ทำอย่างไรให้คนอื่น ‘ไว้ใจ’

HIGHLIGHT

• “ความไว้วางใจ” เกิดได้อย่างไร ให้ลองถามตัวเองก่อนว่า เราเคยไว้ใจใครบ้างไหม
• หลักในการสร้างความไว้วางใจ เปิดเผย ไม่มีกั๊ก รับฟัง ไม่ด่วนสรุป ปากกับใจตรงกัน และทำตัวให้น่าเชื่อถือ
• หลักการแสดงออกเพื่อเข้าใจในความรู้สึก (Empathy) ทำได้ทั้งการใช้ภาษากายที่เหมาะสม และใช้ภาษาพูดที่เหมาะสม เป็นต้น

ทำอย่างไรให้คนอื่น ‘ไว้ใจ’

ถ้าอยากรู้ว่า “ความไว้วางใจ” เกิดได้อย่างไร ให้ลองถามตัวเองว่า เราเคยไว้ใจใครบ้างไหม ถ้ามี! เขาทำอย่างไร เราจึงไว้ใจเขา

ธรรมชาติของมนุษย์มักจะตัดสินคนจากสิ่งที่เห็น ดังนั้นเราจะไว้ใจคน ๆ นั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำพูดและการกระทำที่เขาแสดงออกมาให้เห็น

ถ้าถามว่า ทำไมต้องสร้างความไว้วางใจ คำตอบคือ เพื่อให้เราและเขาเกิดสัมพันธภาพที่เป็นมิตรระหว่างกัน ทำให้คู่สนทนาไม่วิตกกังวลขณะสื่อสาร ซึ่งความไว้วางใจจะมีส่วนช่วยให้เขามีความมั่นใจในตัวเรามากขึ้น มองว่าเราน่าเชื่อถือ และรับรู้ว่าเรามาช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่มาสร้างความรำคาญใจ

หากอยากให้คู่สนทนาไว้วางใจ ก็จำเป็นจะต้องสะท้อนให้เขาเห็นทั้งคำพูด น้ำเสียง และท่าทางที่สอดคล้องกัน โดยมีหลักในการสร้างความไว้วางใจง่าย ๆ ดังนี้

  • OPENNESS เปิดเผย พูดให้ครบ ไม่กั๊ก ไม่ปิดบัง ให้และรับฟีดแบ็คอย่างเปิดเผย
  • ACCEPTANCE รับฟัง ไม่ด่วนสรุป ไม่ดูถูก ไม่ใช้คำพูดที่คนอื่นไม่เข้าใจ
  • CONGRUENCE ปากกับใจตรงกัน ทำอย่างที่คิดและเชื่อ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
  • RELIABILITY ทำตัวให้น่าเชื่อถือ ทำให้ได้อย่างที่พูด ไม่รับปากพร่ำเพรื่อ

นอกจากนี้ เราควรแสดงออกว่า เราเข้าใจในความรู้สึก (Empathy) ของเขา ซึ่งถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ในขณะสนทนา โดยเฉพาะในการโน้มน้าวจูงใจ หากสังเกตเห็นว่าเขามีเรื่องทุกข์ใจ หรือมีความวิตกกังวล เราไม่ควรเพิกเฉย หรือทำเป็นไม่สนใจ (Apathy) แต่ก็ไม่ถึงกับต้องแสดงออกว่า เราเป็นทุกข์ ทุรนทุราย หรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ (Sympathy) เพียงแสดงออกให้เขารับรู้ว่า เราเข้าใจหรือเห็นใจ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป เพราะเห็นใจไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วย

โดยการแสดงออก สามารถทำได้ดังนี้

  • ใช้ภาษากายอย่างเหมาะสม เช่น โน้มตัวไปข้างหน้าขณะสนทนา  และ สบตาบ้างเป็นระยะ
  • ใช้ภาษาพูดที่แสดงถึงความรู้สึกหรือความคิดให้เหมาะสม เช่น ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณ หรือ ผมเข้าใจเหตุผลที่คุณต้องทำแบบนั้น
  • ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อดึงความรู้สึกหรือความคิดของคู่สนทนาออกมา  เช่น คุณรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ คุณทำอย่างไรกับสถานการณ์แบบนั้น

ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นไว้ใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น คือคุณสมบัติสำคัญของคนในยุคดิจิทัล ที่จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี

Consulting Partner

Slingshot Group

CTA - HR Consulting

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง