Search
Close this search box.

Resilience : สร้างความฮึ้บให้ทีมงานคุณเมื่อยามตกหลุมแห่งความล้มเหลว

 

คุณเคยสอบตกบ้างไหมครับ? ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ เสียใจ สับสน ท้อแท้ ไม่อยากจะเรียนต่อกันเลยก็มีจริงไหมครับ แล้วหลังจากนั้นคุณเป็นอย่างไรครับ หลายคนก็ฮึ้บ ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ สอบซ่อม หลายคนก็ตั้งปณิธานว่าจะไม่สอบตกอีกเป็นครั้งที่สอง และอื่นๆอีกมากมาย แล้วเคยสงสัยไหมครับว่าไอ้เจ้าแรงฮึ้บ ที่ทำให้เราลุกขึ้นมาจากการสอบตกเนี่ย มันคืออะไร?

ในทางจิตวิทยา เจ้าสิ่งที่ช่วยฮึ้บ และพยุงเราขึ้นมาได้เราเรียกว่า Resilience ครับ!

ถ้าเราไปหาความหมายจากพจนานุกรมของคำว่า Resilience เราจะเจอคำแปลว่า  ความยืดหยุ่นบ้าง ความอดทนบ้าง ซึ่งก็อาจจะไม่ถูกความหมายไปเสียทีเดียว เพราะถ้าไปดูจากรากของศัพท์คำนี้ มาจากภาษาละตินว่า  resiliens  ที่แปลว่าการกระดอนกลับ ดังนั้นหากจะแปลความหมายที่แท้จริงของคำว่า resilience ก็คือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากเผชิญกับอุปสรรค ความทุกข์ยากหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นเสมือนกับความยืดหยุ่นทางจิตใจเพื่อก่อให้เกิดการตอบสนองเชิงบวกต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต จนสามารถก้าวข้ามและผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ และพร้อมรับกับภารกิจ หรืองานต่างๆที่ต้องบริหารจัดการต่อไป 

ซึ่ง Resilience หรือที่ผู้เขียนขออนุญาตแปลว่า ความฮึ้บ เนี่ย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการตอบสนองยุคปัจจุบันมาก เพราะอะไรๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแน่นอน สิ่งที่เคยใช้งานได้ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน มิหนำซ้ำ ยังต้องคอยตอบสนองลูกค้า แก้ไขงานกันเป็นเรื่องปกติกลับมานั่งนึกดู จริงๆแล้ว ความล้มเหลวมันสามารถทำร้ายคนทำงานได้อย่างไม่ธรรมดาเลยทีเดียว คุณลองนึกถึงภาพของตัวเองที่ถูกลูกค้าแก้งาน จน revision ไปสิบครั้งแล้วก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ถ้าคุณไม่มีความฮึ้บนี้ คุณก็คงอยากให้มันผ่านไปไวๆ แล้วไม่คิดจะอยากทำเรื่องนั้นอีก แต่สำหรับคนที่มีความ ฮึ้บ หรือ resilience นี้ จะมีทักษะพิเศษ ที่จะฟื้นขึ้นมาจากความล้มเหลวเหล่านั้น และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ ซึ่งถ้าหากมองไปถึงการทำงานยุคนี้ที่จะต้อง Failed fast, learn fast ล้มแล้วต้องรีบลุกเพื่อไปต่อ ต้องตอบสนองสิ่งต่างๆให้ทันการ คุณคงอยากจะหาวิธีการสร้างเจ้าความฮึ้บเนี่ย กันบ้างแล้วสินะครับ ซึ่งข่าวดีครับ การฮึ้บเนี่ย มันเป็นทักษะ สามารถพัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้ครับ

Resilience หรือที่ผมเรียกว่าทักษะการฮึ้บ นี้ ถ้าอ้างอิงจาก David Sluss and Edward Powley จาก Harvard Business review ในบทความ Build Your Team’s Resilience — From Home ทั้งสองคนได้ทำการวิจัยกับทหารเรือสหรัฐ 400 คน ในปี 2015 พบว่าผู้ที่มี Resilence จะมีองค์ประกอบทั้งหมด สามประการ ดังนี้ 

Resilence ingredients

1.ระดับความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (High levels of confidence in their abilities)

เพราะความฮึ้บคือการฉุดตัวเองออกมาจากความล้มเหลว ฉะนั้น ก่อนที่จะฉุดตัวเองออกมาได้ เราจะต้องมั่นใจว่าตัวเองสามารถลุกขึ้นมาได้ไหว เรามีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะจากทักษะที่เรามี หรือจากความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งในข้อนี้ยิ่งมีมากก็ยิ่งเป็นเสบียงให้เราหยิบมาใช้ยามท้อแท้ใจ และมีแรงฮึ้บจะกลับขึ้นมาต่อสู้ได้ แต่ถ้าหากมีข้อนี้น้อยเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่เราจะล้มแล้วน็อคไปเลย เนื่องจากแม้แต่ตัวเรายังไม่เชื่อในฝีมือของตัวเองเลย การอยู่เฉยๆ อาจจะทำให้จิตใจบาดเจ็บได้น้อยกว่า จึงยอมแพ้ไปอย่างง่ายดาย

2.ระดับความมีระเบียบวินัยต่อกิจวัตรในการทำงาน (disciplined routines for their work)

การมี Resilience นั้น ก็คือการที่เรายืนหยัดจะทำต่อไป สู้ต่อไปบนเส้นทางของเรา แม้จากล้มจะเจ็บมากี่ครั้งก็ตาม ซึ่งถ้าเรามีความยึดมั่นต่อภารกิจที่แรงกล้าในการที่จะรับผิดชอบ ให้งานนั้นสำเร็จ แม้จะเคยล้มมาก่อน ก็มีแนวโน้มจะสู้เพื่อให้ไปถึงความสำเร็จของงานได้ แต่ถ้าหากไม่มีระเบียบวินัยมากพอการยึดติดต่อความรับผิดชอบต่องานนั้นอาจจะไม่เพียงพอและทำให้เราท้อถอยไปได้

3.ระดับการสนับสนุนจากกลุ่มคนรอบข้างและครอบครัว (social and family support)

แรงสนับสนุนจากหลังบ้านเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ยิ่งรู้สึกปลอดภัย เราก็ยิ่งมีความกล้าจะขึ้นไปต่อสู้กับปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น ฉะนั้นหากเราได้รับแรงสนับสนุน มีความอุ่นใจจากคนรอบข้างมากน้อย ทั้งในแง่ของความช่วยเหลือเป็นกายภาพ เช่นการช่วยงาน ให้คำปรึกษา หรือทางจิตใจเช่นการมีแรงใจ การได้รับกำลังใจหรือโอกาสอย่างสม่ำเสมอ จะยิ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความฮึ้บให้กับเราได้มากขึ้น

Resilience practices

.ซึ่งถ้าเราดูจากทั้งสามข้อนี้ อาจจะพอเห็นภาพลางๆแล้วว่ามันเป็นลักษณะของทักษะ ที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ แต่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นผมขอใช้ข้อมูลจาก David Sluss and Edward Powley มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับรูปแบบไทยๆของเรา โดยขอแนะนำแนวทางสั้นๆ เพื่อให้ท่านสามารถนำไปสร้าง Resilience ให้กับทีมงาน ดังนี้ 

1.สร้าง One-on-One Resilience talk

หรือ บทสนทนาที่มุ่งเน้นในการสร้าง Resilience ในเมื่อการสร้างความฮึ้บนี้ต้องใช้แรงใจจากภายในและประสบการณ์ที่เคยพบเจอมา ดังนั้น เราสามารถปลุกแรงฮึ้บ ได้ในเบื้องต้นโดยการพูดคุยกันครับ โดยเรามีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

1.1 ความสำเร็จที่ผ่านมา – ความสำเร็จในอดีตของเขา เขาผ่านอะไรมาบ้าง สำเร็จมาแบบไหน ฝ่าฟันมาแค่ไหนกว่าจะได้ความสำเร็จนั้น และทักษะของตัวเขานั้นสำคัญเพียงไรต่อความสำเร็จนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขาในการจัดการงาน 

1.2 ปัญหาที่เขากำลังเผชิญหน้า – พยายามพูดคุย ถามคำถามเพื่อให้เห็นความเป็นจริงของปัญหาที่เขาเผชิญ โดยไม่หลอกตัวเองว่าปัญหาเล็กเกินไป หรือเกรงกลัวกับปัญหาจนขยายให้ปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง สิ่งนี้จะช่วยสร้างความรับผิดชอบต่อภารกิจของเขา ให้ตระหนักถึง ความมีระเบียบวินัยต่อกิจวัตรในการทำงาน หรือ (disciplined routines for their work)

1.3 สิ่งที่เราได้ทำเพื่อจัดการ และผลของมัน – พูดคุยโดยสอบถามความคิดเห็นของเขา รวมไปถึงการสนับสนุนของคุณที่สามารถให้กับเขาได้ หรือสอบถามความคับข้องใจในสิ่งที่เขาต้องการบอก หรือต้องการบ่น เพื่อเป็นการให้เขาได้ทราบว่าเราจะอยู่คอยเป็นผู้สนับสนุนเขาในงานต่างๆอย่างแน่นอน

1.4 สิ่งที่ได้เรียนรู้ และสามารถนำไปใช้ได้กับกรณีอื่นๆต่อไป – หลังจากที่พูดคุยกันในสามข้อด้านบนแล้ว อย่าลืมให้เขาได้ตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้กันด้วยนะครับ

ฟังทั้งสี่ข้อนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ ผมจะขอยกกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งครับ เป็นน้อง HR ท่านหนึ่ง น้องท่านนี้ น้องท่านนี้เคยทำงานอยู่ในหน่วยงานสรรหาและว่าจ้างในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งน้องทำผลงานได้ตามมาตรฐาน แต่ทว่าน้องมีความกดดันมากจนไม่สามารถที่จะทำงานไหว จึงมายื่นเรื่องขอลาออก ซึ่งหัวหน้างานได้ทำการพูดคุย โดยเล่าถึงผลงานของน้องที่ทำได้ตามมาตรฐานของบริษัท มาตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ทำงานร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานร่วมกับ Hiring Manager และการสกรีน CV ซึ่งน้องท่านนี้ทำได้เป็นที่พึงพอใจกับ Hiring Manager เป็นส่วนมาก ซึ่งมาจากทักษะการประสานงาน และการสื่อสารของน้องท่านนี้ เพื่อให้น้องท่านนี้ได้ใจเย็นลง แล้วจึงพูดคุยกันต่อถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเคสนี้พบว่าเกิดจากความคาดหวังของน้องท่านนี้ ที่อยากปิดงานได้โดยเร็ว แต่บางครั้งไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างที่ควรจะเป็น ทางหัวหน้างานจึงได้กระตุ้นความคิดของน้องท่านนี้ว่าจะใช้ทักษะการประสานงาน และการสื่อสารที่ดีเยี่ยมที่น้องมีนี้ แก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ซึ่งหลังจากที่น้องได้ระบายความอัดอั้นนั้นออกมาแล้ว ก็ใจเย็นลงและสามารถประติดประต่อภาพได้เองว่า เขาสามารถที่จะใช้การสื่อสารที่เขาทำได้มาตลอดกับ Hiring Manager นั้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ และผ่านพ้นงานนั้นไปได้ โดยหลังจากที่จบงานนั้นแล้ว น้องท่านนี้จึงได้มองเห็นตัวเองว่า สนใจงานในด้านอื่นของ HR มากกว่า และปัจจุบันน้องท่านนี้ก็ยังคงทำงานให้องค์กรแห่งเดิม แต่ย้ายหน่วยงาน 

จะเห็นได้ว่าถ้าหากเราไม่กระตุ้นความฮึบของน้องท่านนี้ น้องท่านนี้อาจจะลาออกไปเลย ทำให้ทางบริษัทก็เสียเวลาต้องมาหาคนใหม่ ในขณะเดียวกันน้องท่านนี้ก็ไม่สามารถค้นพบตนเองได้ไวเช่นนี้ก็เป็นได้

2.สร้าง Resilience Inventory dashboard

หลังจากที่เราได้มีทำ Resilience talk กับทีมงานแล้ว เราอย่าลืมลงรายละเอียดบันทึกเป็นของแต่ละบุคคลได้เลยว่า เขามีแนวทางการทำงานแบบใด จุดเด่นจุดด้อยแบบใด อะไรที่เป็นสิ่งที่ช่วย Support เขาในการก้าวผ่านความยากลำบากต่างๆ ซึ่งเจ้า Resilience Inventory dashboard นอกจากจะใช้เตือนเราเพื่อที่จะหาวิธีการปลุกความฮึ้บของเขาแล้ว ยังสามารถที่จะนำความสามารถ หรือแรงจูงใจของทีมงานแต่ละคน มาผสมผสานกัน หรือช่วยเติมเชื้อไฟความฮึ้บนี้ให้เกิดขึ้นในทีมได้อีกด้วย โดยหัวหน้างานอาจทำ Resilience Inventory dashboard ในรูปแบบบันทึกส่วนตัว โดยตีเป็นตาราง เพื่อให้สามารถหยิบใช้ได้ใกล้มือ และยังเป็นตัวช่วยให้หัวหน้างานสามารถบริหารอารมณ์ของทีมไปพร้อมกับบริหารแผนงานได้อีกด้วย

3.ให้กำลังใจและให้ความเชื่อมั่นกับเขาเสมอๆ

นอกจากที่เราจะทำในสองข้อบนนั้นแล้ว ความสม่ำเสมอของเราเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ในฐานะหัวหน้าทีม เราสามารถให้ความมั่นใจ และให้ความเชื่อใจในการสนับสนุนเขาได้ตลอดเวลา เพื่อสนับสนุนให้เขาเจอกับเรื่องใหม่ๆ และฮึ้บขึ้นมาสู้ได้ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ การให้กำลังใจนี้ เราสามารถทำได้ง่ายๆผ่านการชมเชย แค่เริ่มต้นง่ายๆจากการชมเรื่องเล็กๆ เช่นการทำงานได้แม่นยำ หรือตรงเวลา ก็สามารถเก็บเป็นคลังความภาคภูมิใจที่จะไปช่วยให้เขาสามารถเห็นข้อดีของตัวเองได้เมื่อยามที่ต้องกลับมาเรียกความฮึ้บของตัวเองครับ

การสร้างความฮึ้บนี้ หัวหน้าทีมเป็นผู้ที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนและส่งเสริมศักยภาพให้กับทีมงาน จนเขาสามารถระเบิดพลังออกมาได้ และถ้าหากเค้าฮึ้บขึ้นมาได้ ทีมงานก็จะมีความสามารถในรับมือกับสถานการณ์ได้ในหลากหลายรูปแบบ ก็คงเป็นหัวหน้างาน และองค์กรนั่นแหละที่จะได้ประโยชน์ไปในระยะยาวร่วมกับพนักงาน

หมดเวลาเสียใจกับการสอบตก และมุ่งหน้าฝ่าฟันเพื่อไปสู่เส้นชัยร่วมกัน ด้วยความฮึ้บ! กันนะครับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง