เคล็ดลับกำจัดความเบื่อหน่าย หลังกลับมาเริ่มทำงานจากช่วงหยุดสงกรานต์

HIGHLIGHT
  • ช่วงวันสงกรานต์ คือวันหยุดยาวที่เปิดโอกาสให้หลายคนได้พักผ่อน
  • หามุมมองใหม่ วิธีการใหม่ ในการทำงานเดิมๆ
  • เปลี่ยนอิริยาบถ หรือย้ายไปทำงานมุมใหม่ๆ บ้าง
  • หางานท้าทายใหม่มาลองทำดู
  • งีบสักพัก
  • จิบกาแฟ หรือ ดื่มเครื่องดื่มเย็นสดชื่น
  • ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น
  • เปิดเพลงคลอในตอนทำงาน

เคล็ดลับกำจัดความเบื่อหน่าย หลังกลับมาเริ่มทำงานจากช่วงหยุดสงกรานต์

เทศกาลแห่งความสนุกอย่างสงกรานต์ก็ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว ช่วงวันหยุดยาวประจำปีแบบนี้หลายคนถือโอกาสใช้เวลาพักผ่อนให้คุ้มค่าด้วยการกลับไปเยี่ยมครอบครัว หรือตะลุยเล่นน้ำสงกรานต์ตามที่ต่าง ๆ ไม่ก็บินไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันอย่างมีความสุข

แต่พอความสุขเหล่านั้นผ่านพ้นไปเหล่าพนักงานทั้งหลายก็แทบไม่อยากกลับมาเจอกับมรสุมงานกันอีกรอบ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีสาเหตุความเบื่อหน่ายงานที่ต่างกันไป มาลองดูกันว่าจะมีสาเหตุอะไรกันบ้าง แล้วจะมีเคล็ดลับในการจัดการกับปัญหานี้อย่างไรกันดี

เหตุผลที่คนเบื่อหน่ายงานหลังจากกลับมาจากช่วงหยุดสงกรานต์

1.กลับมาเจองานที่น่าเบื่อ : หากไม่ชอบในงานที่ทำการกลับมาทำงานเดิมที่น่าเบื่อหลังหยุดยาวไปนานนั้นยิ่งอาจทำให้เราเบื่องานได้ง่ายขึ้นไปอีก เกิดความล่าช้าในการทำงาน และอาจเป็นสาเหตุให้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพในที่สุด

เคล็ดลับการแก้ไข
  • หามุมมองใหม่ วิธีการใหม่ : อาจลองหามุมมองท้าทายใหม่ๆ ในงานเดิมๆ ดู สร้างความท้าทายให้ตัวเองเพื่อลดความน่าเบื่อลงได้ หรือพยายามหางานใหม่ ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจให้ตัวเองทำ บางครั้งอาจเป็นการตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง หรือประเมินตามแผนงานแล้วอาจปรับเปลี่ยนแผนใหม่เพื่อความไม่น่าเบื่อ เป็นต้น หรือหาความท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานไปเลย แต่ต้องทำแล้วไม่กระทบกับงานหรือตารางเวลาที่วางไว้

2.กลับมาเจอบรรยากาศเดิม ๆ : วันหยุดยาวทำให้เราได้ไปเจอบรรยากาศใหม่ ๆ ออกไปเที่ยวในที่ที่ไม่คุ้นเคย สถานที่ต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และเมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ง่ายเช่นกัน

เคล็ดลับการแก้ไข
  • เปลี่ยนอิริยาบถ : พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ลุกเดินบ้าง ไปเข้าห้องน้ำหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือออฟฟิศไหนที่เป็นคอนเซ็ปต์ Free Working Space ถือโน๊ตบุ๊คตัวเดียวไปทำงานตรงไหนก็ได้นั้นยิ่งดี ย้ายไปทำงานในมุมที่ชอบก็แก้เบื่อได้ดีเหมือนกัน หรือออฟฟิศไหนที่มีมุมเล่นกีฬา ก็อาจชวนเพื่อนๆ มาพักผ่อนกันสักครู่ ก่อนกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง

3.นึกถึงบรรยากาศตอนไปเที่ยวตลอดเวลา : เวลาเราไปเที่ยวไหนหรือทำกิจกรรมอะไรแล้วเราประทับใจนั้นเรามักจะนึกถึงมันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่กลับมาจากทำกิจกรรมนั้นใหม่ๆ การกลับมาทำงานหลังจากวันหยุดยาวนั้นอาจทำให้เราหวนเผลอคิดถึงความสุขที่เพิ่งผ่านมาบ่อยครั้งจนอาจนั่งเหม่ออยู่เป็นประจำ หรือแม้แต่คิดระหว่างทำงานไปด้วยจนทำให้เสียสมาธิในการทำงาน

เคล็ดลับการแก้ไข
  • ติดรูปถ่ายไว้ดู : นำเอารูปถ่ายที่เราเพิ่งไปเที่ยวมามาติดไว้บริเวณโต๊ะหรือที่คอมพิวเตอร์ให้เห็นชัดเจน การที่ไม่นึกจินตนาการในหัวนั้นทำให้เราหันไปโฟกัสที่ภาพถ่ายแล้วดึงสมาธิกลับมาได้เร็วก่า อย่าพยายามห้ามไม่ให้คิดถึง เพราะมันจะยิ่งทำให้เราไม่มีสมาธิยิ่งขึ้น และหวนไปคิดบ่อยกว่าเดิมจนฟุ้ง และไม่มีความมุ่งมั่นในการทำงานได้ ในทางกลับกันก็คิดถึงความสุขในการมองภาพถ่ายให้เต็มที่ จะได้สร้างความสุขและมีกำลังใจในการทำงานต่อ

4.หยุดการทำงานไปนาน ทำให้ทำงานไม่ต่อเนื่อง จึงต้องเริ่มปรับตัวใหม่ : เวลาหยุดยาวๆ เรามักจะไม่คิดจะยุ่งเกี่ยวกับงานเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราพักผ่อนได้เต็มที่ แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่อกลับมาทำงานใหม่อีกหนที่เราอาจต้องปรับตัวเองใหม่อีกครั้งเพื่อให้เข้าสู่ความเคยชินกับการทำงานเหมือนเดิม ช่วงเวลานี้อาจทำให้การทำงานช้าลงกว่าที่เคย มีประสิทธิภาพลดลงกว่าที่ผ่านมา

เคล็ดลับการแก้ไข
  • ขอขยายเดทไลน์ : ขอเลื่อนกำหนดส่งงานออกไปอีกสักหน่อย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดในการทำงาน และปรับตัวให้เข้าระบบการทำงานเดิมให้ไวที่สุด

5.กลับมาทำงานซ้ำๆ เดิมๆ : การกลับมาทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเหตุผลของความเบื่อหน่ายในงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะงานที่เป็นแพทเทิร์นเดิมๆ เหมือนกันตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้เกิดความเบื่อได้ง่ายกว่า

เคล็ดลับการแก้ไข
  • หางานท้าทายใหม่ : ลองหางานท้าทายใหม่ๆ ทำดู เพื่อลดความเบื่อหน่าย หรือลองตั้งโจทย์ให้ตัวเองใหม่ในการทำงานที่ไม่ซ้ำรูปแบบเดิม

6.พักผ่อนไม่เพียงพอ : การเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลานานในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ และสร้างความหงุดหงิดได้ การกลับมาทำงานด้วยความไม่สดชื่นนี้ก็เป็นสาเหตุให้เบื่อหน่าย หรือง่วงเหงาหาวนอนได้เหมือนกัน ประสิทธิภาพการทำงานก็ย่อมลดลง

เคล็ดลับการแก้ไข
  • งีบสักพัก : ฟุบหลับบนโต๊ะสักหน่อย หรือหาเวลาปลีกตัวไปงีบสักพัก แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ อาจจะสดชื่นขึ้น
  • จิบกาแฟ หรือ ดื่มเครื่องดื่มเย็นสดชื่น : อาการง่วงเหงาหาวนอนนั้นหากได้จิบกาแฟสักแก้วก็ทำให้ร่างกายตื่นตัวขึ้นมาได้ หรือไม่อากาศร้อนๆ ในฤดูร้อนนั้นการได้จิบเครื่องดื่มเย็นๆ สดชื่นๆ ก็จะทำให้กระปรี๊กระเปร่าขึ้นได้เช่นกัน
  • ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น : การลุกขึ้นไปล้างหน้าล้างตาก็ทำให้เราสดชื่นขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าทำวิธีต่าง ๆ แล้วยังง่วงอยู่ก็อาจลองใช้วิธีนี้ช่วยก็ไม่เลวเหมือนกัน

7.ขี้เกียจทำงาน คิดอะไรไม่ออก ง่วงเหงาหาวนอน : เวลาหยุดทำงานไปนานๆ เรามักจะเกิดความขี้เกียจขึ้น ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น สมองก็ไม่แล่น คิดอะไรก็ไม่ออก มานั่งทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความเฉื่อยชา

เคล็ดลับการแก้ไข
  • เปิดเพลงคลอในการทำงาน : การทำงานเงียบๆ สร้างความเบื่อหน่ายได้สูงกว่าการนั่งทำงานที่มีเสียงเพลงเป็นบรรยากาศ เสียงมีส่วนทำให้กระตุ้นการตื่นตัว และความรู้สึกกระฉับกระเฉง หากรู้สึกเบื่อหน่ายลองเปิดเพลงคลอเบาๆ ระหว่างทำงาน (สำหรับออฟฟิศที่อนุญาติให้เปิดเพลงฟังได้) หรือไม่ก็หาหูฟังสบายๆ มาเปิดเพลงคลอระหว่างทำงาน การทำให้ตื่นตัวนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงจังหวะเร็ว, เพียงเสียงดัง, หรือเพลงชวนเต้น เสมอไป เพลงฟังสบายๆ จังหวะเบาๆ อาจทำให้ผ่อนคลายสำหรับการทำงานมากกว่าก็ได้ ทั้งนี้ให้คุณลองสังเกตุความชอบของตัวเอง ว่าเพลงลักษณะไหนที่จะทำให้คุณมีความสุขกับการทำงาน หรือตื่นตัวมากกว่ากัน
  • พักไปทำอะไรใหม่ๆ บ้าง : หาสิ่งใหม่ทำ จะได้หลีกหนีความซ้ำซากจำเจ พักเบรกไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง อย่างเช่นถ้าออฟฟิศไหนที่มีห้องดูหนัง อ่านหนังสือ ห้องเล่นกีฬา ก็แวะไปพักสักพัก หรือง่ายๆ แค่เดินไปหากาแฟดื่ม หรือนั่งอ่านหนังสือสักพัก ก็อาจดีขึ้นได้

8.ประสบปัญหาทางด้านการเงิน : หลายคนใช้เงินในช่วงวันหยุดยาวนี้ไปเป็นจำนวนมาก บางทีก็นำไปท่องเที่ยว หรือบางทีก็นำไปให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง หรือบางทีก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลกับสิ่งไม่คาดคิด หรืออีกเหตุผลมากมายที่อาจทำให้เราเครียดเรื่องเงินได้

เคล็ดลับการแก้ไข
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน : พยายามหาวิธีชำระหนี้อย่างถูกกฎหมาย และถูกต้อง โดยสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินต่างๆ ได้
  • ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคล : หากมีปัญหาจริงๆ อาจลองเข้าไปปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลในเรื่องนี้ได้ บางบริษัทอาจมีระบบเงินฉุกเฉินเพื่อช่วยพนักงาน หรือมีโปรแกรมการเงินอื่นช่วย ตลอดจนอาจแนะนำวิธีที่เหมาะสมในการช่วยแก้ปัญหาได้

9.เครียดจากสาเหตุอื่น ๆ : วันหยุดยาวเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้ไปเจอประสบการณ์ส่วนตัวต่างๆ มากมาย บางคนอาจไปเจอเรื่องแย่ ๆ เครียด ๆ ที่ยังคงส่งผลตอนกลับมาทำงาน และอาจกระทบต่อการทำงานในที่สุด

เคล็ดลับการแก้ไข
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ : หาสาเหตุของปัญหาก่อนแล้วจึงหาทางแก้ให้ถูกต้อง หาที่ปรึกษาให้ถูกคนเพื่อจะได้ระบายปัญหานี้ บางบริษัทมีจิตแพทย์ไว้คอยบริการให้คำปรึกษา อย่าอายที่จะเข้าพบจิตแพทย์ เพราะอาจช่วยให้คุณพบทางออกที่ดีได้
  • ปรึกษาแพทย์ : หลายคนมักประสบปัญหาสุขภาพหรืออุบัติเหตุแบบกระทันหันในช่วงนี้ ควรปรึกษาแพทย์ให้ช่วยทำการรักษาให้ถูกต้องตามโรคด้วย
  • จัดการที่ต้นตอ : หาสาเหตุของปัญหาให้เจอ แล้วถ้าสามารถจัดการได้ก็ให้จัดการที่ต้นตอให้เสร็จ เพื่อให้เกิดความสบายใจ ไม่กระทบต่อการทำงานได้ อาทิ ทะเลาะกับเพื่อนระหว่างไปเที่ยว ก็อาจจะต้องเคลียร์กันเพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย เป็นต้น

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง