5 TED Talk ที่ HR ควรดู เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Part 1)

HIGHLIGHT

  • เราต้องปฏิบัติต่อพนักงานให้เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อลูกค้าของเรา
  • การเลือกซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีมอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
  • อย่าเลือกพนักงานจากเรซูเม่ที่สมบูรณ์แบบ
  • ความสุขในการทำงานเกิดจากการคิดในเชิงบวก
  • ผู้นำที่ดี คือคนที่สร้างความรู้สึกปลอดภัยแก่พนักงาน

TED Talk เป็นเวทีระดับโลกที่เต็มไปด้วยคนเก่งมากมายที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาให้ความรู้บนเวที จากการพูดเชิงสร้างสรรค์ความยาวประมาณ 18 นาทีที่อัดแน่นไปด้วยไอเดียสุดว้าวและเรื่องราวสุดเจ๋ง ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังในแง่มุมต่าง ๆ

หนึ่งในหัวข้อการพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดหนีไปพ้นการทำงานหรือการบริหารงานในองค์กรซึ่งกลายเป็น Hot Topic ประจำเวทีทุกปี ซึ่งทุกบริษัทสามารถนำไปปฏิบัติตามเพื่อเปลี่ยนจากสถานที่ทำงานธรรมดาให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ HR NOTE.asia จึงได้รวบรวม 5 TED Talk ที่น่าสนใจเพื่อเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองของฝ่ายทรัพยากรบุคคลมาให้ชมกัน

1. Why we need to treat our employees as thoughtfully as our customers

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

ทุกวันนี้องค์กรต่าง ๆ ล้วน ‘เข้าใจ’ ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความต้องการ หรือแม้กระทั่งความหลงใหลผ่านการทำ Customer Journey อย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดการสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

แต่เมื่อ Diana Dosik ผู้บรรยายถามถึงความเข้าใจในความต้องการของพนักงานบริษัทคืออะไร

คำตอบที่ได้คือความว่างเปล่า 

Diana Dosik เล่าถึงประสบการณ์ที่ถามหัวหน้าทางการตลาดบริษัทต่าง ๆ ว่า “อะไรที่ทำให้การเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าง่ายขึ้นหรือยากขึ้น” คำตอบที่ได้ยาวนานกว่า 20 นาทีถึงการแบ่งลูกค้าทางการตลาด ขณะเดียวเธอได้ถามกลับถึงหัวหน้าทุกแผนกในบริษัทเดียวกันว่า “แล้วอะไรที่ทำให้พนักงานใช้ชีวิตในบริษัทได้ง่ายหรือยากขึ้น”

เธอกลับไม่ได้รับคำตอบที่แน่นอน และเมื่อถามว่าพวกเขาใช้เวลาเท่าไรในการทำความเข้าใจพนักงาน พวกเขากล่าวว่า ‘น้อยกว่า 5%’

คำตอบเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าองค์กรไม่ได้ใส่ใจพนักงานหรอกนะ ทุกองค์กรใส่ใจผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) สารพัด เพียงแต่ว่าทุกองค์กรมีเครื่องมือที่ใช้ทำความเข้าใจประสบการณ์ของลูกค้า แต่พวกเขากลับไม่ได้ใช้เครื่องมือเหล่านั้นในการทำความเข้าใจประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) เท่านั้น

ทำไม HR ต้องดู

Diana Dosik ต้องการย้ำความสำคัญของ Employee Experience ที่ไม่ใช่แค่การสร้าง Employee Engagement อย่างเดียว ด้วยการใช้เครื่องมือ เทคนิค และทฤษฎีต่าง ๆ ในการทำความเข้าใจลูกค้า มาเรียนรู้และสร้างพฤติกรรมที่ดีของพนักงานในองค์กรบ้าง ซึ่งนั่นจะทำให้พนักงานมีแรงจูงใจ มีความภักดี และมีจินตนาการมากขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าองค์กรของคุณมีวิธีที่จะเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ ทำไมไม่นำมาใช้เรียนรู้และเข้าใจพนักงานในองค์กรบ้าง เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานทั้งหมดดีขึ้น

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Why we need to treat our employees as thoughtfully as our customers

2. Forget The Pecking Order At Work

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

นักชีววิทยาวิวัฒนาการได้ศึกษากลุ่มของไก่ว่า อะไรจะทำให้ไก่มีความสามารถในการผลิตมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเลือกฝูงไก่ธรรมดา ๆ ที่ปล่อยให้อย่ร่วมกันปกติ 6 รุ่น ส่วนอีกกลุ่มคัดเลือกไก่ที่ออกไข่เก่งที่สุดหรือซูเปอร์ไก่ แล้วปล่อยให้อยู่ร่วมกัน 6 รุ่นเช่นกัน

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มไก่ธรรมดาอยู่สุขสบายดี ทุกตัวล้วนอ้วนพี ขนดก และผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นเยอะมาก ขณะที่กลุ่มซูเปอร์เหลือสามตัว เพราะพวกมันจิกตัวอื่นจนตาย

สิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการบริหารขององค์กรส่วนใหญ่ที่ใช้โมเดลซูเปอร์ไก่เพื่อเลือกซูเปอร์สตาร์คนเก่งมาเสริมทัพในองค์กรให้ได้มากที่สุด ทว่าสิ่งนั้นกลับต้องแลกมาการเผชิญหน้ากับการชิงดีชิงเด่น การแข่งขัน การทำงานที่บกพร่อง และการสูญเปล่า

ฉะนั้นการสร้างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จคือ

1. สมาชิกจะต้องมีระดับความใส่ใจทางสังคมต่อกันและกันสูง วัดได้จากความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) และกลุ่มที่มีคะแนนส่วนนี้สูงจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า

2. กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจะให้เวลาสมาชิกแต่ละคนเท่า ๆ กัน ไม่มีใครที่ครอบงำคนอื่น และไม่มีใครนิ่งเฉย

3. กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจะมีผู้หญิงมากกว่า ถึงแม้ยังไม่มีการวินิจฉัยที่แน่ชัด แต่คาดการ์ได้ว่าเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากกว่า หรือเพราะผู้หญิงนำมุมมองที่หลากหลายเข้ามาในกลุ่มนั่นเอง

ทำไม HR ต้องดู

บางครั้งการคัดเลือกพนักงานเข้ามาเสริมทัพ องค์กรมักเลือกเฉพาะคนเก่งเข้ามาทำงาน แต่นั่นอาจทำให้เกิดการแข่งขันที่บั่นทอนความสำเร็จของคนอื่นได้ สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่แค่การเลือกคนเก่งอย่างเดียว แต่คือการสร้างบรรยากาศทำงานร่วมกันให้ทุกคนรู้จัก

บางครั้งเราอาจสั่งให้หยุดทำงานเพื่อให้พนักงานรู้จักกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงขับเคลื่อนให้องค์กรอย่างแท้จริง เช่น ชาวสวีเดนกิจกรรมที่เรียกว่า ฟิกา (fika) ซึ่งหมายถึงการมากกว่านั่งพักกินกาแฟ แต่คือการฟื้นพลังร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมาพูดคุยกันบริเวณเครื่องชงกาแฟ มากกว่านั่งกินอยู่คนเดียวที่โต๊ะทำงาน หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ 10%

เพราะตัวองค์กรไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากคนต่างหาก และสิ่งที่สร้างแรงจูงใจระหว่างกันคือความผูกพัน ความซื่อสัตย์ และไว้วางใจที่สร้างขึ้นระหว่างกัน 

เหมือนที่ผู้บรรยายบอกว่า “สิ่งที่สำคัญคือปูนที่เชื่อมประสานกัน ไม่ใช่ก้อนอิฐหรือคนแต่ละคน”

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Forget The Pecking Order At Work

3. Why the Best Hire Might Not Have the Perfect Resume

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

Regina Hartley ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลพูดถึงการเลือกผู้สมัครงานโดยดูจากเรซูเม่ ซึ่งเธอแบ่งกลุ่มผู้สมัครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช้อนเงิน (Silver Spoon) ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ จดหมายสมัครงานดูดีไร้ที่ติ มีการรับรองมาเป็นอย่างดี เป็นบุคคลที่ดูดีไปหมดเสียทุกอย่าง และกลุ่มนักสู้ (Scrapper) ที่เรียนมหาวิทยาลัยรัฐบาล เปลี่ยนงานมาเยอะพอสมควร เเละทำงานจิปาถะ เช่น พนักงานเก็บเงินหรือพนักงานเสิร์ฟ 

ทั้งสองคนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่ง คำถามสำคัญก็คือ “คุณจะเลือกใคร”

Regina Hartley แนะนำว่า HR ควรเรียกกลุ่มนักสู้มาสัมภาษณ์มากกว่า เพราะมีการศึกษาพบว่า กลุ่มเด็ก 698 คนที่มีการเติบโตหลังบาดแผลความเจ็บปวด (Post Traumatic Growth) 1 ใน 3 จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ สอดคล้องกับประวัตินักธุรกิจหรือผู้นำที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่จะมีลักษณะเหมือนกันคือการเคยผ่านประสบการณ์ความยากลำบากมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การถูกทอดทิ้ง สูญเสียครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก ไปจนถึงความพิการทางการเรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างรอยเเผลที่นำพาความเจ็บปวดมาให้

ซึ่งนั่นทำให้พวกเขากลายเป็น ‘นักสู้’ ที่พร้อมเผชิญหน้ากับทุกความยากลำบากนั่นเอง

ทำไม HR ต้องดู

หลายครั้งที่ HR มักเลือกผู้สมัครจากเรซูเม่ที่สมบูรณ์แบบ โดยมองข้ามเหล่านักสู้ที่ผู้บรรยายพูดถึง ทำให้องค์กรมีแต่คนเก่งที่อาจไม่พร้อมเผชิญหน้ากับความยากลำบาก

มีการศึกษาหนึ่งพบว่า เมื่อองค์กรให้พนักงานรับผิดชอบงานชั่วคราวที่ต้องใช้แรงงานซึ่งต่ำกว่าวุฒิความสามารถเพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานได้ดีขึ้น กลุ่มช้อนเงินกลับกลุ่มที่ลาออกก่อนใคร

นั่นก็เพราะกลุ่มนักสู้ถูกผลักดันด้วยความเชื่อมั่นมากกว่า เมื่อมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น พวกนักสู้ถามตัวเองว่า “อะไรที่ฉันควรทำให้แตกต่าง เพื่อให้ผลลัพธ์ดีขึ้น” 

พวกนักสู้จะมีมุมมองต่อเป้าหมายที่ทำให้เขาไม่ยอมล้มเลิกกับตัวเอง ชนิดที่ว่า ถ้าพวกเขารอดตายจากความยากจน ครอบครัวที่คุ้มคลั่ง และการถูกปล้นหลายต่อหลายครั้ง ความท้าทายทางธุรกิจก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขา

ฉะนั้นองค์กรต้องให้ความหลากหลายในการจ้างงาน ไม่ใช่เลือกเฉพาะคนเก่งอย่างเดียว

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Why the Best Hire Might Not Have the Perfect Resume

4. The happy secret to better work

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

นักจิตวิทยา Shawn Achor ได้ศึกษาคนที่อยู่เหนือค่าเฉลี่ยพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จในงานนั้นมาจากเลนส์ในการมองโลก ไม่ว่าโลกภายนอกจะเลวร้ายอย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนเลนส์นั้นได้ ก็จะมีความสุขและความสำเร็จในเวลาเดียวกัน

เขาเล่าว่า สภาพแวดล้อมภายนอกสามารถทำนายความสุขระยะยาวได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ของความสุขระยะยาวมาจากวิธีที่สมองประมวลสิ่งต่าง ๆ ต่างหาก เช่นเดียวกับสูตรความสุขและความสำเร็จที่พบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จทางการงานนั้นคาดการณ์ได้จากไอคิว อีก 75 เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จนั้นคาดการณ์ได้จากระดับความคิดเชิงบวก การสนับสนุนทางสังคม และความสามารถในการมองความกดดันให้เป็นความท้าทาย

จากแต่ก่อนที่เราคิดว่า สูตรความสำเร็จเกิดจากการทำงานที่หนักขึ้นเพื่อประสบความสำเร็จแล้วมีความสุข แต่ความจริงแล้วมันผิดหลักวิทยาศาสตร์ เพราะการคิดแบบนี้จะทำให้สมองเปลี่ยนบรรทัดฐานความสำเร็จทุกครั้งที่ทำสำเร็จ เช่น เคยทำคะแนนได้ดีก็จะยิ่งคาดหวังให้คะแนนสูงกว่าเดิม เคยทำยอดขายถึงเป้าหมายก็จะตั้งเป้าหมายใหม่ขึ้นมา นั่นทำให้สมองผลักดันความสุขที่แท้จริงออกไปเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ถ้าสมองทำงานตรงกันข้ามคือการเพิ่มระดับความคิดเชิงบวกแล้วสัมผัสได้ถึงผลประโยชน์ของความสุข สมองก็จะทำงานได้ดีกว่าปกติ มีประสิทธิภาพ ทำงานได้หนักขึ้น เร็วขึ้น และชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้นจงกลับสูตรของความสุขมาที่การคิดเชิงบวกมากขึ้น แล้วเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วสมองเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ทำไม HR ต้องดู

หลายครั้งที่องค์กรมุ่งหวังความสำเร็จมากเกินไปจนสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เคร่งเครียด กดดัน จนสร้างเกิดความคิดเชิงลบในสมอง TED Talk นี้จึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลกลับมาให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตามมา

Shawn Achor ยังได้แนะนำวิธีที่คุณสามารถฝึกสมองให้สามารถคิดเชิงบวกง่าย ๆ เพียงใช้เวลาแค่ 2 นาที ทำติดต่อกัน 21 วันเพื่อจัดระบบสมองของคุณใหม่ คือ การให้พนักงานเขียน 3 สิ่งที่รู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ฝึกสมาธิ และการเขียนข้อความอีเมลในแง่บวก

การฝึกสมองก็เหมือนการฝึกร่างกาย ถ้าเราสามารถกลับสูตรแห่งความสุขมากที่ความคิดเชิงบวกมากขึ้น ความสุขและความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลจากองค์กรแล้ว

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ The happy secret to better work
ความสุขในการทำงาน Workplace Happiness

5. Why good leaders make you feel safe

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

ในทางการทหาร เรามอบเหรียญกล้าหาญแก่คนที่ยินดีเสียสละตนเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ในวงการธุรกิจ เราให้โบนัสแก่คนที่ยอมทำร้ายคนอื่น (ทางธุรกิจ) เพื่อผลประโยชน์ต่อตัวเอง และเมื่อถามเหล่าทหารว่า “ทำไมพวกเขาถึงกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อคนอื่น”

คำตอบที่ได้รับก็คือ “เพราะถ้าเป็นเขา เขาก็จะทำอย่างนี้เพื่อฉันเหมือนกัน”

นี่คือการเริ่มต้น TED Talk ของ Simon Sinek ที่สำรวจว่าภาวะผู้นำเกิดจากอะไร สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ ภาวะผู้นำเกิดจากสิ่งแวดล้อมต่างหาก ถ้าเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี พวกเราทุกคนต่างมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำได้เช่นกัน

เขาเล่าว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยอันตราย เพราะเรามีวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์สังคม สิ่งนี้เกิดจากความไว้วางใจและการร่วมมือที่เต็มไปด้วยประโยชน์มหาศาล เช่น ในช่วงเวลากลางคืน เราต้องไว้ใจคนในเผ่าที่เฝ้าระวังภัยให้ ถ้าเราไม่ไว้วางใจกัน ก็จะเป็นระบบที่แย่มากต่อการอยู่รอด

การทำงานในองค์กรก็เช่นกัน ทุกวันนี้ความอันตรายต่อธุรกิจมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้องค์กรของคุณล้าสมัยในชั่วข้ามคืน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้

แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้รู้สึกปลอดภัยในการทำงานนั่นเอง

ทำไม HR ต้องดู

สำหรับ Simon Sinek แล้ว เขามองว่าผู้นำคือผู้สร้างบรรยากาศในองค์กร โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการทำงาน และสร้างความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้เกิดขึ้นให้ได้

เขายกตัวอย่างกรณี พนักงานสายการบินที่ด่าทอผู้โดยสารที่ต่อแถวขึ้นเครื่องก่อนคิวตัวเอง นั่นก็เพราะพนักงานสายการบินคนนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าเกิดไม่ทำตามกฎจะทำให้ตัวเองถูกไล่ออก และนี่ก็คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงานนั่นเอง

ตัวอย่างในการสร้างความปลอดภัยในการทำงานคือ บริษัทเทคโนโลยี เน็กซ์ จัมพ์ ในนิว ยอร์ค ที่ไม่มีนโยบายไล่คนออก โดยจะจ้างงานตลอดชีวิต ถ้าเกิดมีปัญหาเรื่องงาน บริษัทก็จะฝึก สอน และให้การสนับสนุนพนักงาน และนั่นได้สร้างความปลอดภัยแก่พนักงาน ผ่านการสร้างความเชื่อใจและการให้ความร่วมมือนั่นเอง

ท้ายที่สุดเขากล่าวว่า การเป็นผู้นำคือทางเลือก ไม่ใช่ตำแหน่ง หลายคนอยู่ในตำแหน่งสูงสุดในองค์การ แต่ไม่ได้มีความเป็นผู้นำเลย มีเพียงอำนาจที่สั่งให้คนอื่นทำตาม ซึ่งนั่นทำให้คนอื่นไม่อยากเดินตาม ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่อยู่ตำแหน่งล่าง ๆ ไม่มีอำนาจ แต่มีความเป็นผู้นำ เพราะเขาเลือกที่จะดูแลคนที่อยู่ทางซ้ายและคนที่อยู่ทางขวาของเขา นั่นแหละคือภาวะผู้นำ

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Why good leaders make you feel safe

 

บทสรุป

นี่เป็นส่วนหนึ่งของ TED Talk ที่น่าสนใจสำหรับ HR ที่เราได้รวบรวมมาให้ชมกัน ลองสละเวลาดูสักนิด คุณจะพบมุมมองที่น่าสนใจหลากหลาย สำหรับผู้อ่านสนใจสามารถติดตาม 5 Ted Talk ที่ HR ควรดู เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Part 2) ได้ต่อไป

TED Talk for HR

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง