ความในใจของคนยุโรปที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น “คนญี่ปุ่นใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์แบบคาดไม่ถึง”

ความในใจของคนยุโรปที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น "คนญี่ปุ่นใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์แบบคาดไม่ถึง"

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณต้องทำงานร่วมกับคนต่างชาติคือ ความเข้าใจในวัฒนธรรมของกันและกันกับคนประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในครั้งนี้เราจะขอพูดถึงการทำงานของคนยุโรปร่วมกับคนญี่ปุ่น

โดยในสองบทความที่แล้ว เราได้เสนอความในใจและความคิดเห็นของคนไทยที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นกันไปแล้ว ในครั้งนี้เราจึงได้สัมภาษณ์ชาวยุโรปท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ถึงความในใจและความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานแบบญี่ปุ่นกันครับ

สิ่งหนึ่งที่ได้จากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้คือ คนญี่ปุ่นใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์แบบคาดไม่ถึง

ถ้าพูดกันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้มาบ้างว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษาเวลาและตรงต่อเวลามาก แล้วเพราะเหตุใดที่ทำให้ชาวยุโรปคนนี้คิดแบบนั้น เรามาดูความคิดเห็นของเขากันเลยครับ

※หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความที่แปลมาจากบทสัมภาษณ์ภาษาญี่ปุ่น เพื่อแชร์ความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราได้เข้าใจคนญี่ปุ่นและการทำงานแบบญี่ปุ่นมากขึ้น

คุณ E

ชาวยุโรป อายุ 20 ตอนปลาย เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ต่อมาได้ทุนไปทำวิจัยต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน หลังจากจบการศึกษา ได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง

คนญี่ปุ่นใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์จริงหรือ?

ーสวัสดีครับ คุณ E ก่อนอื่นเลยรบกวนช่วยแนะนำตัวด้วยครับ

คุณ E:สวัสดีครับ ผมชื่อ E (นามสมมติ) เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ต่อมาก็ได้ทุนไปทำวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี

ต่อมา ก็กลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อที่ยุโรปครับ แล้วก็มีความคิดว่าอยากทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งครับ

ปัจจุบันทำงานอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรแห่งหนึ่ง ผมมีหน้าที่คอยดูแลระบบการเพาะปลูก หรือการจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรครับ

ก่อนเข้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่น คาดหวังในเรื่องอะไรไว้บ้างไหมครับ?

คุณ E:หวังไว้นะครับ ตอนที่เลือกจะเข้าทำงานในบริษัทนี้ ผมคิดว่าที่นี้น่าจะมีความเป็นสากลมากๆ น่ะครับ

เพราะเทคนิคการทำการเกษตรต่างๆ ก็รับเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ลองพูดคุยกับคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ก็บอกว่าบริษัทมีวิสัยทัศน์ “อยากเปลี่ยนการทำเกษตรของญี่ปุ่น” เลยทำให้ผมสนใจอยากเข้าไปทำงานครับ และที่นี่เองก็มีคนต่างชาติทำอยู่หลายคนด้วย เลยคิดว่าน่าจะเป็นสากลและเปิดกว้างกับคนต่างชาติมากพอสมควรครับ

ーพอได้เข้าไปทำงานจริงๆ มีเรื่องอะไรที่แตกต่างไปจากที่คาดหวังไหมครับ?

คุณ E:ตรงๆ เลยนะครับ ค่อนข้างแตกต่างไปจากที่คาดไว้

ด้วยความที่บริษัทไม่ได้ใหญ่มาก แถมยังใหม่ด้วย ระบบของบริษัทก็ยังไม่ได้เข้าที่เข้าทางนักครับ

พนักงานที่อยู่ในบริษัทก็ค่อนข้างมีอายุเฉลี่ยน้อย แถมหลายๆ คนก็ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรด้วยครับ

นอกจากนี้ก็ยังไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์เท่าไหร่ ค่อนข้างฟรีสไตล์นะ แต่การจัดการเวลาหยุดพักหรือชั่วโมงในการทำงานไม่ค่อยเป็นระบบครับ

และคนส่วนใหญ่ก็คิดกันว่าการทำงานล่วงเวลา (OT) เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ (คนญี่ปุ่น) ทุกคนทำกัน พอผมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป ทุกคนก็จะพูดประมาณว่า เพราะผมยังเป็นเด็กใหม่ ไม่รู้เรื่องอะไร ยังอ่อนประสบการณ์

ーลำบากแย่เลยนะครับ แล้วหลังจากที่ทำงานมามีเรื่องอะไรที่คิดว่ายากหรือเป็นปัญหาสำหรับเราบ้างไหมครับ?

คุณ E:อืม…มีเยอะเลยครับ (หัวเราะ) ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ที่รู้สึกได้ในตอนนี้จะมีสามเรื่อง เรื่องแรกคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง” ครับ

การใช้รูปยกย่อง – ถ่อมตัว  (Keigo) กับคนที่อาวุโสกว่าหรือกับหัวหน้า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากครับ เราต้องใช้ทั้งๆ ที่บางครั้งมันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมาย แต่ก็จะมีคนที่เคร่งในเรื่องนี้มาพูดว่า “เพราะนี่คือการทำงานแบบญี่ปุ่น” ต้องรักษามารยาทแบบนี้ไว้ ซึ่งคนที่เคร่งครัดในเรื่องนี้มีไม่น้อยเลยครับ (หัวเราะ)

อีกเรื่องหนึ่งคือ คนญี่ปุ่นบางทีจะ “ใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์” สำหรับผมคิดว่า มันทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิเท่าที่ควรน่ะครับ

ーใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์? ในความคิดของผม คนญี่ปุ่นดูเป็นคนที่เข้มงวดเรื่องเวลามากเลยนะครับ?

คุณ E:อย่างเช่น มีประชุมตั้งแต่ 16:00 ถึง 18:00 ใช่ไหมครับ แต่พอถึงเวลาเลิกประชุม ก็ไม่เลิก แถมยังเกินไปอีกสองชั่วโมง และเรื่องนี้ผู้บริหารเขาก็ทำกัน มันเลยทำให้ทั้งบริษัทใช้เวลาไปอย่างเสียประโยชน์ ถึงแม้เวลาเลิกงานจะช้าไปอีก ก็ไม่มีใครสนใจน่ะครับ

เป็นอย่างนี่นี้เอง ก็จริงนะครับ ทั้งที่เข้มงวดกับการมาสาย แต่ทีเรื่องทำ OT หรือเลิกประชุมช้าไม่เห็นจะเข้มงวดเหมือนกันเลย?

คุณ E:เรื่องสุดท้ายนะครับ คือเรื่องบรรยากาศในการทำงาน ถ้าเป็นที่ยุโรป บรรยากาศมันจะสบายกว่านี้ คือเราสามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ถึงแม้จะในเวลางาน คือคุยกันนิดๆ หน่อยๆ น่ะครับ แต่ที่ญี่ปุ่นคือ ถ้าคุยกันจะถูกว่าเลย เวลางานไม่ใช่หรอ จะคุยกันทำไม ทำงานไปสิ อะไรแบบนี้ เลยรู้สึกว่าที่ยุโรปจะทำงานได้ง่ายกว่าน่ะครับ (หัวเราะ)

ตอนเข้าไปทำงานใหม่ๆ เคยโดนว่าเพราะกินขนมระหว่างทำงานด้วยล่ะครับ (หัวเราะ) ตั้งแต่นั้นมา การกินขนม หรือคุยกันในเวลาทำงาน ก็ถูกห้ามเด็ดขาดเลยครับ สำหรับผมแล้วรู้สึกว่า ยังไงงานเราก็เสร็จตามเวลาอยู่แล้ว จะห้ามไปเพื่ออะไร ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ (หัวเราะ)

มีเรื่องที่อยากจะบอก การทำงานแบบนี้ของบริษัทญี่ปุ่นมัน แปลก นะ!

―ในการทำงานกับคนญี่ปุ่น มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณคิดว่า แปลกครับ?

คุณ E:วิธีการสื่อสารค่อนข้างกำกวมครับ อย่างเช่นเวลาจะสั่งงาน คือเขาจะใช้คำพูดที่กำกวม เหมือนจะให้เรารู้ด้วยตัวเองว่าเขาสั่งงานเราอยู่นะ แต่จะไม่สั่งระบุเจาะจงว่าให้ใครทำแบบนั้นครับ

แล้วเคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ผมไม่รู้ว่างานชิ้นนั้นเป็นงานของผม จนเวลาผ่านไปเกือบอาทิตย์ เขาก็มาตามงานที่ผม แล้วพอเห็นว่ายังไม่ได้ทำ เขาก็บอกว่า ยังไม่ได้ทำอีกหรอ งานนี้เป็นงานของคุณ E นะ ถึงไม่ได้บอกว่าใครทำแต่คุณควรรู้สิว่าคนรับผิดชอบงานนี้คือคุณ

สำหรับผม อยากให้เขาบอกมาให้ชัดเจนเลยว่า งานนี้เป็นงานของใคร ใครมีส่วนรับผิดชอบบ้าง คือถ้าบอกแบบใช้คำพูดที่กำกวม บางทีก็ไม่รู้ว่างานนี้ใช้งานของเรารึเปล่าน่ะครับ

จะว่าไป สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ถ้าเป็นงานของบริษัท ไม่ว่างานไหนก็จะทำหมด ถ้าเทียบกับประเทศอื่นคงเป็นเรื่องที่แปลกอยู่

คุณ E:บริษัทที่ผมทำงานอยู่ ไม่มีการแบ่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้แน่นอน ไม่ว่างานไหนก็ต้องทำ อย่างเช่น ผมพูดภาษาอังกฤษได้ งานที่มีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดจึงเป็นงานของผม

ผลสุดท้ายกลายเป็นว่า งานมาล้นอยู่ที่ผมเต็มไปหมด แล้วพอผมลองไปปรึกษากับหัวหน้าถึงเรื่องที่ไม่มีเวลาให้ตัวเองดู เขาก็บอกผมว่า นั้นเป็นเพราะผม จัดการเวลาของตัวเองได้ไม่ดีพอ

ตัวผมเองก็คิดว่า อาจเป็นเพราะเรายังไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ แต่การทำงานเลิกช้าทุกวัน ผมก็ไม่เห็นว่ามันมีข้อดี หรือจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นตรงไหน คงพูดได้ว่า ความคิดเกี่ยวกับงานของเราแตกต่างกันน่ะครับ

―ขอเปลี่ยนคำถามนะครับ คิดว่าข้อดีของการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นคืออะไร?

คุณ E:นั่นสินะครับ คิดว่าตัวเองได้ทำงานที่อยากทำครับ อีกอย่างที่เราคิดคือ ถึงแม้ว่าจะลำบาก แต่ถ้าเราสามารถคุ้นเคยกับมันได้ เชื่อว่าตัวเองจะเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้นครับ

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเป็นบริษัทของทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะแตกต่างกับบริษัทของญี่ปุ่นอยู่อย่างคือ บริษัทยุโรปจะไม่ให้ทำงานนอกเหนือความสามารถ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองครับ

โดยปกติแล้ว บริษัทของยุโรปหรืออเมริกา เขาจะให้เราทำงานแค่ในเฉพาะส่วนที่ต้องรับผิดชอบตามความสามารถของเรา และให้เราโฟกัสอยู่เพียงงานเดียวจนกว่างานนั้นจะเสร็จครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสกิลเฉพาะด้าน หรือความรู้เฉพาะสาขานั้นๆ แล้ว คุณก็จะไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนั้นครับ

แต่ถ้าเป็นบริษัทของญี่ปุ่นแล้ว เขาจะฝึกให้พนักงานสามารถจัดการงานหลายๆ อย่างได้ด้วยตัวคนเดียวครับ

ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานในสายงานของตัวเองหรือไม่ เขาก็จะให้เราลองทำ เพื่อให้เรามีประสบการณ์ในงานด้านนั้นๆ

ผมคิดว่านี่เป็นข้อดีอีกอย่างที่ได้ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นครับ เพราะถ้าหากทำงานในประเทศของตัวเอง คุณอาจไม่ได้มีโอกาสทำงานหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบ หรือสายงานของตัวเอง

―จากมุมมองของคุณ E แล้ว มีความคิดเห็นอะไรไหมที่เรารู้สึกว่า ถ้าทำแบบนี้จะทำให้ทำงานด้วยกันง่ายขึ้น?

คุณ E:อยากให้สามารถลาหยุดได้มากกว่านี้ครับ ถ้าทำได้ผมว่าน่าจะทำให้สามารถทำงานด้วยกันได้ดีขึ้น งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าพนักงานสามารถลาหยุดเพิ่มได้ ผมคิดว่าจะทำให้พวกเขามีเวลาทำอะไรเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน พนักงานน่าจะมีความสุขในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานดีขึ้นด้วย

บริษัทที่ผมทำอยุ่ตอนนี้ ไม่ค่อยได้หยุดเท่าไหร่ครับ คนในบริษัทจะมีความคิดว่าการหยุดคือเรื่องที่ไม่ดี และบางทีถ้าเราหยุดเขาจะต่อว่าเรา ผมจึงอยากเปลี่ยนความคิดแบบนี้ครับ

―จริงๆ แล้วการหยุดพักเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะครับ 

คุณ E:บริษัทของผมมักจะแสดงออกว่าเป็นบริษัทที่มีความเป็นสากล แต่ผมรู้สึกว่าคนที่ทำงานอยู่ที่นั้นยังไม่ค่อยเปิดรับคนต่างชาติเท่าไหร่น่ะครับ

พวกเขามักจะพูดว่า เราให้ความยืดหยุ่นกับคนต่างชาติที่ทำงานกับเรา แต่ความเป็นจริงแล้ว พอเราบอกว่า ที่ยุโรปทำแบบนี้ๆ นะครับ เขาก็มักจะตอบกลับมาว่า แต่ที่นี่คือญี่ปุ่นนะ ทำแบบนั้นคือการเอาตัวเองเป็นหลัก

อีกอย่างหนึ่งคือ คนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศกับคนญี่ปุ่นที่อยู่ประเทศตัวเองจะมีความรู้สึกแตกต่างกันครับ

จากความคิดของผม ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศพวกเขาจะเข้มงวดกับการทำงานก็จริง แต่เรื่องอื่นๆ เขาก็มีความยึดหยุ่น แต่คนญี่ปุ่นที่อยู่ประเทศตัวเองเขาจะเข้มงวดกับทุกเรื่องครับ (หัวเราะ)

―การสัมภาษณ์ครั้งก่อนๆ ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ครับ

คุณ E:ที่บริษัทจะมีการจัดปาร์ตี้ BBQ ทุกๆ ครึ่งปี ฟังดูน่าจะสนุกนะครับ แต่สำหรับผมมันไม่เป็นแบบนั้นเลย เป็นงานปาร์ตี้ก็จริงแต่ก็ยังเข้มงวด แถมยังคุยกันแต่เรื่องงาน (หัวเราะ)

และเคยมีครั้งหนึ่งที่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป แล้วผมลองพูดใจจริงออกมาต่อหน้าทุกคน ผมโดนทุกคนเขม่นเลยครับ (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็โดนล้อ โดนเยาะเย้ยต่างๆ นาๆ ด้วย

แต่ก็อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นก็มีเรื่องดีๆ แค่ข้อแตกต่างระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทของทางฝั่งยุโรปอเมริกานั้นค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งตะวันตกเขาจะคิดว่า “งานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตขนาดนั้น”

บริษัทเองก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต สามารถพูดได้ว่า เราทำงานเพื่อตัวเราเอง มากกว่าทำงานเพื่อบริษัทครับ

แตกต่างจากคนญี่ปุ่น ตรงที่พวกเขาจะทำงานเพื่อบริษัท มากกว่าทำงานเพื่อตัวเอง เท่าที่ผมสังเกตเห็นน่ะครับ

ถึงจะพูดหรือมีความคิดแบบนี้ แต่ผมก็ยังคิดว่าจะพยายามทำงานที่นี่ต่อไปนะครับ (หัวเราะ)

บริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทยุโรปอาจมีช่องว่างระหว่างกันเยอะ แต่ผมคิดซะว่ามันเป็นบททดสอบที่ผมต้องเจอ เป็นประสบการณ์ที่จะทำให้ผมเติบโตได้มากยิ่งขึ้นครับ

สรุป

ถึงแม้ครั้งนี้ ผู้ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์จะเป็นชาวยุโรป แต่ก็ทำให้เราได้ฟังความคิดเห็นหลายๆ อย่าง ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับความคิดของคนไทยในการทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น อย่างเช่น เรื่องการรักษาเวลา ที่เราทุกคนคิดมาตลอดว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษาเวลามาก แต่เวลาเลิกงาน หรือเวลากลับบ้าน พวกเขากลับไม่รักษาให้ตรงเวลาซะงั้น

เพราะฉะนั้น บทความในครั้งนี้คงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นความคิดเห็นจากพนักงานที่ทำอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็น แต่ความคิดเห็นทั้งหมดนี้จะทำให้หลายๆ คน ได้เข้าใจวัฒนธรรม การทำงานแบบคนญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเป็นหนึ่งเดียวและทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ผมหวังว่า บทความในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้ครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง