ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจาก Office Syndrome

HIGHLIGHT
  • Office Syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) คือ กลุ่มอาการปวดเมื่อยหรือชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการนั่งหรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • อาการของ Office Syndrome นั้นดูเหมือนจะไม่รุนแรงในช่วงแรก แต่หากปล่อยไว้ ไม่ทำการรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้อาการมีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลกับการใช้ชีวิตในประจำวันได้
  • การป้องกัน Office Syndrome ทำได้โดย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานด้วยตัวคุณเอง อย่างการไม่นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ เปลี่ยนท่าทางทุกๆ ยี่สิบนาที พักผ่อนให้เพียงพอ หรือ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานของคุณด้วยการ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จัดออฟฟิศให้น่าอยู่ เปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานให้เหมาะสมกับคุณ

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจาก Office Syndrome

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในยุคปัจจุบันนี้เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเทคโนโลยีและต้องใช้เวลาส่วนมากในแต่ละวันนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งการนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ นั้นส่งผลให้เกิดอันตรายกับร่างกายของเราได้ ซึ่งอันตรายที่ว่านั้นก็คือ Office syndrome

เชื่อว่าผู้ที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องรู้จักกับโรคนี้อย่างแน่นอน และใครหลายๆ คนอาจกำลังประสบกับโรคนี้อยู่ก็เป็นได้

ในประเทศไทย มีผู้ที่ต้องทรมานกับโรคนี้มากถึง 80% ซึ่งส่วนมากของผู้ที่ประสบปัญหาคือ คนวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน

Office Syndrome คืออะไร

Office Syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) คือ กลุ่มอาการปวดเมื่อยหรือชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการนั่งหรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อยู่ในออฟฟิศเป็นเวลานาน ไม่ได้มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการปวดเมื่อยต่างๆ เหล่านี้ในช่วงแรกจะดูเหมือนอาการที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้าปล่อยสะสมไว้นานๆ จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้

ในปัจจุบันยังพบว่าผู้ที่เสี่ยงเป็น Office Syndrome ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี ต้องก้มหน้าดูหน้าจอสมาร์ทโฟน หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว

สาเหตุของ Office Syndrome

สาเหตุหลักของ Office Syndrome คือ การนั่งทำงาน หรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานติดต่อกัน โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น

  • นั่งไขว่ห้าง
  • นั่งไม่เต็มก้น ชอบนั่งอยู่ที่ขอบของเก้าอี้
  • นั่งหลังค่อม หรือ การนั่งหลังโก่ง หลังงอ
  • นั่งหรือยืนกอดอกเป็นเวลานาน
  • การนั่งอ่านหนังสือหรือดูทีวีบนเตียงนอน
  • การยืนถ่ายน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • การสะพายกระเป๋าข้างเดียว
  • การสวมรองเท้าส้นสูง ตั้งแต่นิ้วครึ่งขึ้นไป
  • การนอนขดตัว

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ได้ เช่น

  • อุปกรณ์หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวย เช่นโต๊ะมีความสูงต่ำไม่เหมาะสมกับร่างกาย หรือมีพื้นที่แคบเกินไป
  • ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการทานอาหารไม่ตรงเวลา

อาการของ Office Syndrome

อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า อาการของ Office Syndrome นั้นดูเหมือนจะไม่รุนแรงในช่วงแรก แต่หากปล่อยไว้ ไม่ทำการรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้อาการมีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลกับการใช้ชีวิตในประจำวันได้

โดยอาการของ Office Syndrome ที่พบได้ส่วนมากคือ

  • ปวดคอ ปวดหลัง หรือปวดตามกล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะการนั่งหรืออยู่ในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน
  • ปวดหัว เวียนหัว หรือปวดตา เพราะการใช้สายตาในการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์มากเกินไป หรือความเครียดสะสมจากการทำงานหนัก และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ชาที่แขนขา หรือเกิดอาการนิ้วล๊อค เพราะการจับเมาส์หรือสมาร์ทโฟนมากเกินไป
  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท เพราะอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง หรือความเครียดสะสมจากงานที่ทำ

อาการทางร่างกายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับอารมณ์ในบางคน ทำให้เขารู้สึกเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก จนเกิดอาการซึมเศร้า เบื่อเหนื่อย นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ และถ้าหากปล่อยให้ปวดตามร่างกายต่อไปเรื่อยๆโดยที่ไม่มีการรักษา อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท หรือกระดูกเรื้อรังรุนแรงจนทำให้เดิน หรือเอี้ยวตัวไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดกันเลยทีเดียว

การป้องกัน Office Syndrome

หาก Office Syndrome ของคุณยังอยู่ในระดับความรุนแรงไม่มาก เพิ่งเริ่มมีอาการ คุณสามารถป้องกัน ดูแลรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมด้วยตัวคุณเอง ดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวคุณเอง

  • เปลี่ยนท่าทางการนั่งหรืออิริยาบทในทำงานของคุณทุกๆ ยี่สิบหรือสามสิบนาที ไม่นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ ปรับการวางแขน ข้อศอก และพยายามอย่าบิดข้อมือมากเกินไป พยายามนั่งให้เต็มเบาะ นั่งหลังตรงแนบไปกับพนักพิง ไม่เอนไปหาโต๊ะทำงานมากเกินไป
  • เมื่อเริ่มมีอาการเหนื่อย เมื่อยล้า ควรพักร่างกายและสายตาเพื่อผ่อนคลาย เช่น การขยับ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยทุกๆ ชั่วโมง หรือลุกเดินบ้างเป็นบางครั้ง หรือใส่แว่นที่ช่วยถนอมสายตาที่สามารถตัดแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยถนอมสายตา บรรเทาอาการปวดตา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เช่น โยคะ หรือการออกกำลังกายเบาๆ เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน งดเล่นโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อปก่อนนอน ปรับที่นอนหรือหาตัวช่วยที่ทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น อย่าง หมอนที่เหมาะสมกับหัวของเรา หรือแผ่นปิดตา เทียนหอมที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายได้
  • หาเวลาไปพักผ่อน อย่างการลาหยุด ออกไปเที่ยว เพื่อให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลายจากความเครียดในการทำงาน ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างการดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเที่ยวทะเล เดินป่า ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว เป็นต้น

ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานของคุณ

  • จัดออฟฟิศให้น่าอยู่ สะอาด มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น จัดแสงไฟให้เหมาะสม และปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มากประมาณแสงสว่างภายในห้อง จัดโต๊ะทํางานให้เป็นระเบียบ เพื่อให้สะดวกต่อการเคลือนไหวและการหยิบจับสิ่งของต่างๆ
  • เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพิ่มต้นไม้หรือสีเขียวเข้ามาไว้ในออฟฟิศ เพราะสีเขียวของต้นไม้จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ หรือเพิ่มมุมพักผ่อนเข้ามาในออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานได้ใช้พักเบรกจากการทำงานระหว่างวัน
  • เปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสมกับตัว โดยปรับเก้าอี้ให้สามารถนั่งโดยเท้าวางกับพื้นได้
  • ไม่นั่งใกล้หน้าจอมากเกินไป ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับระดับสายตา เพื่อให้เราไม่มองก้มหรือเงยมากเกินไป เลือกใช้เมาส์ที่พอดีกับการวางมือ และมีพื้นที่มากพอให้ให้สามารถขยับแขนได้สะดวก

สรุป

พวกเราต่างล้วนใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เราให้ความสำคัญกับงานที่ทำได้ แต่อย่าลืมให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของตัวเองด้วย เพราะการโหมงานหนักจนเจ็บป่วยกาย และใจไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้น อย่าลืมรักสุขภาพของตัวเอง ให้เท่ากับที่รักงานที่คุณกำลังทำอยู่

และหากใครที่รู้สึกว่าตัวเองอาจกำลังเข้าข่ายมีอาการของ Office Syndrome อย่าลืมที่จะดูแลสุขภาพของคุณเองให้ดีด้วยวิธีที่เราพูดถึงไปข้างต้น เพราะการป้องกันตั้งแต่แรกๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงจากความเจ็บป่วยครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง