มาตรการป้องกันความร้อนระอุในออฟฟิศให้กับพนักงาน (Hot Weather)

มาตรการป้องกันความร้อนระอุในออฟฟิศให้กับพนักงาน (Hot Weather)

สิ่งที่ประเทศไทยต้องประสบพบเจออยู่เป็นประจำเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนคือ อากาศร้อน (Hot Weather) ที่ยิ่งนานวันอากาศร้อนบ้านเราก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างในอาทิตย์ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วกรุงเทพสูงเกือบแตะ 40 องศา และในบางพื้นที่ทางภาคเหนืออุณหภูมิทะลุ 40 องศาไปแล้วเรียบร้อย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นในปัจจุบันและความร้อนที่ต้องเผชิญอาจส่งผลต่อตัวเราทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่น ความอ่อนล้า ความเครียด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปัญหาทั้งหลายเหล้านี้ทุกคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราจึงมาแนะนำวิธีคลายร้อน หรือวิธีป้องกันโรคลมแดดและอาการอื่นๆ ที่อาจจะเกิดจากความร้อนได้

อากาศร้อน (Hot Weather) มีอันตรายอย่างไร

ก่อนจะพูดถึงวิธีการป้องกัน เราจะขอพูดถึงที่มาที่ไปของอากาศร้อนที่กำลังแผดเผาพวกเราอยู่ในขณะนี้ก่อน

สาเหตุของอากาศร้อนในขณะนี้

เมื่ออ้างอิงจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีอุณภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศร้อนไปจนถึงร้อนจัด และบางวันอาจจะมีอากาศแปรปรวน แต่สถานการณ์ของอากาศร้อนก็จะเป็นแบบน้ไปจนถึงปลายเดือนเลยทีเดียว

กรมอุตุนิยมวิทยา

และหลายๆ คนคงคิดว่าอากาศร้อนขนาดนี้คงเป็นผลมาจาก คลื่นความร้อนที่อาจจะเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แต่จากประกาศเดียวกันของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า คลื่นความร้อนหรือช่วงที่อากาศทีร้อนที่สุดจึงยังไม่มีเกิดขึ้นในระยะนี้แต่อย่างใด และ คลื่นความร้อนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ อุณหภูมิสูงสุดประจำวันสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉลี่ยมากกว่า 5 องศา เซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 5 วันขึ้นไป

ดังนั้นอากาศร้อนที่เรากำลังเจอกันอยู่ตอนนี้นั้นเป็นเพียงความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมทางตอนบนของประเทศเท่านั้นเอง ถึงแม้จะรู้สึกเหมือนว่าอุณหภูมิในตอนกลางวันจะสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า อากาศจะคลายความร้อนลง ท้าให้ไม่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวัน

อากาศร้อนส่งผลอะไรต่อร่างกายของเราบ้าง

การเผชิญกับสภาพอากาศร้อนในช่วงนี้ สามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่าง เด็กและผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย คนทำงานที่ต้องมีการออกกำลังหรือเล่นกีฬาอยู่กลางแจ้ง เป็นเวลานานๆ ไม่ได้มีการเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะเจอกับอุณหภูมิสูง

ความร้อนสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยแก่ร่างกายของเราได้ ซึ่งจะมีความรุนแรงตั้งแต่น้อยอย่างกระหายน้ำ ไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ชีวิต อาการที่พบได้บ่อยจะมีดังนี้

1. ผดหรือผื่นร้อน (Prickly Heat) เป็นการอักเสบของท่อเหงื่ออย่างฉับพลัน ทำให้เกิดตุ่มแดงที่ผิวหนัง
2. การบวมจากความร้อน (Heat Edema) มีอาการบวมหรือรู้สึกตึงบริเวณมือและเท้า
3. การเป็นลมแดด (Heat Syncope) มีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ มักจะเกิดกับผู้ที่ไม่เคยชินกับสภาพความร้อน
4. โรงตะคริวแดด (Heat Cramps) มีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อน่องหรือที่ต้นขาและไหล่ได้ มักเกิดในผู้ที่เสียเหงื่อเป็นปริมาณมาก
5. โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ แต่ยังรู้สึกตัวตามปกติ เกิดจากการขาดสารน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง ของเหลวที่สูญเสียเป็นสาเหตุให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่สําคัญลดลงทําให้เกิดอาการช็อกได้
6. โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทําให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยอาการที่เกิดเบื้องต้นได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน วิตกกังวล ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบไหลเวียน และอาการเพิ่มเติม เช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้ตัว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอด การคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงอาการช็อก การทำงานของระบบประสาทกลางเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น ซึมลง พฤษกรรมเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีเหงื่อออกตามร่างกาย ภาวะดังกล่าวนี้เป็น ภาวะที่มีความรุนแรงมาก สามารถทำให้เสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้เลย

ซึ่งอาการทั้งหลายที่กล่าวมา มีสาเหตุมาจาก อุณหภูมิที่สูงมาก หรือมีความชื่นมากทำให้เหงื่อระเหยไม่ได้ และอากาศไม่มีการถ่ายเท รวมไปถึงการโดนรังสีความร้อนเป็นเวลานาน เนื่องจากการอยู่ในที่กลางแจ้ง โดนแสงแดดจัด ต้องทำงานที่ออกแรงมาก และใส่เสื้อผ้าที่เหงื่อระเหยได้ยาก ระบายความร้อนได้ยากนั้นเอง

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาและป้องกันความร้อน

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาและป้องกันตัวเราจากความร้อนนั้นมีหลากหลายวิธี ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-15.00 น. พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
2. เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกําลังกายอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพให้เคยชินกับอากาศ
3. ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หรือรับประทานของเย็น เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน
5. สวมเสื้อผ้าสีอ่อนๆ ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
6. หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และการอาบน้ำบ่อยๆ จะช่วยลดอุณหภูมิของความร้อนได้
7. ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรอยู่ในที่ปิดสนิท ถ้าอยู่ในบ้านหรือออฟฟิศ ควรเปิดแอร์ หรือพัดลมเพื่อระบายความร้อน
8. บ้านหรือรถยนต์ควรติดฟิล์มกรองแสงที่มีเคลือบสารป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเลท เพื่อป้องกันคลื่นความร้อนและรังสี UV
9. หากออกนอกบ้านควรป้องกันด้วยการโพกผ้า ทาโลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ใส่เสื้อผ้า กางร่ม ใส่แว่นตาเพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นความร้อน
10. หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปาก คอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์

วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อลดอันตรายและผลข้างเคียงที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเรา

ไอเทมที่ช่วยป้องกันอากาศร้อน

ด้วยอากาศที่เพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้มีคนตระหนักถึงความอันตรายของอากาศร้อนมากขึ้น มีการคิดค้นหรือสร้างไอเทมที่จะช่วยดับร้อน โดยที่เราสามารถสามารถหามาใช้ได้สะดวก เราจึงจะมาแนะนำ ไอเทมที่สามารถหามาไว้ใช้คลายร้อนได้ง่ายๆ ให้เป็นอีกทางเลือกให้ทุกคนกัน

ทิชชู่เย็น (Cooling Wipes)

ไอเทมสำหรับหน้าร้อน ทิชชู่เย็นใช้เช็ดทำความสะอาดผิว เย็นได้ทันทีโดยไม่ต้องแช่เย็น เพราะมีส่วนผสมของ Menthol ให้ความเย็นสามารถ คลายร้อนได้ทุกที่ทุกเวลา พกพาสะดวก เพิ่มความสดชื่นเมื่อต้องอยู่ในที่ๆ มีอากาศร้อน

สเปรย์เย็น (Cooling Spray)

สเปรย์เย็น คล้ายๆ กับทิชชู่เย็นที่สามารถให้ความเย็นสบาย ลดอุณหภูมิบนร่างกายได้ สามารถพกพาสะดวก และนำไปใช้ในเวลาที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง

พัดลมมือถือ (Mini Fan)

พัดลมขนาดเล็กที่ชาร์จไฟด้วย USB ทำให้สามารถพกไปใช้งานได้ทุกที่ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย

คูลแพ็กประคบหรือผ้าเย็น (Cool Pack)

คูลแพ็กที่ช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บได้นั้น เมื่อเจอกับอากาศร้อน ลองนำคูลแพ็กมาประคบที่ข้อมือเพื่อลดอุณหภูมิให้เลือดในร่างกายทำให้รู้สึกเย็นขึ้นได้ หรือประคบบริเวณต้นคอด้านหลังเป็นบริเวณที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย หากบริเวณต้นคอด้านหลังร้อนมาก ๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกร้อนได้เช่นกัน

ลูกอมวิตามินเกลือแร่

เมื่อถึงช่วงหน้าร้อนลูกอมตัวนี้จะเป็นที่นิยมอย่างมากที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะลูกอมตัวนี้สามารถช่วยทำให้ร่างกายไม่ขาดเกลือแร่ เมื่อต้องออกไปอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด เหมาะสำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแดด หรือต้องออกกำลังกายหนักๆ เป็นต้น

สรุป

อากาศร้อนแบบนี้คงจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นการหาวิธีรับมือและป้องกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยควบคุมอันตรายจากการทำงานในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวได้ ไม่เพียงแต่ในด้านสุขภาพและความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นผลประโยชน์ต่อองค์กรด้วย

เพราะจะเป็นการลดอันตรายจากการทำงานกลางแจ้ง และลดผลข้างเคียงที่ไม่ดีต่อสุขภาพของพนักงาน นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มความกระตือรือร้น ลดการขาดงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง