Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกันยายน 2023

ก้าวเข้าสู่ไตรมาสใหม่แล้ว ชาว HR จำเป็นต้องเตรียมพร้อมและหาคำตอบว่าเราควรวางแผนงานอย่างไร จะได้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในปี 2024 และจะทำอย่างไรเพื่อให้องค์กรก้าวเข้าอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่โลกหมุนไวกว่าเดิมแบบนี้

จากเหตุผลดังกล่าว HREX.asia จึงเปิดมีบริการ HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนมีชุมชนไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น บอกเลยว่าแพลตฟอร์มแห่งนี้คือแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาย ที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องรู้ แถมยังถูกกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้จริง

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนกันยายน 2023 มุ่งเน้นไปในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ สอดคล้องกับบริบทของสังคมในแต่ละช่วง โดยมีคำถามที่น่าสนใจและคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

Contents

Q1 : บริษัทถือว่าการลาไปอบรมบริษัทเป็นวันหยุด และให้มาทำงานในวันหยุดตามตารางเดิมแทน ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

เนื่องจากทางบริษัทเราเป็นร้านขายสินค้าขนาดกลาง แล้วจะมี PC จากบริษัทแต่ละแบรนด์มาดูแลและเชียร์สินค้าให้ PC ทั้งหมดจึงไม่ใช่พนักงานโดยตรงจากบริษัทเรา แต่ต้องเข้ามาทำงานที่ร้านโดยมีวันหยุดอาทิตย์ละ 1 วันโดยใช้กฎระเบียบร่วมกับทางร้าน อย่างไรก็ตามบริษัทที่ PC สังกัดอยู่ได้มีหนังสือให้พนักงานไปอบรมสินค้าในวันทำงาน ซึ่งผู้ดูแล PC กล่าวว่าจะทำการเปลี่ยนวันหยุด และถือว่าวันที่ไปอบรมเป็นวันหยุดไปเลย และให้วันหยุดประจำสัปดาห์มาทำงานทดแทน กรณีนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

กรณีบริษัท ต้นสังกัด ขอให้พนักงาน PC ไปอบรม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน สามารถทำได้โดยต้องแจ้งล่วงหน้าให้บริษัทเจ้าของพื้นที่รับทราบเพื่ออนุมัติเป็นการล่วงหน้า อย่างน้อย 3 วันทำการ และบริษัทต้นสังกัดจะต้องส่งพนักงานอื่นมาแทน PC ที่ไปอบรมเพื่อไม่ให้กระทบกับหน้างาน 

โดยปกติจะมีข้อความในสัญญาระหว่างบริษัทต้นสังกัด กับ บริษัท (ร้านค้า)เจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะระบุในเอกสารสัญญา (หรือทำเป็นบันทึกข้อตกลง) ให้บริษัทเจ้าของพื้นที่รับทราบ ดังนี้ “กรณีที่บริษัท ให้พนักงานไปเข้ารับการอบรม ทางบริษัท จะส่งพนักงาน PC ท่านอื่น มาทดแทนระหว่้าง PC ประจำ ต้องเข้ารับการอบรม”

จากคำถามนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องวันหยุด วันลา ของบริษัท (ร้านค้า) เจ้าของพื้นที่ค่ะ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 


Q2: ผู้จัดการแผนกลาป่วยทุกวันเสาร์ HR ทำอะไรได้บ้าง ?

ผู้จัดการแผนกลาป่วยทุกวันเสาร์ และเป็นการลาแบบไม่มีใบรับรองแพทย์ HR จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

อาการนี้เเรียกว่า “ป่วยล่วงหน้า” แนะนำโดยย่อค่ะ

1. ใช้แนวทาง Employee Relations & Engagement (ER & EE) เรียกคุยกันโดยมีต้นสังกัดสูงสุดของพนักงาน และฝ่ายบริหาร สอบถามสาเหตุ ป่วยด้วยโรคอะไร ป่วยทุกวันเสาร์ได้ไปพบแพทย์หรือไม่

มีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า จะให้ทางบริษัทช่วยเหลืออะไรมั้ย

2. หากข้อ 1 ไม่มีผล ให้พิจารณา เรื่องผลงาน หากเป็นพนักงานที่ Performance ดีมาก ๆ บริษัทจำเป็นต้องรักษาพนักงานคนนี้ไว้

ก็ให้ใช้สิทธิ์พักร้อน ลากิจ ให้หยุดยาวไปเลย 5-10 วัน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และให้ไปพบแพทย์ ระบุปัญหาการเจ็บป่วย

ในระหว่างหยุดงานต้องมอบหมายงานให้มีผู้รับผิดชอบ ไม่ให้เกิดผลเสียต่อบริษัท

3. หากข้อ 1 และข้อ 2 ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บริษัทต้องพิจารณาและตัดสินใจเอง ยังจะให้พนักงานคนนี้ทำงานต่อไปหรือไม่

ให้พิจารณาพ้นสภาพพนักงาน เลิกจ้างกรณีนี้ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และต้องคุยกันให้เข้าใจ เพราะอาจเจอปัญหา “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” 

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q3: เราสามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในงาน HR ได้อย่างไรบ้าง ?

โลกธุรกิจตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องของ AI เราสามารถนำหัวข้อดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง ?

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

สื่งที่ AI ช่วยงาน HR จะเน้นไปในเรื่องการบริหารจัดการ รวมถึงงานบริการต่าง ๆ ในองค์กร ยกตัวอย่างเล็กน้อยค่ะ

1. AI สามารถช่วยงานด้านตรวจสอบประวัติผู้สมัคร การเก็บรวบรวมข้อมูลจากโปรไฟล์โซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงประวัติงานออนไลน์ของพนักงาน 

2. AI สามารถใช้ระบุทักษะ (Competency)ของพนักกงานแต่ละกลุ่มงานได้ รวมถึงทักษะที่ควรส่งเสริมเพิ่มเติมให้พนักงานแต่ละคน เป็นการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะตัวบุคคลให้แก่พนักงาน 

3. AI ช่วยงานธุรการได้ รวมถึงการสื่อสารภายในองค์กร การส่งเอกสาร การติดตามอีเมล และงานอื่นๆ ที่เป็นงานบริการในสำนักงาน

4. AI สามารถจัดระเบียบ วัน เวลาทำงาน วันหยุด วันลา และกิจกรรมอื่นๆ ของพนักงานทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเตือนให้พนักงานทราบเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น กำหนดวันที่ส่งหน้าที่งาน การเตรียมงาน การประชุม และหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบให้สอดคล้องกันทุกฝ่าย ด้วยการดูแลตารางงานประจำวัน 

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q4: องค์กรอยากเปลี่ยนไปจ่ายเงินเดือนละสองครั้ง HR ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

จากกรณีที่ข้าราชการจะให้เลือกการจ่ายเงินเดือน 1 หรือ 2 ครั้งต่อเดือน แล้วถ้าเอกชนอย่างเรา ๆ จะเปลี่ยนบ้าง HR ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างคะ ? เผื่อว่าพนักงานอยากได้เงิน 2 ครั้งต่อเดือนบ้าง

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

1. เพื่อป้องกันแรงเสียดทานและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากพนักงานและคนทำงาน, ผลกระทบต่อข้อตกลงกับธนาคาร แนะนำให้ทำการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการทำงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เช่นค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากธนาคาร พร้อมกับทำการสำรวจความต้องการของพนักงาน จากนั้นนำเสนอให้เป็นมติของบริษัทเพื่ออนุมัติการดำเนินการ

2. กรณีเปลี่ยนแปลงรอบการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ หากศึกษาแล้วเป็นโทษต่อพนักงาน แต่โดยรวมแล้วมีมติให้เปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นเอกสารประกอบการแก้ไขข้อบังคับการทำงาน จากนั้นประกาศพนักงานให้รับทราบโดยทั่วกัน พร้อมกับแจ้งให้เจ้าหน้าที่แรงงานรับทราบ

3. เตรียมระบบ Software ที่รองรับการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ รวมทั้ง จนท. Payroll ที่รับผิดชอบ

4. การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียและสื่อสารให้พนักงานเห็นเป็นรูปธรรมเป็นกิจกรรมสำคัญ จะช่วยลดแรงเสียดทานต่อการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดย HR ต้องคำนึงถึงรูปแบบการสื่อสารที่แสดงถึงความจริงใจ และสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของพนักงาน

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q5: บริษัทอยากให้ทำงานวันเสาร์เพิ่ม เราปฏิเสธได้ไหม ?

จากสัญญาเดิมระบุให้เราทำงานจันทร์ – ศุกร์ แต่หัวหน้าอยากให้เราทำในวันเสาร์เพิ่มด้วย เราสามารถปฏิเสธได้ไหม ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

A: โดย Poonnie HR

คำถามมีแนวทางคำตอบดังนี้ครับ

1. วันทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่า “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า”

การเพิ่มจำนวนวันทำงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างจะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงต้องให้ลูกจ้างยินยอม หรือนายจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง และเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่

ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมหรือไม่มีข้อตกลงใหม่ แล้วนายจ้างใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว จะถือว่าไม่ผูกพันลูกจ้าง

2. คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๒๘๒๑ – ๑๒๘๒๔ / ๕๓ เปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานให้ทำงานเพิ่มขึ้น แต่รวมแล้วไม่เกินจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง

3. การเปลี่ยนแปลงการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างนั้นจะทำไม่ได้ หากลูกจ้างไม่ยินยอม 

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง