Search
Close this search box.

องค์กรควรทำอย่างไร เมื่อพนักงานหมด Passion ในการทำงาน

HIGHLIGHT

  • ถ้าแปลตรงตัว Passion หมายถึงความหลงใหล อาการหมด Passion ในการทำงานจึงเป็นความรู้สึกหมดอารมณ์ หมดความชอบ หมดไฟ หรือเบื่อในการทำงาน
  • มีหลายเหตุผลที่ทำให้พนักงานหมด Passion ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานไปวัน ๆ การรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า หรือการไม่มีการเติบโตของสายงาน ซึ่งเป็นสิ่งองค์กรควรรับรู้และแก้ไข
  • วิธีสังเกตว่าพนักงานคนไหนหมด Passion คือเริ่มคิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ออก ทำงานแค่ให้เสร็จแต่ไม่สำเร็จ และแสดงออกถึงความเครียด เหน็ดเหนื่อย หมดพลัง
  • องค์กรสามารถเติม Passion ให้พนักงานได้จาการเริ่มสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้ง การชื่นชมให้กำลังใจเป็นการส่วนตัว หรือการพูดคุยกันอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา
  • ขณะที่ HR ถ้าหมด Passion ให้อย่าลืมว่าหน้าที่ของ HR คือการช่วยเหลือคนอื่น เริ่มบริหารจัดการพลังงานกับเวลาให้ดี และเติมความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับบริษัทที่ไม่ใช่เฉพาะในสายงาน HR อย่างเดียว

“Follow Your Passion” เป็นวลีเด็ดดังที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครมาแล้วมากมาย เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่รัก กระทั่งวันหนึ่งแรงปรารถนานั้นก็ค่อย ๆ หายไป กิจกรรมที่เคยหลงใหลกลับกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ นานวันเข้าจึงเกิดอาการที่เรียกว่า หมด Passion ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการหมด Passion ในการทำงาน, หมด Passion ในการเรียน, หมด Passion ในความรัก หรือแม้กระทั่งหมด Passion ในการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ดี การตามหา Passion ว่ายากแล้ว แต่การรักษา Passion นั้นยากกว่า และจะยิ่งยากมากขึ้นถ้าเรามีหน้าที่ต้องดูแลรักษา Passion ของคนอื่น โดยเฉพาะผู้บริหาร ผู้นำ หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ที่จะต้องทราบความเป็นไปของพนักงานทุกคน เพราะการหมด Passion ในการทำงานนั้นส่งผลร้ายกับองค์กรมากกว่าที่คิด

เมื่อการหมด Passion เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกองค์กรต้องเผชิญหน้า แล้วองค์กรของเราควรทำอย่างไร เมื่อพนักงานเริ่มหมด Passion

อะไรคืออาการหมด Passion

หมด Passion ในการทำงาน HR NOTE

จริง ๆ แล้ว Passion เป็นคำที่ใช้ในแทบทุกวงการ ทำให้ความหมายของแต่ละบริบทมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย ในกรณีนี้เราจะพูดถึงบริบทของการทำงานเป็นหลัก ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายของคำคำนี้ก่อน

เพราะถ้าแปลตรงตัว Passion หมายถึง “ความหลงใหล” การมี Passion ในการทำงานจึงหมายถึงความรู้สึกทางอารมณ์ที่รักหรือหลงใหลในงานที่ทำ และมีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นให้งานนั้นประสบความสำเร็จ ฉะนั้นอาการหมด Passion จึงเป็นความรู้สึกหมดอารมณ์ หมดความชอบ หรือเบื่อในการทำงานนั้น ๆ นั่นเอง

การหมด Passion จะแตกต่างอาการหมดไฟหรือ Burnout ตรงที่อาการ Burnout จะเป็นความทุกข์ทรมานจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และจิตใจซึ่งทำให้เกิดการหมด Passion ได้ ขณะที่การหมด Passion บางครั้งไม่ได้ทำให้เกิดอาการ Burnout เป็นเพียงอารมณ์รู้สึกที่ว่าไม่ได้หลงใหล ไม่ได้ชอบ หรือไม่ได้สนใจใครรู้สิ่งนั้นอีกต่อไป 

Do You Know?

Passion มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Passio, Passus, Pati หรือ Patior แปลว่า “ความทรมาน” ที่เกิดจากภายนอก เป็นคำที่เริ่มใช้ครั้งแรก ๆ ในข้อเขียนทางคริสต์ศาสนาที่บรรยายเหตุการณ์ความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของพระเยซูในช่วงเวลาพิจารณาคดีและถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน หรือ พระมหาทรมานของพระเยซู (The Passion of Christ) ก่อนที่คำว่า Passion มีความหมายกว้างขึ้นในสมัยต่อมา

ทำไมพนักงานถึงหมด Passion

เหตุผลที่ใครสักคนหมด Passion ในการทำงานนั้นมีด้วยกันหลากหลายสาเหตุมาก ๆ ซึ่งล้วนแล้วไม่ได้เกิดจากตัวงานที่น่าเบื่อหรอก แต่เกิดจากตัวคนเองต่างหากที่หมดความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่ทำอยู่ โดยมีบทความที่กล่าวถึงประเด็นนี้มากมายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราได้รวบรวมและสรุปเหตุผลที่คนหมด Passion มาให้ 5 ข้อดังนี้

1. นั่งทำงานไปวัน ๆ

เพราะความน่าเบื่อเกิดจากสมองที่รับรู้เรื่องราวเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจจนอยู่ในสภาวะ Autopilot ซึ่งคำคำนี้ใช้ในวงการอากาศยาน เมื่อนักบินต้องการให้เครื่องบินทำการบินเองโดยอัตโนมัติ หากเปรียบเทียบกับการทำงานก็คือการทำงานโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เป็นการทำงานด้วยใจเหม่อลอย หรือทำให้เสร็จ ๆ ไป

หากเกิดอาการเช่นนี้ทุกวัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือสมองจะจดจำพฤติกรรมและวนลูปซ้ำ ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งนั่นจะทำให้พนักงานสูญเสียประสิทธิภาพในระยะยาวจนหมด Passion เหมือนดั่งสถิติที่บอกว่าคนส่วนใหญ่มักเบื่องานเมื่อทำงานมาถึงปีที่ 3-4 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความท้าทายใหม่ และไม่มีความรับผิดชอบอะไรเพิ่มเติม

2. รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า

ไม่ว่างานจะสนุกมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าพนักงานไม่รู้สึกว่าตัวอย่างกำลังสร้างคุณค่าให้กับใคร เมื่อนั้นพนักงานก็อาจจะหมดความหลงใหลในตัวงานนั้นลง เพราะโดยปกติเวลาทำอะไรสักอย่างสำหรับเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร ลูกค้า หรือผู้อื่น ถ้าอีกฝ่ายไม่ตอบสนองใด ๆ หรือไม่มีการขอบคุณกลับมา เราก็อาจคาดเดาผลลัพธ์ในเชิงลบเสมอ ซึ่งบั่นทอนจิตใจจนอาจทำให้หมด Passion ทางที่ดีคือปลูกฝังวัฒนธรรม Feedback ให้เกิดขึ้น และทำให้พนักงานเห็นคุณค่าหรือเป้าหมายในงานของตัวเอง

3. มีพลังในการทำงานน้อยลง

นี่คือจุดเริ่มต้นของอาการหมดไฟหรือ Burnout เพราะเวลาเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย พลังในการทำงานต่าง ๆ ก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งพลังเชิงร่างกายและพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เราจะสูญเสียโฟกัส สมาธิ หรือแม้กระทั่งเป้าหมายในการทำงาน ความเลวร้ายขั้นสุดก็คือสมองเกิดอาการต่อต้านงานที่ทำอยู่ จึงทำให้พนักงานไม่มีความสุขจนไร้ Passion

4. ไม่มีการเติบโตของสายงาน

การเติบโตเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรักษา Passion ของพนักงานให้คงอยู่ หลายคนเบื่อหรือหมดความสนใจเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่มีโอกาสเติบโตในสายอาชีพนั้น ๆ จึงไม่มีแรงผลักดันให้เรียนรู้สิ่งใหม่ในสายงานเดิม ฉะนั้นการเติบโตภายในงานหรือการได้รับการเลื่อนตำแหน่งจึงมีค่ามากกว่าแค่ความภูมิใจ แต่คือการกระตุ้นให้พนักงานเกิดแรงปรารถนาในการพัฒนาตัวเอง

5. การได้รับค่าจ้างต่ำเกินไป

คำว่าต่ำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจำนวนเงินที่ได้รับ แต่คือการได้รับค่าจ้างที่ต่ำเกินไปสำหรับความพยายามของพนักงานคนนั้น โดยเฉพาะเงินเดือนเฉลี่ยในตลาดแรงงานที่มักจะเป็นตัวเลขที่ต่ำ ทำให้เงินเดือนบางอาชีพได้รับเงินไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อย หนำซ้ำเงินเดือนต่ำยังทำให้รู้สึกขาดคุณค่าในตัวเองอีก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป พนักงานก็จะหมด Passion ในการทำงานอาชีพนั้นแน่นอน

6. คล้อยตามคนอื่นมากเกินไป

การปรับตัวไม่ใช่เรื่องผิด แต่คงไม่ดีนักถ้าพนักงานปรับไปหมดทุกอย่างจนสูญเสียแก่นแท้ของตัวเอง พูดง่าย ๆ ก็คือการเป็นคนโลเล ไม่มีหลักแหล่ง หรืออุดมการณ์ของตัวเองนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อมากถ้าใครสักคนโอนอ่อนไปตามคนอื่นเสมอ ใครพูดอะไรเชื่อ ใครสั่งอะไรก็ทำ เปรียบเสมือนหุ่นยนต์ที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไร้ความรู้สึก ไร้อารมณ์ และแน่นอน ไร้ Passion ในการทำงานอีกต่อไป

จะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานเริ่มหมด Passion

อาการหมด Passion นั้นสังเกตจากภายนอกได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพนักงานไม่ได้รู้สึก Burnout ร่วมด้วย เพราะการหมดความหลงใหลเป็นเพียงความรู้สึกทางอารมณ์และทางจิตใจอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ผู้บริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็สามารถสังเกตได้เบื้องต้นจากพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งทาง ดร. สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป เคยเขียนไว้ในกรุงเทพธุรกิจถึงวิธีการสังเกตพนักงานหมด Passion ไว้ว่า

  • คิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ออก – เนื่องจากสมองไม่รู้สึกสบายผ่อนคลาย ไม่ได้รับความรู้สึกสนุก สมองรู้สึกถูกบีบบังคับ ไร้ทางออก มองเห็นอะไรก็เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ ไม่เห็นโอกาส ไม่สามารถคิดอะไรใหม่ ๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ได้
  • ทำงานแค่ให้เสร็จแต่ไม่สำเร็จ – คนหมด Passion จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เพียงงานจบ ปราศจากความใส่ใจ ปราศจากความพยายามอีกระดับเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลิศ เป็นที่หนึ่ง และไม่ได้รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนหากมีคนอื่นทำเรื่องนั้นได้ดีกว่า
  • เครียด เหน็ดเหนื่อย หมดพลัง – คนหมด Passion จะรู้สึกหมดสนุก เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ทำอยู่ ส่งผลทางร่างกายที่เกิดความรู้สึกไม่ผ่อนคลาย เครียด สร้างพลังและทัศนคติลบ รู้สึกว่างานที่รับผิดชอบอยู่นี้เยอะเกินไป ไม่สามารถรับมือกับงานที่เพิ่มขึ้นหลังจากนี้ได้อีกแล้ว

5 วิธีช่วยพนักงานที่กำลังหมด Passion

หมด Passion ในการทำงาน HR NOTE

แน่นอนว่าการหมด Passion ส่งผลกระทบทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน และยังส่งผลไปถึงความสำเร็จองค์กรด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากที่ใครสักคนจะหมด Passion เพราะการศึกษาของ Deloitte เมื่อหลายปีก่อนพบว่า คนทำงานของสหรัฐกว่า 87.7% ไม่มีความสุขในการทำงานเพราะทำงานไม่ได้ตรงตามความหลงใหล และมีเพียง 12.3% เท่านั้นที่รู้สึกว่าตัวเองมี Passion

ฉะนั้นจึงไม่ได้ทุกคนที่หา Passion ตัวเองเจอ หากองค์กรของคุณมีพนักงานที่หมด Passion ก็อย่าเพิ่งตำหนิติเตียนหรือไล่ออก วันนี้เราจึงมีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการปลุก Passion ให้พนักงานสนุกกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง ดังนี้

1. เริ่มสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้ง

จำครั้งแรกที่สัมภาษณ์พนักงานคนนั้นครั้งแรกได้ไหม? การถามถึงความสำเร็จ ความท้าทาย และเป้าหมายของพวกเขา ทำให้องค์กรค้นพบว่าพนักงานชอบทำอะไรเพื่อความสนุกสนาน ประวัติการทำงาน และสิ่งที่พนักงานมองหาจากองค์กร ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดี

เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานเริ่มหมด Passion มาจากองค์กรมีส่วนร่วมกับพนักงานนน้อยลง ซึ่งหากพนักงานรับรู้ว่าองค์กรใส่ใจในสวัสดิภาพของพวกเขาจริง ๆ ทุกคนก็จะกลับมาทุ่มเทให้กับหน้าที่ของตัวเอง

ผู้รับผิดชอบอาจแค่ชวนพนักงานที่หมด Passion ไปดื่มกาแฟ แล้วรับฟังปัญหาโดยไม่ไปขัดขวางการพูด ถึงแม้พนักงานอาจจะพูดเรื่องไม่ดีบ้าง แต่ก็จะทำให้องค์กรได้รับข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาต่อไป

2. หยุดส่งอีเมลที่ไม่จำเป็น

การส่งอีเมลอาจทำให้รู้สึกแปลกแยกกับองค์กร แถมผู้รับสามารถตีความได้หลากหลาย ถ้าเกิดผู้ส่งนั้นนั่งห่างกันเพียงนิดเดียว โดยเฉพาะประเด็นที่สามารถเดินไปคุยได้ หรือโทรศัพท์ไปหาก็ยังดี เพราะกิจกรรมแบบเจอหน้าจะสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ และลบล้างความรู้สึกแปลกแยกของพนักงานในองค์กรออกไป การเริ่มสร้างมิตรภาพในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น

3. ชื่นชมให้กำลังใจเป็นการส่วนตัว

คิดดูว่าจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราทำงานหนักแล้วหัวหน้าไม่เคยรับรู้เลย นั่นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พนักงานของคุณหมด Passion ได้ ฉะนั้นถ้าองค์กรสังเกตเห็นว่าพนักงานกำลังทำอะไรได้ดี เช่น เสนอไอเดียชาญฉลาด ทำงานได้ถึงเป้าหมาย แค่การกล่าวขอบคุณหรือชื่นชมให้กำลังใจเป็นการส่วนตัวก็จะช่วยรักษา Passion ในใจพวกเขาได้

4. เปลี่ยนไปทำงานอื่น

หากพนักงานของคุณหมด Passion หรือเบื่อกับภาระหน้าที่ในปัจจุบัน ลองพิจารณาให้พวกเขาย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นหรือรับผิดชอบในงานอื่นดูบ้าง สิ่งนี้จะเกิดผลดีสองอย่างคือ ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขามี และจุดประกายความสนใจในบทบาทใหม่ แล้วพนักงานก็จะกลับมามีกำลังใจในการทำงานอีกครั้ง

5. พูดคุยกันตรง ๆ

การเป็นผู้นำในองค์กรต้องเผชิญหน้ากับบทสนทนาที่ยากลำบากเป็นประจำ ดังนั้นเมื่อคุณสังเกตว่าผลงานของพนักงานกำลังตกต่ำลง หรือความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้พังทลาย องค์กรมีหน้าที่ต้องเข้าไปพูดอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา

หมด Passion ในการทำงาน ทำไงดี

  • ตระหนักเสมอว่า Passion เปลี่ยนแปงได้ตลอดเวลา การหมด Passion ไม่ใช่เรื่องผิดที่ต้องทำให้รู้สึกแย่
  • ไม่ต้องตามหา Passion ตลอดเวลา แค่หาคุณค่าในตัวงานที่ทำก็เพียงพอ
  • Passion ไม่จำเป็นต้องเป็นงานประจำ เปลี่ยนเป็นงานอดิเรกก็ได้นะ
  • ชีวิตไม่ได้มีแค่ Passion ในการขับเคลื่อน อย่าลืมปัจจัยอื่น ๆ ที่เคยมองข้าม
  • ลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง เพราะซึ่งเราอาจค้นพบ Passion ใหม่โดยไม่รู้ตัว
  • พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ ชาร์จพลังให้กลับมาพร้อม Passion ดั่งเดิม

ถ้า HR หมด Passion ในการทำงานเสียเอง

การหมด Passion ในการทำงานแทบจะเป็นอาการสามัญประจำออฟฟิศ เพราะไม่ว่าใคร ตำแหน่งไหน ก็ล้วนแล้วเคยผ่านประสบการณ์นี้ทั้งนั้น ซึ่งเชื่อเถอะว่า HR เองก็เคยเกิดอาการนี้ด้วยเช่นกัน เพราะตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ต้องเจอกับเรื่องราวสะเทือนอารมณ์สารพัด เช่น แรงกดดันในทำงาน การต้องตัดสินใจ หรือการไล่พนักงานออก ฯลฯ ทำให้ HR มักหมด Passion ก่อนใคร วันนี้เราจึงจะมาชาร์จพลังให้กับ HR อีกครั้ง จากคำแนะนำเหล่านี้ 

1. อย่าลืมว่าหน้าที่ของ HR คือการช่วยเหลือคนอื่น

หลายครั้งที่พนักงานใหม่สาย HR มักเข้ามางานด้วยความรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่พอเข้ามาทำงานจริงกลับต้องพบกับปัญหาสารพัดจากคนที่ต้องการช่วยเหลือนั้น เพราะ HR เป็นฝ่ายที่ต้องทำงานประสานกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมความต้องการของคนอื่นได้ เมื่อมากคนก็มากความ หลายครั้งก็เกิดอาการบั่นทอนหัวใจ อย่างไรก็ตาม HR ทุกคนอย่าลืมว่า นั่นคือหน้าที่เราที่ต้องช่วยเหลือพนักงานทุกคน สร้างความเห็นอกเห็นใจหรือเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นให้มาก ๆ และจดจำให้ได้ว่าอะไรคือความสุขที่ทำให้คุณก้าวมาทำงานในอาชีพนี้

Empathy Skill HR NOTE

2. บริหารจัดการพลังงานกับเวลาให้ดี

ควรมีการจัดสรรเวลาเพิ่มเติมเต็มพลังงานของตัวเอง เช่น จัดเวลาในแต่ละสัปดาห์ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือคนที่เป็นแรงผลักดันให้คุณทำงานนี้ เพราะงานของฝ่ายบุคคลมีทั้งงานในระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นพยายามรักษาพลังงานในระยะยาวเอาไว้ และลดความเจ็บปวดของปัญหาระยะสั้นลง โดยเฉพาะทัศนคติจะเป็นองค์ประกอบใหญ่ในอาชีพนี้ และเป็นตัวตัดสินความสุขของเราได้

ความสุขในการทำงาน Workplace Happiness

3. สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับบริษัท ไม่ใช่เฉพาะในสายงาน HR อย่างเดียว

อย่ามองว่าหน้าที่ของ HR มีเพียงการจ้างงานและจัดการเอกสารอย่างเดียว เพราะปัจจุบัน HR มีส่วนสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างมาก ทำให้ฝ่าย HR มีคุณค่าและมีความรับผิดชอบต่อองค์กรมากขึ้น การรู้จักสินค้าและบริการขององค์กรเป็นเรื่องดี และจะยิ่งดีถ้าเรารู้ศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรได้อย่างลึกซึ้ง นั่นหมายถึงการคนให้ถูกกับงาน การวางแผนพัฒนาพนักงานได้แม่นยำ และการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจนั่นเอง HR จึงต้องมีความสนใจใคร่รู้เพื่อกระตุ้น Passion ให้คงอยู่ต่อไป

บทสรุป

“People with passion can change the world.” คือสุนทรพจน์สุดดังของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) แห่ง Apple ที่เคยกล่าวไว้ ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นับเป็นหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จจาก Passion อย่างแท้จริง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ดำเนินรอยตาม

ถึงแม้ Passion ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ใครที่มี Passion ย่อมมีกำลังใจให้เดินหน้าต่อไปในความชอบนั้น ๆ ซึ่งจะนำความสุขมาให้ แต่กระนั้นการหมด Passion ก็ไม่ใช่เรื่องผิด บางครั้งสิ่งที่เคยชอบในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบในปัจจุบันก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะบาลานซ์ Passion และเป้าหมายในชีวิตอย่างไร และถ้าทุกอย่างลงตัวแล้วล่ะก็ คุณจะมีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง