การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (Human Resource Development in Digital Age)

HIGHLIGHT
  • โลกกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Digital Age ที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อทุกด้านรวมถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องปรับตัวเองให้ทันเพื่อการก้าวสู่การเป็น Digital HR รองรับโลกยุคนี้
  • การเปลี่ยนแปลงองค์กรในยุค Disruptive World ทำให้เกิดนวัตกรรมองค์กรขึ้นมากมาย รวมถึง AIHR ที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานบริหารงานบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ
  • แนวคิดที่น่าสนใจสำหรับ HR 4.0 ก็คือ Growth Mindset หรือกรอบความคิดในการกล้าเติบโตและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แบบไม่กลัวการผิดพลาด ซึ่งการผิดพลาดเร็ว (Fail Fast) กลับกลายเป็นข้อดีที่จะทำให้ได้ลองทำ เรียนรู้เร็ว และปรับตัวได้ว่องไว

HRD in Digital Age

ศตวรรษที่ 21 นี้ถือเป็นยุคที่เรียกว่า Information Age หรือ Digital Age ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดนั้นทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงว่องไวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงเรื่องของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนรูปแบบมากมาย ตลอดจนองค์กรต่างๆ เองก็มีการปรับตัวตามกระแสให้ทันเช่นกัน ในยุคดิจิทัลนี้เราเริ่มได้ยินศัพท์แปลกๆ ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่ Digital Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อหลายสิ่งและหลายส่วน แล้วเทคโนโลยีเองก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในสิ่งต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

อีกหนึ่งประโยคที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ในช่วงนี้ก็คือ Disruptive World หรือแม้แต่ Career Disruption การปฎิวัติทางอาชีพตลอดจนการปฎิรูปองค์กรขนาดใหญ่ที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้ไม่ว่าจะอาชีพใด หรือธุรกิจประเภทไหน ต่างก็ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวกันหมด นั่นรวมถึงฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) ที่องค์กรจำนวนมากทั้งในต่างประเทศและเมืองไทยต่างก็เริ่มขยับตัวปรับเปลี่ยนให้ก้าวสู่ยุค Digital HR หรือ AIHR ที่เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์กันแล้ว ซึ่งหากมองในแง่ดีแล้วยุคดิจิทัลนี้จะทำให้ฝ่าย HR ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่ถูกนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากที่สุดนั้นก็คือส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง มาลองดูกันว่า Digital HRD ที่กำลังถูกนำมาใช้นั้นเป็นอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจ หรือองค์ความรู้ไหนที่ฝ่าย HR ควรเติมความรู้ไว้บ้าง

S.M.A.C

S.M.A.C คืออะไร? … ศัพท์สายดิจิทัลที่กำลังมาแรงและเป็นศัพท์ที่ฝ่าย HR ควรจะต้องรู้ในยุคนี้ก็คือ S.M.A.C ซึ่งเป็นตัวย่อที่มาจาก

  • S – Social > ซึ่งก็คือโลกของโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ที่มีตั้งแต่พื้นฐานที่รู้จักกันดี ไปจนถึงอันที่เกิดใหม่ๆ โดย HR ควรรู้จักและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานของตนและองค์กรได้
  • M – Mobile > ในที่นี้หมายถึง Mobile Device ที่นับตั้งแต่สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, โน๊ตบุ๊ค, ไปจนถึงอุปกรณ์ดิจิทัลพกพาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
  • A – Analytics > การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ไปจนถึงระบบต่างๆ ที่สร้างขึ้นเฉพาะตัว เพื่อนำ “ข้อมูล (Data)” มาใช้ประโยชน์ เพราะยุคนี้ข้อมูลนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญและมีมูลค่า
  • C – Cloud > ก็คือระบบเก็บข้อมูลตลอดชนเชื่อมข้อมูลแบบออนไลน์ บางครั้งข้อมูลมีเป็นจำนวนมากการเชื่อมต่อผ่านระบบ Cloud นั้นจะทำให้ทุกคนเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้ง่ายไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็ตาม

โดยทั้ง 4 คำนั้นเกี่ยวเนื่องกับโลกดิจิทัลทั้งสิ้น และ HR จะต้องนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประโยชน์กับพนักงานและองค์กรสูงสุด ทั้งยังเป็นการปรับตัวให้ทันกันการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ด้วย

เรื่องที่ต้องเรียนรู้เมื่อเป็น Digital HR

ข้อมูลและองค์ความรู้ในเรื่อง Digital HR ในยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในองค์ความรู้ที่น่าสนใจที่เราหยิบยกขึ้นมาแนะนำกันในคราวนี้ก็คือสิ่งที่ HR ยุคดิจิทัลควรรู้ไว้ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเนื้อหาน่าสนใจที่เกิดขึ้นในงาน Digital Dialogue : “Digital HR – กระบวนการ HR ใหม่ในโลกดิจิทัล” ที่จัดขึ้นโดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ The101.world โดยหัวข้อที่น่าสนใจนั้นมีดังนี้

Design Thinking

สำหรับ Design Thinking นั้นคือกระบวนการคิดที่เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งโดยเอาผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง แล้วนำเอาความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนมุมมองจากหลายๆ ส่วนงาน หลายๆ แผนก มาสร้างไอเดียเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขร่วมกัน และนำแนวทางต่างๆ มาทดสอบและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งาน หรือสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมา Design Thinking มักถูกนำไปใช้กับทางด้านการตลาดหรือฝ่ายขายเสียมากกว่า แต่ในยุคนี้ Design Thinking กำลังจะเข้ามามีบทบาทกับ Digital HR ที่ต้องตอบสนองความต้องการของพนักงานตลอดจนแก้ปัญหาของบุคลากรให้ตรงจุดและสร้างความพึงพอใจ ซึ่งนั่นนำไปสู่การออกแบบแนวความคิดต่างๆ ที่อาจไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ หรือการแก้ปัญหาใหม่ๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรด้วย

 Growth Mindset

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั้นคือตัวกลางระหว่างพนักงานและองค์กรที่ต้องเชื่อมความสัมพันธ์กัน และฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็ควรจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้พนักงานสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ทัน สิ่งแรกที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรปลูกฝังตัวเองคือ Growth Mindset ที่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ นั้นเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปรับเปลี่ยนยาก แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้ เมื่อมี Growth Mindset แล้วอีกสิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือแนวคิดกล้าผิดพลาด (Fail Fast) ซึ่งกำลังเป็นแนวคิดที่นิยมในยุค Digital Age คือทุกคนต้องกล้าที่จะผิดพลาด ผิดพลาดได้รวดเร็ว เพื่อที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดและแก้ปัญหาได้ทันเวลา ซึ่งนั่นนำมาซึ่งการกล้าลงมือทำในสิ่งต่างๆ นั่นเอง ซึ่งการลงมือทำจะทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วย

Future Skill

โลกเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าทักษะของคนก็เปลี่ยนตาม การทำงานในองค์กรต่างๆ เริ่มต้องการทักษะใหม่ๆ เข้ามาช่วย ตลอดจนทักษะที่องค์กรอาจไม่มีอยู่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรเรียนรู้ว่าทักษะแห่งอนาคตอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อองค์กร อย่างเช่น Big Data Analytics ที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเทรนด์ของ Big Data นั้นมาแรงในทุกองค์กร หรือ ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skill) ที่ปัจจุบันนั้นซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่การใช้สมองของคนแล้วแต่เป็นการบูรณาการหลายอย่างเพื่อการแก้ปัญหาให้เป็น หรือทักษะดิจิทัลแบบผสมผสาน (Digital Multi-Skilled) ที่สามารถเข้าใจทักษะในงานดิจิทัลหลากหลายรูปแบบ หลากหลายโปรแกรม แล้วสามารถนำแต่ละโปรแกรมมาใช้งานร่วมกันให้เกิดประโยชน์ได้ เป็นต้น

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (Human Resource Development in Digital Age)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หลายองค์กรเริ่มนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ นี้มาใช้ ปรับปรุง พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และนี่คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การปฐมนิเทศด้วยตนเองผ่านระบบดิจิทัล (Digital Self-Orientation)

การปฐมนิเทศถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เพราะหากเริ่มต้นได้ถูกต้องย่อมทำให้ทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาด ยุคก่อนการปฐมนิเทศแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ขององค์กร และยิ่งองค์กรใหญ่เท่าไรก็มีวาระในการจัดปฐมนิเทศพนักงานใหม่ได้น้อยเท่านั้น ยุค Digital HR นี้หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการปฐมนิเทศด้วยตนเองผ่านระบบดิจิทัลเพื่อให้พนักงานทำความรู้จักตลอดจนเรียนรู้องค์กรและการทำงานเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพื่อลดการเสียเวลา โดยพนักงานใหม่สามารถที่จะเรียนรู้ที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้ ทำให้องค์กรไม่ต้องเสียเวลามากในเรื่องการปฐมนิเทศเบื้องต้นนี้

ศูนย์การฝึกอบรมด้วยต้นเองผ่านระบบออนไลน์ (Online Self-Training Center)

ปัจจุบันระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์นั้นเติบโตและพัฒนาไปไวมาก หลายองค์กรพัฒนาศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ของตนเองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพของพนักงาน นอกจากจะประหยัดเวลาเพราะผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสะดวกโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลาแล้ว ระบบนี้ยังทำให้องค์กรประหยัดงบได้จำนวนมากในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งนี่คือหนึ่งในเครื่องมือที่ฝ่าย HR ควรรู้และนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์

 ศูนย์การเรียนรู้ด้วยต้นเองผ่านระบบออนไลน์ (Online Self-Learning Center)

นอกจากความรู้ที่เกี่ยวกับงานและองค์กรแล้ว ปัจจุบันหลายองค์กรยังส่งเสริมให้พนักงานได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่นอกเหนือจากงานที่ตนสนใจด้วย นอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ แล้ว พนักงานยังสามารถมีความรู้ติดตัวเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นๆ หรือประกอบอาชีพเสริมในอนาคตได้ด้วย หรือแม้แต่พัฒนาศักยภาพที่ต้นอาจค้นพบใหม่ หลายองค์กรมักจัดการฝึกอบรมแบบนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้พนักงานได้ตื่นตัวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นสวัสดิการเสริมให้กับพนักงาน ขณะเดียวกันหลายองค์กรก็เริ่มเชื่อมกับแหล่งเรียนรู้ออนไลน์อื่นๆ เพื่อเป็นสวัสดิการณ์ให้พนักงานด้วยเช่นกัน ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบตลอดชีวิตที่ไม่จำกัดรูปแบบและความสนใจ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรได้ดีอย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย

Digital Training Platform
หนึ่งในตัวอย่างของการเชื่อมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานในยุคดิจิทัลที่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรนั้นก็คือการจับมือระหว่าง KBank กับ SkillLane ที่ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพมาแรงของไทยเจ้าของ Digital Training Platform การเรียนรู้หลากหลายรูปแบบที่โด่งดังและได้รับความนิยมอย่างสูง โดยทาง KBank มุ่งพัฒนาสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง Self-Directed Learning อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งพนักงานจะได้เรียนรู้บนโลกออนไลน์อย่างไร้ขีดจำกัดแบบไร้สถานที่และเวลา ซึ่งใน SkillLane มีคอร์สให้เรียนไม่ต่ำกว่า 400 คอร์ส รวมไปถึงคอร์สพิเศษเพื่อพนักงานโดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งนี่เป็นการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรขนาดใหญ่ของไทยที่น่าสนใจทีเดียว

การเรียนและใบรับรองผ่านระบบออนไลน์ (Online Study & Certificate)

นอกจากการอบรมฝึกฝนต่างๆ แล้วยุคปัจจุบันก็ยังมีคอร์สเรียนจริงๆ จังๆ ผ่านระบบออนไลน์มากมาย ยุคก่อนที่อาจส่งพนักงานไปเรียนทั้งในและต่างประเทศนั้น ยุคนี้องค์กรอาจเปลี่ยนเป็นระบบการเรียนแบบออนไลน์แทน ซึ่งประหยัดเวลาและงบประมาณให้กับองค์กรเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการเรียนผ่านระบบออนไลน์ในยุคปัจจุบันก็มีหลากหลาย และมีใบประกาศรับรองด้วย เป็นการพัฒนาศักยภาพพนักงานได้มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ (AIHR – Artificial Intelligence Human Resource)

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทในส่วนของสังคม ในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคปัจจุบันเองก็เริ่มนำเอา AI มาใช้กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในระดับองค์กรใหญ่ อย่างที่เราเห็นได้ชัดและง่ายที่สุดนั้นก็คือการนำเอาระบบ Chatbot มาใช้กับระบบถาม-ตอบอัตโนมัติในเรื่องต่างๆ ที่เกียวข้องกับงานบริหารทรัพยากรบุคคล หรือที่ Advance มากขึ้นก็คือการเริ่มนำเอาเทคโนโลยี VR-Virtual Reality มาใช้กับการ Training พนักงานในบางสายงาน เพื่อจำลองสถานการณ์ความเป็นจริง หรือข่าวการพัฒนาล่าสุดที่บางองค์กรเริ่มพัฒนา AI ให้สามารถวิเคราะห์แยกแยะคลิปของผู้สมัครงานได้เบื้องต้น ถึงบุคลิก ลักษณะ และความเหมาะสมต่อองค์กร เป็นต้น

People Analytics

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากๆ สำหรับสายงาน HR ก็คือ People Analytics หรือ HR Analytics ซึ่งนี่คือแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลืองานด้านทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะ นอกจากจะพัฒนาให้เป็นระบบ AIHR แล้ว เจ้าแอปพลิเคชันนี้ยังมีความสามารถเหลือล้น ตั้งแต่การเก็บข้อมูลพนักงานจำนวนมหาศาลที่เรียกว่า Big Data จากนั้นก็สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลได้แม่นยำ รวดเร็ว เที่ยงตรง อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีนี้สามารถวิเคราะห์และประเมินศักยภาพคนได้ด้วย สามารถประเมินได้ว่าพนักงานคนไหนควรพัฒนาด้านใดเพิ่มขึ้นอย่างไร กระทั่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าพนักงานคนนี้มีแนวโน้มจะลาออกเพื่อให้ฝ่าย HR ตัดสินใจว่าจะทำวิธีใดเพื่อรักษาพนักงานคนนี้ไว้ หรือจะพัฒนาให้เค้ามีศักยภาพด้านไหนเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้ยังคงรักที่จะทำงานกับองค์กรต่อไปได้ นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของประสิทธิภาพ AI ที่เข้ามามีบทบาทในการทำงาน HR ยุคปัจจุบัน ซึ่งช่วงเพิ่มศักยภาพให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้อย่างดีเยี่ยม และช่วยทำให้ฝ่าย HR ประหยัดเวลาในการทำงานได้มากทีเดียว

บทสรุป

เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องนี้ก็มีการกล่าวถึงยุค HR 4.0 ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นยุคที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนร่วมปรับปรุงองค์กรให้ก้าวตามโลกให้ทัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง Disruptive World และเตรียมการปรับตัวเองให้เป็น Digital HR ตลอดจนก้าวเข้าสู่ยุค Digital Age อย่างสมบูรณ์แบบ

ขณะเดียวกันจากเมื่อก่อนที่องค์กรมักมองฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นเพียงแผนกเล็กๆ กึ่งงานธุรการที่ไม่มีบทบาทสำคัญอะไรต่อองค์กรนัก แต่สำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบันนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและได้รับการยกย่องให้เป็นถึงคู่คิด CEO ที่จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการร่วมพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันต้องเตรียมความพร้อมในหลากหลายด้านให้ดี และเตรียมตัวสู่การเป็น Digital HR ที่มีประสิทธิภาพด้วยนั่นเอง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง