HIGHLIGHT
|
นับตั้งแต่ประเทศไทยปลดล็อค กัญชา ออกจากการเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 ของ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ผู้คนทั้งประเทศให้ความสนใจว่าจะสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
แม้กัญชาอาจไม่ใช่สารเสพติดให้โทษแล้ว แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ไว้วางใจให้ เสรีกัญชา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยความตระหนักว่ายังมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน
แต่เมื่อกฎหมายเปลี่ยนไปแล้วแบบนี้ ทุกบริษัท ทุกองค์กรก็จำเป็นต้องปรับตัวตามด้วยเช่นกัน เสรีกัญชาส่งผลต่อการทำงานในปัจจุบันอย่างไรบ้าง สามารถติดตามได้จากบทความนี้
กัญชาคืออะไร ทำไมถึงเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง
กัญชา ภาษาอังกฤษคือ Marijuana เป็นพืชสกุล Cannabis ที่มีอิทธิฤทธิ์ต่อระบบประสาท และเคยได้ชื่อว่าเป็นสารเสพติดอันตราย ในผลิตภัณฑ์หลายประเภทจะมีการนำสารสกัดจากต้นกัญชาชื่อว่า THC หรือ Tetrahydrocannabinol มาใช้ ส่งผลให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย แต่หากบริโภคเข้าไปเป็นจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก
สารสกัดอีกประเภทที่ต้องรู้คือ CBD หรือ Cannabidiol มีสรรพคุณระงับอาการปวด ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ลดการอักเสบ ชักเกร็ง และคลายความกังวลได้ มีความปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า THC
ด้วยคุณสมบัติเด่นด้านการระงับความเจ็บปวด ทำให้ในทางการแพทย์นิยมนำกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เพราะหากใช้อย่างถูกต้อง กัญชาจะช่วยให้ความผ่อนคลาย บรรเทาความเจ็บปวดบนร่างกายได้เป็นปลิดทิ้ง บางงานวิจัยพบว่าสามารถนำมาใช้รักษาโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้ด้วย
แต่ทั่วโลกอาจยังไม่ได้ยอมรับในคุณค่าของกัญชามาก องค์การสหประชาชาติ เคยสำรวจเรื่องการบริโภคกัญชาทั่วโลก พบว่ามีประชากรประมาณ 4% หรือประมาณ 162 ล้านคน ณ ขณะนั้น บริโภคกัญชาทุกปี และมี 0.6% ที่บริโภคทุกวัน จนอาจกล่าวได้ว่ากัญชาคือพืชหรือสารเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกก็ว่าได้
และถึงแม้ปัจจุบัน กัญชาจะปลดล็อคออกจากการเป็นสารเสพติดในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย อนุญาตให้ทุกส่วนสามารถนำมาใช้ได้อย่างเสรี ทำให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังกำหนดให้เน้นที่การใช้เพื่อการแพทย์ ใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ใช้เพื่อการสันทนาการ และการใช้สารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นสารเสพติดเช่นเดิม และมีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวางว่า เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ควรใช้
กัญชา-กัญชง แตกต่างกันอย่างไร
เมื่อพูดถึง กัญชา หลายคนจะนึกถึงพืชที่คล้ายคลึงกันอย่าง กัญชง (Hemp) ด้วย ทั้ง 2 ชนิดถือเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ โดยขออธิบายโดยคร่าว ๆ ดังนี้
เริ่มจากรูปลักษณ์ภายนอก หากมองแบบผ่าน ๆ อาจแยกกัญชาและกัญชงไม่ออก แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าใบของกัญชงจะใหญ่กว่ากัญชา และจำนวนแฉกบนใบกัญชงจะมี 7-11 แฉก มากกว่าใบกัญชาที่มี 5-7 แฉกเท่านั้น ขณะที่สีบนใบกัญชงจะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนสีใบกัญชาจะเป็นสีเขียวเข้ม
ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ กัญชงมักจะนำไปใช้แปรรูปทำสิ่งทอ ทำกระดาษ หรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำงานฝีมือเป็นหลัก ไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อประสาทมากเท่ากัญชา
ร่างกฎหมายเสรีกัญชา ก้าวต่อไปที่ต้องจับตา
นอกจากการปลดล็อคกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ สิ่งที่ประชาชนชาวไทยจำเป็นต้องติดตามก็คือ การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา นำโดย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่มีใจความสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ และการควบคุมการใช้กัญชาในด้านต่าง ๆ
เช่น การกำหนดให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ แต่ต้องทำเรื่องจดแจ้งกับหน่วยงานภาครัฐก่อน รวมถึงการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ จำหน่ายกัญชาต้องได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ต้องห้ามขายกัญชาเพื่อการบริโภคแก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร ยกเว้นได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
ปัจจุบันนับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่า กฎหมายกำลังจะเข้าการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในที่ประชุมสภา และคาดว่าจะทันประชุมในสมัยนี้
ดังนั้นยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะได้บังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ สาระสำคัญจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และเมื่อถึงเวลาออกกฎหมายจริง จะให้ผลออกมาเช่นไร
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมการบริโภคกัญชาอยู่ เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2565 ควบคุมไม่ให้เอาช่อดอกมาประกอบอาหาร เป็นต้น
เปิดสถิติเสรีกัญชาน่าตกใจ เมื่อพนักงานใช้กัญชาในที่ทำงานมากกว่าที่คิด
กัญชาก็เหมือนเครื่องดื่มอย่างเหล้า เบียร์ หากเป็นในช่วงเวลาของการทำงาน อาจไม่มีใครดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลานี้ แล้วค่อยไปจัดเต็มหลังเลิกงาน แต่รู้หรือไม่ว่า มีการสำรวจพบว่า ชาวแคนาดาที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 17.5% ยอมรับว่าเคยใช้กัญชาอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีถึง 6% เท่านั้นที่ใช้งานทุกวัน แม้กระทั่งในที่ทำงาน
สอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่า เมื่อปี 2016 กัญชาคือสารเสพติดที่ตรวจพบมากที่สุดในที่ทำงาน โดยมีชาวอเมริกัน 7.2 ล้านคน อายุ 18-25 ปี ยอมว่าใช้กัญชาในชีวิตประจำวัน ส่วนคนที่อายุ 26 ปีขึ้นไป ยอมรับว่าใช้กัญชามากถึง 15.2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา พบว่า 29% ของพนักงานบริษัท ใช้กัญชาในระหว่างปฏิบัติงาน และสาเหตุที่ยอดตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะกัญชากลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายขึ้นมากกว่าในอดีตนั่นเอง
และผลก็คือ การจะทำโทษพนักงานในข้อหาใช้กัญชาก็เป็นสิ่งที่ยากขึ้นตามมาด้วย เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามแล้ว
ด้าน NIDA หรือ National Institute on Drug Abuse พบว่าเมื่อเทียบกับ พนักงานที่บริโภคกัญชาในระหว่างทำงานแล้วผลตรวจเป็นบวก จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานมากกว่าพนักงานที่ไม่ใช้กัญชาถึง 55% ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 85% และจะหยุดงานมากถึง 75%
ทั้งนี้ รู้หรือไม่ว่ามีผู้บริโภคหลายคนใช้กัญชาด้วยเหตุผลว่า ทำให้ร่างกายมีแรงในการทำงานได้ เพราะหากไม่ได้บริโภคล่ะก็ จะเหมือนขาดสารอาหารและพลังงาน จนหมดเรี่ยวแรงในการทำงานทันที
ข้อดีของกัญชา กับการทำงาน
1.ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย แม้จะไม่ใช่ประโยชน์ที่เกิดกับคนส่วนมาก แต่ในบางสายอาชีพ กัญชากลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับการเยียวยาดีขึ้น เช่น นักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล หรือกีฬาคนชนคนที่สามารถนำกัญชามาใช้สร้างความผ่อนคลายหลังแข่ง จนลืมความเจ็บปวดไปชั่วขณะ
และรู้หรือไม่ว่า ลีกอเมริกันฟุตบอล NFL เคยแบนการใช้กัญชา และลงโทษนักกีฬาที่โด๊ปเป็นสารกระตุ้นด้วย แต่ปัจจุบัน NFL เลิกแบนแล้ว และประกาศสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านกัญชาอย่างจริงจัง โดยมีอดีตนักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนาน แคลวิน จอห์นสัน ที่เลิกแข่งแล้วหันมาทำธุรกิจด้านกัญชาเพื่อการแพทย์โดยเฉพาะเป็นโต้โผใหญ่ในการเปลี่ยนใจ NFL ให้มองเห็นข้อดีของกัญชา
2.ช่วยรักษาโรคบางโรคได้ ดังที่กล่าวไปว่า กัญชามีสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ เช่น โรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง ซึ่งพบเจอได้ในคนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหักล้างว่า จริง ๆ แล้วอิทธิฤทธิ์ของกัญชาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษามะเร็งได้ จำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมรักษาด้วยจึงจะได้ผล
ข้อเสียของกัญชากับการทำงาน
1.ลดประสิทธิภาพของการทำงาน เป็นผลกระทบที่เห็นชัดมากที่สุด เพราะถึงแม้กัญชาจะช่วยให้ผู้ใช้เกิดความผ่อนคลาย แต่หากนำมาใช้ระหว่างการทำงาน ความผ่อนคลายเกินไปจะทำให้สูญเสียสติสัมปชัญญะ อาจไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ จนนำมาซึ่งอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้ขณะขับขี่บนท้องถนน เป็นต้น
2.องค์กรต้องเสียเงินมากขึ้น หากใช้กัญชาในระดับที่พอเหมาะพอสม ย่อมไม่มีปัญหา แต่หากใช้มากกว่าที่ควรจนเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้บริษัทสูญเสียกำลังสำคัญในการทำงาน ทำให้งานที่แต่ละคนต้องแบกรับมากขึ้น นำมาสู่ภาวะ Work ไร้ Balance จนบริษัทอาจจำเป็นต้องให้ค่าตอบแทนมากขึ้น เพื่อจูงใจพนักงานให้อยากทำงานมากกว่าเดิม ถือเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
3.เกิดการหมุนเวียนของพนักงานสูง หากบริษัทไหนไม่ได้สนับสนุนให้พนักงานบริโภคกัญชา ก็อาจมีพนักงานตัดสินใจลาออกเพื่อไปอยู่ในบริษัทที่สนับสนุนด้านนี้มากขึ้น หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ หากมีพนักงานในบริษัทเสพกัญชาในระหว่างงานจนเกิดอุบัติเหตุและความเสียหาย เป็นผลให้โดนลงโทษมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่ส่งใบเตือน ไปจนถึงไล่ออกด้วย จะทำให้บริษัทต้องเสียเวลาหาคนเข้ามาทำงานแทน และเสียเวลาฝึกอบรมใหม่ทั้งหมด
4.เกิดปัญหาทางกฎหมายที่ไม่คาดคิด แม้กัญชาจะถูกกฎหมายไทยแล้ว แต่อย่าลืมว่าการใช้มากเกินไปอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน และสร้างความเสียหายต่อบุคคลภายนอก นำมาซึ่งปัญหาทางข้อกฎหมายน่าและการฟ้องร้อง เป็นคดีที่น่าปวดหัวตามมา
องค์กรต้องออกนโยบายเกี่ยวกับการใช้กัญชา และการตรวจกัญชา
เมื่อกฎหมายหลักอาจยังมีความคลุมเครือ แต่ละบริษัทเองก็จำเป็นต้องออกนโยบายเกี่ยวกับกัญชาภายในบริษัท เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ถึงแม้บริษัทจะสามารถออกกฎอะไรก็ได้เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นภายในบริษัท แต่ก็มีสิ่งที่ผู้ออกนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HR ควรต้องพิจารณาเอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้กฎดังกล่าวกลับมาแว้งกัดในเวลาต่อมา ดังต่อไปนี้
1.ออกนโยบายที่ง่ายต่อการบริหารจัดการ เช่น บางบริษัทอาจสั่งห้ามพนักงานไม่ให้ใช้กัญชาในทุกกรณี อาจเป็นวิธีการที่สุดโต่ง แต่ก็จะช่วยให้บริหารจัดการได้ง่าย
2.รับฟังความคิดเห็นของพนักงาน ในโลกอุดมคติ การออกนโยบายอะไรออกมาก็ตาม ควรต้องผ่านการรับฟังเสียงของพนักงานก่อนเสมอ เพราะอาจมีพนักงานที่บริโภคกัญชาโดยที่ HR ไม่รู้ และความคิดเห็นของพนักงานเหล่านี้อาจช่วยให้นโยบายที่ออกมาสามารถใช้งานได้จริง ไม่เกิดปัญหาวุ่นวายตามมา หรือยากเกินความเข้าใจเกินไปจนต้องปรับแก้กฎอยู่บ่อยครั้ง
3.เปิดช่องให้สนับสนุนพนักงานที่มีปัญหาติดกัญชา ได้กลับตัวกลับใจ การช่วยพนักงานให้ได้บำบัดจากการติดกัญชา แล้วกลับมามีสุขภาพแข็งแรง ถือเป็นก้าวย่างที่ดี และจะได้ใจพนักงานจำนวนมาก เพราะพนักงานจะมองว่าบริษัทอยู่เคียงข้างพวกเขา ไม่ปล่อยทิ้งให้เดียวดาย ปล่อยให้สู้เรื่องนี้อยู่ฝ่ายเดียว
4.จัดอบรมเรื่องกัญชาให้พนักงาน ท่ามกลางวิกฤติ HR อาจถือโอกาสนี้จัดอบรมพนักงาน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาก็ได้ เพื่อจะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง และอาจใช้โอกาสนี้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการบริโภคกัญชา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันด้วย
5.อย่าลืมออกระเบียบปฏิบัติกรณีเกิดอุบัติเหตุหลังใช้กัญชา นอกจากการออกกฎข้อบังคับแล้ว อย่าลืมวางแผนตั้งรับในกรณีเลวร้ายสุดไว้ด้วยว่า หากพนักงานถูกจับหรือทำผิดกฎหมายกัญชา เช่น ใช้สาร THC มากกว่า 0.2% แล้วต้องทำอย่างไร จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมาได้ง่ายขึ้น
บทสรุป
นโยบาย เสรีกัญชา ไม่เพียงมีผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป แต่บริษัทและองค์กรต่าง ๆ เองก็ควรต้องให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เพราะมีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรในทุกระดับ
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแม้การสูบหรือการบริโภคกัญชา อาจไม่ได้มีความผิดมากเท่าในอดีตแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะให้การยอมรับกัญชาเสมอไป
หน้าที่ของ HR คือการรักษาผลประโยชน์ของทั้งบริษัทและพนักงาน หากสามารถหาจุดบาลานซ์ เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่ายมากขึ้นเท่าไหร่ จะช่วยให้บริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งอย่างแน่นอน