม่ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงควรพัฒนามนุษย์ด้วยกันในจุดนี้ด้วย เพื่อไม่ใช่การสร้าง “คนเก่ง” ให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ควรต้องเป็น “คนเก่งและดี” ให้กับองค์กรรวมถึงสังคมโดยรวมไปพร้อมกันด้วย จึงจะเกิดโลกแห่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การทำงานที่มีความสุข และสังคมที่มีคุณภาพนั่นเอง

นั่นเป็นที่มาชองไอเดียในการจัดงาน Thailand HR DAY 2019 ครั้งนี้ที่มาในคอนเซ็ปต์ People Transformation HUMAN X HUMAN ที่มุ่งเน้นย้ำให้บุคลากรในสายงาน Human Resource ไม่ละเลยที่จะพัฒนาบุคลากรขององค์กร ตลอดจนร่วมกันสร้างสังคมของตลาดแรงงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น การปรับตัวครั้งใหญ่นี้ฝ่าย HR เองต้องมีแนวทางในการพัฒนาทั้ง “สมอง” และ “หัวใจ” ของบุคลากรไปพร้อมกัน เพื่อให้พร้อมกันร่วมกันสร้างสังคมที่ดีในอนาคต

แนวคิดนี้จึงเกิดเป็นกิจกรรมมากมายตลอดงานนี้ที่จัดขึ้น ผ่านการบรรยายความรู้, นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสายงาน HR และ Management, ตลอดจนสร้างสังคมแห่งความร่วมมือในแวดวง Human Resource เพื่อจับมือร่วมกันก้าวไปข้างหน้ากับโลกดิจิตอลให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งงานในครั้งนี้เรายังได้รับเกียรติจากวิทยากรมากฝีมือจากองค์กรตลอดจนสถาบันชั้นนำมากมายกว่า 60 ท่านที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจผ่านรูปแบบ Real Practices Show & Share ที่ทุกคนสามารถร่วมแลกเปลี่ยนกันได้อีกด้วย มีอะไรน่าสนใจในงานครั้งนี้บ้างลองตามไปดูกัน

Moving Towards the Future Thailand 2020 and Beyond

หนึ่งในการเสวนาที่ได้รับความสนใจและมีคุณค่าในหลากหลายมิติ รวมถึงได้รับรู้ถึงแนวทางการพัฒนาประเทศในก้าวต่อไปนี้ด้วย ซึ่งเสวนานี้ยังเป็นปาฐกถาพิเศษแรกในโอกาสเปิดงาน Thailand HR DAY 2019 ครั้งนี้ด้วย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นผู้ขึ้นกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ในหัวเรื่อง Moving Towards the Future Thailand 2020 and Beyond กับการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกยุคปัจจุบันสู่การปรับตัวของชาติเพื่อก้าวสู่โลกยุคใหม่ต่อไป

การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ยุคอนาคตนี้สังคมโลกจะต้องปรับทิศทางของรูปแบบการทำงานตลอดจนวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งทิศทางใหม่อย่าง The new social Architecture หรือ โครงสร้างทางสังคมยุคใหม่ จะต้องปรับเปลี่ยนจาก Me Society สังคมเพื่อการพัฒนาตนเอง ไปสู่การเป็นสังคมแบบ We Society สังคมเพื่อการพัฒนามนุษย์ร่วมกัน เพราะเราต่างก็อยู่ในสังคมเดียวกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมเดียวกัน การที่จะทำให้โลกพัฒนาต่อไปได้นั้นต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างแข่งกันเติบโตอย่างในยุคก่อน ธุรกิจเองก็ต้องปรับเปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรให้ได้ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคมในยุคอนาคตนั่นเอง ที่สำคัญการขับเคลื่อนทางความรู้นั้นจะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นรูปแบบ Power of Knowledge สังคมอุดมความรู้ ไปสู่ Power of Sharing Knowledge หรือสังคมอุดมปัญหาและการแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นจะยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลังมากกว่าเดิม และขับเคลื่อนให้สังคมก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

ทางด้านของเศรษฐกิจและสังคมนั้น จากเดิมที่เป็นระบบ Linear Economy เศรษฐกิจแบบเส้นตรง มีการผลิตและบริโภคโดยไม่มีการคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ไม่มีการคำนึงถึงวัตถุดิบ ตลอดจนไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบจากการผลิตหรือบริโภค เศรษฐกิจรูปแบบเดิมนี้จะพัฒนาสู่รูปแบบ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่มนุษย์จะต้องหันมาใส่ใจสภาพแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากรด้วย รวมถึงมีการผลิตที่คิดถึงผลกระทบในองค์รวม ผลกระทบระยะยาว การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ตลอดจนการสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่หรือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสหากรรมได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนั่นจะทำให้โลกเราพัฒนาสู่วิถีที่ยั่งยืน (Sustainable) ได้เป็นอย่างดีด้วยนั่นเอง นั่นทำให้การประกอบธุรกิจในยุคเก่าแบบ Competitive Mode of Production & Consumption ที่เป็นรูปแบบใครดีใครได้ แข่งขันใครแข่งขันมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่ทุกคนต่างสนใจแต่ผลผลิตและกำไรของตนเองโดยไม่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น กำลังจะปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจแบบ Collaborative Mode of Production & Consumption ที่ไม่ว่าจะผู้ผลิตหรือผู้บริโภคต่างก็ต้องร่วมกับรับผิดชอบต่อสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผลิตผลิตผลอย่างใส่ใจคุณภาพ ใส่ใจทรัพยากร รวมถึงการบริโภคอย่างชาญฉลาด และบริโภคอย่างรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ไปพร้อมกันด้วย

แล้วถ้าลงลึกไปในส่วนของนโยบายการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลนั้น ปาฐกถาครั้งนี้ยังได้นำเสนอแนวทางอันเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 Guiding Principle โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21
  • สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก
  • เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  • หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยรัฐบาลได้ร่วมผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่สู่การบริหารประเทศภายใต้รูปแบบ BCG MODEL : ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อพาไทยก้าวสู่การเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

BCG MODEL : ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย

B – Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ

C – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน

G – Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว

ซึ่งยุทธศาสตร์ BCG ของไทยนี้ยังจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับนโยบายระดับนานาชาติ SDGs : Sustainable Development Goals ขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่ถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาโลกสู่วิถีที่ยั่งยืนร่วมกันที่ทั่วโลกกำลังร่วมกันปฎิบัติการเพื่อให้สำเร็จตามที่วางไว้นั่นเอง

 

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ SDGs ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้

https://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/

โดยรายละเอียดในเชิงลึกนั้นยังมีความน่าสนใจอีกมากมาย ตั้งแต่แนวทางปฎิบัติ ไปจนถึงกรอบการทำงานในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศของเราไปสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืนนั่นเอง ใครที่สนใจปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ก็สามารถติดตามเทปบันทึกภาพได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลย

ติดตามคลิปปาฐกถาพิเศษฉบับเต็ม Moving Towards the Future Thailand 2020 and Beyond ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้

https://www.facebook.com/pmatHRsociety/videos/816909422104740/

CEO Perspective: Future of HR 2020 and beyond

เรือที่แล่นไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วบนผิวน้ำนั้น ไม่ใช่แค่มีฝีพายที่ดีเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีกัปตันหรือแม่ทัพที่คอยควบคุมการแล่นของเรือที่ดีด้วย องค์กรก็เช่นกัน หากไร้ผู้นำที่ดีถึงแม้จะมีบุคลากรที่เก่งกาจในเมืองอยู่มากเพียงไร โอกาสพ่ายหรือล้มก็มีได้มากเช่นกัน หนึ่งในเสวนาที่ยอดเยี่ยมในคราวนี้ก็คือ CEO Perspective: Future of HR 2020 and beyond โดย คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของไทย แล้วก็ยังเป็นหนึ่งในนักบริหารที่น่าจับตาในยุคนี้อีกด้วย

องค์กรจะไปในทิศทางใดนั้น CEO นี่แหละเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากองค์กรอยากจะขับเคลื่อนไปมากเท่าไรก็ตาม แต่หัวเรือใหญ่สุดไม่ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยนั้นก็หมดความหมายในทันที แล้วในด้านการบริหารงานบุคคลนั้นฝ่าย Human Resource ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ก้าวไปสู่ข้างหน้า อีกบทบาทสำคัญหนึ่งก็คือการเป็นตัวกลางประสานระหว่างบุคลากรและฝ่ายบริหารรวมถึง CEO ให้ได้ด้วยนั่นเอง ซึ่ง CEO ในยุคที่เกิด Organize Transformation นี้ไม่เพียงแต่จะต้องมองวิสัยทัศน์ให้ไกลเท่านั้น แต่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ในทุกๆ ด้าน รวมถึงร่วมเคียงข้างก้าวไปกับทุกคนในองค์กรด้วย

Concurrent Sessions : สังคมอุดมปัญญาแห่งโลกของการบริหารบุคคล

คอนเซ็ปต์ของ “สังคมอุดมปัญญา” นั้นนอกจากจะส่งเสริมให้สังคมพัฒนาองค์ความรู้ที่ดีขึ้นมามากมายแล้วหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิด “สังคมอุดมปัญญา” ที่ประสบความสำเร็จได้นั้นก็คือการต้องร่วมมือกันระหว่างทั้งในและนอกองค์กร รวมถึงมีการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทุกฝ่าย ในงาน Thailand HR DAY 2019 นี้เปรียบเสมือนสังคมอุดมปัญญาแห่งโลกของการบริหารบุคลากรในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ที่เราได้รับเกียรติจากหัวกะทิทางด้านงานบริการบุคคลและการจัดการมากมายหลายท่านมาร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ที่มีการจัดเสนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อต่างๆ มากมาย ที่สำคัญทุกคนพร้อมร่วมจับมือกันที่จะพัฒนาและผลักดันให้แวดวงบริการงานทรัพยากรบุคคลของไทยก้าวสู่โลกดิจิตอลอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กันด้วย วันนี้เรานำส่วนหนึ่งของการเสวนาที่น่าสนใจมาฝากกัน

+ Skill Set for Future Workforce

ทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงานในอนาคตนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปจากยุคปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่หนึ่งในทักษะที่สำคัญก็คือทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อทุกแขนงอาชีพอีกด้วย ปัจจุบันนี้ทักษะหลายอย่างอาจกำลังหายไปจากตลาดแรงงาน ในขณะที่มีทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคตเช่นกัน

ในส่วนของการเสวนานี้มีสองวิทยาการหลักดำเนิน 2 ช่วงรายการได้แก่ หัวเรื่อง Skill Shift : Automation and The Future of The Workforce ที่มีวิทยากรอย่าง ดร.บัณฑิต รุ่งเจริญพร Managing Director SBP Digital Services Co., Ltd. มาเป็นผู้ให้ความรู้ในช่วงนี้ ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือการเตรียมพร้อมพนักงานให้พร้อมต่อการเรียนรู้ New Skill Set ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการปรับตัว รวมถึงสร้างทีมงานแห่งอนาคตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย

ในส่วนของหัวเรื่อง Cultivate the New Culture ยังได้ คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ First Executive Vice President, Head of Agile Capability Development ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาเป็นผู้บรรยาย โดยแก่นสำคัญของทักษะในยุคใหม่นั้นก็คือการที่คนหนึ่งคนต้องควรชำนาญในหลายทักษะมากกว่าที่จะเก่งเพียงทักษะใดทักษะหนึ่ง บุคลากรควรเพิ่มเติม New Skill ให้แก่ตน หรือไม่ก็ Reskill พัฒนาตนให้พร้อมกับงานในโลกยุคใหม่ รวมถึงองค์กรควรจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่การทำงานในแบบ Agile Network ที่เป็นหน่วยงานที่เล็กลงแต่ทำงานได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงเป็นการรวมกันของคนหลากหลายความสามารถให้มาทำงานร่วมกัน หัวใจสำคัญอีกอย่างก็คือการเปลี่ยนแปลงจาก Process-based ที่เน้นกระบวนการทำงานของแต่ละแผนก แต่ละบุคคล ไปสู่ Project-based ที่เน้นการทำงานในรูปแบบโปรเจกต์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนหลากหลายความสามารถให้มาร่วมกันทำเป็นโปรเจกต์แต่ละครั้งแทน ซึ่งนี่คือ New Culture ที่กำลังเป็นเทรนด์การทำงานที่กำลังมาและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะองค์กรยุคใหม่ ซึ่งในขณะเดียวกันองค์กรยุคเก่าก็ควรต้องปรับตัวให้ทันเช่นกัน

+ Redesign PMS & Compensation

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า “เงินเดือน” และ “สวัสดิการ” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานอยู่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม แต่สำหรับโลกของการทำงานในยุคนี้และยุคอนาคตนั้น ทั้งเรื่องอัตราจ้างและสวัสดิการมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน ฝ่าย HR เองจะยังคงยึดรูปแบบการบริหารหรือทำงานในแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับตลาดแรงงานในยุคอนาคตด้วย รวมถึงระบบการทำงาน การจ้างงาน และสวัสดิการที่เป็นส่วนบุคคลหรือบริหารแบบรายบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละคนอีกด้วย

หนึ่งในหัวข้อเสวนาย่อยที่น่าสนใจของประเด็นนี้ก็คือ Flexible Working : The Way of The Future ที่มีวิทยากรสำคัญสองท่านจากตัวแทนสองวัยนั่นก็คือ ดร.อดิภัทร ชัยชนะสกุล Human Resource Center of Excellence Director บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ คุณธนกาญ เพิ่มทอง Managing Director, APAC ของสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงอย่าง EKO ซึ่งทั้งสองท่านได้มาแชร์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสำหรับยุคใหม่นี้ที่มีทางเลือกให้กับองค์กรตลอดจนแรงงานมากมายหลากหลายรูปแบบ อาทิ Working from home, Outsource, หรือแม้แต่ Flexible Holiday แล้วก็ Flexible Benefit ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลักษณะแรงงาน ช่วงวัย ไปจนถึงความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ HR ในยุคนี้ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ต้องรู้จักการหาแรงงานให้เหมาะสม การหาแรงงานที่เป็น Talent Worker นั้นควรจะคุยในเรื่อง Working System ที่ยืดหยุ่น รวมถึงอัตราจ้างและสวัสดิการที่คุ้มค่าแบบรายบุคคลไป กระทั่งการดูแลให้เหมาะสมและใส่ใจอีกด้วย

อีกหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจภายใต้หัวเรื่องนี้ก็คือ Retain the Right Talent in Agile Work Environment-Changing in Total Rewards ที่มีวิทยากร 3 ท่านก็คือ คุณจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมาเน้นย้ำความสำคัญของแรงงานในกลุ่ม Talent Workers ที่จะมีส่วนสำคัญต่อองค์กร และสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาลทีเดียว แต่การที่จะบริหารบุคคลในกลุ่มนี้ก็ต้องมีความเข้าใจรวมถึงดูแลผลประโยชน์ของเขาให้เหมาะสมด้วย โดยฝ่าย HR เองจะต้องรู้และเข้าใจ Talent Management Systems การบริการบุคลากรที่มีความสามารถอย่างชาญฉลาด และทำอย่างไรที่จะรักษาคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรได้ให้นานที่สุดด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการเสวนาเพิ่มเติมกับ คุณอรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ที่เป็นผู้ให้บริการ TESCO ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง และ คุณรัฐวุฒิ สุวรรณลีลา Head of People SEA Group ที่บริหารบริษัทเกมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Garena และบริษัทที่ทำธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Shopee ที่เป็นยักษ์ใหญ่อีกตัวในเครือ ซึ่งทั้งสองท่านได้มาร่วมแชร์เรื่องกลยยุทธ์ในการบริหารบุคคลยุคใหม่ของทั้งสององค์กรให้เราได้รับความรู้กัน และนำไปปรับใช้กับองค์กรของแต่ละท่านให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย

+ People Transformation Clinic

อีกหนึ่งห้องเสวนาที่น่าสนใจนั้นก็คือหัวเรื่องที่พูดถึงเรื่องของ People Transformation ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงองค์กรตลอดจนธุรกิจสู่ยุคใหม่เลยก็ว่าได้ โดยในส่วนนี้มีวิทยากรที่น่าสนใจหลายท่านแล้วหนึ่งในนั้นก็คือ คุณภานุวัตน์ กาญจโนสถ Associate Client Partner จาก Korn Ferry ที่พูดในหัวเรื่อง People Transformation for 2020 And Beyond โดยตรงกันเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลง People Transformation นั้นต้องให้ความสำคัญอย่างละเอียดรอบคอบ และดูความพร้อมขององค์กรด้วย อย่างบางองค์กรที่หัวเรือมีวิสัยทัศน์ที่ดี อยากปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การทำงานยุคใหม่ แต่ขาดแคลนบุคลากรที่เหมาะสม หรือบุคลากรไม่พร้อม ก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน หรือควรหาทางแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในกรณีที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้กับองค์กร เป็นต้น ซึ่งการเตรียมคนให้พร้อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึง The Profile of Future คุณลักษณะตลอดจนโปรไฟล์สำคัญสำหรับแรงงานในอนาคตนั้นควรเป็นอย่างไรบ้าง เตรยีมตัวเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร และองค์กรควรจ้างแรงงานแบบไหนเข้ามาร่วมงานกับองค์กรในยุคดิจิตอลนี้ ตลอดจนลักษณะผู้นำที่ดีในโลกยุคหน้าควรเป็นแบบ The Self-Disruptive Leader คือเป็นผู้นำที่ต้องรู้จักปฎิวัติและปรับเปลี่ยนตัวเองได้ เพราะโลกยุคใหม่จะเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวดเร็ว และไม่มีอะไรแนะนำ ฉะนั้นผู้นำจะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ให้ได้ ปรับการทำงาน ปรับการบริหารงาน ปรับนโยบาย ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับทุกฝ่ายได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแรงงานที่ดีแห่งอนาคตอีกด้วย

บทสรุป

ในยุคที่โลกของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ การปฎิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้หลายองค์กรหรือแม้แต่หลายธุรกิจนั้นต่างก็กำลังเริ่มปรับตัว เปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนตนเองสู่การทำงานแห่งโลกยุคใหม่กันมากขึ้นเรื่อยๆ

จาก Digital Disruption ที่กำลังเกิดผลทั่วโลกทำให้เกิด Business & Organization Transformation มากมาย องค์กรใหม่ๆ ที่ก่อร่างสร้างโดยคนยุคใหม่ต่างก็ผุดขึ้นกันเพียบ ในขณะที่องค์กรยุคเก่าต่างก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน แล้วหัวใจสำคัญขององค์กรนั้นก็คือเรื่องของบุคลากรนั่นเอง ซึ่งก็ย่อมต้องเกิด People Transformation ไปตามๆ กันด้วย ไม่เพียงแต่แรงงานจะต้องปรับตัว พัฒนาทักษะเดิมๆ ของตัวเองให้สามารถทำงานกับเทคโนโลยีหรือโลกยุคใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อการพัฒนาตนให้พร้อมรองรับกับตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นด้วย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของบุคลากรมากที่สุดก็คือฝ่าย Human Resource ที่ต้องปรับตัวตามให้ทันเช่นกัน นอกจากจะบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังต้องหาวิธีรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพไว้ในคราวเดียวกันด้วย รวมถึงไม่หยุดพัฒนาตนเองและต้องก้าวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงให้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อองค์กรที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเดินหน้าสู่ความสำเร็จในยุคอนาคตนั่นเอง

HR Tech Trend
ติดตามอ่านบทความเพิ่มเติมจาก HREX ที่เกี่ยวกับ HR Tech ตลอดจนเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่เราหยิบมาฝากจากงาน Thailand HR DAY 2019 ได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้เลย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง