ไม่เห็นด้วยอย่างไรให้คนเห็นด้วย : 8 วิธีเห็นต่างอย่างเข้าใจบนพื้นฐานของเหตุผล

ในโลกของการทำงาน การไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะต่างคนต่างความคิด ต่างบุคลิกและลักษณะนิสัย เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะคิดอะไรเหมือนๆกัน และคงไม่ดีหากในองค์กรนั้นเต็มไปด้วยคนที่คิดเหมือนกันหมดทุกคน การเกิดความคิดที่แตกต่างหลากหลายบ้างนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันนำมาซึ่งไอเดียใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ แน่นอนว่าความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นเป็นเรื่องดี แต่มันคงไม่ดีแน่หากความเห็นต่างนั้นมาจากความขัดแย้ง อคติ หรือความไม่พอใจและใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แทนที่จะทำให้องค์กรไปข้างหน้า กลับยิ่งทำให้ชะงักด้วยความไม่ลงรอยกันของความสัมพันธ์ของคนในทีม

หนึ่งสิ่งที่มีผลมากที่สุดเมื่อต้องการแสดงความเห็นต่าง หรือไม่เห็นด้วยก็คือ “อารมณ์” ต่อให้มีเหตุผลที่ดี หนักแน่นแค่ไหน แต่เมื่อเต็มไปด้วยอารมณ์มันก็ไปลดทอนความน่าเชื่อถือของเหตุผลที่มีได้ และลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้พูดด้วย หากสามารถควบคุมอารมณ์และน้ำเสียงของตัวเองได้ สารสำคัญหรือสิ่งที่ต้องการจะสื่อนั้นจะยิ่งชัดเจน และอาจเปลี่ยนสถานการณ์จากไม่เห็นด้วยเป็นเห็นด้วยได้อย่าง 1: 100 เลยทีเดียว

1. รับฟังอีกฝ่ายพูดให้จบโดยไม่ขัด

ขั้นตอนนี้อาจเป็นขั้นตอนที่ยาก ต้องใช้ขันติและความอดทนสูงหากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่คุณไม่เห็นด้วยมากๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งสติ รับฟังอย่างใจเย็นและเข้าใจในมุมมองของอีกฝ่าย บางคนอาจมีวิธีคิด วิธีถ่ายทอดไม่เหมือนกัน บางคนต้องการพูดเกริ่นนำก่อนเข้าเรื่อง บางคนต้องการพูดถึงประเด็นหลักทันที แต่หากอีกฝ่ายพูดในสิ่งที่นอกเหนือประเด็นคุณสามารถเบรกได้เพื่อให้กลับมาสู่ประเด็นต่อ แต่ก็เคารพอีกฝ่ายให้พูดให้จบเสียก่อน

2. ถามให้แน่ใจก่อนว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ไม่เห็นด้วย

เพราะบางทีสิ่งที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคุณอาจเพราะยังมีบางเรื่องที่เข้าใจผิด หรืออาจเป็นจุดเล็กๆน้อยๆที่คุณมองข้าม เช่น ใช้คำผิดบริบททำให้ความหมายที่ต้องการจะสื่อคลาดเคลื่อนไป นำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ การจำแนกประเด็นที่เห็นต่างนั้นช่วยทำให้รวบรัดบทสนทนาลงได้ ต่อให้ไม่เห็นด้วยก็ยังคงไม่เห็นด้วยในประเด็นที่กำหนดไว้ ไม่ลากเอาเรื่องอื่นๆหรือเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

3. พูดในสิ่งที่เห็นด้วยก่อนแล้วค่อยพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วย

เป็นหลักจิทวิทยาที่ทำให้อีกฝ่ายอยากรับฟังมากยิ่งขึ้น การพูดถึงสิ่งที่เห็นด้วยก่อนแสดงให้เห็นว่าคุณรับฟังอย่างตั้งใจจริงๆ และเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะบอก คุณฟังแล้วนำไปวิเคราะห์แล้วและพบว่ามีบางเรื่องที่อาจเห็นไม่ตรงกัน จึงอยากอธิบายเพิ่มเติม อยากนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ไม่ได้ต้องการถกเถียงเพื่อเอาชนะ หรือไม่ได้ฟังเพื่อจะจับผิดแล้วโจมตีอีกฝ่ายแต่อย่างใด

4. ต่อให้ไม่เห็นด้วยก็ใช้คำพูดเป็นกลางไว้ก่อน

เพราะบทสนทนาอาจแย่ลงได้หากคุณแสดงความเห็นต่างออกไปอย่างสุดขั้ว 100 % และคงยากที่จะโน้มน้าวใจอีกฝ่ายให้กลับมาเห็นด้วยในเรื่องเดียวกัน เพราะบางครั้งต่อให้ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อารมณ์และความรู้สึกนั้นตรงกันข้ามก็ไม่อาจเปลี่ยนใจได้ มันเป็นเรื่องจริงที่มนุษย์เราส่วนใหญ่ถูกควบคุมด้วยอารมณ์ และเมื่อเต็มไปด้วยอารมณ์ ไม่ว่าเหตุผลหรือข้อเท็จจริงก็ถูกบดบังจนฟังไม่ขึ้นเสียแล้ว พยายามใช้คำพูดเป็นกลางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อให้อีกฝ่ายใช้อารมณ์ แต่ถ้าคุณไม่ใช้อารมณ์กลับไป อีกฝ่ายก็จะตระหนักได้เองว่าเขาใช้อารมณ์มากเกินไปหรือเปล่า

5. ให้พื้นที่และเวลาอีกฝ่ายได้คิด ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นเอาคำตอบทันทีทันใด

เมื่อคุณแสดงความคิดเห็นออกไปแล้ว ควรให้พื้นที่อีกฝ่ายได้คิด พิจารณาด้วย เพราะบางครั้งมันไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องของอัตตา หากคำถามนั้นมันทำให้อีกฝ่ายต้องยอมรับว่าเขาคิดผิด หรือความเห็นของเขาไม่ถูกต้อง มันคงยากที่จะยอมรับได้ แต่หากให้พื้นที่และเวลาสักนิด ให้อีกฝ่ายได้ไตร่ตรองพิจารณาความคิดเห็นของตัวเองอีกครั้ง เขาอาจจะเป็นคนยอมรับด้วยตัวเขาเองว่าอาจจะคิดผิดไป หรืออาจจะเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิดแล้วหลังจากได้ลองไตร่ตรองพิจารณาด้วยตัวเอง

6. พยายามอย่าใช้คำว่า “แต่”

คำบางคำมีพลังมากกว่าที่คิด เช่น คำว่า และ , หรือ , ใช่ เป็นคำที่ให้พลังบวก ทำให้บทสนทนาไหลลื่น และน่าฟังมากกว่า แม้ประโยคต่อมาจะไม่ได้เห็นด้วยกับอีกฝ่ายก็ตาม แต่เมื่อไหร่ที่ใช้คำว่า “แต่” ซึ่งเป็นคำที่มีพลังลบและฟังดูขัดแย้ง ไม่เห็นด้วย หากคุณไม่เห็นด้วยและอยากใช้คำว่า แต่ ลองเริ่มต้นด้วยการพูดว่า “ใช่” ก่อนแล้วค่อยตามด้วย “แต่” ประโยคจะฟังดูเป็นกลางมากขึ้น อีกฝ่ายอยากรับฟังมากขึ้น

7. เรื่องเล่าเข้าใจง่ายกว่าคำจำกัดความ

บางครั้งคุณอยากให้อีกฝ่ายเข้าใจความคิดของคุณ อยากให้อีกฝ่ายรับฟัง แต่ยิ่งพูดยิ่งอธิบายก็ยิ่งไม่เข้าใจ นั่นอาจเป็นเพราะ “ภาษา” ของคุณและภาษาของเขาไม่ใช่ภาษาเดียวกัน มันมาจากมุมมองที่คุณมี แต่เขาอาจไม่เห็นภาพนั้น ไม่เข้าใจสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อ เพราะบางทีการใช้ประโยคบอกเล่าที่เป็นคำจำกัดความ ซึ่งเป็นประโยคตรงๆ ไม่เห็นภาพ อีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจอยู่ดี แต่เรื่องเล่าเป็น “ภาษาสากล” ทั้งนี้ต้องมีศิลปะในการเล่าด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานในบริษัทและพบว่าทีมของอีกฝ่ายนั้นทำงานน้อยกว่าทีมคุณ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องพูดตรงๆไปเช่นนั้น แต่เล่าในมุมมองของคุณว่าทุกวันต้องเจออะไรบ้าง มีความรับผิดชอบที่จัดการไม่ไหวอย่างไร มีปัญหาในเรื่องใด สื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจง่ายๆ พร้อมเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสียงแรงในการถกเถียงเลยหากอีกฝ่ายสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่ต้น

8. หากไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ปล่อยวาง คิดเสียว่าเป็นการเรียนรู้

ขั้นตอนนี้อยู่ที่ว่าคุณคิดว่าบทสนทนานั้นมีค่าให้คุณต้องเสียแรงในการถกเถียงหรือไม่ หากไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ได้กระทบตัวเอง หรือไม่ได้กระทบองค์กรมากนัก หรือถกเถียงไปก็ไม่มีข้อสรุป ก็ปล่อยวางเสีย เพราะยังมีเรื่องอีกมากมายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และยังมีอีกหลายสิ่งที่สำคัญกว่า หากเก็บทุกอย่างมาใส่ใจและพยายามแก้ไขให้ทุกอย่างถูกต้อง อาจพลาดที่จะทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าก็ได้ บางครั้งการไม่เข้าใจกันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คิดเสียว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจความคิด ความเป็นมนุษย์มากขึ้น ก็ไม่มีอะไรเสียหาย

อ้างอิง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง