พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย Coaching

HIGHLIGHT
  • Coaching คือ การช่วยสนับสนุนให้บุคคลคนนั้นเปลี่ยนแปลงไปในแบบหรือทิศทางที่พวกเขาต้องการจะเป็น หรือไปในเส้นทางที่พวกเขาอยากจะดำเนินไป สร้างความตระหนักให้เกิดเพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
  • โค้ชเปรียบได้กับ เพื่อนร่วมทางที่ใช้ทักษะเฉพาะของโค้ช ให้ผู้รับการโค้ชเกิดกระบวนการภายในที่จะปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ค้นหาคำตอบ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยโค้ชจะมีหน้าที่ ค้นหาในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการทำให้สัมฤทธิผล กระตุ้นให้ผู้รับการโค้ชเกิดการค้นหาภายในตัวเอง
  • ทักษะการโค้ชที่สำคัญที่ผู้ทำการโค้ชจะนำไปปรับใช้ในการพัฒนาทักษะของพนักงานหรือผู้รับการโค้ช ได้แก่ ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Rapport Building), ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening), ทักษะการถาม (Questioning skill), ทักษะการสะท้อน (Feedback)

พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย Coaching

ถ้าพูดถึง Coaching (การโค้ช) เชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกถึงเรื่องกีฬามาเป็นอันดับแรก ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า นักกีฬาระดับแนวหน้าทุกคนล้วนมีโค้ชเป็นของตนเอง

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Coaching ได้มีบทบาทอย่างมากนอกเหนือจากวงการกีฬา อย่างเช่นในวงการธุรกิจ หรืออื่นๆ

Coaching นั้นเปรียบเสมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่สามารถช่วยดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของพนักงานออกมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้พนักงานสามารถทำงานสำเร็จลุล่วง ตามที่องค์กรตั้งเป้าหมายไว้ได้

แต่การ Coaching ที่มีประสิทธิภาพนั้นควรทำอย่างไร มีปัจจัยและขั้นตอนอย่างไรบ้าง เพราะอะไรที่ทำให้ Coaching ได้แผ่ขยายไปในทุกๆ วงการ ร่วมหาคำตอบไปด้วยกันเลย

ความหมายของ Coaching

หลายๆ คน นิยามความหมายของ Coaching ไว้ดังนี้

Coaching เป็น กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ชวนคิด หรือปลดล๊อคบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ช (Coachee อ่านว่า โค้ชชี่) มีศักยภาพสูงขึ้น หรือมีความสุขอย่างที่เขาต้องการ

ผ่านวิธีการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ผู้รับการโค้ช ได้เรียนรู้ ตระหนักในตัวเองและเปลี่ยนแปลง และลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถตัวเอง การโค้ช จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง โค้ช(Coach) และผู้รับการโค้ช (Coachee) ให้ถึงจุดหมายที่โค้ชชี่ต้องการ

ดังนั้น Coaching คือ การช่วยสนับสนุนให้บุคคลคนนั้นเปลี่ยนแปลงไปในแบบหรือทิศทางที่พวกเขาต้องการจะเป็น หรือไปในเส้นทางที่พวกเขาอยากจะดำเนินไป สร้างความตระหนักให้เกิดเพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

เป็นการปลดล็อคศักยภาพของบุคคลคนนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเขา และยังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าการสอนทั่วไป

วัตถุประสงค์ของ Coaching

วัตถุประสงค์ของโค้ช นั้นไม่ใช่เพื่อรับฟังปัญหาของผู้รับการโค้ช หรือหาคำตอบของปัญหานั้น แต่เป็นการ เป็นการช่วยสนับสนุน ผลักดัน หรือดึงให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

โค้ชเปรียบเสมือนกับ เพื่อนร่วมทางที่ใช้ทักษะเฉพาะของโค้ช ให้ผู้รับการโค้ชเกิดกระบวนการภายในที่จะปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ค้นหาคำตอบ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยโค้ชจะเชื่อมั่นว่าผู้รับการโค้ชมีความสามารถซ่อนอยู่ภายในและพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง

โดยโค้ชจะมีหน้าที่ ค้นหาในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการทำให้สัมฤทธิผล กระตุ้นให้ผู้รับการโค้ชเกิดการค้นหาภายในตัวเอง เมื่อเขาค้นพบแนวทางหรือวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้แล้ว โค้ชจะทบทวนว่าแนวทางหรือวิธีการนั้นดีจริงๆ หรือไม่ พร้อมกับผลักดันให้ผู้รับการโค้ชรับผิดชอบและเดินตามวิธีการของตัวเองจนบรรลุเป้าหมาย

ดังนั้น โค้ชจะมีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการและเป็นผู้ที่จะดึงเอาความคิดต่างๆ ของผู้รับการโค้ชออกมาให้ได้มากที่สุดนั้นเอง

ทักษะการโค้ช

ทักษะการโค้ชที่สำคัญที่ผู้ทำการโค้ชจะนำไปปรับใช้ในการพัฒนาทักษะของพนักงานหรือผู้รับการโค้ช หลักๆ จะมีดังนี้

– ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Rapport Building)

ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญเพราะเป็นกระบวนการแรกที่จะทำให้ผู้รับการโค้ชไว้วางใจโค้ช แล้วเกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายของการสร้างความสัมพันธ์คือ สร้างความไว้วางใจให้กับผู้รับการโค้ช เพื่อให้เขาเปิดใจให้ความร่วมมือในการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การหาแนวทาง ให้บรรลุเป้าหมายที่ผู้รับการโค้ชตั้งเอาไว้

ในองค์กรนั้น มีพนักงานที่มาจากหลากหลายช่วงอายุ การศึกษา การใช้ชีวิต รวมไปถึงสไตล์ในการทำงาน ทำให้มีความแตกต่างทางความคิด ดังนั้นเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้พวกเขาต่างเปิดใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

– ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การฟังเป็นอีกการสื่อสารหนึ่งที่สำคัญมากในการทำงานหรือแม้แต่การใช้ชีวิต ในกระบวนการโค้ชการฟังจึงเป็นทักษะที่สำคัญมากอีกทักษะหนึ่ง เพราะโค้ชจะใช้เวลามากกว่าครึ่งไปกับการฟังนั้นเอง ซึ่งการฟังแบบโค้ชจะมีความแตกต่างจากการฟังทั่วๆ ไป

การฟังแบบโค้ชนั้นจะต้องฟังให้รับรู้ถึงความรู้สึก ความคิด จับประเด็น สังเกตในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชไม่ได้พูดออกมา อย่างเช่น ภาษากาย สีหน้า อารมณ์ ราวกับเป็นกระจกสะท้อนผู้รับการโค้ช นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องฝึกสมาธิเพื่อให้อยู่กับผู้รับการโค้ชตลอดเวลา ต้องฟังอย่างไม่มีอคติ ไม่เอาความคิดของตัวเองเข้าไปปะปนกับเรื่องราวของผู้รับการโค้ช

– ทักษะการถาม (Questioning skill)

การถามเปรียบเสมือนการกระตุ้นความคิดของผู้ที่ถูกถามทำให้พวกเขาเกิดการตระหนักรู้ เป็นสิ่งที่ผู้เป็นโค้ชต้องฝึกให้ดี เพราะการตั้งคำถามที่ทรงพลัง (Powerful question)จะทำให้สามารถรับรู้ประเด็นและทำให้ผู้ถูกถามได้คิด ไตร่ตรอง จนสามารถหาแนวทางในการไปยังจุดหมายด้วยตัวเอง ช่วยดึงศักยภาพและความสามารถของผู้รับการโค้ชออกมา คำถามที่โค้ชควรใช้จะมีดังนี้ คือ

คำถามที่สะท้อนมาจากการฟัง ยกคำหรือประโยคของผู้รับการโค้ชมาถาม เช่น อยากให้ช่วยอธิบายความหมายของคำว่า การจัดการ ในมุมมองของคุณ
คำถามที่กระตุ้นให้คิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เช่น ถ้ามีคนถามคุณว่า ….. คุณจะตอบว่าอย่างไร
คำถามปลายเปิด เพื่อให้ผู้ถูกถามได้แสดงความคิดเห็นออกมา เช่น คุณรู้สึกอย่างไรกับการทำงานร่วมกับทีมนี้
คำถามที่จะพาผู้รับการโค้ชไปหาเป้าหมาย เช่น คุณคิดว่าปัจจัยของความสำเร็จคืออะไร

นอกจากนี้ ไม่ควรถามคำถามที่ใช้คำว่า “ทำไม” ถามผู้รับการโค้ช เช่น ทำไมงานถึงไม่ประสบความสำเร็จ

หรือใช้คำถามชี้นำ เช่น ผมเคยทำงานนี้มาก่อน ลองทำวิธีนี้ดูสิ

และควรเลี่ยงการถามที่เจาะถึงปัญหาและอารมณ์ เช่น คุณวาดภาพผลลัพธ์ในความคิดของคุณไว้อย่างไร

– ทักษะการสะท้อน (Feedback)

ทักษะการสะท้อน หรือการให้ Feedback ไม่ใช่การด่าทอต่อว่า หรือบ่น แต่เป็นการให้ข้อมูลกับผู้รับการโค้ช เพื่อให้พวกเขามีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อนำไปสู่เป้าหมายและผลลัทธ์ที่ดีขึ้น โดยการสะท้อนจะมีส่วนประกอบ ดังนี้
ส่วนของพฤติกรรม ส่วนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และส่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขหรือปรับปรุง

พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย Coaching

ขั้นตอนการโค้ช

ในการโค้ชนั้นจะมีเทคนิคและโมเดลต่างๆ มากมาย อาทิเช่น G.R.O.W, Matching & Mirroring, lotus, Pace Pace lead ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับทักษะที่ได้กล่าวมาข้างต้นอย่าง ทักษะการฟัง ถาม และการสะท้อนเพื่อให้การโค้ชดำเนินไปได้อย่างราบรื่น  แต่โดยทั่วไปการโค้ชจะมีขั้นตอน ดังนี้

  • ก่อนเริ่ม โค้ชจะอธิบาย ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับกฏ กติกาของการโค้ช รวมถึงคอยสร้างความสัมพันธ์ ความคุ้นเคยกับผู้รับการโค้ช
  • เมื่อเริ่มการโค้ช โค้ชถามถึงเป้าหมายของผู้รับการโค้ช และฟังผู้รับการโค้ชเล่าเรื่องราวต่างๆ ออกมา
  • จากนั้นพยายามค้นหาระยะห่างระหว่างความจริงในปัจจุบันกับเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้ว่ายังห่างกันแค่ไหน และคอยกระตุ้นเขาให้สามารถหาปัจจัย ที่จะทำให้เขาบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
  • ค้นหาวิธีการหรือแผนการดำเนินงาน โดยอาจถามเขาว่าคุณมีทางเลือกที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร ฯลฯ
  • เมื่อเขาตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการหรือแผนการได้แล้ว ให้ค้นหาความมุ่งมั่นที่จะทำของเขา เช่น คุณมั่นใจในแนวทางนี้มากแค่ไหน คุณรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจในครั้งนี้ ฯลฯ เมื่อผู้รับการโค้ชตัดสินใจแน่วแน่แล้ว อย่าลืมให้กำลังใจ หรือสนับสนุนเขา

สิ่งสำคัญสำหรับขั้นตอนในการโค้ชคือ ความชัดเจนของการพูดคุย การโค้ชถือว่าเป็นเรื่องของผู้รับการโค้ช ดังนั้นผู้ทำหน้าที่โค้ชอย่าพยายามเอาอคติหรือความคิดของตัวเองเข้าไปชี้นำความคิดของผู้รับการโค้ช

ความแตกต่างของ Coaching กับวิธีการอื่นๆ

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเกิดความสับสนระหว่าง Coaching และวิธีการอื่นๆ อย่าง Teaching, Consulting และ Counseling ดังนั้นเราจะมาเปรียบเทียบให้ทุกคนได้เห็นถึงความแตกต่างและความหมายของแต่ละวิธีการกัน

Coaching และ Teaching

Teaching คือ การสอนหรือบอกวิชาความรู้ แสดงให้เข้าใจโดยวิธีบอกหรือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นการส่งผ่านความรู้จากผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ไปสู่ผู้เรียนที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน หรือมีแต่น้อย เช่น ครูสอนหนังสือนักเรียน และยังเป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งจะแตกต่างจาก Coaching ที่มีการสื่อสารระหว่างกัน

Coaching และ Consulting

Consulting คือ การให้คำปรึกษาแก้ปัญหาให้ลูกค้าในเรื่องต่างๆ โดยจะชี้แนะให้ลูกค้า เห็นถึงปัญหาและให้คำแนะนำในการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งต้องการเปลี่ยนระบบไอทีที่ใช้ในองค์กรใหม่ เพราะระบบเก่าล้าสมัยทำให้การดำเนินงานต่างๆ ในองค์กรช้า

ทาง Consult จึงเข้าไปดูเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ซึ่งสาเหตุของปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบไอที แต่อยู่ที่กระบวนการการทำงาน ดังนั้น Consult จึงให้คำแนะนำแก่องค์กรนั้นว่า ควรแก้ที่กระบวนการการทำงานไม่ใช่ที่ระบบ เป็นต้น

ซึ่งจะแตกต่างจาก Coaching ตรงที่ ผู้รับการโค้ชจะเป็นผู้คิดหาวิธีทางแก้ไขด้วยตัวเอง

Coaching และ Counseling

Counseling คือ การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหารบกวนจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ไม่สามารถหยุดคิด หรือส่งผลกระทบไปยังการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต โดยไม่สามารถหาหนทางแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง

ซึ่งจะคล้ายกับการ Coaching แต่ Coaching คือการดึงเอาความคิด หรือปลดล๊อคบางอย่างในตัวผู้รับให้มีศักยภาพสูงขึ้น ไม่ได้แก้ไขปัญหารบกวนจิตใจ และเป้าหมายของการ Coaching คือการทำให้ผู้รับหาแนวทางมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ได้ ส่วนเป้าหมายของ Counseling คือ การให้คำปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่รบกวนจิตใจ

Coaching vs Mentoring สอนอย่างไรให้พนักงานอยากเรียน

คีย์สำคัญของ Coaching

ต่อไปเราจะกล่าวถึงคีย์สำคัญในการ Coaching มีดังนี้

ต้องมีการสื่อสารระหว่างกัน

หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยส่วนมากหัวหน้าจะพูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงฝ่ายเดียวโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็น นั่นทำให้ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชากำลังคิดอะไรอยู่

เพื่อที่จะได้รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไรอยู่และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีการสื่อสารระหว่างกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ต้องเป็นการพูดคุยแบบ 1 ต่อ 1

บุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพชีวิต การศึกษา การใช้ชีวิต ฯลฯ ความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อสิ่งต่างๆ ก็เช่นกัน

ก็เหมือนกับวิธีการจัดการในองค์กร หากใช้วิธีการเดียวคอยจัดการ บริหารคนจำนวนมาก ก็ย่อมต้องมีทั้งคนที่เหมาะกับการจัดการแบบนั้น และคนที่ไม่เหมาะสม

ในการโค้ชเองก็เช่นกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรจัดเป็นการพูดคุยแบบ 1 ต่อ 1 และควรใช้วิธีการพูดคุยที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคล

ควรทำอย่างต่อเนื่อง

หลายๆ คนน่าจะเคยมีประสบการณ์ ลงมือทำอะไรสักอย่าง แล้วไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้ รู้สึกว่ามันยากที่จะทำต่อไป เพราะความเบื่อหรือหมดกำลังใจที่จะทำต่อ

หากคุณรู้สึกแบบนั้นกับการโค้ช คุณอาจต้องมีการปรับตัว เพราะการโค้ชนั้นควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

ไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ทำหน้าที่โค้ชมาตัดสิน

การไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ทำหน้าที่โค้ชมาตัดสินเรื่องราวของผู้รับการโค้ช คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ทำการโค้ชคือ ถามคำถามแบบคำถามปลายปิด เพราะจะทำให้ผู้รับการโค้ช ไม่สามารถหาแนวทางหรือไอเดียใหม่ๆ เพื่อการเพิ่มศักยภาพให้ตัวเองได้ หรือการถามเพื่อนำเสนอทางออกโดยอิงจากความคิดของโค้ช

หรือการถามโดยใช้อคติและความรู้สึกของโค้ชเข้าไปตัดสินหลังจากฟังเรื่องราวจากผู้รับการโค้ช ถึงแม้ผู้ทำการโค้ชจะเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานมากแค่ไหนก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น หากผู้รับการโค้ชหาทางให้ตัวเองไม่ได้จริงๆ การให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของโค้ชก็ถือได้ว่าเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้เขาค้นหาแนวทางที่ดีให้ตัวเองได้ เพียงแค่อย่าลืมว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือการทำให้ผู้รับการโค้ชหาแนวทางไปสู่เป้าหมายให้ได้ด้วยความคิดของเขาเอง

พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย Coaching6

ข้อดี และข้อควรระวังของ Coaching

เราพูดถึงวัตถุประสงค์ ความแตกต่างจากวิธีการอื่นๆ หรือ คีย์สำคัญของ Coaching กันไปแล้ว ต่อไปเราลองมาดูข้อดีและข้อควรระวังในการ Coaching กัน

ข้อดี พร้อมทั้งตัวอย่าง

ความนึกคิดจะออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

การโค้ชจะทำให้ความคิดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเหมือนกับเป็นการฝึกคิดไปพร้อมกับการหาคำตอบ ทำให้พนักงานหลายๆ คนจากที่ต้องคอยฟังคำพูดของหัวหน้าอยู่ตลอด สามารถคิดหรือตัดสินใจด้วยตัวเองได้

ในการประชุม

เมื่อก่อนมักจะมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นเพียงไม่กี่คน หรือเป็นคนเดิมๆ แต่หลังจากการโค้ช ผู้เข้าร่วมประชุมหลายๆ คนเริ่มที่จะกล้าแสดงความเห็นของตัวเองกันมากขึ้น ทำให้การพูดคุยในที่ประชุม เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น

ถึงแม้จะทำงานอยู่ในทีมเดียวกัน ใช่ว่าจะมีการประสานงานที่ดีตลอดเวลา บางครั้งอาจเกิดปัญหาโดยที่เราไม่รู้ หรือการดำเนินงานมีการติดขัดในบางขั้นตอน

ด้วยการโค้ชจะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้นเพราะ ด้วยการสื่อสารระหว่างกัน จะทำให้คนในทีมเข้าใจสถานการณ์ของอีกฝ่ายได้มากขึ้น ขั้นตอนในการทำงานจะลดลงเพราะมีการแบ่งงานที่เข้ากับสไตล์การทำงานของแต่ละคนมากขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงานโดยรวม

ความเข้าใจในการทำงานเพิ่มขึ้น และลดชั่วโมงการทำงานลง

เมื่อก่อนการทำงานในทีมไม่ค่อยราบรื่นเพราะ คนในทีมแต่ละคนต่างคนต่างทำงานของตัวเอง การประสานงานร่วมกัน การพูดคุยกันน้อย แต่ด้วยการโค้ช ทำให้การพูดคุยกันในทีมกลับมาอีกครั้ง และช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการทำงานลงอย่างมาก

รู้ถึงความเหมาะสม

การโค้ชจะทำให้แต่ละคนสามารถดึงความคิดออกมา เห็นความคิดในการทำงานของแต่ละคนมากขึ้น ทำให้สามารถมอบหมายงานได้ตามความเหมาะสม ความถนัดและความสามารถของคนในทีมแต่ละคนได้มากขึ้น

การโค้ชช่วยทำให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การโค้ชไม่เพียงส่งผลดีต่อการสื่อสารภายในทีม ยังช่วยในการสัมภาษณ์รับบุคลากรเข้าทำงานอีกด้วย เพราะทำให้สามารถคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งและบริษัทเข้ามาทำงานได้

ข้อควรระวัง

กระบวนการใช้เวลานาน

อย่างที่ได้กล่าวถึงเรื่องทักษะไว้ข้างต้น ผู้ที่จะมาทำหน้าที่การโค้ชนั้นต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อการโค้ชโดยเฉพาะ และยังต้องมีความรู้ในเรื่องจิตวิทยาด้วย

ดังนั้นหากไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชโดยเฉพาะ บริษัทอาจต้องใช้เวลานานกับการฝึกผู้ที่ทำหน้าที่โค้ช และยังต้องใช้เวลาในการโค้ชให้กับพนักงานอีก กว่าที่จะเห็นผลลัพธ์บริษัทอาจต้องใช้เวลานานเลยทีเดียว

เป้าหมายของผู้รับการโค้ชอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ผลลัพธ์ของการโค้ชนั้นไม่ได้แสดงออกมาด้วยตัวเลขได้ การจะบอกได้ว่ากระบวนการโค้ชที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น อาจดูได้จากผู้รับการโค้ช สามารถหาแนวทางหรือวิธีการเข้าใกล้เป้าหมายของเขาได้มากน้อยแค่ไหน บางครั้งกว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ผู้รับการโค้ชอาจเปลี่ยนใจ หรือล้มเลิกกลางคันก็เป็นได้

ดังนั้น การตั้งมั่นในเป้าหมายอย่างแน่วแน่จึงมีความสำคัญ และผู้ทำหน้าที่โค้ชเองอย่าลืมที่จะคอยช่วยสนับสนุน ให้ผู้รับการโค้ชยังคงมีแรงจูงใจที่จะทำตามเป้าหมายต่อไป แต่ก็อย่าผลักดันเขาจนเกิดความเครียดความกังวล พยายามให้อยู่ในสภาวะกลางๆ จะดีที่สุด

พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย Coaching

สรุป

เราได้ทำความเข้าใจกับการโค้ชกันไปแล้ว แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้บุคคลหาหนทางไปสู่เป้าหมายของเขาได้ แต่ถ้ามีความตั้งใจจริง บวกกับการช่วยเหลือสนับสนุนจากโค้ช เชื่อว่าเป้าหมายนั้นคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

นอกจากนั้นแล้วการนำการโค้ชไปปรับใช้ในองค์กร ก็คงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หวังว่าบทความในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ไม่มากก็น้อย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง