April Fool’s Day ในออฟฟิศ มุกตลกที่ HR อาจไม่ตลกด้วย

HIGHLIGHT

  • April Fool’s Day หรือ วันเมษาหน้าโง่ ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ผู้คนนิยมเล่นมุขตลก โกหก หรือแกล้งเพื่อนฝูงและครอบครัวอย่างสนุกสนาน โดยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง 
  • แม้ว่า April Fool’s Day อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงบางประการในสถานที่ทำงาน แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ HR ควรเข้าใจและพิจารณาด้วย เช่น สร้างความผ่อนคลาย สร้างจินตนาการ หรือสร้างวัฒนธรรมที่ผ่อนคลาย
  • แต่การเล่นมุก April Fools Day ในออฟฟิศ อาจมีความเสี่ยงผิดกฎหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมุกที่เล่นนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น 

April Fool’s Day ในออฟฟิศ มุกตลกที่ HR อาจไม่ตลกด้วย

วันที่ 1 เมษายน April Fool’s Day หรือที่คนไทยรู้จักในนาม วันเมษาหน้าโง่ เป็นวันที่คนทั่วโลกรอคอยที่จะเล่นตลกหลอกล้อกัน ทำให้เป็นวันที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ ไม่เว้นแม้แต่ในสถานที่ทำงาน ซึ่งพนักงานจำนวนไม่น้อยมักจะหาโอกาสเล่นตลกและวางแผนการหลอกล้อเพื่อนร่วมงานกันบ้าง

อย่างไรก็ตาม มุกตลกของบางคนอาจไม่ใช่เรื่องตลกของคนอีกคน จนบางครั้งอาจนำไปสู่ผลเสียมากกว่าความสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องรักษามารยาทและมีข้อจำกัดบางประการ

ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR จึงมักเป็นหน่วยงานที่ต้องคอยระวังและจัดการกับเหตุการณ์การเล่นตลกที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อองค์กร ทั้งความเสียหายหรือผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงการทำลายบรรยากาศที่ดีระหว่างพนักงาน

ในบทความนี้ เราจะมาพิจารณากันว่าการหลอกล้อแบบไหนบ้างที่ HR อาจมองว่าเป็นเกินความจำเป็น ไม่ตลก และอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่โต เพื่อพนักงานทุกคนจะได้นำไปเป็นข้อควรระวังในการจัดกิจกรรมวันตลกแห่งปี

April Fool’s Day คืออะไร

April Fool’s Day หรือ วันเมษาหน้าโง่ ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ผู้คนนิยมเล่นมุขตลก โกหก หรือแกล้งเพื่อนฝูงและครอบครัวอย่างสนุกสนาน โดยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง 

ที่มาของประเพณีวันนี้มีหลายทฤษฎีแตกต่างกัน แต่ที่นิยมเชื่อกันมากที่สุดคือ มาจากการเปลี่ยนแปลงปฏิทินในศตวรรษที่ 16 จากปฏิทินจูเลียนเป็นปฏิทินเกรกอเรียน ทำให้วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจากวันที่ 25 มีนาคมเป็น 1 มกราคม บางคนไม่ทราบข่าวจึงยังเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในช่วงเดือนเมษา จนกลายเป็นที่มาของการหลอกล้อในวันที่ 1 เมษา นั่นเอง

ทั้งนี้ วัฒนธรรมการหลอกล้อกันในวันนี้มีให้เห็นในหลากหลายสังคมทั่วโลก ตั้งแต่การวางแผนการหลอกล้อระดับกันเอง เพื่อนสนิท ครอบครัว ไปจนถึงระดับสังคม ส่วนมากลักษณะของการหลอกล้ออาจเป็นการแกล้งทำเป็นเรื่องราวผิดปกติ หรือการบอกกล่าวข้อมูลเท็จ เพื่อสร้างความตกใจและความขบขันในที่สุด อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังไม่ให้เกินขอบเขตจนก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบในทางลบ 

April Fool’s Day ในออฟฟิศ มุกตลกที่ HR อาจไม่ตลกด้วย

ข้อดีของการเล่น April Fool’s Day ในออฟฟิศ

แม้ว่า April Fool’s Day อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงบางประการในสถานที่ทำงาน แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ HR ควรเข้าใจและพิจารณาด้วย ได้แก่

  • สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในที่ทำงาน : การมีกิจกรรมหลอกล้อที่เหมาะสมในวันนี้ช่วยคลายความตึงเครียดจากการทำงานประจำ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร : การแชร์เรื่องตลกร่วมกันเป็นวิธีสร้างความสนิทสนมและความรู้สึกผูกพันระหว่างเพื่อนร่วมงาน ทำให้เกิดบรรยากาศที่ราบรื่นและทีมงานที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
  • กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ : การวางแผนการหลอกล้อต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงาน การฝึกฝนมุกตลกเป็นการกระตุ้นศักยภาพของพนักงานได้
  • สร้างช่วงเวลาพักผ่อนจากงาน : แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่การมีส่วนร่วมในเทศกาลวันนี้ก็ช่วยให้พนักงานได้พักผ่อนจากกิจวัตรประจำวัน เพิ่มแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นในการทำงานได้
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี : องค์กรที่มีความยืดหยุ่นและสามารถแบ่งปันเรื่องราวสนุก ๆ ร่วมกัน ก็จะดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถและมีส่วนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร

ดังนั้น หากการจัดกิจกรรมในวันนี้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและความบันเทิง ก็จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีได้

สิ่งที่ HR ควระวัง หากต้องการเล่น April Fool’s Day ในที่ทำงาน

1) อย่ามองข้ามวัฒนธรรมองค์กร

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาวัฒนธรรมขององค์กร เพราะหากองค์กรของคุณปกติไม่มีอารมณ์ขันหรือเล่นตลกกันและกันเลย การเล่นมุกเมษาหน้าโง่อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนะ เพราะจะทำให้เสียความน่าเชื่อถือได้

2) อย่าเล่นตลกที่ทำร้ายร่างกายกัน

ควรหลีกเลี่ยงมุกตลกหรือการแกล้งที่อาจทำให้พนักงานได้รับอันตราย แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการใส่กาวตราช้างบนเครื่องเขียนของเพื่อนร่วมงาน หรือการใช้อุปกรณ์ที่อาจทำอันตรายต่อร่างกายได้

3) อย่าเล่นมุกที่ไม่เหมาะสม

ประเด็นคือเรื่องกาลเทศะล้วน ๆ เราคงไม่เล่นมุกตลกระหว่างการประชุมทางโทรศัพท์กับลูกค้า เล่ยมุกที่มีคำพูดล่อแหลมทางเพศ หรือการแกล้งที่ขัดขวางการทำงานของพนักงานคนอื่นในการทำงาน 

4) อย่าแกล้งจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทของคุณ

ด้วยเหตุผลบางประการ หลาย ๆ บริษัทชอบสร้างข่าวปลอมหรือประกาศข่าวปลอมในวันโกหก ซึ่งเราแนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะคุณไม่สามารถทราบได้ว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายจะเชื่อข่าวนั้นหรือไม่

5) อย่าแกล้งลูกค้า

พยายามจำกัดการเล่นมุกเมษาหน้าโง่เฉพาะเพื่อนร่วมงานเท่านั้น อย่าเล่นกับลูกค้าเป็นอันขาด !

6) อย่าสับสนระหว่างการแกล้งกับการคุกคาม

ประเด็นนี้ละเอียดอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะมุกตลกล้อเลียนพนักงานเรื่องเชื้อชาติ, เพศ, ศาสนา ฯลฯ ในเมื่อองค์กรพยายามโอบรัด DEI & B กันแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือ

ตัวอย่างการเล่น April Fool’s Day ในที่ทำงาน ที่ HR ไม่ปลื้ม

HR Grapevine รวบรวม 5 การเล่นมุกแย่ ๆ ของเมษาหน้าโง่ที่เคยเกิดขึ้นในออฟฟิศดังนี้

โบนัสปลอม : ผู้อำนวยการระดับสูงคิดมุกตลกว่าจะแจกโบนัส ทำให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานไม่พอใจกระทั่งเธอต้องลาออกจากธุรกิจไป

ภูเขาไฟระเบิด : มีผู้ผลิตข่าวรายงานว่าภูเขาไฟกำลังจะระเบิด ทำให้ผู้ชมละแวกนั้นตื่นตะหนักทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง

แกล้งท้องกับเพื่อนร่วมงาน : มีนักศึกษาเล่นมุกตลกกับทีมงานว่าเธอตั้งครรภ์ นำไปสู่การสืบสวนความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ลับ ๆ ในที่ทำงานจนทำให้เธอต้องออกจากงาน

ปลูกผักเครส : เย็นวันศุกร์พนักงานคนหนึ่งนั่งกินแซนวิสไข่กับผักเครสที่โต๊ะทำงาน แต่เขากับเล่นตลกใส่น้ำและผักเครสเข้าไปในคีย์บอร์ด เช้าสัปดาห์ถัดไปเมื่อกลับเข้ามาออฟฟิศพบว่า ต้นเครสกำลังเติบโตไปทั่วคีย์บอร์ดทั้งหมด นำไปสู่ข้อห้ามการนั่งกินอาหารบนโต๊ะ

ห่อของขวัญให้ : เมื่อหัวหน้าลาป่วย พนักงานคนหนึ่งนำกระดาษห่อของขวัญมาห่อทุกอย่างตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ กระทั่งปากกาและดินสอบ แต่ดูเหมือนหัวหน้าจะไม่ปลื้มเท่าไหร่ 

เล่นมุก April Fool’s Day ในที่ทำงานเสี่ยงผิดกฎหมายได้

รู้ไหมว่า​ การเล่นมุก April Fools Day ในออฟฟิศ อาจมีความเสี่ยงผิดกฎหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมุกที่เล่นนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น 

ยกตัวอย่าง

  • การเล่นมุกที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบริษัทหรือของเพื่อนร่วมงาน : อาจเข้าข่ายความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การเล่นมุกที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทหรือของเพื่อนร่วมงาน :  อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การเล่นมุกที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงาน : อาจเข้าข่ายความผิดฐานกระทำการโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ยังไม่นับการโพสต์ข้อความ ข่าวสารที่เป็นเท็จ หรือแชร์ข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดียวที่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2560 มาตรา 14 อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เราแนะนำให้เล่นมุก April Fools Day ในออฟฟิศด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเล่นมุกที่อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้อื่นหรือต่อบริษัทดีกว่า

April Fool’s Day ในออฟฟิศ มุกตลกที่ HR อาจไม่ตลกด้วย

บทสรุป

ถึงแม้ 1 เมษายน หรือ April Fool’s Day เป็นวันที่หลายคนรอคอยที่จะเล่นตลกหลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน  อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาสู่สถานที่ทำงาน การหลอกล้อบางอย่างอาจไม่ได้ตลกเลย และกลายเป็นเรื่องร้ายแรงที่ทำให้ HR ต้องเข้ามาจัดการ

การหลอกล้อเพื่อความสนุกสนานเป็นเรื่องที่ดี แต่ในฐานะ HR ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าอะไรเหมาะสมและปลอดภัย การออกแบบกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงแต่ไม่ก้าวล่วงหรือรบกวนผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อวันหยุดแห่งความสนุกสนานจะไม่กลายเป็นวันแห่งความเครียดและปวดหัวให้แก่ HR เช่นกัน

ที่มา

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง