สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงานเสวนา Generative AI and the future of HR : Replacement vs Improvement

HIGHLIGHT

  • Generative AI ในปัจจุบันเติบโตขึ้นมาก เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเครื่องมือนี้ได้อีกต่อไป เพราะหากเราไม่รู้ทันเทคโนโลยี ก็มีโอกาสูงมากที่เราจะถูกแทนที่ แต่หากเรารู้ทัน เราก็สามารถใช้มันเป็นเครื่องมือ (Tools) ที่เกิดประโยชน์ได้เลย
  • HR ในปัจจุบันต้องมีความสามารถในการแยกแยะว่าเรื่องใดเป็นความจริง (Fact) เรื่องใดเป็นข้อมูลที่มีอคติ (Bias) เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพที่สุด
  • Generative AI คือ Co-Pilot ของเรา มันมีความสามารถมากก็จริง แต่ก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่มนุษย์สอนเข้าไป จึงเป็นเหมือนคนหาข้อมูล (Researcher) ขณะที่เราคือผู้ที่หยิบข้อมูลมาใช้อย่างระมัดระวัง 
  • ทักษะที่จำเป็นของพนักงานในยุค AI ประกอบด้วยทักษะในการสื่อสารกับ AI, ทักษะด้านจินตนากรร และทักษะด้านการเป็นผู้นำ
  • ก่อนใช้ AI แต่ละครั้ง ต้องตรวจสอบก่อนว่า AI ดังกล่าวน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยหรือไม่ มิฉะนั้นก็อาจทำให้ข้อมูลที่เป็นความลับ (Confidential) ของเราถูกเข้าถึงโดยไม่รู้ตัว

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ทาง ETDA Thailand ได้จัดเสวนาในหัวข้อ AI Governance Webinar Season 2 EP.3 – Generative AI and the future of HR : Replacement vs Improvement เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ และตอกย้ำให้เห็นว่าโลกการทำงานในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเติบโตของเทคโนโลยีได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของ Generative AI ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกระบวนการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิง 

งานเสวนานี้จะทำให้เราเห็นว่าในวันที่การทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น KPI เดิมที่เคยมีจะยังเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ และควรปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการเติบโตของ Generative AI อย่างไร กล่าวได้ว่าเมื่อคุณฟังเสวนาครั้งนี้จบ เราจะรู้จักวิธีใช้งาน AI ให้เหมาะสม สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล สามารถบูรณาการความรู้ และอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

รายชื่อผู้ร่วมเสวนา

– ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA 

– คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ที่ปรึกษาอิสระ งานพัฒนาศักยภาพ ธุรกิจ องค์กร และบุคลากร อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารทรัพยากรบุคคลบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด 

– คุณธีรภาพ ตระการผล เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “HR ข้างบ้าน”

– ดร.สุขยืน เทพทอง ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กรปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาการบริหารจัดการองค์กร หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Generative AI คือ AI ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model เป็นประโยชน์ทั้งในแวดวงงานเขียน, การสร้างงานศิลปะ, การสร้างสรรค์วีดีโอ หรือแม้แต่การวางแผนงานด้านการบริหารบุคคล (HR) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่เราจะพูดถึงในงานเสวนาครั้งนี้

คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ กล่าวว่าเรื่อง AI ถูกใช้ในเรื่อง HR มานานแล้ว เช่นเรื่องของ Chatbot และเรื่องของการวิเคราะห์ (Analytic) ต่าง ๆ และพอมาถึงปี 2023 เรามี Generative AI ที่เติบโตขึ้นมาก เราสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยได้ในแง่มุมที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่นการช่วยเขียน Job Description, ช่วยคัดเลือกเรซูเม่, การสร้างสรรค์ Onboarding Program, การสร้างภาพลักษณ์ (Branding) และสำคัญที่สุดคือการสร้าง Employee’s Experiences ที่ช่วยให้พนักงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ คุณชุติมาจึงมองว่าการเติบโตของ AI คือเรื่องของโอกาส (Opportunity) มากกว่าเป็นเรื่องที่ HR ต้องมานั่งกังวล

HR ในปัจจุบันต้องมีความสามารถในการแยกแยะว่าเรื่องใดเป็นความจริง (Fact) เรื่องใดเป็นข้อมูลที่มีอคติ (Bias) เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพที่สุด

ดร.สุขยืนกล่าวว่า AI ในปัจจุบันสามารถใช้ได้กับทุกสายงาน HR  และอาจมีอิทธิพลถึงขั้นกำหนดความเป็นความตายขององค์กรเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นหากวันนี้คุณยังไม่เคยใช้ AI เลยสักครั้ง คุณกำลัง “ตกยุค” เพราะนี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เรามีศักยภาพในการแข่งขัน เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุค AI อย่างเป็นทางการ

เมื่อเราเข้าสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์ เราก็ต้องมี Competitive Advantage เช่นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนที่มีที่ดินก็จะได้เปรียบ, ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนที่มีเครื่องจักรก็จะได้เปรียบ เป็นต้น ทว่าปัญหาของตัวอย่างข้างต้นคือการเข้าถึงที่ดิน, เครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์ในยุคหลังไม่ใช่สิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน แต่หากมองเรื่องของ AI ในปี 2023 นี่คือสิ่งที่เราเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้ว และจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในปี 2025 ทุกคนจะใช้ AI ในชีวิตประจำวัน เราจึงต้องศึกษาจนชำนาญให้เร็วที่สุด หากไม่อยากเจอ “ความเสี่ยง” ในการทำงาน

คุณธีรภาพกล่าวเสริมว่า Generative AI มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งต่างจากเครื่องมือในสมัยก่อนที่ต้องใช้เวลาพัฒนาครั้งหนึ่งหลายปี อย่างไรก็ตาม AI ยังมีจุดอ่อนที่น่ากังวลก็คือเรื่องการเก็บข้อมูล เพราะเราไม่รู้เลยว่าฐานข้อมูลของมันอยู่ที่ไหน การใส่ข้อมูลส่วนตัวเข้าไปจะนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยทางข้อมูล (Privacy / Security) หรือไม่ ซึ่งผู้บรรยายกล่าวว่าการใช้ AI แต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องนั้น ๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูล (Verify) เบื้องต้น อย่าเอาข้อมูลมาใช้โดยทันทีเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามคุณศักดิ์กล่าวว่า แม้ข้อมูลจะใช้อ้างอิงแบบ 100% ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือการเพิ่มทักษะในการพิจารณา ต้องรู้จักฉุกคิดเมื่อเห็นข้อมูลที่น่าสงสัย เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้อย่างตรงจุด และได้ข้อมูลที่นำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ดีที่สุดต่อไป เราจึงต้องมีความรู้เรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ต้องมีวิจารณญาณ และสำคัญที่สุดคือต้องหัดใช้ อย่าไปกลัวและหลีกเลี่ยงมันเด็ดขาด 

คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ เล่าต่อว่าเราไม่ควรมานั่งกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์หรือไม่ เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องเอามาใช้เพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เราต้องไม่กลัวเทคโนโลยี และต้องเชื่อว่าหากเราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนมนุษย์ไม่ได้ เราต้องคิดว่า Generative AI คือ Co-Pilot ของเรา มันมีความสามารถมากก็จริง แต่ก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่มนุษย์สอนเข้าไป ซึ่งแน่นอนว่ามีอีกหลายส่วนมาก ๆ ที่ AI ไม่ได้ถูกสอน หรือพัฒนาความรู้ของมันเองผ่านองค์ความรู้ที่ผิดพลาด สรุปง่าย ๆ ว่า Generative AI เป็นเหมือนคนหาข้อมูล (Researcher) ขณะที่เราคือผู้ที่หยิบข้อมูลมาใช้อย่างระมัดระวัง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า Generative AI จะส่งผลต่อตำแหน่ง HR บางอย่างจริง ๆ เช่นงานแอดมินที่อาจโดน AI Automate ทำแทนทั้งหมด ในกรณีนี้เราต้องตรวจสอบตัวเองว่าจะวางแผน Career Path ใหม่อย่างไร ขณะที่ HR ก็ต้องหาทางออกให้กับบุคลากรเดิมด้วยว่าจะสามารถโยกย้าย (Career Transition) หรือควรจัดอบรมโดยเน้นไปที่เรื่องใด หากต้องการให้บุคลากรของเราอยู่รอดในตลาดแรงงาน

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ HR ต้องสามารถบริหารบุคลากรให้เห็นความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ และสามารถใช้ AI ได้อย่างเต็มความสามารถ โดยคุณศักดิ์กล่าวว่า AI ก็มีข้อผิดพลาดที่อันตรายได้เช่นกัน เช่นเรื่องของการคัดเลือกบุคลากร (Recruiting) ที่มีกรณีของการตัดสินคนอย่างมีอคติ (Bias) ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้ว เราจะไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่ามันมาจากไหน ต่างจากอคติของคน (Bias) ที่ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้เป็นปกติเวลาคัดเลือกผู้สมัคร แต่กรณีของคนนั้น เราสามารถตรวจสอบได้, ตระหนักรู้ถึงมันได้ และสามารถแก้ไขได้มากกว่าอคติของ AI การพิจารณาโดยมนุษย์จึงมีความลึกซึ้งกว่า

การพิจารณาบุคลากรในปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบโดยรวม ไม่ได้สนใจแค่เรื่องของชื่อมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เพราะความรู้เดิม ๆ หมดอายุเร็วมาก เราต้องมีทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง HR สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัฒนธรมองค์กรได้เลย โดยอ.ศักดิ์ย้ำอีกครั้งว่าก่อนที่จะนำ AI มาใช้ เราต้องมีเป้าหมาย (Purpose) ก่อนเสมอ นี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้เราเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง

คุณชุติมา เน้นย้ำว่าปัญหาที่ต้องกังวลคือเราต้องไม่ใช้ AI ผิดประเภท เช่นปัจจุบันมี AI ที่ช่วยบันทึกการประชุมและสามารถระบุได้เลยว่าพนักงานคนไหนพูดว่าอะไร และพนักคนไหนมีส่วนร่วมมากหรือน้อย แต่องค์กรก็ไม่ควรเอาผลลัพธ์ดังกล่าวมาตัดสินว่าพนักงานมีความใส่ใจองค์กรน้อยกว่าที่ควร เราต้องมองมันอย่างเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต้องมองให้เห็นบริบทในภาพรวมให้ได้ เช่นรู้ว่าคนไทยอาจไม่ได้ตอบคำถามหรือยกมือในที่ประชุมเพียงเพราะรู้สึกเกรงใจ ไม่อยากขัดหัวหน้า ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความรู้หรือไม่อยากมีส่วนร่วมกับงานแต่อย่างใด หากเราตัดสินเพราะคิดไปเองว่าพนักงานไม่สนใจงาน ก็ถือเป็นการด่วนสรุปที่ผิดธรรมาภิบาล

งานใดที่ไม่ได้มีผลต่อคุณค่า (Value) ขององค์กร ก็ให้ใช้ AI ทำได้เลย แล้วค่อยเอาคนไปใช้ในงานที่ส่งผลกระทบ (Impact) ต่อองค์กรดีกว่า ขณะที่ดร.ธีรภาพกล่าวว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Digital Transformation เป็นพิเศษ โดยวิธีที่เขาเลือกใช้คือการสอบถามกับทีมที่ทำงานเขียน (Content Writer) ว่างานที่เอามาส่งนั้น “เขียนดีกว่า AI อย่างไร” ซึ่งผู้เขียนก็ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ในทุกครั้งที่ส่งงาน วิธีนี้จะทำให้เรารู้จักปรับรูปแบบงานเขียนของตัวเอง และสามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้จริง 

เรื่องที่สำคัญต่อมาก็คือการวัดผล และ Performance Management เราไม่สามารถมองแค่ว่า “คนที่เก่งเรื่อง AI คือคนที่ทำงานได้ดีกว่า” แต่ต้องมองในภาพรวมให้ชัด เช่นดูว่าพนักงานสามารถนำ AI มาช่วยงานได้ไหม สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเพื่อทำงานให้ดีและเร็วขึ้นได้หรือเปล่า

ดร. สุขยืนมองว่าทักษะที่จะเป็นของบุคลากรในยุคของ AI มีดังนี้

– ทักษะการสื่อสารกับ AI (Prompt Engineering)

– ทักษะด้านจินตนาการ (Imagination)

– ทักษะด้านภาวะผู้นำ (Leadership) เพราะคนที่เก่งเรื่อง AI มักเป็นคนที่เป็นผู้นำ สามารถกำกับเนื้อหาที่ใส่เข้าไปเพื่อ Generate ชิ้นงานให้ออกมาดีที่สุด

คุณชุติมาบอกว่าเราต้องไม่คิดว่าทุกคนเป็น Digital Citizen ต้องคิดก่อนว่าทุกคนจำเป็นต้องได้รับความรู้เพิ่มเติมเสมอ เพราะ HR ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเอาแต่สนใจว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ยังไม่ได้ยกระดับบุคลากรให้รู้เท่าทันแม้แต่น้อย เราจึงต้องให้ความรู้ทั้งเรื่องของวิธีใช้ และอธิบายให้เห็นภาพว่าเครื่องมือดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในองค์กรอย่างไร เพราะคงไม่ดีแน่หากเราลงทุนกับเทคโนโลยีไป แต่พนักงานส่วนใหญ่ยังคงต้องทำงานด้วยวิธีแบบเดิม

คุณธีรภาพกล่าวทิ้งท้ายว่าเวลาจะใช้ AI แต่ละครั้ง เราต้องเช็คเสมอว่า AI ที่เราใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ เพราะมี AI บางตัวที่สามารถเก็บเสียงหรือภาพของผู้พูดเพียงไม่กี่วินาที ไปดัดแปลงเป็น Deepfake ได้ง่าย ๆ ดังนั้นในการใช้เทคโนโลยีทุกอย่าง เราต้องศึกษาด้วยว่ามันมีความเสี่ยงที่ต้องกังวลอย่างไรบ้าง จะได้รู้จักรับมือและประเมินเบื้องต้นว่าหากเกิดกรณีไม่คาดฝันขึ้น เราจะอยู่กับสถานการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่นั่นเอง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง