Search
Close this search box.

Sir Alex Ferguson ผู้เปลี่ยนแมนยูด้วยความเด็ดขาดและระบบบริหารคนที่ดี

HIGHLIGHT

  • Sir Alex Ferguson คืออดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำหน้าที่ระหว่างปี 1986 – 2013 และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในโลก การันตีด้วยแชมป์หลัก 38 รายการ โดยหลังจากที่เขาลงจากตำแหน่ง แมนยูยังไม่สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีคได้อีกเลย
  • Sir Alex Ferguson ให้ความสำคัญกับการมีระบบที่ดี เพราะมองว่าฟุตบอลก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ อย่างผู้ผลิตโทรศัพท์หรือผู้ผลิตยาแม้แต่น้อย อนึ่งคำว่า “ระบบที่ดี” หมายถึงระบบที่สามารถบังคับใช้ได้จริง ไม่ใช่ดูดีแต่บนหน้ากระดาษ
  • Sir Alex Ferguson มองว่าเราไม่ต้องรักพนักงานทุกคนก็ได้ แต่เราต้องให้เกียรติ และเคารพความสามารถของเขา เราต้องทำให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคนในระดับใดก็ตาม
  • Sir Alex Ferguson บอกว่าหากต้องเลือกระหว่างคนเก่งแต่ไม่ความมุ่งมั่น กับคนฝีมือพอประมาณแต่มีความมุ่งมั่น เขาจะเลือกอย่างหลังเสมอ
  • Sir Alex Ferguson มองว่าองค์กรที่ดีต้องสนับสนุนความหลากหลาย ต้องรู้จักบริหารความสมดุลให้ได้ โดยเปรียบว่าหากเราสร้างทีมฟุตบอลที่มีผู้รักษาประตูชั้นยอด 11 คน ทีมก็คงล้มเหลว เราต้องเลือกคนให้เหมาะกับหน้าที่ และผลักดันให้เขาทำผลงานได้ดีที่สุดต่างหาก

สำหรับคนที่ดูฟุตบอล คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งทำหน้าทีตั้งแต่ปี 1986 ถึง 2013 และได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ การันตีด้วยถ้วยรางวัลเด่น ๆ กับทีมถึง 38 รายการ เขาสามารถเปลี่ยนทีมให้กลายเป็นสโมสรระดับโลกชนิดที่ไม่ว่าใครก็เกรงกลัว 

เราสามารถพูดได้เลยว่าอิทธิพลของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ส่งผลต่อความสำเร็จของแมนยูโดยตรง เพราะหลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งแล้ว ทีมก็ไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกเลยจนปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี

แล้วเรื่องราวของเขาสำคัญกับ HR อย่างไร ? 

อย่างที่กล่าวไปว่าคอลัมน์ Human Result ต้องการทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องของการบริหารคนนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มันแฝงอยู่ในทุกแง่มุมของชีวิต และในทุกสายงานธุรกิจ ที่สำคัญเรามองว่าแนวคิดของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันไจะช่วยให้มุมมองด้าน HR ของเรากว้างขึ้น และเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้คนทำงานด้านนี้หมั่นหาความรู้รอบตัวตลอดเวลา เพราะข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยสามารถเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรากลายเป็น HR ชั้นยอดได้เลย

ความเด็ดขาดที่แฝงไปด้วยความอ่อนโยนของ Sir Alex Ferguson สอนอะไรเราบ้าง หาคำตอบได้ที่ Human Result EP.2

Sir Alex Ferguson มีวิธีบริหารคนอย่างไร

Sir Alex Ferguson ผู้เปลี่ยนแมนยูด้วยความเด็ดขาดและระบบบริหารคนที่ดี

การบริหารทีมฟุตบอลไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่เต็มไปด้วยซุปเปอร์สตาร์ที่ต่างคนต่างมีอีโก้สูง หากผู้จัดการทีมไม่แข็งแกร่งมากพอ ก็อาจถูกต่อต้านจนไม่เป็นอันทำงานอีกต่อไป

แต่ปัญหานี้ไม่เกิดกับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพราะเขามีความเด็ดขาดและมีความเกรี้ยวกราดบางอย่าง ที่สามารถสยบฝ่ายตรงข้ามได้แบบอยู่หมัด ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้คนที่มืออาชีพมากพอเห็นว่าเป้าหมายสูงสุดในการตัดสินใจของเขา คือการเอาผลลัพธ์ของทีมเป็นที่ตั้ง ซึ่งพอทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ความเคร่งเครียดและกดดันก็จะลดน้อยลง

ความฉุนเฉียวและเด็ดขาดของเขา นำไปสู่ฉายา Hair Dryer (เครื่องเป่าผม) หมายถึงเวลาลูกทีมทำผิดพลาด เขาจะด่าจนไฟแล่บเหมือนเครื่องเป่าผม ซึ่งการต่อว่าแบบนี้จำเป็นต้องทำอย่างเท่าเทียม ไม่ให้คนรู้สึกว่าเขาเลือกที่รักมักที่ชัง โดยกรณีที่คนมักพูดถึงก็คือเรื่องที่เขามีปากเสียงกับ David Beckham นักฟุตบอลสุดหล่อขวัญใจสาว ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัญหาดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์เตะรองเท้าสตั๊ดใส่หน้าจนคิ้วแตก และนำไปสู่การย้ายทีมของซุปเปอร์สตาร์ชาวอังกฤษ

เหตุการณ์นี้แม้จะนำไปสู่ข้อถกเถียงอย่างมากว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ? แต่เขาก็เขียนถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ในหนังสือชีวประวัติของตนอย่าง Alex Ferguson: My Autobiography ว่า “วินาทีที่นักเตะคนใดคนหนึ่งมองว่าตนยิ่งใหญ่กว่าสโมสร นั่นคือวินาทีที่เขาจะต้องออกไป” หมายความว่าไม่มีใครที่จะสำคัญกว่าองค์กรอยู่ดี แม้ว่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือเคยสร้างความสำเร็จให้ทีมมากแค่ไหนก็ตาม

การสร้างทีมฟุตบอลของ Sir Alex Ferguson คือการใส่ใจรายละเอียด

Sir Alex Ferguson ผู้เปลี่ยนแมนยูด้วยความเด็ดขาดและระบบบริหารคนที่ดี

สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดมาก เขามองว่าสโมสรฟุตบอลเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องรับคนหลากหลายเชื้อชาติ, หลากหลายช่วงอายุ และหลากหลายทัศนะคติมารวมกัน ดังนั้นหากเราไม่สามารถหล่อหลอมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนก็จะทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่เกิดทีมเวิร์ค ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการแข่งขันกีฬาทุกชนิด

โดยส่วนตัวผมมองว่าแนวทางของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันคือรูปแบบเดียวกับการดูแลเป็นรายบุคคล (Personalize) ซึ่งเป็นรูปแบบการสร้างสวัสดิการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ในที่นี้วิธีที่เขาทำนั้น คือการสื่อสารกับลูกทีมให้มากที่สุด เซอร์ อเล็กซ์จะถามทุกคนว่าครอบครัวทำอาชีพอะไร มีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหน เพราะต้องการเข้าใจความรู้สึก และสัมผัสว่าแต่ละคนเคยผ่านอะไรมาบ้าง เนื่องจากประสบการณ์เหล่านั้นจะส่งผลต่อนักเตะแต่ละคน ดังนั้นหากเราไม่เข้าใจว่าแต่ละคนมีความต้องการ อย่างไรมีภูมิหลังแบบไหน และอะไรที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ เราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนนักเตะให้กลายเป็นสุดยอดนักฟุตบอลได้เลย

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ก็ไม่ต้องไปมองที่ไหน แต่สามารถอ้างอิงจากตัวตนของเขาเอง เพราะเขาเกิดมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานที่คุณพ่อทำงานอยู่ในอู่ต่อเรือ มีความยากลำบาก ไม่ได้สุขสบาย ทำให้เขาเป็นคนที่มีใจสู้ตั้งแต่เด็ก

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันคุ้นเคยกับการดิ้นรนต่อสู้เพื่อยกระดับชีวิตตัวเอง เขาจึงต้องการเปลี่ยนมุมมองของนักเตะให้มองเห็นแบบเดียวกัน เขาเชื่อว่าหากทีมได้คนที่ไม่มีวันยอมแพ้ต่อความยากลำบาก ต่อให้ต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งแค่ไหน เราก็จะผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเรื่องของการลางานซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะกับการแข่งขันฟุตบอลที่นักเตะแต่ละคนส่งผลโดยตรงต่อผลการแข่งขัน การขาดนักเตะสำคัญในวันที่ต้องเจอกับคู่แข่งชั้นยอด คือปัญหาที่คงไม่มีผู้จัดการจริงคนไหนอยากเจอ

แต่ไม่ใช่กับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

เขารู้ดีว่าแม้ฟุตบอลจะเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน แต่มันก็เป็นเพียงงานอย่างหนึ่ง ฟุตบอลจะไม่มีวันสำคัญกว่าเรื่องของครอบครัว ไม่ว่านักเตะคนนั้นจะเป็นนักเตะระดับเยาวชนหรือแม้แต่ซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกก็ตาม 

เขาได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านทางช่องทีวีของสโมสรในปี 2021 ว่า “ในอดีตมีเด็กหนุ่มคนนึงเดินมาหาผมที่ออฟฟิศ แล้วเขาก็พูดกับผมว่า หัวหน้าครับ ผมขอลาวันศุกร์นี้ได้ไหมครับ ผมก็ถามเขากลับไปว่า ทำไมถึงอยากลาล่ะ?”… ซึ่งเขาตอบว่า ‘แม่ผมเสียครับ’ พอได้ยินแบบนั้น ผมก็ตอบกลับไปทันทีว่า ไปเลยลูก ไม่เป็นไรเลย”…

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาตระหนักว่าการลาของนักเตะทุกคนมีความหมาย และมีความเป็นส่วนตัว ครอบครัวคือเรื่องสำคัญที่สุด และผู้จัดการทีมมีหน้าที่บริหารจัดการให้ได้โดยไม่ทำให้ใครลำบากใจเด็ดขาด โดยหลังจากวันนั้น หากมีคนเข้ามาขอลางาน เขาจะตอบกลับไปทันทีว่า “ได้เลย มีอะไรให้ช่วยเพิ่มเติมหรือเปล่า” นี่คือเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้นักเตะรักผู้จัดการทีมคนนี้มากขึ้น

Sir Alex Ferguson ผู้เปลี่ยนแมนยูด้วยความเด็ดขาดและระบบบริหารคนที่ดี

เรียนรู้วิธีคิด จากชายที่ชื่อ Sir Alex Ferguson

สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือการที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเป็นคนที่พร้อมใช้ชีวิตให้นักเตะดูเป็นแบบอย่างเสมอ (Lead by Example) เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากเราต้องสร้างมาตรฐานที่ยากขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แต่เรากลับไม่ลงมือทำเองเลย ก็คงไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำตามเรา เพราะไม่รู้สึกว่ามันเป็นไปได้จริง

ดังนั้นเขาจึงเริ่มปฎิบัติตัวในสิ่งที่อยากให้คนทำตาม ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในแต่ละวัน อย่างการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ในสโมสร การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน ทุกคนรู้สึกว่าตนมีค่า ไม่ได้เป็นเพียงเจ้านายกับลูกน้องเพียงอย่างเดียว

เซอร์ อเล็กซ์กล่าวว่า “ผมไม่เคยเดินผ่านทีมงานไปเฉย ๆ โดยไม่พูดคุยหรือทักทายเลย เพราะมันสำคัญมากที่จะทำให้ผู้คนรู้ว่าคุณห่วงและใส่ใจเขาจริง ๆ” 

ประเด็นข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ผู้อยากให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ระหว่างทาง และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอแยกประเด็นที่เรามองว่า HR ควรเรียนรู้ออกมา อ้างอิงจากหนังสือ LEADING หรือ “นำให้ชนะ’ ที่เขาเขียนร่วมกับเพื่อนอย่าง Sir Michael Moritz ซึ่งเป็น Chairman ของ Sequoia Capital และเป็นบอร์ดบริหารของ Google, LinkedIn, PayPal, Yahoo 

หนังสือเล่มนี้พูดถึงองค์ประกอบของการบริหารจัดการ ผ่านประสบการณ์ของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งเขาได้รับเชิญให้ไปสอนในคณะบริหารธุรกิจ ที่ Harvard Business School มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

การฟังและการสังเกต

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มองว่าสิ่งสำคัญในฐานะคนทำงานไม่ใช่แค่การพูดอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการฟังที่ดีด้วยเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้หูและตาอย่างมีประสิทธิภาพไม่รู้จักสังเกต และไม่ตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูดจนพลาดสิ่งสำคัญรอบตัวไปเกือบครึ่ง เขาเปรียบเทียบว่าพระเจ้ามีเหตุผลที่สร้างคนให้มีหูสองข้าง, ตาสองข้าง และมีปากเดียว เพราะต้องการให้เรารู้จักฟังและมองให้มากกว่าพูดนั่นเอง

ในที่นี้การสังเกตก็เป็นอีกหัวข้อที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น โดยการสังเกตมีอยู่หลัก ๆ สองแบบได้แก่การสังเกตรายละเอียด และการสังเกตแบบภาพรวม

ความยั่งยืน

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เติบโตมากับครอบครัวที่มีผู้ปกครองทำงานหนักมาตลอดชีวิต เขาจึงคิดว่าหนทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จคือการทำงานให้หนักมาก ๆ ไม่ทำตัวเหยาะแหยะ หรือใช้ฝีมือไปในทางที่เปล่าประโยชน์

เขากล่าวว่าในกรณีของตัวเอง เขายังคงทำงานในวันแต่งงาน รวมถึงในวันที่ลูกชายคนแรกเกิด เพราะมองว่าการทำงานคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเขาหวังว่านักเตะทุกคนในทีมจะมีความทุ่มเทในแบบเดียวกัน

เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่าหากต้องเลือกระหว่างนักเตะฝีเท้าดีแต่ขาดความมุ่งมั่น กับนัดเตะที่มีฝีมือพอประมาณแต่มีความมุ่งมั่นแรงกล้า เขาจะเลือกนักเตะแบบหลังเสมอ เพราะนักเตะแบบแรกแม้จะเก่งในช่วงเริ่มต้น แต่ก็จะไม่สามารถยืนระยะจนกลายเป็นนักเตะระดับโลกได้เลย

การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีความเชื่อมั่น

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันมองว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากพอ และหากผู้นำมีทัศนคติแบบนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานไหนก็แล้วแต่ ผู้นำต้องเริ่มจากการปลูกฝังความเชื่อมั่นให้ตัวเองก่อน และต่อยอดความรู้สึกดังกล่าวไปสู่ลูกทีมในภายหลัง นี่คือความท้าทายของผู้นำ

ความสำเร็จของงานมาจากการวางระบบที่ดี

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มองว่าแม้สโมสรฟุตบอลจะไม่จำเป็นต้องมีระบบที่ซับซ้อนเท่ากับธุรกิจอื่น ๆ แต่การมีระบบที่ดีก็ยังจำเป็นต่อความราบรื่นของการทำงานอยู่ดี 

การวางระบบนั้นไม่ได้หมายถึงสิ่งที่อยู่บนหน้ากระดาษเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการบังคับใช้กฎให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และปรับตัวเข้าหากันได้อย่างลงตัว

เขาเน้นย้ำว่าก่อนจะสร้างทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ได้ เราต้องสร้างองค์กรที่ยอดเยี่ยมขึ้นมาก่อน และองค์ประกอบทั้งหมดจะต้องประกอบเข้าด้วยกันอย่างพอดิบพอดี ขณะที่ตัวผู้บริหารเองก็ต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของเราด้วย ไม่ใช่ลงทุนแล้วใจร้อน อยากเห็นความสำเร็จแบบรวดเร็วทันตา ซึ่งหากทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องนี้ทธุรกิจของเราก็จะเติบโตได้ง่ายขึ้น

การเตรียมตัวที่ดีคือการพัฒนาทัศนคติ

สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือการฝึกซ้อมและสร้างทัศนคติในเชิงบวกให้กับนักฟุตบอล เพราะเขาคิดว่าหากเราเอาแต่ซ้อมแบบขอไปที ก็ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ 

เซอร์ อเล็กซ์ต้องการทำให้ทุกคนเห็นว่าตนคือหนึ่งในภาพจิ๊กซอว์ที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเพื่อประกอบเป็นภาพที่สมบูรณ์ ไม่สามารถขาดคนใดคนหนึ่งไปได้ ซึ่งการจะสร้างค่านิยมแบบนี้ต้องใช้เวลา ผู้นำต้องใส่ใจแบบไม่มีวันหยุดพัก

นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องของความสมดุล องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลาย (Diversity) ลองคิดตามดูว่าหากทีมฟุตบอลของคุณมีผู้รักษาประตูชั้นยอดจำนวน 11 คน ทีมฟุตบอลนั้นก็คงล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่หากเรามีคนที่เหมาะสมกับแต่ละตำแหน่งอยู่ในทีมและเราใส่ระบบที่ดีเอาไว้ควบคุมดูแลทีมนั้นก็จะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า

สิ่งสำคัญที่ต้องทิ้งท้ายเอาไว้ ก็คือความจริงที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องรักนักเตะหรือทีมงานก็ได้ แต่ไม่ว่าจะมีมุมมองอย่างไร เราก็ต้องให้เกียรติและยอมรับในความสามารถของบุคคลเหล่านั้น เพราะเมื่อคุณทำให้พวกเขารู้สึกว่าเขากำลังอยู่ในชุมชน (Community) ที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เขาก็จะจงรักภักดี (Loyalty) ต่อองค์กรอย่างแท้จริง

เคล็ดลับรับการสัมภาษณ์งานแบบเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

เขากล่าวว่าเวลาสัมภาษณ์ใครก็ตาม สิ่งที่เขาอยากรู้มากที่สุดก็คือคน ๆ นั้นมีความทะเยอทะยานมากแค่ไหน มองว่างานนี้เป็นงานในอนาคต หรือมองว่ามันเป็นเพียงบันไดเพื่อก้าวไปสู่งานอื่น ดังนั้นระหว่างสัมภาษณ์ ผู้สมัครควรกล้าประสานสายตา เพื่อแสดงถึงจิตใจที่กล้าหาญ

เซอร์ อเล็กซ์ให้ข้อสังเกตว่าคนที่นั่งตัวตรงและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยคือการแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและอยากร่วมงานกับเรา น่าร่วมงานมากกว่าคนที่วางท่าทีหยิ่งผยอง หรือมีความมั่นใจเกินไป

นอกจากนี้ในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เราควรพูดคุยโต้ตอบกับอีกฝ่ายด้วย เพราะการสัมภาษณ์ไม่ควรเป็นการพูดคุยของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงข้างเดียว ผู้สมัครควรสนใจว่านายจ้างจะเสนออะไรให้เราได้บ้าง ขณะที่ผู้สัมภาษณ์ก็ควรเลือกใช้คำถามที่จะสะท้อนให้เห็นนิสัยใจคอ เพื่อหาคำตอบว่าผู้สมัครมีประสบการณ์และวุฒิภาวะอย่างไร

บทสรุป

แม้เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะยุตติบทบาทผู้จัดการทีมไปนานเกือบ 10 ปี แต่เราก็ยังรู้สึกตรงกันว่าโลกฟุตบอลยังไม่มีผู้จัดการทีมที่สมบูรณ์แบบรอบด้าน มีทักษะความรู้ และมีบารมีที่ทำให้คนรอบข้างเกรงขามจนนักเตะบางคนเคารพเหมือนเป็นพ่อแท้ ๆ แบบนี้

นี่คือคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี และคือสิ่งที่คอลัมน์ Human Result พยายามนำเสนอ เราหวังว่าจากนี้ไป ไม่ว่าคุณจะเห็นความสำเร็จของธุรกิจไหนก็ตาม ขอให้คุณมองลึกลงไปอีกขั้น เพื่อหาคำตอบดูว่าภายใต้ความสำเร็จตรงหน้านั้น มี “พลังคน” ที่ร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจที่หลากหลายนั้น คือกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ HR มีความรู้รอบตัวมากขึ้น และสามารถผลักดันธุรกิจที่บริษัททำอยู่ให้ก้าวไปสู่อีกระดับได้แน่นอน

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง