ทำอย่างไรดี เมื่อเพื่อนร่วมงานต้องการ Emotional Support

HIGHLIGHT

  • Emotional Support หมายถึง ‘ที่พึ่งทางความรู้สึก สภาพจิตใจ และอารมณ์’ ซึ่งจะมาช่วยใครสักคนที่กำลังมีอาการเจ็บป่วยทางใจ รู้สึกดาวน์หรือกำลังดำดิ่งในความรู้สึกแย่ ๆ ให้สดชื่นยิ่งขึ้น ลดความหม่นหมองในใจ และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป
  • สิ่งเลวร้ายที่ตามมากับวิถีชีวิตแบบ New Normal คือ ‘สุขภาพจิตที่แย่ลง’ เมื่อสุขภาพจิตไม่ดี ร่างกายก็อ่อนแอ เหนื่อยล้า ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ตัวเราเองประสบปัญหานี้ สิ่งที่คนป่วยทางใจต้องการมากที่สุดก็คือ Emotional Support
  • สิ่งที่ HR และเพื่อนร่วมงานควรสังเกตคือ เมื่อมีใครสักคนบ่นว่าหมดไฟ เหนื่อยล้า หรืออยากลาออก นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า เพื่อนร่วมงานของเรากำลังประสบปัญหานี้อยู่ และพวกเขากำลังต้องการ Emotional Support อย่างแน่นอน
  • เราอาจพบว่าการได้เล่าเรื่องบางอย่างออกไปให้คนที่เรารู้สึกว่าเป็นที่พึ่งทางใจได้รับฟัง แค่นั้นก็ทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นมากแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เรามี ‘เซฟโซน’ จากคนที่เป็น Emotional Support
  • พื้นฐานการ Emotional Support ให้กับใครสักคนคือการรับฟังปัญหาของเขา คนที่กำลังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจนั้นต้องการแค่ใครสักคนที่จะคอยรับฟังเขาในเวลาที่จิตใจอ่อนไหว เป็นเซฟโซนให้เขาได้ และไม่ตัดสิน

ตั้งแต่โลกใบนี้ได้ทำความรู้จักกับ COVID-19 หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะโลกของการทำงาน เราได้รู้จักกับวิถีแบบ New Normal ตัวละครสำคัญที่เป็นผลพวงมาจากโรคระบาดใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งมันทำให้วิธีการทำงานในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

หลายคนไม่ได้ไปทำงานที่ออฟฟิศเลยตั้งแต่มีโควิด ทำงานอยู่ที่บ้าน นั่งหน้าจอคอมทั้งวัน ไม่ได้พูดจากับใคร ไม่ได้ไปเที่ยวพักผ่อน แล้วยังต้องรับฟังข่าวสารอันน่าหดหู่ใจ สิ่งเลวร้ายที่จะตามมากับวิถีชีวิตแบบใหม่นี้คือ ‘สุขภาพจิตที่แย่ลง’ เมื่อสุขภาพจิตไม่ดี ร่างกายก็อ่อนแอ เหนื่อยล้า ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหากเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ตัวเราเองประสบปัญหานี้ สิ่งที่คนป่วยทางใจต้องการมากที่สุดก็คือ Emotional Support

Emotional Support คืออะไร

หลายคนอาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในความหมายของคำว่า Emotional Support ซึ่งจริง ๆ แล้วคำนี้ก็แปลได้ว่า ‘ที่พึ่งทางความรู้สึก สภาพจิตใจ และอารมณ์’ ซึ่งจะมาช่วยใครสักคนที่กำลังมีอาการเจ็บป่วยทางใจ รู้สึกดาวน์หรือกำลังดำดิ่งในความรู้สึกแย่ ๆ ให้สดชื่นยิ่งขึ้น ลดความหม่นหมองในใจ และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป เป็นการรักษาหรือการพยาบาลเพื่อช่วยลดความเครียดและป้องกันผลกระทบจากความเครียด

ในอีกทางหนึ่ง Emotional Support ยังหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่เป็นที่พึ่งทางใจให้กับเราได้ และช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ซึ่งบางคนอาจจะคุ้นเคยกับการให้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจให้กับตัวเอง การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือที่สำคัญคือการมีใครสักคนไว้ให้ระบายความรู้สึกภายในจิตใจ

ใครบ้างที่กำลังต้องการ Emotional Support

สองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โลกใบนี้มีการเกิดขึ้นของการระบาดใหญ่ COVID-19 มีรายงานจากหลาย ๆ ฝ่ายว่าพนักงานเกิด ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) และพนักงานมากกว่าครึ่งกล่าวว่าสุขภาพจิตของตัวเองแย่ลงมากตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 ซึ่งจากวิจัยของ The Conference Board เราพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตในอัตราที่สูงกว่าผู้ชาย

สิ่งที่ HR และเพื่อนร่วมงานควรสังเกตคือ เมื่อมีใครสักคนบ่นว่าหมดไฟ เหนื่อยล้า หรืออยากลาออก นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนแล้วล่ะว่าเพื่อนร่วมงานของเรากำลังประสบปัญหานี้อยู่ และพวกเขากำลังต้องการ Emotional Support อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากพนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจากเดิมอย่างฮวบฮาบ หรือมีความ productive น้อยลง กระตือรือร้นลดลง ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเหมือนกันว่าคนคนนั้นกำลังมีปัญหากับสภาวะทางจิตใจ

Digital Fatigue ภาวะเหนื่อยล้าจากดิจิทัล และวิถีการช่วยเหลือพนักงานให้หายเหนื่อย

เหตุผลที่เราต้องการ Emotional Support

มีงานวิจัยจากปี 2015 ชิ้นหนึ่ง เจ้าของคือ ทาฮีเบฮ์ แฟสิฮี ฮารานดิ (Tayebeh Fasihi Harandi) นักวิจัยปริญญาเอกด้านสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ ได้ค้นพบว่าที่พึ่งทางใจที่มั่นคงจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนเรา และจะยิ่งเห็นผลได้ชัดในผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนวัยทำงาน และวัยเรียน โดยงานวิจัยได้กำหนดระดับความเครียดตั้งแต่ 1 – 10 (จากน้อยไปมาก) แล้วพบว่าผู้ที่มีที่พึ่งทางใจที่มั่นคงจะมีความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5 เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการซัพพอร์ตทางจิตใจและความรู้สึกจากคนอื่นจะมีระดับความเครียดอยู่ที่ 6.3 ซึ่งสูงกว่ามากทีเดียว

เราอาจพบว่าการได้เล่าเรื่องบางอย่างออกไปให้คนที่เรารู้สึกว่าเป็นที่พึ่งทางใจได้รับฟัง แค่นั้นก็ทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นมากแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เรามี ‘เซฟโซน’ จากคนที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับเรา ทำให้รับมือกับอารมณ์ไม่พึงประสงค์และความเครียดทั่งหลายแหล่ที่จะเข้ามาบั่นทอนจิตใจ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคที่อาจจะเกิดจากความเครียดได้อีกด้วย 

ทำอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานต้องการ Emotional Support

รับฟัง

พื้นฐานของการแก้ปัญหาทางจิตใจให้กับใครสักคนก็ต้องเป็นการรับฟังปัญหาของเขา การรับฟังใครสักคนไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท แต่คนที่กำลังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจนั้นต้องการแค่ใครสักคนที่จะคอยรับฟังเขาในเวลาที่จิตใจอ่อนไหว เป็นเซฟโซนให้เขาได้ ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน คอยปลอบโยนและซัพพอร์ตความรู้สึกให้กับเขาได้จริง ๆ

สังสรรค์กันบ้าง

หลายครั้งปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกก็เกิดมาจากความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน ๆ แม้แต่คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีก็ยังเซได้หากต้องเก็บตัว ไม่เจอผู้คน ไม่มีเรื่องสนุกสนานในชีวิตเลย เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นสัตว์สังคมและต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แม้แต่คนที่บอกว่าตัวเองเป็น Introvert ที่สุด ก็ยังต้องการสังคมอยู่วันยังค่ำ หากเพื่อนร่วมงานของเราหม่นหมอง ซึมเซา และเริ่มมีอาการบ่งบอกถึงสภาวะทางจิตใจที่แย่ลง จงพาเพื่อนของคุณไปสังสรรค์เอ็นเตอร์เทนเจอผู้คนบ้าง แล้วทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ยอมรับและปรับเปลี่ยน

บางครั้งการเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับใครสักคน นอกจากการรับฟังแล้ว กับปลอบโยนและเตือนสติก็เป็นเรื่องสำคัญ พยายามใช้คำพูดที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจ ยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และเขาไม่ได้กำลังแก้ไขมันอยู่คนเดียว “อะไรจะเกิดก็ต้องให้มันเกิดไป เราทำดีที่สุดแล้ว และทุกอย่างที่เกิดขึ้นมามีเหตุผลของมัน และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราต้องยอมรับมัน”

ยื่นมือเข้าช่วยอย่างทันท่วงที

คนที่กำลังต้องการ Emotional Support อย่างมากแสดงว่าจิตใจของพวกเขาอ่อนแอมากแล้ว และเมื่อมีเหตุการณ์หรือความรู้สึกใดผุดขึ้นมากระทบจิตใจ ก็หนักหนาสำหรับพวกเขามากแล้ว ดังนั้นในฐานะที่พึ่งทางใจ ควรดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ เพราะหากปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาคนเดียวบ่อย ๆ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือเหตุการณ์อันร้ายแรงได้

ข้อดีของการมี Emotional Support

ถึงแม้จะบอกว่าตัวเองเป็นคนที่เข้มแข็งมากเพียงใด แต่ความเป็นมนุษย์นั้นต้องมีสังคม เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แก้ปัญหาคนเดียว หรือปลอบใจตัวเองคนเดียวได้ การมีใครสักคนคอยอยู่เคียงข้างเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะช่วยซัพพอร์ตจิตใจอันหมองหม่นของเราให้คลายจากความทุกข์ลงไป อันเกิดจากเหตุการณ์รอบข้าง สิ่งแวดล้อม หรืออะไรใด ๆ ก็ตามแต่ ยิ่งคนที่มีที่พึ่งทางจิตใจมากเท่าไหร่ คนคนนั้นก็จะยิ่งเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น พร้อมสู้และฝ่าฟันไปกับทุกสภาวะอย่างไม่กลัว เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะต้องเจ็บปวด ผิดหวัง หรือท้อแท้สักเพียงไหน ก็จะยังมีคนที่คอยให้กำลังใจอยู่เสมอ ทำให้กล้าใช้ชีวิต มีสุขภาพจิตที่ดี มีหัวใจที่เข้มแข็ง และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง เมื่อเทียบกับคนที่ชอบเก็บความทุกข์ไว้กับตัวคนเดียว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้ ก็จะยิ่งจมดิ่งลงไปกับความทุกข์นั้น เนเกิดภาวะซึมเศร้า ส่งผลทางจิตใจ อารมณ์ และร่างกายเป็นอย่างมาก

บทสรุป

เราเหนื่อยล้ากันมามากกับการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาถึงสองปีแล้ว และไม่มีวี่แววว่าจะหยุดหย่อนลงเลย อีกทั้งเศรษฐกิจที่แย่ลง ปัญหาบ้านเมืองมากมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้มแข็งได้เท่ากัน จึงไม่แปลกใจเลยที่หลาย ๆ คนจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึก ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนเข้มแข็งและมีสุขภาพจิตที่ดี จงอย่าลืมที่จะช่วยดูแลหัวใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้พวกเราได้ก้าวข้ามผ่านคืนวันร้าย ๆ ไปได้อย่างไม่ต้องเจ็บปวดมากมาย ส่วนใครที่กำลังอยู่ในช่วงเบื่อ เศร้า เครียด ท้อ หรือมีสภาวะทางจิตใจที่อ่อนแอ อย่าลืมว่ามีอีกหลายคนที่พร้อมจะเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับเรา พร้อมช่วยเหลือดูแล และหยิบยื่น Emotional Support ให้ด้วยความเต็มใจ 

เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก อย่าลืมรักษาหัวใจของกันและกันนะ

ที่มา

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง