เอฟเวอร์ตัน (Everton) สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีคที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR

HIGHLIGHT

  • แผนกทรัพยากรบุคคล หรือ HR ไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานเอกสาร, จัดการเงินเดือน หรือการจ้างพนักงานอย่างที่คนทั่วไปคุ้นเคยเท่านั้น แต่ระบบ HR คือรากฐานของงานอีกหลากหลายประเภทที่อาจคาดไม่ถึง หนึ่งในนั้นคือการทำสโมสรฟุตบอล ในที่นี้เราจะพูดถึงสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีค ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสโมสรฟุตบอลทีมแรก ๆ ของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR อย่างครบวงจร
  • สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันลงแข่งขันในพรีเมียร์ลีคอังกฤษ และเป็นคู่ปรับของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ได้รับฉายาว่าเป็น “สโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นครอบครัวมากที่สุด” เพราะเล็งเห็นว่าความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลงานในสนามเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาสังคมเมือง, ส่งเสริมเยาวชน ตลอดจนการมอบสวัสดิการที่เหมาะสมที่สุดให้แก่พนักงานอีกด้วย
  • เป้าหมายระยะยาวของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันคือการปรับโครงสร้างของสโมสรให้ดีขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้นักเตะ หรือพนักงานอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร ดังนั้นจึงเกิดการปฏิรูประบบ HR ให้ทันสมัย ครอบคลุมทั้งเรื่องการศึกษา, การบริหารเงิน, การสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น
  • ในประเทศไทยนั้น เมื่อพูดถึงสโมสรฟุตบอลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรบุคคลคล้ายเอฟเวอร์ตัน เรานึกถึงสโมสรฟุตบอลชลบุรี ที่ต่อยอดมาจากการเป็นสโมสรฟุตบอลระดับนักเรียนมาสู่ระดับอาชีพ มุ่งเน้นเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่และได้รับการชื่นชมว่ามีระบบพัฒนาเยาวชนที่ดีที่สุดในเมืองไทย
  • บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าระบบ HR สามารถนำไปใช้กับธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากบริษัททั่วไปอย่างไร และพิสูจน์ว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้จริง

เอฟเวอร์ตัน (Everton) สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีคที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR
แผนกทรัพยากรบุคคล หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อของ HR (Human Resources) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานเอกสาร, การบริหารเงินเดือน หรือการจ้างพนักงานใหม่อย่างที่คนทั่วไปคุ้นเคยเท่านั้น แต่ระบบ HR เป็นรากฐานของธุรกิจหลากหลายประเภทที่เราอาจคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล, สื่อบันเทิง หรือแม้แต่สโมสรฟุตบอล โดยมีการพิสูจน์ออกมาให้เห็นแล้วว่าระบบ HR ที่ดีจะทำให้บริษัทมีโครงสร้างทางธุรกิจที่ดีขึ้น และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดจนการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน แผนก HR เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ไม่มากนักในวงการฟุตบอล หรืออาจกล่าวได้ว่าบางสโมสรไม่มีแผนกทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ แต่ สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน (Everton) ในพรีเมียร์ลีค ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งพัฒนาระบบ HR จนได้ชื่อว่าแข็งแรงที่สุดในโลก และถือเป็นสโมสรฟุตบอลแรกที่ติดอันดับ “บริษัทที่เหมาะกับการทำงานด้วยมากที่สุด” จาก The Sunday Times 

สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันทำได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้

แนะนำสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน (Everton) ในพรีเมียร์ลีค

สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีคอังกฤษ และเป็นคู่ปรับสำคัญของสโมสรลิเวอร์พูล ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1878 โดยถูกขนานนามว่าเป็น “สโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นครอบครัวที่สุด”  ฉายานี้เกิดขึ้นได้เพราะเอฟเวอร์ตันเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรก ๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ HR ให้ทันสมัย ครอบคลุมทั้งนักเตะ, ทีมงาน และผู้สนับสนุนทุกคนอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้เพราะเอฟเวอร์ตันมองว่าการบริหารสโมสรฟุตบอลแนวใหม่ควรเปลี่ยนจากการออกคำสั่งและควบคุมดูแลมาเป็นลักษณะของพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่เป็นมิตรมากกว่า เพราะหากสโมสรต้องการให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้สึกถึงความเป็นครอบครัว ก็ต้องเริ่มจากการทำให้พนักงานในสโมสรรู้สึกแบบเดียวกันก่อน ดังนั้นระบบ HR ของเอฟเวอร์ตันจึงเป็นแนวทางสำคัญที่สโมสรฟุตบอลมากมายเลือกใช้เป็นแบบอย่าง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจแบบอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีค มีระบบ HR และการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างไร

แม้ความสำเร็จของฟุตบอลจะตัดสินกันด้วยผลการแข่งขันในสนาม แต่การวางรากฐานให้ทีมประสบความสำเร็จนอกสนามควบคู่ไปด้วยก็ถือเป็นอีกหนึ่งชัยชนะที่ทุก ๆ สโมสรจะมองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด และวิธีการเหล่านี้คือสิ่งที่สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันเลือกใช้

1. สโมสรฟุตบอลที่อยากให้ทุกคนเข้าใจระบบ HR : เพราะระบบ HR กับสโมสรฟุตบอลถือเป็นเรื่องใหม่ การสร้างความคุ้นเคยให้กับพนักงานในองค์รวมจึงเป็นสิ่งที่สโมสรต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เหตุนี้พวกเขาจึงกำหนดให้มีฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนประจำการอยู่ที่สนามในวันที่มีการแข่งขัน เพราะถือเป็นวันที่สโมสรต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 1,000 คน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือต้องใช้การประสานงานมากเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อทุกคนตระหนักว่าระบบ HR สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้จริง ก็เป็นเรื่องง่ายที่พนักงานจะเปิดรับแนวทางบริหารทรัพยากรบุคคลรูปแบบอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร (Culture Change) มีวิธีการอย่างไร และทำไปเพื่ออะไร

บริษัทเป็นองค์กรขนาดกลางที่เริ่มก่อตั้งจากธุรกิจครอบครัวและเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ติดตรงที่ระบบหลายอย่างของที่บริษัทยังไม่ทันสมัยทำให้พนักงานใหม่ลาออกกันเป็นจำนวนมาก จึงคิดว่าควรให้ความสำคัญกับการปรับวัฒนธรรมองค์กรอย่างจริงจัง เลยอยากขอคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์

A: การทำ Culture Change ถือเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของ HR ในขณะนี้ แต่จะทำอย่างไรหากองค์กรเองยังไม่รู้เลยว่า Culture ของตนคืออะไร

วัฒนธรรมองค์กรสามารถเรียกอีกอย่างว่าค่านิยมองค์กร (Core Value) หมายถึงสิ่งที่องค์กรคาดหวังให้พนักงานทุกคนมีร่วมกัน อย่างไรก็ตามแม้เราจะได้ศึกษาค่านิยมจากองค์กรใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ก็ไม่แนะนำให้เลียนแบบมาใช้ในองค์กรของเราโดยทันที เพราะแต่ละธุรกิจมีรูปแบบไม่เหมือนกัน มี Stage ของธุรกิจแตกต่างกัน ผมจึงขอแนะนำให้เริ่มด้วยการค้นหา Culture ขององค์กรด้วย 6 ชั้นตอนดังต่อไปนี้

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

2. สโมสรฟุตบอลที่บริหารการเงินอย่างเป็นระบบ : ปัญหาด้านรายได้ของสโมสรฟุตบอลมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ อย่างแรกคือการที่พนักงานบางส่วนยินดีรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าปกติเพราะความรักสโมสรจนขอแค่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมก็พอ และอย่างที่สองคือโครงสร้างของวงการฟุตบอลที่มักมีการซื้อตัวโยกย้ายพนักงานระหว่างสโมสรเป็นประจำ ซึ่งปกติแล้วสโมสรฟุตบอลแต่ละแห่งจะมีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างกัน การเซ็นสัญญาพนักงานใหม่แต่ละครั้งจึงอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารเม็ดเงินได้ ดังนั้นสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีแบ่งลำดับขั้นเงินเดือนเป็น 7 ระดับเพื่อรองรับตำแหน่งงานแต่ละประเภท และกำหนดให้มี “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (Living Wage) เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีเงินเดือนมากพอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมงานกับเอฟเวอร์ตันจะต้องยอมรับโครงสร้างแบบเดียวกันนี้ เพื่อความเป็นธรรมสูงสุดต่อพนักงานของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันทุกคน

3. สโมสรฟุตบอลที่ยอมรับความแตกต่างและสนับสนุนความหลากหลายของพนักงาน (Diversity and Inclusion) : สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันจัดทำโครงการ All Together Now เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในแง่ของสีผิว, เชื้อชาติ, ทัศนคติ, รสนิยม,  ความพิการ เป็นต้น ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวของทุกคน” (Family for Everyone) โดยประโยคนี้จะถูกฉายบนจอโฆษณาอย่างต่อเนื่องในวันที่เอฟเวอร์ตันลงแข่ง ที่สำคัญสโมสรได้จัดทำช่องทางติดต่อฉุกเฉินเอาไว้หากมีพนักงานหรือผู้ชมถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยมีเจ้าหน้าที่พร้อมประสานงานตลอดเวลา เพราะเอฟเวอร์ตันเชื่อว่าแนวคิดนี้คือรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนสนุกไปกับฟุตบอลได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เอาแต่สนเรื่องผลกำไรจนละเลยความเป็นมนุษย์ไปอย่างน่าเสียดาย

4. สโมสรฟุตบอลที่พร้อมดูแลคุณให้ดีที่สุด : สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันคือสโมสรแห่งแรกในพรีเมียร์ลีคที่มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกในอังกฤษที่มีความพร้อมสำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้นมบุตรอีกด้วย โดยสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันได้จัดทำห้องรับรองสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และกำหนดให้พนักงานที่เกี่ยวข้องทุกท่านเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้วิธีอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่, คนพิการ ตลอดจนแนวทางปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันมีความปลอดภัย เหมาะสมกับผู้คนทุกเพศทุกวัย

5. สโมสรฟุตบอลที่อยากให้ทุกคนรักกัน : หลังจากที่สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันย้ายสำนักงานไปที่ตึกใหม่และมีพนักงานบางส่วนรู้สึกว่าสำนักงานใหม่มีขนาดใหญ่เกินไปจนขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทางฝ่าย HR ก็รีบออกแคมเปญชื่อว่า “Pass The Battenberg” ขึ้นมาทันที โดยแคมเปญนี้มีแนวคิดง่าย ๆ แค่การกำหนดให้พนักงานจากแผนกหนึ่งต้องนำขนมปังบัทเทินแบร์ค (ขนมปังแบบดั้งเดิมของอังกฤษ) ไปให้พนักงานในแผนกอื่น ทำสลับแบบนี้ไปทุกสัปดาห์ ซึ่งท้ายสุดแล้วแคมเปญนี้ก็ช่วยให้พนักงานมีโอกาสได้พูดคุย สื่อสารกันมากขึ้น ช่วยลดความกังวลใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ระบบ HR ที่ดีพัฒนาโครงสร้างสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีคได้อย่างไร

1. สโมสรฟุตบอลที่เปลี่ยนสนามให้เป็นศูนย์กลางชุมชน : ในฤดูกาล 2023 – 2024 เอฟเวอร์ตันจะย้ายสนามเหย้าจาก Goodison Park ไปที่บริเวณอู่เรือ Bramley Moore Dock เมืองลิเวอร์พูล ซึ่งมีความจุผู้ชมสูงสุดมากขึ้นกว่าเดิมถึงกว่า 20,000 คน จุดเด่นของสนามแห่งนี้นอกเหนือจากการรองรับผู้ชมทั่วไปแล้ว สโมสรเอฟเวอร์ตันยังจัดทำลานอเนกประสงค์บริเวณนอกสนามฝั่งทิศตะวันออกเพื่อให้ผู้คนในเมืองใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยรองรับคนได้สูงสุดถึง 14,000 คน นอกจากนี้ยังมีศูนย์สุขภาพ ตลอดจนสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้สโมสรหวังว่านโยบายทั้งหมดจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และทำให้แฟนบอลของเอฟเวอร์ตันสัมผัสถึงคำว่า “ครอบครัว” ได้จริง ๆ 

2. สโมสรฟุตบอลที่อยากให้ทุกคนเรียนหนังสือ : สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันมองว่า “กีฬา” สามารถเป็นสื่อกลางให้เด็กหันมาสนใจการเรียนได้ เพราะพวกเขาพบว่ามีเด็กมากมายที่มีศักยภาพแต่ก็อยากทำกิจกรรมอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วยจนโรงเรียนทั่วไปไม่สามารถดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันจึงสร้าง “โรงเรียนทางเลือก” ชื่อว่า Everton Free School โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมืองลิเวอร์พูลเพื่อให้ได้หลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด รองรับนักเรียนอายุ 14 ปีขึ้นไป ภายใต้นโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้น “ความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความรับผิดชอบ และ ความอดทนอดกลั้น”

3. สโมสรฟุตบอลที่วางแผนเพื่ออนาคตเสมอ : ระบบ HR ที่ดีคือการมองเห็นอนาคตที่ชัดเจนของหน่วยงานที่ดูแลอยู่ และนโยบายที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเอฟเวอร์ตันทำมาตลอดก็คือการวางรากฐานเตรียมความพร้อมให้กับสโมสร ทั้งนี้หัวหน้าฝ่าย HR ได้อธิบายว่าการโน้มน้าวให้คนเก่ง ๆ มาร่วมงานกับสโมสรจะทำได้ยากยิ่งหากไม่มีโครงสร้างทางการเงินที่ดี, ไม่มีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม และไม่ทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขแล้วที่เอฟเวอร์ตันด้วยการเพิ่มขนาดออฟฟิศ, สร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ และการวางระบบ HR เอาไว้ในระยะยาว

สโมสรฟุตบอลไทยที่มีระบบ HR ใกล้เคียงกับสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันในพรีเมียร์ลีค

ระบบ HR ของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างสำคัญที่สโมสรทั่วโลกเริ่มนำมาปรับใช้ ในประเทศไทยเองแม้จะยังไม่มีสโมสรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ แต่เรานึกถึงสโมสรฟุตบอลชลบุรี ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรก ๆ ของประเทศที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทั้งทีมฟุตบอลและท้องถิ่นไปด้วยกัน โดยเฉพาะการสนับสนุนเยาวชนที่นานาชาติยอมรับ และเป็นรากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืน สโมสรฟุตบอลชลบุรีมีวิธีการอย่างไร เราจะเล่าให้ฟัง

1. สโมสรฟุตบอลที่วางแผนตั้งแต่วันแรก : ความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลชลบุรีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กลับกันมันเป็นเป้าหมายที่พวกเขาตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก่อตั้งสโมสร กล่าวคือสโมสรฟุตบอลชลบุรีเกิดขึ้นจากการทำทีมฟุตบอลเยาวชนของโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ซึ่งมีนโยบายเปิดรับเด็กที่มีความสามารถจากทั่วประเทศเข้ามาอุปการะทั้งด้านค่าใช้จ่าย อาหาร ที่พัก การศึกษา ตลอดจนเทคนิคฟุตบอลจนประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับฟุตบอลนักเรียน และเพื่อต่อยอดความสำเร็จให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สโมสรก็ต้องก้าวไปสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพเพื่อให้รองรับนโยบายและแผนงานต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

2. สโมสรฟุตบอลที่มองว่าความสำเร็จคือการสร้างคุณค่าให้สังคม : แม้สโมสรฟุตบอลชลบุรีจะเคยได้แชมป์ลีคสูงสุดของไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการบริหารที่มุ่งเน้นเรื่องเยาวชนอาจไม่สามารถต่อสู้กับสโมสรอื่น ๆ ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อซื้อนักเตะฝีเท้าดีจากทั่วโลก จนทำให้สโมสรฟุตบอลชลบุรีต้องตกอยู่ในระดับกลางตารางอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามสโมสรมองว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เพราะแต่ละสโมสรล้วนมีแนวทางสร้างทีมที่แตกต่างกัน ทางชลบุรีเองก็อยู่ระหว่างการรอให้เยาวชนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักแทนรุ่นเก่า ซึ่งด้วยโครงสร้างสโมสรที่วางรากฐานเอาไว้หลายสิบปี พวกเขามั่นใจว่าจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างไร้กังวล

นอกจากนี้ผู้บริหารยังมองว่าวันนี้คุณค่าของสโมสรฟุตบอลชลบุรีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลงานในสนาม เพราะพวกเขามีนโยบายที่สร้างคุณค่าต่อสังคมมากมาย เช่นการโน้มน้าวให้เด็กในจังหวัดสนใจกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย, การเปิดหลักสูตรอมรมผู้ฝึกสอน และที่สำคัญที่สุดคือการ “สร้างอาชีพ” ให้กับคนในจังหวัดผ่านกิจกรรมของสโมสร ดังนั้นการใช้เงินลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ถูกมองว่า “คุ้มค่า” กว่าการจ่ายค่าจ้างให้นักเตะต่างชาติแพง ๆ โดยไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้เลย

เอฟเวอร์ตัน (Everton) สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีคที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR

3. สโมสรฟุตบอลที่เน้นเรื่องการพัฒนาคน : สโมสรฟุตบอลชลบุรีเชื่อมั่นว่าการเป็นนักฟุตบอลที่ดีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการศึกษาและมีทัศนคติที่ดีอีกด้วย ดังนั้นนักเตะเยาวชนทุกคนของสโมสรจะมีโรงเรียนประถมและมัธยมรองรับ นอกจากนี้ยังมีสโมสรฟุตบอลในเครือหลายระดับเพื่อให้นักเตะเยาวชนทุกคนสามารถเข้าแข่งขันได้ตามศักยภาพที่มี ซึ่งการให้เยาวชนเจอกับสถานการณ์จริงแบบนี้ได้ช่วยให้นักเตะมีพัฒนาการที่โดดเด่นขึ้น โดยสโมสรจะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งค่าจ้างโค้ชและทีมงาน ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าดูแลสนาม ค่าน้ำมัน ค่าแม่บ้าน และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่เดือนละประมาณ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้คุณ อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้ก่อตั้งสโมสร ได้กล่าวกับสื่อ Main Stand เอาไว้ว่า “เราภูมิใจทุกครั้งที่นักเตะที่เราปั้นขึ้นมาได้ก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่หรือมีโอกาสได้ติดทีมชาติไทย และถึงแม้ว่าเราจะต้องเสียเงินปีละเป็นสิบล้านเพื่อทำอคาเดมีแล้วมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเล่นให้กับชลบุรีได้ แต่พวกเขายังสามารถใช้ทักษะฟุตบอลที่ฝึกฝนมาลงเล่นให้กับสโมสรอื่น ๆ และเป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อวงการฟุตบอลไทยในอนาคตแน่นอน”

บทสรุป

การแข่งขันฟุตบอลไม่ว่าจะในระดับใดก็ตามย่อมตัดสินความสำเร็จกันด้วยผลแพ้ – ชนะ แต่ท้ายสุดแล้วไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร พนักงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ต่อไป ดังนั้นการมีรากฐานที่ถูกต้องแข็งแรงจึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้การต่อยอดความสำเร็จหรือการฟื้นฟูจากความผิดพลาดสามารถทำได้ง่ายขึ้นแน่นอน และสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันก็กำลังอยู่บนเส้นทางดังกล่าวในฐานะสโมสรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ HR และเป็น “สโมสรฟุตบอลของประชาชน” (The People’s Club) ที่จะคอยสนับสนุนกันและกันต่อไปอีกนานเท่านาน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง