ทำงานทีไรง่วงทุกที! รู้จัก Sleep Chronotype ใช้งานนาฬิกาชีวิตให้ถูก แอคทีฟจนเพื่อนตามไม่ทัน

HIGHLIGHT

  • Sleep Chronotype เป็นแนวคิดเรื่องการใช้งานนาฬิกาชีวิตให้ถูกต้อง โดยแต่ละคนจะมีนาฬิกาในตัวที่เดินไปไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ และอาชีพการงาน
  • ด็อกเตอร์ไมเคิล บรูส์ (Dr. Michael Breus) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ ‘The Power of When’ หรือ ‘พลังแห่งเมื่อไหร่’ ซึ่งได้แบ่งบุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 4 ลักษณะ โดยเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ หมี สิงโต หมาป่า และโลมา
  • หมี สิงโต หมาป่า และโลมา คือคำจำกัดความที่ด็อกเตอร์ ไมเคิล บรูส์ อธิบายถึงกลุ่มพฤติกรรมรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ถูกกำหนดพฤติกรรม ระบบสมองและการทำงานของร่างกายมาตั้งแต่อายุเพียงสามเดือน
  • การสร้างนโยบายในองค์กรที่จะช่วยให้คนทำงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่จำเป็น อีกทั้งยังทำให้เกิดความพึงพอใจในพนักงานด้วย HR อาจกำหนดให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานแบบ Hybrid ได้ หรือบางตำแหน่งอาจจะให้ Work From Home และจัดสรรเวลาเอาเองได้เลยก็ดีเหมือนกัน

ทำงานทีไรง่วงทุกที! รู้จัก Sleep Chronotype ใช้งานนาฬิกาชีวิตให้ถูก แอคทีฟจนเพื่อนตามไม่ทัน

ตั้งแต่เด็กจนโต พวกเราทุกคนถูกกำหนดเวลาให้ไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปสัมมนา อบรม หรือแม้แต่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นช่วงเวลาเดียวกันหมดทุกคน จนเรียกได้ว่าช่วงเวลาตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงประมาณสี่โมงเย็นนั้นเป็นเวลาสากลไปแล้ว แต่แปลกที่เราแต่ละคนรับข้อมูลได้ไม่เท่ากัน หรือสร้างไอเดียที่แสนบรรเจิดในช่วงเวลานั้นได้ไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน แต่มันเป็นเรื่องของ ‘นาฬิกาชีวิต’ ต่างหาก

ในบทความนี้ HREX จะมาไขข้อข้องใจว่าทำไมความสามารถของคนเราในแต่ละเวลานั้นไม่เหมือนกัน บางคนปิ๊งไอเดียสุดแสนบรรเจิดได้ในตอนกลางคืน แต่ตอนเช้ากลับสมองตื้อคิดอะไรไม่ออก หรือบางคนตื่นเช้าได้โดยไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก แถมพร้อมทำงานได้เลยอีกด้วย มันเกิดอะไรขึ้นกันหนอ

นาฬิกาชีวิต (Sleep Chronotype) คืออะไร?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าทุกคนมีนาฬิกาชีวิตไม่เหมือนกันจริง ๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนนั่งมึนในห้องเรียนตอนเช้า กับคนที่คิดเลขถอดรูทได้ตั้งแต่คาบแรกที่เรียน และยิ่งโดยเฉพาะคนทำงานในสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น Content Creative นักเขียนนิยาย วิศวกรดีไซน์รถยนต์ หรือสถาปนิกออกแบบภายใน ยิ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนาฬิกาชีวิตและ Sleep Chronotype เพื่อนำมาใช้ดึงศักยภาพในการทำงานของตัวเองออกมา คนแรกที่ริเริ่มหลักการนี้ขึ้นมาก็คือ ด็อกเตอร์ไมเคิล บรูส์ (Dr. Michael Breus) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ ‘The Power of When’ หรือ ‘พลังแห่งเมื่อไหร่’ ซึ่งได้แบ่งบุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 4 ลักษณะ โดยเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ หมี สิงโต หมาป่า และโลมา

ทำไมคนเรามีนาฬิกาชีวิตและเวลาตื่นตัวไม่เหมือนกัน?

หมี สิงโต หมาป่า และโลมา คือคำจำกัดความที่ด็อกเตอร์ ไมเคิล บรูส์ อธิบายถึงกลุ่มพฤติกรรมรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ถูกกำหนดพฤติกรรม ระบบสมองและการทำงานของร่างกายมาตั้งแต่อายุเพียงสามเดือน เป็นสิ่งที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นธรรมชาติประจำตัวของใครของมัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยาก 

ก่อนจะไปดูว่ามนุษย์แต่ละประเภททั้ง 4 มีระบบการนอนและการทำงานแตกต่างกันอย่างไร

ลองทำแบบทดสอบกันก่อนว่าตัวเราเปรียบเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทไหน ที่นี่ https://thepowerofwhenquiz.com/

The Power of When หนังสือที่ควรอ่านแห่งยุค!

หนังสือแนวจิตวิทยาที่เขียนโดย ด็อกเตอร์ไมเคิล บรูส์ (Dr. Michael Breus) เกี่ยวกับการใช้เวลาของคนทั้ง 4 แบบ ทำอย่างไรให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะแต่ละคนมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน เร็วขึ้นหรือช้าลงเพียงชั่วโมงเดียวก็อาจส่งผลกระทบอย่างมหาศาลได้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวช่วยไกด์ไลน์อย่างดีสำหรับคนทุกรุ่น โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องเทรนด์การทำงาน หรือคนที่ทำงานประเภทต้องใช้ความคิด นอกจากนี้ยังเหมาะกับนักเรียน-นักศึกษาที่ต้องท่องหนังสือหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่เข้าสมองเท่าที่ควร สามารถหาคำตอบได้ในหนังสือเล่มนี้

คลิกเพื่อดูหนังสือ!

เราเป็นมนุษย์ประเภทไหน? มาศึกษานาฬิกาชีวิตแต่ละแบบกันเถอะ

นาฬิกาชีวิตแบบ ‘หมี’

พวกเจ้าหมีเป็นกลุ่มประชากรที่เยอะที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้ง 4 ชนิด เพราะมีถึง 50% เลยทีเดียว พวกหมีจะตื่นและเข้านอนตามพระอาทิตย์ขึ้นและตก คือสว่างก็ตื่น มืดก็นอน มีลักษณะนิสัยเป็นมิตร ใจกว้าง และค่อนข้างมีตารางชีวิตที่คงที่ นอนหลับสนิท ส่วนช่วงเวลาที่โปรดักทีฟที่สุดของพวกหมีคือช่วงกลางวัน

นาฬิกาชีวิตแบบ ‘หมาป่า’

พวกนอนดึกตื่นเช้าตัวยง โปรดักทีฟตอนดึก กลางวันนั่งอึนทั้งวัน คิดงานไม่ออก แต่พอฟ้ามืดเท่านั้นแหละ ไอเดียลื่นไหล ที่คิดมาทั้งวันมาคิดออกเอาภายในระยะเวลาสั้น ๆ หากตอนนั้นเป็นตอนกลางคืน พวกประชากรหมาป่าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประมาณ 15% มีลักษณะเป็นคนเก็บตัว อารมณ์แปรปรวน แต่มีความคิดสร้างสรรค์ มักมีปัญหาการตื่นนอนในตอนเช้า

นาฬิกาชีวิตแบบ ‘สิงโต’

พวกสิงโตเป็นพวกที่เหมาะกับการทำงานตอนเช้าที่สุด เพราะมักมีอาการสมองล้าในช่วงบ่าย มีพลังงานมากที่สุดก่อนเที่ยง แต่จะเหลือพลังงานน้อยในตอนเย็น เป็นคนอารมณ์มั่นคง มองโลกในแง่ดี ชอบตื่นเช้า ตื่นได้โดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกเลย มีประชากร 15% ที่เป็นกลุ่มสิงโต

นาฬิกาชีวิตแบบ ‘โลมา’

หากคุณคือโลมา จงรู้ไว้ว่ามีคนเพียง 10% ในโลกที่เป็นเหมือนคุณ พวกโลมาเป็นพวกที่มีนิสัยการนอนแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น มีอะไรมาขัดจังหวะนิดเดียวก็จะรู้สึกตัวตื่นได้ง่าย แสง เสียง หรือบางอย่างกระทบเพียงนิดเดียวก็จะตื่นเลย หลับได้ไม่ลึก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนขี้กังวล ระวังตัว เป็นเพอร์เฟกชั่นนิสม์ ไม่ชอบความเสี่ยง เฉลียวฉลาด สามารถทำงานได้ตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือช่วงสายถึงช่วงบ่าย ๆ

HR จะช่วยซัพพอร์ตการทำงานของคนแต่ละประเภทที่มีนาฬิกาชีวิตต่างกันได้อย่างไร?

การแบ่งประเภทของคนตามช่วงเวลานอนหลับและช่วงเวลาโปรดักทีฟถือว่าเป็นอีกหลักการหนึ่งที่น่าสนใจในการบริหารคนเช่นกัน เพราะคนเรามีช่วงเวลาที่ไอเดียไหลสมองแล่นไม่เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างนโยบายในองค์กรที่จะช่วยให้คนทำงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่จำเป็น อีกทั้งยังทำให้เกิดความพึงพอใจในพนักงานด้วย HR อาจกำหนดให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานแบบ Hybrid ได้ หรือบางตำแหน่งอาจจะให้ Work From Home และจัดสรรเวลาเอาเองได้เลยก็ดีเหมือนกัน ระบบ Clock-in/Clock-out ก็ไม่จำกัดเวลาแต่ให้ครบวันละ 9 ชั่วโมงก็พอ เป็นต้น

บทสรุป

จริง ๆ แล้วการแบ่งกลุ่มคนทั้ง 4 ประเภทตามช่วงเวลาโปรดักทีฟของแต่ละคนก็เป็นแค่ไกด์ไลน์เท่านั้น เพราะทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับว่าเราจะสะดวกตอนไหน หรืออาจจะมีมู้ดทำงานไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ว่าด้านบนก็ได้ ด็อกเตอร์บรูส์ได้กล่าวไว้ว่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนอาจเปลี่ยนไปตามอายุ เช่น วัยเด็กเป็นหมี ตอนวัยรุ่นเป็นหมาป่า วัยทำงานเป็นโลมา วัยเกษียณเป็นสิงโต ก็เป็นได้

ที่มา

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง