‘Dyslexia’ สภาวะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 1 ในทักษะใหม่สำหรับโลกอนาคต

HIGHLIGHT

  • Dyslexia คือสภาวะที่พบเจอได้บ่อย ๆ ในผู้นำและคนเก่ง ๆ ระดับโลก เช่น Steve Jobs, George Washington, Thomas Edison, Leonardo da Vinci เป็นต้น
  • ภาวะ Dyslexia คือสภาวะ “อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น” จนทำให้คนเก่งหลายคนถูกตราหน้าว่าโง่ ทั้งที่คนที่มีสภาวะเหล่านี้ มีศักยภาพมากมาย สามารถสร้างนวัตกรรมล้ำค่าให้เกิดขึ้นบนโลกได้
  • Dyslexia ยังกลายเป็รทักษะใหม่สำหรับการทำงานในอนาคตล่าสุด ในเดือนเมษายน 2022 LinkedIn ได้เพิ่มการคิดแบบ Dyslexic เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการ ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีคนมากกว่า 10,000 คนอัพเดททักษะนี้ลงในโปรไฟล์ LinkedIn ของพวกเขาด้วย

‘Dyslexia’ สภาวะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 1 ในทักษะใหม่สำหรับโลกอนาคต

ผู้นำและคนเก่งๆ ระดับโลกเหล่านี้ พวกเขามีอะไรที่เหมือนกัน?

  1. Albert Einstein  นักฟิสิกส์อัจฉริยะที่มีชื่อเสียงก้องโลก
  2. Thomas Edison เจ้าพ่อนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นคว้าหลอดไฟฟ้า
  3. Leonardo da Vinci จิตรกรเอกของโลก
  4. Wolfgang Amadeus Mozart คีตกวีเพลงคลาสสิกก้องโลก
  5. George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา
  6. Lee Kuan Yew อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำที่เปลี่ยนสิงค์โปร์ให้เจริญในช่วง 1 อายุคน
  7. Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple อัจฉริยะเปลี่ยนโลก
  8. Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและหนึ่งในมหาเศรษฐีของโลก

พวกเขาเหล่านี้ล้วนมาจากคน “อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น” และเคยถูกตราหน้าว่าเป็น “เด็กโง่”

ภาวะนี้เรียกว่า  “ดิสเล็กเซีย” (Dyslexia)

คนไทยส่วนใหญ่รวมถึงดิฉันเองไม่ค่อยรู้จัก Dyslexia จนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยาชาวฮอนแลนด์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้  

สิ่งที่น่าตกใจคือ คนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 5 คน เป็น Dyslexia !

สำหรับในประเทศไทย พบว่า เด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกมีมากถึง 4 แสนราย !

‘Dyslexia’ สภาวะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 1 ในทักษะใหม่สำหรับโลกอนาคต

Dyslexia ไม่ใช่โรค ดิฉันเองก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ หากท่านใดสงสัยว่าลูกหลานมีภาวะนี้หรือไม่ ควรไปหาข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม แต่ถ้าจะเล่าสู่กันฟังแบบง่าย ๆ ตามความเข้าใจคือ เด็กกลุ่มนี้หากมองเผิน ๆ เขาก็ดูปกติ มีความสามารถด้านอื่นหรือไอคิวเป็นปกติ ใช้ชีวิตได้ปกติ 

แต่หากตั้งใจสังเกตจะพบความบกพร่องทางการเรียนรู้ภาษา โดยเด็กจะมีความยากลำบากในการอ่านคำได้ถูกต้องแม่นยำ อ่านช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน อ่านตะกุกตะกัก สับสนในการประสมคำ อ่านข้ามคำ อ่านแบบเดาคำ เนื่องจากสมองของคนที่เป็น Dyslexia ทำงานแตกต่างจากคนทั่วไป 

กลับมามองมาตรฐานการศึกษาในสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้​ มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับคนกลุ่มนี้เลย เด็กพบความท้าทายจากการตัดสินความเก่งด้วยระบบสอบข้อเขียนตามกำหนดเวลา ผู้ปกครองหรือครูที่ไม่เข้าใจมักมองว่าเด็กเป็น “เด็กโง่” “สอนทำเท่าไหร่ก็ไม่จำ”  สุดท้ายเด็กเติบโตมากลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจ เพราะถูกสังคมตัดสินว่าไม่ฉลาดเท่าคนอื่น

จากการสำรวจพนักงานกว่า 1,000 คนที่เป็น Dyslexia พบว่า 3 ใน 4 คน (75%) กล่าวว่าพวกเขาแอบซ่อนความบกพร่องในการอ่านจากนายจ้าง เพราะความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในระบบโรงเรียนตั้งแต่เด็ก  

อย่างไรก็ดี การศึกษาล่าสุดพบว่าคนที่เป็น Dyslexia สามารถมองเห็นรูปแบบที่ผู้อื่นทำไม่ได้ และทักษะของพวกเขาเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับองค์กรและโลกอนาคต  

  • สร้างนวัตกรรมชิ้นใหม่เอี่ยมให้โลก ด้วยทักษะจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ คนกลุ่มนี้จะถนัดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ทั้งหมด แน่นอนที่สุด Innovation and Creative Thinking คือทักษะที่วันนี้ทุกองค์กร
  • เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยจุดแข็งด้านการสื่อสารและสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนกลุ่มนี้จะเก่งในการเห็นอกเห็นใจ เจรจาต่อรอง และโน้มน้าวคนด้วยการใช้คำพูด ทักษะเหล่านี้ช่วยสร้างผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สามารถสร้าง สนับสนุน และส่งเสริมคน ทีม และองค์กรที่แข็งแกร่ง
  • เห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น ด้วยทักษะการให้เหตุผล การแสดงภาพ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คนกลุ่มนี้สามารถประมวลผลภาพใหญ่ มีความสามารถพิเศษในการเชื่อมโยงข้อมูลที่ซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหา พวกเขาเห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น

ล่าสุดในเดือนเมษายน 2022 LinkedIn ได้เพิ่มการคิดแบบ Dyslexic เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับอนาคต ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีคนมากกว่า 10,000 คนอัพเดททักษะนี้ลงในโปรไฟล์ LinkedIn ของพวกเขา

‘Dyslexia’ สภาวะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 1 ในทักษะใหม่สำหรับโลกอนาคต

ตัวเลข 1 ใน 5 ของประชากรทั่วโลกถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย สำหรับเด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ถ้าไม่มีใครในสังคมเข้าใจสาเหตุ แม้แต่ผู้ปกครองก็หลีกเลี่ยงการพาไปพบผู้เชี่ยวชาญเพียงเพราะกลัวว่าลูกจะถูกวินิจฉัยว่ามีความบกพร่อง จนช่วยเหลือและสนับสนุนไม่ทัน

หากดูจุดแข็งของพวกเขาที่เป็นทักษะแห่งอนาคตแล้ว ตัวเลขนี้น่าจะเป็น urgency สำหรับผู้ปกครอง วงการศึกษาและองค์กรไทยในการปรับกระบวนการสรรหา สร้างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้ความแตกต่างอันเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความโดดเด่นในทีมงาน องค์กรและประเทศชาติในอนาคต

บทความโดย

Dr. Sutisophan Chuaywongyart

CEO and Partner at Slingshot Group

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง