‘เราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนงานบ่อยๆ’ ความในใจของคนไทยที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น

'เราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนงานบ่อยๆ' ความในใจของคนไทยที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณต้องทำงานร่วมกับคนต่างชาติคือ ความเข้าใจในวัฒนธรรมของกันและกันระหว่างคนไทยและคนประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในครั้งนี้เราจะขอพูดถึงการทำงานของคนไทยร่วมกับคนญี่ปุ่น

เชื่อว่าคนไทยที่เคยทำงานกันคนญี่ปุ่นหลายๆ คนน่าจะมีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน บางครั้งในการทำงานเราก็ไม่เข้าใจชุดความคิดของคนญี่ปุ่น และสำหรับคนญี่ปุ่นเองก็คงมีความกังวล มีคำถามที่ค้างคาใจอยู่มากมาย อย่างเช่น ตอนนี้พนักงานของเรากำลังคิดอะไรอยู่ หรือ พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลงหรือเปล่า เป็นต้น

ในครั้งนี้ เราได้ร่วมพูดคุยกับคุณ O (นามสมมติ) ซึ่งทำงานอยู่ในองค์กรของไทยคอยทำหน้าที่ประสานงานติดต่อกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ เรามาดูกันว่าเขามีความรู้สึก ความคิดเห็นอย่างไรในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น

※หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราได้เข้าใจคนญี่ปุ่นและคนไทยมากขึ้น

คนไทยและคนญี่ปุ่น มีความคิดเกี่ยวกับการย้ายงานที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันทำงานตำแหน่งล่ามอยู่ในองค์กรของไทยแห่งหนึ่ง

ตอนนี้ทำงานเป็น Japanese Service Officer อยู่ในองค์กรของไทยแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจด้านการรักษาพยาบาลค่ะ โดยที่เรามีหน้าที่หลักสองอย่าง คือหนึ่งเป็นล่าม คอยสอบถามอาการเบื้องต้นของคนไข้ชาวญี่ปุ่น และสองก็คือส่งคนไข้ไปตามแผนกต่างๆ

เหตุผลที่เลือกเข้าทำงานที่นี่คือ หนึ่งเลยบริษัทเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ ตอนนั้นมีตำแหน่งที่น่าสนใจคือเป็น Customer Service ก็คิดว่าอยากลองทำงานบริการ คิดว่าตัวเองน่าจะทำงานบริการได้ ก็เลยลองมาสมัครงานที่นี่ดู ประกอบกับตอนนั้นโรงพยาบาลเปิดใหม่อีกแห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลญี่ปุ่นก็เลยได้มาทำในส่วนนี้

งานที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ถือว่ากำลังดีค่ะ ด้วยความที่เราเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนมาปีหนึ่งก็ทำให้เราคุ้นชินกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นพอสมควร แต่ก็ต้องเรียนรู้คำศัพใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ทุกวัน พัฒนาตัวเองให้คล่องแคล่วว่องไวในการเป็นล่ามให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

การเปลี่ยนงานคือการเติบโตแบบหนึ่ง

ก่อนหน้าที่จะได้มาทำงานปัจจุบันนี้ บริษัทแรกที่เคยทำ เป็นบริษัทเกี่ยวกับนำเข้าผลไม้จากญี่ปุ่น โดยทำอยู่ในตำแหน่งเซลล์ แต่ด้วยความที่บริษัทเพิ่งก่อตั้ง เป็นสตาร์ทอัพใหม่ๆ งานก็จะเป็นเกี่ยวกับการเซ็ตอัพซะส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นงานเซลล์โดยตรง บริษัทที่สองที่เคยทำคือ ร้านดรักสโตร์จากญี่ปุ่นแห่งหนึ่งค่ะ อยู่ในตำแหน่งบายเออร์ ทำเกี่ยวกับปัญหาบาร์โค้ดของสินค้า ในสาขาต่างๆ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ ขาดสต๊อกไหมประมาณนี้ค่ะ

และด้วยความที่เราเปลี่ยนงานบ่อย ซึ่งถ้าใครเคยมีประสบการณ์ทำงานกับคนญี่ปุ่นจะรู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยเปลี่ยนงานกันเท่าไหร่ คนญี่ปุ่นมักจะทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดชีวิต เขามีความจงรักภักดีต่อบริษัทสูง แต่สำหรับคนไทย เราว่าการเปลี่ยนงานคือการพัฒนาตนเอง คือการเติบโตค่ะ สำหรับตัวเราเองก็รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้มีความจงรักภักดีต่อองค์กรน้อยลง อาจด้วยความคิดและวัยด้วย แต่ถ้าให้พูดกันตรงๆ เราก็ใช้แรงงาน แรงกาย แรงสมอง ทำงานแลกเงิน ดังนั้นความคิดนี้คงเป็นความคิดหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นค่ะ

ถ้าบริษัทดี พนักงานก็ทำงานได้นาน

เราคิดว่าจริงๆ แล้วถ้าบริษัทดีกับพนักงาน พนักงานจะเกิดความจงรักภักดี เกิดความรักในองค์กรเอง แต่ถ้าเขารู้สึกไม่พอใจ หรืออึดอัดด้านใดด้านหนึ่ง ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาว่าจะอยู่ต่อหรือจะไป

แต่บางทีพอถึงจุดอิ่มตัวก็ต้องไป แต่อย่างเราเองที่เปลี่ยนงานเพราะว่าเราค้นพบว่างานที่เราทำยังไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ เราก็เลยอยู่ไม่นาน เลยต้องขอตัวเพื่อไปหางานที่ชอบ อย่างงานปัจจุบันก็คิดว่าเป็นงานที่ชอบ ตอนนี้ก็ยังไม่มีความคิดที่จะไม่งานใหม่นะ เราคิดว่ายังมีอะไรที่น่าค้นหาในงานนี้ ยังสนุกกับงานนี้อยู่

เราก็ไม่อยากให้คนญี่ปุ่นคิดว่า เราไม่ทน บางทีการเปลี่ยนงานไม่ได้แปลว่าเราไม่ทน แต่อาจหมายความได้ว่า เรายังไม่เจออะไรที่ตรงกับตัวเองด้วย บางคนต้องการอยากพัฒนาตัวเอง อยากจะไปทำงานอื่นบ้าง บริษัทอื่น บรรยากาศอื่นบ้าง ถ้าคนญี่ปุ่นเข้าใจตรงนี้ ความคิดตรงนี้ของคนไทย เขาก็อาจจะเข้าใจคนไทยได้มากขึ้น

ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าคนเราอยู่ในจุดที่โอเคทุกๆ ด้าน ชีวิตดี ไม่เปลี่ยนงานหรอก เพราะว่าจริงๆ แล้วคนเราต้องการความมั่นคงและปักหลักกับที่ใดที่หนึ่งอยู่แล้ว เพราะว่าการเปลี่ยนงานบ่อยๆ ไม่ใช่ว่าไม่เหนื่อย จริงๆ แล้วเหนื่อยนะ ที่จะต้องกระตือรือร้นหางานใหม่ สมัคร สัมภาษณ์ใหม่ วนๆ อยู่อย่างนี้ค่ะ

คนญี่ปุ่นชอบความสมบูรณ์แบบ? แต่คนที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง

คนญี่ปุ่นต้องการความสมบูรณ์แบบ

จากประสบการณ์ในการทำงานกับคนญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าเขาชอบความสมบูรณ์แบบ บางทีเขาจะต้องการความสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเขาก็จะคาดหวังงานที่สมบูรณ์แบบจากเราด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีจริง มีแต่ว่าทำงานให้ผิดพลาดได้น้อยที่สุด จะทำให้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้พอใจทุกคนนั้นไม่มี ซึ่งการจำทำงานให้ผิดพลาดได้น้อยที่สุดนั้น ต้องคอยพัฒนาตัวเอง แล้วก็แก้ไขในสิ่งที่ผิดให้กลับเป็นถูกต้องให้ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบมากที่สุด

ซึ่งถ้าเขาลดความคิดที่สมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบอะไรแบบนี้ลงได้และอยากให้เขามีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นค่ะ เราก็ไม่รู้ว่านี่เป็นข้อเสียของคนไทยด้วยไหมคือคนไทยจะยืดหยุ่นได้แล้วก็สบายๆ แต่คนญี่ปุ่นเขาจะตรงเป๊ะๆ ตามโพรเซส ตามกฎระเบียบ ถ้าตรงนี้ยืดหยุ่นได้ ก็คงจะดีขึ้นไม่น้อยค่ะ

คำพูดกำกวม ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ

เรื่องที่ทำให้รู้สึกว่ายากเวลาทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นคือ เขาจะชอบพูดอ้อมๆ กำกวมค่ะ อาจไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคน แต่ส่วนใหญ่ที่เราเจอมักจะเป็นแบบนั้น ซึ่งคนไทยที่เรียนภาษาญี่ปุ่นคงคุ้นเคยกันดี บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไรกันแน่

อีกเรื่องคงจะเป็นเรื่องความคิดบางอย่างที่ คนไทยเรายังเข้าใจไม่เท่าคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง คนไทยอาจต้องพยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้คนญี่ปุ่นว่าเขามีแนวโน้มที่จะชอบหรือต้องการในแบบไหน อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากเราทำงานบริการ เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้ภาษา เพราะในประเทศญี่ปุ่นเขามีเซอร์วิสมายด์ที่ดีมาก แล้วเราก็คิดว่าเขาคงหวังให้โรงพยาบาลของเรามีเซอร์วิสมายด์เช่นเดียวกันกับที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเราก็จะทำมาตรฐานของเรา ให้ได้เท่ากับที่เค้าคาดหวังว่าเค้าควรจะได้รับค่ะ

ความพยายามจะทำให้เราเก่งขึ้น

นอกจากนี้ การทำงานกับคนญี่ปุ่นทำให้เราเป็นคนที่เปิดใจมากขึ้น เพราะว่าเราทำงานกับคนต่างชาติทั้งเราทั้งเขาต้องปรับตัวด้วยกันทั้งคู่ คนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่ไทยก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนไทย เข้าใจธรรมชาติคนไทย คนไทยเองก็ต้องเข้าใจธรรรมชาติของคนญี่ปุ่นเช่นกัน

อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นเขาจะมีคำว่า สู้ๆหรือพยายามเข้านะ เขาจะพูดคำนี้ตลอด ข้อดีสำหรับเราคือ ทำให้พยายามเรื่อยๆ ทุกวัน พยายามให้ดีขึ้น คืออย่าคิดว่าเราเก่งแล้ว ให้เราพยายามเพิ่มขึ้นไปอีก ให้เราพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของตัวเอง

แล้วก็เท่าที่ทำงานกับคนญี่ปุ่นมา หรือมีหัวหน้าคนญี่ปุ่น เขาก็คอยรับฟังปัญหาที่เราเจอ เวลามีปัญหาจริงๆ ก็สามารถพูดกับเขาโดยตรงได้เลย เปิดใจคุยว่า มีปัญหาแบบนี้ๆ เขาก็เข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของเรา หรือมีทางเลือกให้เราประมาณนี้ค่ะ ค่อนข้างแตกต่างจากหัวหน้าคนญี่ปุ่นของเพื่อนๆ ที่เรามักจะได้ยินมาค่ะ

หากสิ่งแวดล้อมดี เงินเดือนคือสิ่งรองลงมา

สำหรับเราสิ่งที่สำคัญในตอนนี้ไม่ใช่ค่าตอบแทนค่ะ ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ค่าตอบแทนที่เราได้อยู่อาจน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ แต่เราคิดว่าตอนนี้อยากทำเพื่อประสบการณ์ จึงไม่ได้หวังเรื่องค่าตอบแทนว่าต้องได้ตามที่คาดหวัง ขอให้ได้เก็บประสบการณ์การทำงานตรงนี้ไปก่อน เพราะว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้ และองค์กรดี ทั้งสิ่งแวดล้อม ทั้งการเดินทาง เพื่อนร่วมงานอยู่ในเกณฑ์ที่ตัวเองพึงพอใจ ดังนั้นเลยคิดว่าเรื่องค่าตอบแทนยังไม่สำคัญกับตัวเองตอนนี้ ขอเก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อนค่ะ

ส่วนเรื่องเหตุผลในการลาออก เราคิดว่าการที่พนักงานคนหนึ่งจะลาออกจากบริษัท เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าเรื่องเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนด้วยกันเอง อาจมีความขัดแย้งกับใครบางคนในองค์กร มีความอึดอัด เป็นต้น เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ ที่เราคิดว่ามันเป็นสาเหตุจริงๆ ของการลาออก เพราะว่าบางทีคนลาออกอาจไม่ได้พูดถึงสาเหตุจริงๆ ในการออก อาจมีเหตุผลมาอ้างอย่างบอกว่า ไปเรียนต่อ หรือไปช่วยทำธุรกิจที่บ้าน แต่ในความเป็นจริง แล้ว เขาอาจมีปัญหากับใครสักคนก็ได้

การที่คนๆ หนึ่งจะลาออกไป เพราะว่าคนที่มาทำงาน มาจากต่างสถานที่ ต่างนิสัยกัน และการทำงานในองค์กร ไม่ว่าองค์กรไหนๆ เราต้องติดต่อกับแผนกต่างๆ ต้องสื่อสารกับคนนู้นคนนี้ เพื่อให้งานสำเร็จ ดังนั้นการจะทำให้พนักงานคนหนึ่งอยู่กับองค์กรได้นานๆ ก็คือ การที่ทุกคนเข้าใจโพรเซสของงานตรงกัน มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน หากเข้าใจไม่ตรงกันแล้วก็จะเกิดปัญหาของคนตามมา มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วนำไปสู่สาเหตุของการลาออกได้

ในกรณีของการทำงานกับคนต่างชาติ อย่างเราที่ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น ปัญหาส่วนมากอาจเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยึดหยุ่นให้แก่กันหรือเปล่า ทางฝั่งคนญี่ปุ่นอาจเข้มงวดเกินไป ทางคนไทยก็อาจหย่อนเกินไป มีข้อเสียทั้งสองฝ่าย ลองปรับให้เข้ากันคนละนิดดูไหม ถอยกันคนละก้าว ก็อาจทำให้เข้าใจกันได้มากขึ้นค่ะ

สำหรับพนักงานเงินเดือนอย่างเราก็ไม่ต้องการอะไรมาก ขอแค่ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่ดี อยู่ที่นี่แล้วชีวิตเติบโต พัฒนาขึ้น คงแค่นั้น สำหรับตัวเองในตอนนี้เอง ก็คงพัฒนาความสามารถ พัฒนาทักษะทางภาษาญี่ปุ่นของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อเป็นล่ามที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง