Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนธันวาคม 2021

Highlight

  • การประเมินประจำปีพนักงานควรจะมีสองรอบเป็นอย่างต่ำ รอบแรกคือพนักงานประเมินตัวเองตามเป้าหมายและพฤติกรรมที่ตนเองรู้สึก รอบที่สองคือพนักงานนำคะแนนที่ประเมินตนเองไปคุยกับหัวหน้างาน
  • การลดเงินเดือนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอย่างหนึ่งตามกฎหมายจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างครับ หากลูกจ้างยินยอมเป็นหนังสือก็สามารถกระทำได้ แต่หากลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณโดยปราศจากความยินยอมของลูกจ้างได้
  • ทาง HR สามารถนำโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีของประกันสังคม และโปรแกรมการตรวจของบริษัทมารวมกันได้ค่ะ ไม่มีผิดกฎหมาย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสายด่วนของประกันสังคม 1506
  • ลาพักร้อนไม่มีผลต่อเบี้ยขยัน ยกเว้นลาอื่น ๆ เช่น ลากิจ ลาป่วย เป็นต้น
  • การทำแบบสอบถามกับพนักงานใหม่เพื่อปรับปรุงองค์กรมีหัวข้อตั้งแต่ความชัดเจนของเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร ลักษณะของหัวหน้างาน ลักษณะเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปจนถึงตัวพนักงานเอง

ทุกการทำงานล้วนมีข้อสงสัยหรือคำถามที่ต้องการคำตอบ การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นกัน ที่มักเต็มไปด้วยประเด็นยาก ๆ ที่ HR หลายคนต้องการปรึกษาคนอื่นเสมอ

ด้วยเหตุนี้ HR NOTE.asia จึงได้เปิดเว็บไซต์ HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR เข้าด้วยกัน และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานไปด้วยกัน และก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

HR Question, คำถาม HR, การทำงาน HR

สวัสดีปีใหม่ 2022 ผ่านพ้นปีแห่งความยากลำบากไปแล้ว เราหวังว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ HR ทุกคน

ย้อนกลับไปสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลายองค์กรกำลังง่วนอยู่งานประจำสิ้นปีที่จะต้องจัดระเบียบมากมาย ไหนจะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่พนักงานเก่าลาออก แล้วเตรียมพร้อมต้อนรับพนักงานใหม่ หรือคำถามเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ เช่น การเลิกจ้างเนื่องจากผลปฏิบัติงานประจำปีไม่ผ่านเกณฑ์, การหักเงิน หักขาดงาน หรือโอที พนักงานที่มาสาย หรือ การหักค่าแรงงานขั้นต่ำของจ้างเหมาบริการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Q&A of the month 5 ข้อที่เราคัดสรรในที่นี้ เราเลือกจากคำถามที่ประโยชน์ เข้าถึงทุกคน โดยมีคำถามที่สามารถใช้งานได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น partner ของเรา โดยมีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

Q1: หัวหน้าขอแก้คะแนนประเมินพนักงานได้ไหม?

หัวหน้าประเมินและให้คะแนนพนักงานและส่งคะแนนกลับให้ฝ่ายบุคคล ไม่ทราบว่าหัวหน้าสามารถขอแก้ไขคะแนนประเมิน ก่อนนำไปคุยกับพนักงานได้รึไม่ค่ะ

A: โดย Pramote Lab

จากประสบการณ์ในการดูแลการประเมินผลครับ หลังจากที่หัวหน้างานหรือผู้จัดการฝ่ายของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะส่งผลประเมินจะต้องมีการพูดคุยเพื่อแจ้งผลการประเมินกับพนักงานโดยก่อน ก่อนส่งผลประเมินมาให้กับทาง HR และ HR จะต้องรวบรวมข้อมูลคะแนน เพื่อนำเสนอต่อ MD หรือผู้บริหารให้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ทาง HR จะต้องมีการเชิญหัวหน้างาน หรือ ผู้จัดการฝ่ายนั้น ๆ มารีวิวทบทวนคะแนนอีกครั้ง หรือการให้พิจารณาในการแก้ไขคะแนนที่เห็นว่าไม่เหมาะสม หรือเมื่อได้รับแจ้งจาก MD หรือผู้บริหาร

ดังนั้น ในกรณีที่หัวหน้างาน หรือ ผู้จัดการฝ่ายนั้น ๆ มาขอทำการแก้ไขคะแนนนั้นคิดว่าทำได้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ตัวพนักงานและผู้ประเมิน แต่ต้องพิจารณาในภาพรวมของโครงสร้างด้วยว่าการให้คะแนนนั้นมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดครับ

A: โดย วัฒนศักดิ์ (Wattanasak Wiboonchaikul)

จริง ๆ แล้วถ้าจะให้ดีการประเมินประจำปีพนักงานควรจะมีสองรอบเป็นอย่างต่ำ รอบแรกคือพนักงานประเมินตัวเองตามเป้าหมายและพฤติกรรมที่ตนเองรู้สึก

รอบที่สองคือพนักงานนำคะแนนที่ประเมินตนเองไปคุยกับหัวหน้างาน แล้วทำการตกลงร่วมกันในการลงคะแนนประเมิน เพื่อที่พนักงานจะได้ทราบว่า perception ที่ตัวเองรู้สึก กับที่หัวหน้ารู้สึก ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร เป็นประโยชน์ทั้งหัวหน้างานที่จะได้ทำความเข้าใจกับมุมมองของพนักงานตนเอง และตัวพนักงานเองจะได้ตรวจสอบว่า สิ่งที่ตนเองรู้สึกกับสิ่งที่หัวหน้างานรู้สึกต่างกันแค่ไหน

Q2: ปรับฐานเงินเดือนพนักงานลง จะผิดกฎหมายแรงงานไหมคะ?

อยากถามเรื่องการปรับเปลี่ยนฐานเงินเดือนพนักงานลง แล้วเพิ่มค่าทักษะพนักงานขึ้น จะผิดกฎแรงงานอะไรไหมค่ะ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

การปรับฐานเงินเดือนพนักงานลง ขัดต่อ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ตอบตรง ๆ ก็คือผิดกฎหมายแรงงานค่ะ ค่าทักษะเป็นค่าตอบแทนความสามารถในการทำงาน แตกต่างจากเงินเดือน แนะนำให้เจรจาพูดคุยกับพนักงาน หากองค์กรมีความจำเป็นจะปรับฐานเงินเดือนลง และเพิ่มค่าทักษะ เมื่อรวมตัวเลขกลม ๆ ณ สิ้นเดือน รายได้รวมต้องไม่ลดลงจากเดิม

A: โดย Poonnie HR

การลดเงินเดือนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอย่างหนึ่งตามกฎหมายจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างครับ ดังนั้นควรทำหนังสือให้ลูกจ้างรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อให้ลูกจ้างลงนามรับทราบครับ หากลูกจ้างยินยอมเป็นหนังสือ เป็นรายบุคคล ก็สามารถกระทำได้ แต่หากลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณโดยปราศจากความยินยอมของลูกจ้างได้

Q3: การตรวจสุขภาพประจำปีของบริษัท กับ การตรวจสุขภาพประจำปีของประกันสังคม สามารถนำโปรแกรมการตรวจมารวมกันได้ไหม?

การตรวจสุขภาพประจำปีของบริษัทกับการตรวจสุขภาพประจำปีของประกันสังคม สามารถนำโปรแกรมการตรวจมารวมกันได้ไหม เพื่อที่จะตัดบางโปรแกรมของการตรวจสุขภาพประจำปีของบริษัทค่ะ จะผิดกฎหมายอะไรไหมคะ ต้องการทราบข้อมูลค่ะ

A: โดย เอื้อมพร วรรณยิ่ง Auemporn (Aor)

จากคำถามข้างต้น ทาง HR สามารถนำโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีของประกันสังคม และโปรแกรมการตรวจของบริษัทมารวมกันได้ค่ะ ไม่มีผิดกฎหมาย

สิทธิประกันสังคม คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่พนักงานควรได้รับจากการจ่ายเงินประกันสังคมในทุก ๆ เดือน และ โปรแกรมการตรวจสุขภาพของบริษัทเป็นอีกสวัสดิการหนึ่งที่ทางบริษัทจัดให้พนักงาน แต่สวัสดิการบางอย่างของประกันสังคมมีข้อจำกัดเรื่องอายุและจำนวนครั้งในการตรวจต่อปี และบางโรงพยาบาลอาจไม่มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์

ดังนั้น ทาง HR ทั้งหลายควรเช็คข้อมูลจากโรงพยาบาลที่พนักงานเลือกก่อนนำโปรแกรมบางอย่างของประกันสังคมมาทดแทน โปรแกรมการตรวจสุขภาพของบริษัทค่ะ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสายด่วนของประกันสังคม 1506

Q4: ว่าด้วยเรื่องพักร้อนกับเบี้ยขยัน

ปรึกษานิดนึงนะคะ กรณีที่บริษัทมีกำหนดแรงจูงใจ คือ ให้เบี้ยขยันสำหรับการลาทุกกรณี แต่บริษัทก็มีการคืนพักร้อนคงเหลือเป็นเงินด้วย โดยปกติการลาพักร้อนมีผลกับเบี้ยขยันหรือไม่คะ สำหรับบริษัททั่วไป

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ขอชี้แจงก่อน การหยุดพักร้อนเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องจัดให้พนักงานมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี(พักร้อน) การคืนพักร้อนเป็นเงินดีแล้วค่ะ การจ่ายเบี้ยขยันจะไม่นำเรื่องวันหยุดพักร้อนมาเกี่ยวข้อง

A: โดย พลกฤต โสลาพากุล Phonkrit Solaphakul

ลาพักร้อนไม่มีผลต่อเบี้ยขยันครับ ยกเว้นลาอื่น ๆ เช่น ลากิจ ลาป่วย เป็นต้น

Q5: แบบสอบถามความคิดเห็นของพนักงานใหม่ที่มีต่อองค์กร

รบกวนสอบถามเรื่องการทำแบบสอบถามสำหรับพนักงานใหม่ที่จะต้องนำมาใช้ปรับปรุงในองค์กรเพื่อจัดทำแผนในปีหน้า ไม่ทราบว่าท่านไหนมีตัวอย่างให้ดูหรือเปล่าคะ และเกณฑ์การประเมินด้วยคะ

A: โดย Poonsawat Keawkaitsakul

การทำแบบสอบถามกับพนักงานใหม่เพื่อปรับปรุงองค์กรมีหัวข้อดังนี้

  1. ความชัดเจนของเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร
  2. ลักษณะของหัวหน้างานทั้งด้าน Soft Skill เช่น ภาวะผู้นำ การสื่อสาร การควบคุมอารมณ์ การบริหารทีม การแก้ปัญหา การสอนงาน และ Hard Skills เช่น ความสามารถในการทำงานเฉพาะตำแหน่งหรือแผนกต้นสังกัด
  3. ลักษณะเพื่อนร่วมงาน เช่น การทำงานเป็นทีม มนุษยสัมพันธ์ ความเอื้อเฟื้อกับเพื่อร่วมงาน
  4. สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น Facilitator ต่าง ๆ ทั้งบรรยากาศการทำงาน สถานที่ทำงาน ความสะอาด ความปลอดภัยในการทำงาน
  5. ตัวพนักงานเอง เช่น ปริมาณงาน ลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย การส่งเสริมและการพัฒนาจากองค์กร สวัสดิการที่ได้รับ ความชัดเจนด้านความมั่นคงและความก้าวหน้า

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

จากคำถามไม่แน่ใจว่าพนักงานใหม่ที่กล่าวถึง อายุการทำงานที่บริษัทกี่ปี ขอเดาว่าน้อยกว่า 2 ปี เรื่องแบบสอบถามความคิดเห็นที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงองค์กร ขอส่งตัวอย่างแบบย่อมาให้ดู ประมาณนี้ค่ะ สิ่งที่จะถาม

  1. คุณลักษณะของหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา
  2. นโยบายบริษัท และเป้าหมายองค์กร
  3. ขวัญกำลังใจในการทำงาน
  4. การติดต่อสื่อสาร
  5. กระบวนการทำงาน ระบบงาน
  6. คุณภาพงาน
  7. การทำงานเป็นทีม

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง