Search
Close this search box.

QuitTok ไม่ดูแลพนักงานดี ๆ ระวังโดน Gen Z แฉคืน !

HIGHLIGHT

  • QuitTok คือการที่พนักงานวัย Gen Z อัดคลิปวิดีโอประกาศลาออกแล้วนำมาโพสต์ลงใน TikTok เพราะมีแนวคิดว่าทำไมต้องอดทนทำงานที่ไม่ชอบ และเจอพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจด้วย สู้ลาออกแล้วไปหางานใหม่ หรือพักผ่อนจะดีเสียกว่า
  • กระแส QuitTok ยังเกิดขึ้นคนจำนวนมากชอบสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ต้องทำคอนเทนต์เพื่อเรียกยอดวิว ยอดไลก์ ยอดแชร์บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบน TikTok เพราะมันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง เผลอ ๆ หากทำคอนเทนต์ออกมาได้น่าสนใจ เงินที่จะได้รับก็อาจจะมากกว่าการทำงานประจำเสียอีก
  • แต่หากใครอัดคลิป QuitTok แฉองค์กรล่ะก็ อย่าลืมว่าการทำแบบนี้อาจทำให้หลายองค์กรไม่กล้ารับพวกเขาเข้ามาทำงานด้วย เพราะกังวลว่า ‘ทัศนคติ’ แบบนี้จะเป็นปัญหา และทำให้เกิดความวุ่นวายในองค์กรตามมา แม้พวกเขาอาจไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหาจริง ๆ ก็ตาม
  • หาก HR เห็นว่าพนักงานอัดคลิป QuitTok สิ่งที่ควรทำก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกว่าเขาต้องเจออะไรมาบ้างถึงตัดสินใจทำแบบนี้ ควรพูดคุยและรับฟังเรื่องราวในมุมมองของเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ และหาวิธีแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเรื่องนี้อีกในอนาคต จึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

Quittok ไม่ดูแลพนักงานดี ๆ ระวังโดน Gen Z แฉคืน !

คำศัพท์ในแวดวงการทำงานและ HR เมื่อก่อนก็เยอะมากอยู่แล้ว แต่หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ก็เกิดคำศัพท์ขึ้นมาอีกมากมาย และหลายคำในนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของการลาออก (Quit) เช่น Quiet Quitting และ Quiet Firing เป็นต้น

ล่าสุด ยังมีคำศัพท์ตระกูล Quit เพิ่มขึ้นมาอีกนั่นคือ QuitTok (หรือ Quit-Tok) แถมยังเป็นเทรนด์มาแรงที่ทำให้หลายองค์กรต้องกลับมาสำรวจตัวเองใหม่เสียด้วย เพราะเหตุใดพนักงานถึงทำแบบนี้

QuitTok คืออะไร และ HR ควรทำอย่างไรกับปรากฏการณ์ดังกล่าวบ้าง ติดตามได้จากบทความนี้

ปรากฏการณ์ QuitTok เมื่อพนักงานไม่ขออดทนอีกต่อไป

คนทั่วไปเวลาจะบอกลาออก วิธีปกติจะทำกันก็คือเข้าไปแจ้งหัวหน้าแบบตัวต่อตัว บางครั้งอาจเดินไปพร้อมยื่นจดหมายลาออก บางครั้งอาจส่งอีเมลลาออกก็ได้เช่นกัน

แต่ตั้งแต่ปี 2020 กลับเกิดปรากฏการณ์ชื่อว่า QuitTok คือการที่พนักงานอัดคลิปวิดีโอตัวเองขณะประกาศลาออกแล้วนำมาโพสต์ลงใน TikTok กลายเป็นกระแสขึ้นมาให้หลายคนทำตามเป็นขบวน โดยผู้ถ่ายคลิปหลายคนซึ่งอยู่ในวัย Gen Z มีแนวคิดว่าทำไมต้องอดทนทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจด้วย สู้ลาออกแล้วไปหางานใหม่ หรือพักผ่อนจะดีเสียกว่า

และจะลาออกอย่างเดียวมันก็ธรรมดาไป ต้องถ่ายคลิปเอาลงสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ป่าวประกาศให้สาธารณชนรับทราบร่วมกันด้วย เรียกอีกชื่อได้ว่า ‘Loud Quitting’ นั่นเอง

หากไล่ย้อนดูคลิป QuitTok ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคลิปจะพบวิธีการลาออกที่แตกต่างกันไป บางคนแค่ออกมาถ่ายคลิปเพื่อบอกว่า เขาเพิ่งไปขอลาออกกับหัวหน้ามา บางคนอัดคลิปขณะตัวเองกำลังประชุมออนไลน์ แล้วประกาศบอกลาออกกลางที่ประชุมด้วย บางคนถึงขั้นไลฟ์สดขณะลาออกเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม QuitTok ไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่เฉพาะกับพนักงาน Gen Z หรือ TikTok Generation อย่างเดียว แต่หากไล่ย้อนดูคลิปจะพบคนแทบทุกวัย และแทบทุกอาชีพด้วยประกาศลาออก ไม่ได้มีแค่ Gen Z เท่านั้นที่ไม่สมาทานแนวคิด ‘จะอดทนไปเพื่ออะไร’ หากทำงานไปแล้วต้องเจอแต่เรื่องบั่นทอน

Quittok ไม่ดูแลพนักงานดี ๆ ระวังโดน Gen Z แฉคืน !

ทำไม QuitTok คือประเด็นที่องค์กรไม่ควรมองข้าม

สาเหตุหลัก ๆ ที่พนักงานลาออกมักเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินเดือน การหมดความท้าทายในงาน และการทนทำงานกับคนอื่นในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ไม่ได้ และมีผลสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่า คนเป็นหัวหน้ามักจะเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกถึง 70% 

แต่หากใครเคยยื่นใบลาออก จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังและความกล้าเยอะมาก ๆ การที่จู่ ๆ ผู้คนอดทนไม่ไหวถึงขั้นทำคลิป QuitTok แสดงว่าพวกเขาต้องเหลืออดจริง ๆ จนต้องเอาด้านไม่ดีที่ซุกซ่อนอยู่ในพรมขององค์กรมาแฉ 

ซึ่งในแง่หนึ่ง มันคือการที่พนักงานได้แสดงออกว่า พวกเขาไม่โอเคกับพฤติกรรมของหัวหน้า HR หรือแม้กระทั่ง CEO และองค์กรจำเป็นต้องฟังเสียงของพนักงานบ้าง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครอยากร่วมงานด้วยอีกเลย

อีกสาเหตุที่เกิดกระแส QuitTok เพราะปัจจุบัน คนจำนวนมากชอบสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ สนแต่การทำคอนเทนต์เพื่อเรียกยอดวิว ยอดไลก์ ยอดแชร์บนโซเชียลมีเดีย เพราะมันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง เผลอ ๆ หากทำคอนเทนต์ออกมาได้น่าสนใจ เงินที่จะได้รับก็อาจจะมากกว่าการทำงานประจำเสียอีก

การเป็น Content Creator หรือ TikToker ไปด้วย จึงช่วยให้พนักงานหลายคนรู้สึกอุ่นใจว่า ถึงจะลาออก พวกเขาก็จะไม่สิ้นไร้ไม้ตอกในเส้นทางชีวิตแน่นอน

QuitTok ไม่ดูแลพนักงานดี ๆ ระวังโดน Gen Z แฉคืน !

QuitTok สนุกชั่วครู่ แลกกับความทุกข์ที่ไม่ชั่วคราว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ QuitTok ส่งผลต่อองค์กรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ 

แต่ขณะเดียวกัน พนักงานที่โพสต์คลิปประจาน แม้จะได้ความสะใจ แม้จะได้คอนเทนต์มาเพิ่มยอดวิว หรือเพิ่มยอดผู้ติดตาม ก็จะได้ผลกระทบด้านลบกลับมาด้วย หลายคนที่ดูคลิปอาจเกิดคำถามว่า นี่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเผยแพร่บนสื่อหรือไม่ แล้วหากเรื่องดังกล่าวไม่มีมูล ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อการหางานของพวกเขาเองตามมา

และอย่าลืมว่าโลกของคนในแวดวง HR นั้นแคบกว่าที่คิด หลายองค์กรอาจไม่กล้าที่จะรับพนักงานที่มีพฤติกรรมแบบนี้เข้ามา เพราะกังวลว่า ‘ทัศนคติ’ ของพวกเขา การชอบด่าองค์กรเก่าจะสร้างปัญหาให้ แม้ที่นั่นพวกเขาอาจไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหาก็ตาม

และในยุคที่การหางานยากขึ้นเรื่อย ๆ Digital Footprint เหล่านี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญให้พวกเขาไม่ได้งานที่อยากทำ แม้เวลาจะผ่านไปเป็น 10 ปีก็ตาม

Fox News เคยสัมภาษณ์ TikToker ที่ชื่อว่า Paige วัย 24 ปีที่เคยโพสต์คลิปวิจารณ์การหัวหน้าในทางเสีย ๆ หาย ๆ แล้วสุดท้ายประกาศลาออก ว่าเธอรู้สึกเสียใจในการกระทำของตัวเอง แม้วันแรกที่ทำ เธอจะรู้สึกสนุก รู้สึกมีอำนาจ แต่สุดท้ายแล้วต้องมานั่งเสียใจทีหลังกับการกระทำที่โง่เง่าที่ส่งผลต่ออาชีพของเธอเอง

HR ควรทำอย่างไร หากเจอคลิป QuitTok ของพนักงาน

การที่พนักงานลาออกถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่ลาออกแล้ว ป่าวประกาศให้คนภายนอกรับรู้ด้วย ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า

หากเจอสถานการณ์แบบนี้ HR ในฐานะที่เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรของเพื่อนพนักงานต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรเอาไว้ และอย่างน้อยก็เพื่อเตือนสติให้ได้รู้ว่า ว่าการกระทำนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อตัวของพวกเขาเองด้วย

ทั้งนี้ หลายคนอาจคิดว่า HR จะต้องแจกใบเตือน พร้อมกับประกาศลงดาบพนักงานที่จะออกจากงานเป็นการสั่งลา หรือแม้กระทั่งการสั่งห้ามไม่ให้พนักงานลงคลิปเรื่องงานใน TikTok แต่จริง ๆ แล้วมีทางออกที่ดีกว่านั้น และน่าจะมีประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยะยาว ดังนี้

  1. เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบพนักงานบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร ลองคิดในมุมกลับว่าเพราะอะไรที่ทำให้พนักงานเหลืออด ต้องประกาศลาออกแบบนั้นออกมา
  2. หันกลับมาสำรวจองค์กรว่า มีปัญหาอย่างที่พนักงานระบุไว้ในคลิปหรือไม่
  3. หาโอกาสพูดคุยกับพนักงานคนนั้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ และเพื่อค้นหายังมีปัญหาอะไรที่ควรแก้อีกบ้าง 
  4. นำฟีดแบ็คที่ได้ ไปหาทางปรับแก้องค์กรให้ดียิ่งขึ้น ป้องกันปัญหาการลาออกในอนาคต ทำให้พนักงานมั่นใจว่าจะไม่เกิดเรื่องนี้ซ้ำกับพนักงานคนใดอีก

ฝึกฝนความเป็นผู้นำ ทางออกสำคัญช่วยลดปัญหา Quittok  

เมื่อพนักงานจำนวนมากลาออกเพราะคนเป็นหัวหน้า ซึ่งสอดคล้องกับคนทำคลิปแนว QuiTtok อีกไม่น้อยที่ลาออกด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน

หาก HR พิจารณาแล้วพบว่าจำเป็นต้องเทรนคนเป็นผู้นำเสียใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาการลาออกของพนักงาน แล้วแฉหัวหน้าและแฉองค์กรล่ะก็ มาลองค้นหา HR Solutions หมวด Leadership Development Provider ที่จะช่วยพัฒนา และฝึกภาวะผู้นำเพิ่มเติมได้ผ่าน HREX ทางลิงก์นี้

และ HR ยังถือโอกาสนี้สร้างความผูกพัน ให้พนักงานรู้สึกดีกับองค์กรได้เช่นกัน สามารถมาค้นหาเครื่องมือ Employee Engagement เพื่อใช้งานได้แล้วทางลิงก์นี้

บทสรุป

แม้ QuitTok ดูจะเป็นเรื่องด้านลบมากกว่าด้านบวกต่อองค์กร แต่อย่างน้อย ปรากฏการณ์นี้ก็น่าจะทำให้องค์กรได้กลับมาหวนคิดว่า สิ่งที่องค์กรทำอยู่นั้นส่งผลดีต่อพนักงานหรือไม่ มีปัญหาอะไรต้องแก้ไขบ้างหรือเปล่า

หากฟังเสียงสะท้อนของพนักงานแล้วนำไปปรับปรุงองค์กรล่ะก็ มั่นใจได้ว่าองค์กรจะเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ และใคร ๆ ก็อยากมาร่วมงานยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อย 

Sources:

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง