Search
Close this search box.

“ถ้าอยากพัฒนามนุษย์ เราต้องเข้าใจคุณค่าของมนุษย์ก่อน” สัมภาษณ์ อ.พลกฤต โสลาพากุล กับประเด็น HROD ในยุค NEXT Normal

HIGHLIGHT

  • HROD คือการพัฒนาทั้งระบบครับ ไม่ว่าจะเป็นระบบงาน HRM หรือ HRD ก็ตาม เป็นการมองที่เป็นภาพใหญ่ขององค์กรเป็นหลัก
  • หนึ่งทักษะที่จำเป็นในงาน HR ก็คือทักษะเรื่องการโค้ชนะครับ เหมือนการเป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเพื่อนคุยเมื่อพนักงานมีปัญหา HR ต้องอย่าไปซ้ำเติมด้วยวิธีการลงโทษอย่างเดียว
  • ถ้า HR มี Mindset ดี เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วพอปรับเปลี่ยนเสร็จเราก็จะได้ทักษะใหม่ และได้มุมมองใหม่ ๆ ในการบริหารคน
  • ผมอยากให้มองที่คุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่า ๆ กัน เราควรให้เกียรติทุกคนเท่ากัน เพราะคนคนหนึ่งสามารถพัฒนาได้มากกว่านั้นนถ้าเราให้ใจ ให้ความเข้าใจเขา และให้ความเป็นมนุษย์กับเขา 

ในยุคที่ New Normal กลายเป็นเรื่องปกติ จนเกิดคำใหม่ที่เรียกว่า NEXT Normal เป็นความปกติทั่วไปที่ทุกคนต้องปรับตัว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ New Normal อีกต่อไปแล้ว

HREX ได้พูดคุยกับ อ.พลกฤต โสลาพากุล สมาชิก HR Community เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR เข้าด้วยกัน และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มี Engagement มากที่สุดในเว็บบอร์ด จนได้รับเลือกเป็น HR of The Month ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ 

สัมภาษณ์ ​พลกฤต โสลาพากุล coachphonkrit

อ.พลกฤต เป็นวิทยากรด้านการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาคน ผู้ที่บรรยายพิเศษมาแล้วมากกว่า 300 องค์กร และเป็นอาจารย์พิเศษทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพูดคุยถึงการเตรียมพร้อมและรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะมุมมองของ HROD (Human Resource and Organization Development) ในยุค NEXT Normal ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

เขามีความเชื่อว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด การพัฒนาที่ดีที่สุด ต้องเริ่มต้นจาการพัฒนาคน เพราะคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จเสมอ และนั่นคือสิ่งที่เราจะคุยกับ อ.พลกฤต โสลาพากุล ในวันนี้

HROD กับการพัฒนาองค์กร

อาจารย์มีความเชื่อว่า “การพัฒนาที่ดีที่สุด ต้องเริ่มต้นจาการพัฒนาคน” ทำไมถึงเชื่ออย่างนั้น

ผมเชื่อว่าการพัฒนาคนเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทั้งปวง ผมยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์นะครับ ที่มีพื้นที่ประมาณ 700 กว่าตารางกิโลเมตรซึ่งน้อยมาก น้อยกว่าจังหวัดระยองหรือจังหวัดชลบุรีบ้านเราอีก แต่เขามีประชาชนหรือประชากรอยู่ประมาณ 5-6 ล้านคน ซึ่งสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำดื่ม พื้นที่เพาะปลูก หรือที่อยู่อาศัย แต่สิงคโปร์มองว่า ถ้าจะพัฒนาประเทศก็จะต้องพัฒนาที่บุคลากรหรือประชาชน เขาเรียกว่า Human Capital

คือคนคนหนึ่งของสิงคโปร์ทำงานเทียบเท่าคนไทยได้เป็นสิบเป็นร้อยคน เพราะว่าคนของเขามีศักยภาพและมีความรู้ พอเขาลงทุนในคนปุ๊บ คนคนหนึ่งสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และสามารถสร้างอิมแพคได้ ผมจึงคิดว่าการพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนมีเลือดมีเนื้อ มีจิตใจ ถ้าเราไม่ให้คุณค่าของคน แต่ให้คุณค่าของเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี คนก็จะไม่มีความหมาย ฉะนั้นคนควรเป็นปัจจัยเริ่มต้นในการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างครับ

ในสาย HR เราจะมักได้ยินคำว่า HRD และ HRM กันบ่อย ๆ แล้ว HROD คืออะไร อยากให้อาจารย์อธิบายคร่าว ๆ ให้ฟังหน่อย

HROD เป็นการพัฒนาบุคลากรที่เน้นเรื่องขององค์กรครับ โดยจะเน้นไปที่ประสิทธิภาพขององค์กร ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว พูดง่าย ๆ คือเน้นภาพรวมของกระบวนการทำงานเป็นทีมหรือโครงสร้างองค์กรว่าเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ มีเรื่องอะไรที่ต้องปรับบ้าง เช่น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรก็ต้องดูว่า คนในองค์กรสมมติมีคนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ บางทีคนรุ่นเก่าไม่พร้อมที่จะปรับไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน เราก็จะใช้กระบวนการของ HROD เข้ามาจัดการการเรียนรู้ ค่อย ๆ เปลี่ยนโดยอาจจัดทำ KM (Knowledge Management) ควบคู่ไปด้วย

เอาง่าย ๆ คือเปลี่ยนจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง โดยมองที่การพัฒนาทั้งองค์กร ไม่ว่าในเรื่องคนหรือเรื่องของระบบโครงสร้างการทำงานเอง นี่คือเรื่องของ OD นะครับ เป็นการมองกว้างขึ้นมากกว่าแค่การพัฒนาคน แต่รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรด้วย

การมองว่า HR ไม่ใช่แค่การพัฒนาคน แต่มีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรด้วย มุมมองนี้เริ่มต้นมาได้อย่างไร

คือตัวงาน HROD มันคล้าย ๆ กับเอา HRD กับ HRM มารวมกัน เพราะโครงสร้างองค์กรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะยุค New Normal ที่คำคำนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว อาจต้องใช้คำว่า NEXT Normal ที่ทุก ๆ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ ถ้าองค์กรไหนไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้

ส่วนงาน HROD คือ HR บางคนต้องมี Multi-skill เราอาจไม่ใช่เป็นแค่ HRD ที่พัฒนาจัดฝึกการอบรมอย่างเดียว แต่เราต้องมองเรื่อง OD หรือการพัฒนาองค์กรด้วย ทำยังไงให้องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น เมื่อทักษะคนเพิ่มขึ้น ทักษะองค์กรก็เพิ่มขึ้น สามารถสร้างผลลัพธ์ให้องค์กรได้เพิ่มขึ้น แล้วก็ต่างจาก HRM ที่เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผนกำลังคน การสรรหา การรับสมัครงาน การประเมิน การจัดค่าบริหาร ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานได้รับ ฯลฯ

ฉะนั้นงาน HROD คือการพัฒนาทั้งระบบครับ ไม่ว่าจะเป็นระบบงาน HRM หรือ HRD ก็ตาม เป็นการมองที่เป็นภาพใหญ่ขององค์กรเป็นหลัก

ในฐานะอาจารย์ที่บรรยายมาแล้วหลายบริษัท อาจารย์สังเกตได้ไหมว่าแรงงานหรือคนทำงานในประเทศไทยกำลังขาดอะไรอยู่

ถ้าพูดถึงแรงงานไทยที่ขาด ผมจะย้อนมองไปตั้งแต่ระบบการศึกษาเลยครับ เพราะระบบการศึกษาของไทยถูกออกแบบมาให้คนท่องจำ แต่ว่าไม่ได้ถูกฝึกมาให้คิด ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อแก้ไขปัญหา คือเอาง่าย ๆ คนที่จบมาจึงรักที่จะทำงานสบาย แต่ไม่ชอบพัฒนาตัวเองเท่าไหร่ นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นอยู่ทุกวันนี้ คือคนเลือกงาน แล้วก็มองงานเป็นความสบายมากกว่า

ขณะที่วงการ HR ต้องเผชิญหน้ากับการปรับเปลี่ยน การถูก Disrupt โดยสภาพแวดล้อม, เทคโนโลยีหรือแม้แต่กฎระเบียบต่าง ๆ อะไรที่เข้ามา ผมยกตัวอย่าง ช่วงเกิด COVID-19 ทุกคนต้องทำงาน Work from home HR บางคนยังถามว่า “เราจะมีวิธีการติดตามพนักงานอย่างไร” ผมก็เกิดข้อสงสัยทันทีว่าทำไมต้องไปติดตามเขา เพราะถ้า HR ไปมุ่งเน้นไปติดตามเฉพาะเรื่อง Attendance เช่น Check-in Check-out มันจะประโยชน์อะไร?

เราต้องมองที่ผลลัพธ์ก่อนนะครับ สำหรับคนทำงานที่เป็น Officer, Creative Thinking หรือในส่วน Back Office ยกเว้นคนที่ทำงานในไลน์การผลิต ที่อาจต้องมีการเช็คเวลา 8 โมงถึง 17 นาฬิกา แต่คนที่ทำงานอยู่ในส่วนออฟฟิศมันไม่จำเป็นต้องไปจับเวลาเขาขนาดนั้นก็ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนแล้ว มองที่ผลลัพธ์จะดีกว่า

สัมภาษณ์ ​พลกฤต โสลาพากุล coachphonkrit

HRD กับการพัฒนาทักษะ

ถ้าอย่างนั้นในมุมมองของ HROD เมื่ออนาคตที่คนกำลังจะหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น Skillset อะไรที่สำคัญและตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้

Skillset ที่สำคัญที่ตอบโจทย์ใน NEXT Normal สิ่งแรกคือ Mindset ก่อนครับ เพราะ Mindset เป็นตัวเริ่มต้นเลย หมายถึงความคิดทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นความคิดดีที่อยากเปลี่ยนแปลง ความคิดที่อยากปรับเปลี่ยน เพราะต้องบอกว่าการเรียนในชั้นเรียนกับโลกทำงานมันคนละเรื่องกัน

ถ้าอยู่ในระบบการศึกษามันทำงานตามกระบวนการของอาจารย์ที่มอบหมาย มีแก้ไข มีการตัดเกรด มีการติด F แต่ชีวิตการทำงานต้องเจอแต่ปัญหา ต้องเจอผู้คน ต้องเจอหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ เราจะต้องปรับตัวให้ทัน มันไม่มีอะไรเป็นดั่งใจเราทุกอย่างหรอก ถ้าคุณไม่ปรับตัว คนไหนไม่พัฒนาตัวเอง ยังยึดติดอยู่กับเดิม ๆ มันก็อยู่ยาก

เอาง่าย ๆ เลยอย่างตำแหน่ง HR ถ้าเราบอกว่า HR จะต้องมีความรู้แค่เรื่องการทำเงินเดือน การฝึกอบรบ การจัดทำประเมินผล แบบนี้ก็ไม่ได้แล้ว HR ต้องแอคทีฟตัวเองด้วย อบรบไปแล้วได้อะไร ต้องไปคิดโจทย์ต่อนะครับ เพราะทักษะแบบเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว มันจะต้องมีหลายทักษะ

แล้วตัว HR เองล่ะ ต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง

ผมให้น้ำหนักไปทาง Softskill มากกว่า ผมดูงานวิจัยเขาสำรวจมาว่า หนึ่งทักษะที่จำเป็นในงาน HR ก็คือทักษะเรื่องการโค้ชนะครับ เหมือนการเป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเพื่อนคุยเมื่อพนักงานมีปัญหา HR ต้องอย่าไปซ้ำเติมด้วยวิธีการลงโทษอย่างเดียว แต่เราอาจต้องเป็นเพื่อนคุยเพื่อหา Fact-finding ที่แท้จริงว่า มันเกิดปัญหาอะไร?

ผมเลยอยากเสริมเรื่องของการสร้าง Mindset เพื่อสร้างระบบนิเวศในการทำงานที่ดี ให้ทุกคนรู้สึกว่า HR เป็นที่พึ่งได้ สามารถคุยได้ สามารถปรึกษาได้ ไม่ใช่มาตามจับผิดหรือมาตามงานฉัน HR จะต้องไม่จู้จี้จุกจิกมากเกินไป เพราะพนักงานบางคนมอง HR อย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้นอะไรหย่อนได้ก็หย่อน อะไรที่มันยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่นครับ

ในสถานการณ์ COVID-19 สิ่งที่ HR ควรเรียนรู้ทักษะอะไรเพิ่มเติมไหม

สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้คือเรื่องเทคโนโลยี แล้วก็อย่างที่บอกว่าเรื่องการปรับ Mindset ตัวเอง หลายคนยังยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ ว่าดีกว่า ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแล้วรู้สึกอึดอัด เพราะต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคนมันส่งผลกระทบต่อคนคนนั้นจริง ๆ นะ เช่น ฉันเคยทำงานสะดวกสบาย แต่คุณจะเอาเรื่องนี้มาใส่ให้ฉัน ฉันก็ไม่อยากทำอะไร คือเปิดใจที่จะเรียนรู้เถอะ ถ้า HR มี Mindset ดี เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วพอปรับเปลี่ยนเสร็จเราก็จะได้ทักษะใหม่ และได้มุมมองใหม่ ๆ ในการบริหารคน

Mindset ที่ว่ามีอะไรบ้างที่อยากให้โฟกัสเป็นอันดับแรก

เรื่องของการให้คุณค่าผู้อื่นครับ ผมเคยเจอ HR ที่มองพนักงานเป็นแค่พนักงาน มอง HR เป็นผู้ปกครองคน ฉันมีอำนาจมากกว่า แต่ผมอยากให้มองที่คุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่า ๆ กัน เราควรให้เกียรติทุกคนเท่ากัน เอาง่าย ๆ เวลาทำงานอยู่กับคนอื่น เราอาจจะเป็น HR อาจจะเป็นหัวหน้าก็แล้วแต่ แต่เราต้องให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย เพราะถ้าเราให้คุณค่าความเป็นมนุษย์กับเขาเมื่อไหร่ เวลาเราจะขอความช่วยเหลือหรือการประสานงานต่าง ๆ ผมจะบอกว่ามันง่ายขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่ HR ต้องปรับเลยแหละ เหมือนที่อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เขามองความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ HR อย่างเดียวนะ ทั้งผู้นำ ผู้บริหารหรือคนทำงานในสายอาชีพอื่นทุกคน

ผมอยากย้ำเรื่องความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่าคนเพราะมันสำคัญนะครับ เพราะคนคนหนึ่งสามารถพัฒนาได้มากกว่านั้นนะครับ บางคนถ้าเราให้ใจ ให้ความเข้าใจเขา ให้ความเป็นมนุษย์กับเขา เขาจะให้เรากลับมาหลายเท่ามาก นี่คือสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้แล้วได้รับกลับมา ผมคอนเฟิร์มว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ 

ในสาย HRD ช่วง Work from home มีแนวทางในการพัฒนาคนแบบทางไกลที่ง่ายที่สุดวิธีไหนบ้าง

วิธีการพัฒนาคนทางไกลนะครับ อาจต้องมอบหมายงานแล้วให้อิสระในการคิ โดยที่เราเน้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญนะครับ โดยอาจจะใช้วิธีการพูดคุยกับเขาแบบสบายใจ เช่น ฉันมอบหมายงานนี้ให้คุณนะ แต่ฉันไม่ได้สนใจเรื่องเวลาของคุณหรอก ขอแค่ให้ส่งงานให้ตรงเวลาก็พอ คือถ้าเราให้อิสระเขา เขาจะมีวิธีคิดหรือวิธีการมากมายในการสร้างสรรค์งานให้ออกมาได้ดี

แล้วถ้ามองในฐานะผู้นำองค์กร เราจะประเมินการทำงาน HR ในช่วงนี้อย่างไรได้บ้าง

การประเมิน HR คือการทำให้พนักงานทุกคน Engagement ในการทำงานมากขึ้นหรือเปล่า หมายถึงว่างานแต่ละงานที่มอบหมายหรือได้รับนั้น เขาทำออกมาได้ดีหรือเปล่าเท่านั้นเองครับ การวัดไม่ได้วัดในเชิงปริมาณนะ แต่วัดในเชิงคุณภาพ เพราะถ้าวัดเป็นตัวเลขมันไม่เมกเซนส์อะ ผมกำลังจะบอกว่าตัวเลขมันไม่ได้บ่งบอกว่า คนคนนั้นมีคุณภาพ ฉะนั้นการวัดในเชิงคุณภาพก็คือการให้เขาทำงานแล้วรู้สึกสบายใจ รู้สึกมีความครีเอทีฟ รู้สึกว่ามี Passion ผมมองแบบนั้นมากกว่าครับ

สัมภาษณ์ ​พลกฤต โสลาพากุล coachphonkrit

HRM กับ HR กลยุทธ์

สุดท้ายอยากชวนคุยในมุม HRM กันบ้าง เพราะที่ผ่านมาทุกคนพูดถึงการพัฒนาทักษะ Reskill Upskill กันเยอะมาก แต่ HR เชิงกลยุทธ์พูดกันน้อยมาก ๆ อยากให้อาจารย์อธิบายหน่อยว่า ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา HR เชิงกลยุทธมีอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

เราต้องคิดในเชิงผู้บริหารนะครับ เอาองค์กรเป็นตัวตั้ง หมายถึงว่าวิสัยทัศน์องค์กรช่วงนี้ควรใช้กลยุทธ์แบบไหน เช่น ถ้าช่วงที่ COVID-19 กระทบกับองค์กรมาก ๆ เราอาจะใช้กลยุทธ์ในการดูแลคนให้รู้สึกว่าอยากทำงาน มี Passion หรือมีไฟ เพราะช่วงนี้คนต้องการกำลังใจ ต้องการคำพูดดี ๆ ตอ้งการสิ่งที่ไปเสริมให้เขาสะดวกสบายในการทำงาน HR เองจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้พนักงานรู้สึกว่าเขาทำงานแล้วมีพื้นที่ปลอดภัย สร้างระบบนิเวศในการทำงานร่วมกันที่ดี

มันก็เหมือนการอยู่ในสังคมนั่นแหละครับ เราต้องการอยู่ในสังคมแบบไหนล่ะ สังคมที่มีการแบ่งปันกันไหม สังคมที่มีการรับฟังกันไหม หรือสังคมที่มีการ Feedback กันไหม มีการชื่นชมกันบ้างไหม สิ่งเหล่านี้จำเป็นก็ตามแต่ละสถานการณ์ของแต่ละองค์กร

ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์ก็คือหาวิธีการว่า ช่วง COVID-19 นี้เราจะทำยังไงให้พนักงานไม่ Panic ไม่เครียด ไม่กังวลกับเรื่องต่าง ๆ เราในฐานะ HR ต้องทำให้เขามีกำลังใจ สร้างแรงจูงใจในการทำงาน พนักงานบางคนอาจเกิดความเครียดเบื่อหน่าย HR ก็สามารถโทรไปคุยหน่อยไหมว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง ถ้าเรามีความจริงใจให้เขา เขาก็จะจริงใจตอบโต้กลับมาเหมือนกัน

มีกลยุทธ์อะไรที่ล้าสมัยหรือใช้ไม่ได้แล้วบ้าง

อย่างที่บอกไปครับ การตามงาน แล้วก็การ Check-in คนเข้า-คนออก ผมว่าเราไม่น่าใช้แล้วสำหรับคนที่ Work From Home นะครับ มัน Out ไปแล้ว ให้เวลาเขาไปเถอะในการสร้างสรรค์งานแล้วก็ส่งตามแผนงานตามเวลาที่กำหนด แค่นั้นเอง

แล้วมีกลยุทธ์อะไรที่โดดเด่นหรือเกิดใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้บ้างไหม

คงเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากกว่านะครับ การสื่อสารจะทำให้รู้สึกว่าทุกคนมีความสำคัญ โดยเฉพาะ HR ต้องมีช่องทางสื่อสารในการถามไถ่พนักงาน อัปเดตเรื่องจำเป็นหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มันต้องมีวิธีการใหม่ ๆ ที่เข้าถึงทุกคนได้เร็วและง่ายที่สุดในช่วง Work From Home นี้ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกสบายใจว่า HR สามารถเป็นที่พึ่งได้

ถ้าให้ทำนายในอนาคตยุค NEXT Normal ในสายงาน HRM ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

หนึ่งเลยคือการเตรียมใจในการปรับเปลี่ยน เพราะว่าการปรับเปลี่ยนมันเกิด Impact แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกคิดต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องของวิธีการทำงานก็จะเปลี่ยนไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเสริมเข้าไปก็คือ HR จะต้องส่งเสริมให้พนักงานรู้จักดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี แล้วก็เรื่องของคำพูดคำจาเวลาจะสื่อสารกับผู้อื่น ถ้าสื่อสารแล้วมันไปกระทบคนอื่นก็ต้องขอโทษให้เป็น มันเป็นวิธีการธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมากมาย ผมจะใช้คำว่า Learning แล้วก็ Doing แล้วก็ Develop สุดท้ายก็คือการ Response เป็นหลักง่าย ๆ ในการทำงานต่อไปครับ

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง