Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี 2024 กันแล้ว สิ่งสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้ก็คือการตั้งคำถามว่าสิ่งที่วางแผนกันตั้งแต่ปีก่อนหน้า เป็นจริงหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ และนำผลลัพธ์ไปพิจารณาเป็นกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย “ปรับตัว” เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ ดังนั้น “คำแนะนำที่ถูกต้อง” คือรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานเติบโตไปข้างหน้าอย่างแข็งแรง และองค์กรก็จะอยู่ร่วมกับพวกเขาเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมอันมีคุณค่าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี่คือสาเหตุสำคัญที่เราตัดสินใจสร้าง HR Commnunity ขึ้นมา

Q&A Of the Month จำนวน 5 ข้อประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024 มุ่งเน้นไปในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่เป็นพื้นฐาน, เรื่องกฎหมายแรงงาน, เรื่องเทคโนโลยี ตลอดจนเรื่องที่จำเป็นอีกมากมายอื่น ๆ ทั้งนี้เราอยากให้พื้นที่ของ HR Community เป็นพื้นที่สบาย ๆ ที่ทุกคนสามารถมาถามคำถามได้ ดังนั้นถ้าคุณมีเรื่องไม่สบายใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็หันมาหาเราได้ทุกเมื่อ !

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q1 : HR มีสิทธิ์ห้ามพนักงานเทรดหุ้นระหว่างทำงานหรือไม่ ?

อยากรู้ว่าแต่ละองค์กรเคยเจอพนักงานที่เล่นหุ้น หรือเล่นคริปโตเคอร์เรนซี่แล้วทำกำไรได้สูง ในช่วงเวลาทำงานไหมครับ ถ้าเจอ HR ควรทำอย่างไรดีครับ ระหว่างปล่อยให้พนักงานทำไป หรือออกมาตรการไม่ให้เล่น แล้วถ้าเกิดพนักงานมาขอลาออกเพื่อไปเล่นหุ้น เทรคคริปโตเต็มตัว ควรทำอย่างไรดี

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

โดยหลักปฏิบัติทั่วไปที่ถูกต้องในทุกองค์กร พนักงานมีหน้าที่ทำงานตามที่บริษัทมอบหมายค่ะ และงดการทำงานทุกชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท เช่น การเล่นหุ้น การขายของออนไลน์ และอื่นๆ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ห้ามนำเวลาการทำงานของบริษัทไปใช้ในการทำธุระส่วนตัว หากฝ่าฝืนถือว่า พนักงานคนนั้นๆ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทาง HR ร่วมกับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดต้องเรียกพนักงานมาตักเตือนและพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ กรณีพนักงานขอลาออกก็ต้องแจ้งบริษัทล่วงหน้า 15-30 วัน เพื่อหาคนทดแทนในตำแหน่งงานนั้นๆ

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q2: HR ไม่ยอมให้พนักงานนำ Apple Vision Pro มาใช้ที่ออฟฟิศ

มีพนักงานท่านหนึง่ซื้อ Apple Vision Pro มา และต้องการนำมาใช้งานที่ออฟฟิศ เพราะเห็นว่าเหมาะกับรูปแบบการทำงานของตนเอง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพงานได้ แต่ HR มองว่าการใส่อุปกรณ์ตลอดเวลาเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม แม้พนักงานนจะพยายามอธิบายแล้ว แต่เหมือน HR ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Apple Vision Pro คืออะไร ให้ทดลองใส่ก็ใช้งานไม่เป็น จะให้นำกลับบ้านอย่างเดียว จริงอยู่ที่การทำงานแบบเดิมก็ได้ผลอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเทคโนโลยีมาช่วยให้ดีขึ้น แล้ว HR ไม่รู้จัก ก็ทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรตกยุคได้เหมือนกัน ทำไงดี ?

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

แนะนำว่าให้ทำ Presentation เปรียบเทียบวิธีการทำงานแบบเดิมกับการใช้งาน Apple Vision Pro ทั้งข้อดีและข้อเสียที่มีต่องานทั้งในระดับบุคคล ระดับหน่วยงาน และระดับองค์กร ลองเชื่อมโยงกับ Competency, Vision, Mission ,Core Value จากนั้นนำเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงคะแนนให้เป็นมติขององค์กร

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q3: พนักงานลางานโดยไม่บอก และทำพลาดในเรื่องที่เคยถูกใบเตือน ไล่ออกได้ไหม ?

พนักงานลาป่วย 2 ครั้ง ไม่ได้บอกหัวหน้าเอง แต่ฝากเพื่อนบอกแทน และอีกเรื่อง พนักงานเคยโดนตักเตือนเรื่องเล่นโทรศัพท์ในเวลางาน 1 ครั้ง ทั้งหมดนี้ตักเตือนด้วยวาจา ไม่มีหนังสือให้เซ็นรับทราบเรื่อง กรณีทั้งหมดนี้สามารถเชิญพนักงานออกได้ไหม

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ข้อมูลเพิ่มเติม ความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q4: ออกใบเตือนให้พนักงาน แต่พนักงานไม่พอใจ ควรอธิบายอย่างไร

พนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลโดนเตือนเรื่องไม่ปฎิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เป็นการเตือนด้วยวาจา แต่ตามกฎบริษัทต้องทำเป็นจดหมายให้รับทราบ ออกใบเตือนให้พนักงาน พนักงานไม่ยินยอนรับใบเตือน และไปแจ้งแรงงาน ทางบริษัทควรปฎิบัติอย่างไร

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ข้อ 1 การที่พนักงานไม่พอใจแจ้งแรงงาน แสดงว่าพนักงานไปร้องเรียนแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ ทางเจ้าหน้าที่แรงงานที่ทำหน้าที่ด้านการแรงงานสัมพันธ์จะติดต่อกลับมาที่บริษัทก่อน เพื่อให้ทางบริษัทไปชี้แจงกรณีดังกล่าว สิ่งที่ทางบริษัทต้องเตรียมคือข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น การไม่ปฎิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา คือเรื่องอะไร การลงโทษตักเตือนเหมาะสมหรือไม่ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้พนักงานไม่ยินยอมรับใบเตือน เรื่องในลักษณะนี้ควรจบได้ด้วยการเจรจา ชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจน และให้ทางบริษัทแสดงเจตนาด้วยว่าให้ปรับปรุงตัวไม่ได้ให้ลาออก ข้อสังเกต ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ยังขาดเรื่องการสื่อสารเชิงบวก ขาดเรื่องมนุษยสัมพันธ์ในหน่วยงาน ปกติการตักเตือนให้ปรับปรุงเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ ไม่น่าจะเกิดเป็นประเด็นปัญหา

ข้อ 2 การลาออกด้วยปากเปล่าและไม่ยื่นใบลาออก ไม่ถูกต้อง ปกติการลาออกต้องแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบที่บริษัท กำหนด กรณีนี้ถือว่าพนง.ผิดระเบียบ ฯ หากการลาออกกะทันหัน และส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย (ต้องระบุความเสียหายให้ชัดเจนด้วย) ถือเป็นความผิดทางวินัย ทางบริษัท สามารถร้องเรียนทางแรงงานได้เช่นกัน

ข้อแนะนำ ขอให้ใช้หลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เจรจาพูดคุยกันให้เข้าใจ และจากกันด้วยดีทั้งสองฝ่าย

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

 


Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024

Q5: บริษัทตั้งเกณฑ์เกษียณอายุไว้ที่ 60 ปี แต่เปิดให้สิทธิพนักงานสามารถเจตนาเกษียณตอนอายุ 55 ปีได้ โดยให้แจ้งล่วงหน้า 6 เดือน สามารถทำได้ไหม

คำถามมีดังนี้

1. เราสามารถตั้งเกณฑ์เกษียณไว้ที่ 60 และ เปิดเพิ่มเติมให้พนักงานสามารถแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ตั้งแต่ 55 ปีแต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน แบบนี้จะขัดหลักกฏหมายไหมคะ

2. สามารถระบุได้หรือไม่ว่า พนักงานที่เกษียณอายุที่ 60ปี(บริบูรณ์) บริษัทจะกำหนดให้พ้นสถานสภาพพนักงานในวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไปได้หรือไม่ เพราะเป็นที่สงสัยว่าต้องพ้นสภาพจากอายุ หรือบริษัทสามารถกำหนดได้

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ข้อ 1 ไม่ขัดหลักกฎหมายแรงงาน หลักปฏิบัติโดยทั่วไป การเกษียณอายุ จะกำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี

การเปิดเพิ่มเติมให้พนักงานสามารถแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ตั้งแต่ 55 ปีแต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน แนะนำให้ทางบริษัท จัดทำประกาศแนบท้าย “ระเบียบและหลักเกณฑ์การเกษียณอายุ” และประกาศให้พนักงานทราบโดยทั่วกันเป็นการล่วงหน้าค่ะ

ข้อ 2 การนับอายุเกษียณ ให้นับอายุตามวัน เดือน ปี เกิดในบัตรประชาชน เมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์

ภาคเอกชนไม่เหมือนภาครัฐ ภาครัฐจะกำหนดเกษียณอายุ ทุกวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี ซึ่งอาจจะมีบางคนที่ยังไม่ถึง 60 ปีเต็ม

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง