Small Wins ให้ค่ากับชัยชนะเล็ก ๆ เพื่อความสำเร็จที่ใหญ่กว่าขององค์กร

HIGHLIGHT

  • Small Wins เรียกอีกอย่างว่า Micro Wins หมายถึงการที่เรามีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างกระบวนการทำงาน ไม่ว่าสิ่งที่รออยู่ปลายทางจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็ตาม แนวคิดนี้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
  • คุณ Mehrnaz Bassiri กล่าวใน TED Talk ว่า Small Wins มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Transformation Power) หากเราสร้างชัยชนะขนาดเล็กไปเรื่อย ๆ มันก็จะกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ (Big Wins) ได้เอง
  • มีงานวิจัยที่ระบุว่าการแบ่งงานออกเป็นกลุ่มย่อย (Incremental Model) จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานโดยตรง เพราะพนักงานจะได้เห็นความสำเร็จเป็นระยะ ไม่ใช่ทำงานไปโดยไม่รู้เลยว่าผลงานของตนมีคุณค่าหรือไม่
  • Small Wins ไม่ได้เริ่มจากกลไกภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มจากการมองโลกในแง่บวกด้วย ทางที่ดีคือเราควรจดบันทึกความสุขในแต่ละวันเสมอ เพราะเมื่อนำมาทบทวนในภายหลัง ก็จะเห็นว่าเราสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับโลกได้มากกว่าที่คิด
  • HR และหัวหน้างานต้องใส่ใจ Small Wins ทั้งในแง่ของการทำงาน และในแง่ของการใช้ชีวิต เช่นการแสดงความยินดีเมื่อพนักงานแต่งงาน, มีลูก หรืออื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

Small Wins ให้ค่ากับชัยชนะเล็ก ๆ เพื่อความสำเร็จที่ใหญ่กว่าขององค์กร

ในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถยึดติดกับความสำเร็จบางอย่างได้เป็นเวลานาน และในทางกลับกัน เราก็ไม่สามารถยึดติดกับความล้มเหลวจนเครียดเกินไปเช่นกัน แต่เราจะโน้มน้าวตัวเองอย่างไรให้มีความสุข และจะบริหารจัดการพนักงานอย่างไรให้รู้สึกว่าพวกเขายังคงมีคุณค่า ไม่ว่าจะต้องทำงานที่ซ้ำเดิมอยู่เรื่อย ๆ หรือประสบความล้มเหลวทั้งที่พยายามอย่างหนักหน่วงแล้วก็ตาม

การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายอยากทำงานต่อไป จึงเป็นต้นกำเนิดของชัยชนะเล็ก ๆ หรือ Small Wins  อันเป็นกลยุทธ์ที่ต้องการบอกเราว่าทุกก้าวเดินในชีวิตนั้นมีความหมาย และไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ต่างเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทั้งสิ้น

องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Small Wins จะมีพนักงานที่กระตือรือร้น กล้ายอมรับความผิดพลาด เพราะรู้ว่าตนยังคงได้เรียนรู้อะไรบางอย่างระหว่างทาง และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

เราจะสร้างความเข้าใจเรื่อง ชัยชนะเล็ก ๆ หรือ Small Wins ได้อย่างไร อ่านทุกเรื่องที่คุณควรรู้ได้ที่ HREX

Contents

Small Wins หรือชัยชนะเล็ก ๆ คืออะไร ?

Small Wins ให้ค่ากับชัยชนะเล็ก ๆ เพื่อความสำเร็จที่ใหญ่กว่าขององค์กร

Small Wins เรียกอีกอย่างว่า Micro Wins หมายถึงการที่เรามีความสุขกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่ปลายทางเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจเป็นเรื่องการทำงาน, ชีวิตประจำวัน หรือความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับแนวคิดบางอย่างขณะทำงานก็ได้ อย่างกรณีของคุณทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกา ที่ทำการทดลองกว่า 10,000 ครั้งกว่าจะสร้างหลอดไฟได้สำเร็จ กรณีนี้แทนที่เขาจะมองว่าตนล้มเหลวหมื่นครั้ง เขากลับเลือกปรับทัศนคติ และบอกว่านั่นไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เขาได้เรียนรู้ตั้ง 10,000 วิธีที่ไม่สำเร็จ จึงสามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการที่ไม่จำเป็นได้ง่ายกว่าใคร

ตัวอย่างข้างต้นแปลว่า หากเราเปลี่ยนมุมมองเพียงนิดเดียว เราก็จะพบกับชัยชนะในสิ่งที่เคยมองข้ามได้เอง

Small Wins มักถูกมองข้าม เพราะเราให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในท้ายที่สุดมากกว่า อย่างไรก็ตามการคิดถึงชัยชนะเล็ก ๆ จะช่วยให้เรามีกำลังใจในการบรรลุผลที่ใหญ่ขึ้น เพราะเมื่อเราทำงานยาก ๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกท้อแท้ หมดแรง และไม่รู้ว่าจะพยายามต่อไปทำไม

การพบเจอชัยชนะระหว่างทาง จึงเป็นเหมือนความสุขที่คอยย้ำเตือนให้เราเห็นว่าแผนงานดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เรารับมือกับความผิดหวังในอนาคตได้ง่ายขึ้น ไม่ได้ตีค่าความล้มเหลวเป็นผลเสียจนไม่กล้าคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกต่อไป

Small Wins ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม เช่นการทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสำเร็จร่วม (Share Accomplishment) ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีประโยชน์มากกับธุรกิจแบบ Start Up ที่ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจมากเป็นพิเศษ

Small Wins ยังช่วยให้เราเก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น ไม่มองข้ามช็อตไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยผู้นำสามารถกำหนด ‘เป้าหมายประจำวัน’ (Daily Task) ครอบคลุมทุกเนื้อหาที่จำเป็นได้เลย และเมื่อพนักงานทำตาม Task List จนครบถ้วนไปเรื่อย ๆ รากฐาน (Foundation) ของแผนการนั้น ๆ ก็จะแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย

คุณ Mehrnaz Bassiri ได้กล่าวใน TED Talk หัวข้อ To Achieve Success, Start Detecting Your Small Wins ว่า ‘ชัยชนะเล็ก ๆ มีพลังของความเปลี่ยนแปลง (Transformation Power)  Small Wins ที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นชัยชนะที่ใหญ่ขึ้น (Big Wins) ได้จริง’

ทำไมเราถึงควรให้ความสำคัญกับ Small Wins หรือชัยชนะเล็ก ๆ ?

OnePoll ได้ทำการสำรวจชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน และได้คำตอบที่น่าสนใจว่ามีถึง 87% พี่ยอมรับว่าชัยชนะเล็ก ๆ มีผลต่อความสุขในแต่ละวัน ซึ่งอัตรานี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น หลังจากที่โลกต้องผ่านสถานการณ์ โควิด-19 เพราะมนุษย์ต้องใช้ชีวิตโดยเต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายอย่างการใส่ใจสิ่งรอบข้างและพยายามทำให้ดีที่สุดจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้มีความสุขยิ่งขึ้น Small Wins จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจ ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต (Mental Health) และช่วยให้เรามองโลกในแง่บวกมากขึ้น (Positive Thinking)

ความดีใจเมื่อทำงานสำเร็จเป็นเรื่องธรรมดา และยิ่งเป็นงานยาก ๆ เราก็คงดีใจมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มีคุณค่าในตัวของมัน และไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทุกวัน ดังนั้นหากเราต้องทำงานไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้เลยว่าความสำเร็จที่รออยู่จะมาถึงหรือไม่ เราก็อาจจะหยุดกลางคัน ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ขึ้น ก็จะส่งผลเสียทั้งกับองค์กรและตัวพนักงานเอง

ผลลัพธ์ของ Small Wins ยังสอดคล้องกับการวิจัยของ Teresa และ Steven Kramer ในปี 2019 ที่ระบุว่าชัยชนะเล็ก ๆ ส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจของพนักงานโดยตรง ในที่นี้กลไกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Motivation คือกลยุทธ์ที่เรียกว่าโมเดลแบบก้าวหน้า (Incremental Model) คือการแบ่งระบบงานออกเป็นกลุ่มย่อย (Mini Project) เพื่อให้ส่วนสำคัญที่เป็นหลักของเรื่องนั้น ๆ สมบูรณ์ที่สุดก่อน แล้วค่อยเจาะรายละเอียดให้ตรงกับที่ต้องการในลำดับต่อไป

การวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าหากเราทำเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวให้มีความหมาย และมีคุณภาพที่สุด เราก็จะสามารถทำงานในระดับที่สูงกว่าได้ง่ายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนมุมมอง (Mindset) ที่พนักงานมีต่อคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ให้ดีขึ้น (Change the idea of win) คืออีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เราทำงานอย่างมีความสุข  และสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งรอบข้างมาเป็นพลังใจได้ดีกว่าเดิม   หากทุกคนในองค์กรตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงผู้บริหารมีทัศนคติแบบนี้ องค์กรของคุณก็จะรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างแข็งแรง และสามารถเติบโตสู่ความยั่งยืน (Sustainable) ได้แน่นอน

เราจะมีความสุขกับ Small Wins หรือชัยชนะเล็ก ๆ ได้อย่างไร ?

ก่อนอื่นเราต้องคิดว่าการมีเป้าหมายใหญ่ ๆ ก็เปรียบเสมือนเรากำลังปีนขึ้นยอดเขาหรือน้ำตกที่สูงชัน และการให้ความสำคัญกับชัยชนะเล็กๆ ก็เหมือนการมีจุดพักเป็นคาเฟ่น่ารัก ๆ ให้เราได้แวะชมพร้อมกินของอร่อยตลอดทาง หากเรามองแบบนี้ เราก็จะคิดว่าการเดินต่อไปเป็นเรื่องคุ้มค่า เพราะมีทั้งของอร่อยให้กิน และมีเป้าหมายสูงสุดคือยอดเขารออยู่ตรงปลายทาง

เมื่อเรามองภาพรวมออก เราก็จะพบว่าองค์ประกอบสำคัญของการทำงาน คือการมีความสุข อ้างอิงจากผลวิจัยของ University of Warwick ที่ระบุว่าคนมีความสุขจะทำงานได้ดีกว่าคนอื่นถึง 12% และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นจริง ดังนั้นได้เวลาแล้วที่เราจะหันมามีความสุขกับ Small Wins ในแต่ละวัน โดยใช้ขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. จดบันทึกทุกความสำเร็จในแต่ละวัน

จะเป็นสมุดเล็ก ๆ หรือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ก็ได้ แต่เราควรจดบันทึกทุกความสำเร็จหรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีเอาไว้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงานเสมอไป แต่เป็นเรื่องความพึงพอใจส่วนตัวก็ได้ เช่นวันนี้เราได้เดินตามจำนวนก้าวที่ต้องการ, ได้ออกกำลังกายตามที่หวังไว้, ได้คุยกับคนที่ชอบมากเป็นพิเศษ หรือแม้แต่การตื่นมาทำงานไวกว่าปกติ

การจดบันทึกจะทำให้เราเห็นว่าตลอดวันที่ผ่านมาเราได้ทำเป้าหมายเสร็จไปแล้วกี่อย่าง และเมื่อเรารู้สึกว่าเรื่องเล็กน้อยก็สามารถทำให้มีความสุขได้เช่นกัน เราก็จะไม่เอาแต่คาดหวังกับความสำเร็จที่ใหญ่และต้องใช้เวลาเพียงอย่างเดียว

2. หลีกเลี่ยงการมองตัวเองในแง่ลบ

ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงที่เกิดปัญหาเท่านั้น แต่บางคนอาจไม่พอใจในตัวเอง (Lack of Confidence) ตั้งแต่ต้น และเมื่อเจอข้อผิดพลาดก็เอาแต่กล่าวโทษ และมองว่าเราไม่สามารถกลับมามีความสุขได้อีกต่อไป ดังนั้นก่อนที่เราจะหา Small Wins เจอ เราต้องเริ่มจากการแก้ไขเรื่องทัศนคติเชิงลบ (Negative Mindset) เพื่อทำให้จิตใจเราแข็งแรงที่สุด (Mental High-Fives) เพราะเมื่อเราอารมณ์ดีเราก็จะมองทุกอย่างในแง่บวกมากขึ้น

3. เปลี่ยนมุมมองต่อคำว่าชัยชนะเสียใหม่

เราต้องเข้าใจว่า ‘ชัยชนะ’ ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จเสมอไป และยิ่งเรามีตำแหน่งสูงขึ้น เราก็ยิ่งต้องแก้ปัญหานี้เพราะหากเราปล่อยให้ความคิดไหลไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีความสุขเฉพาะกับความสำเร็จขนาดใหญ่เท่านั้น ในที่นี้หากเรารู้สึกว่ารูปแบบการทำงานในองค์กรไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ก็สามารถพูดคุยกับหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคล เพื่อหารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่การลดปริมาณงาน แต่อาจเป็นการซอยย่อย หรือเปลี่ยนวิธีวัดผลเพื่อให้พนักงานมีพลังใจต่อเนื่องไปจนจบโปรเจ็คนั่นเอง

ในที่นี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราควรหาคำตอบให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขที่สุด แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นรางวัล (Reward) ในทุกครั้งที่เราเจอ Small Wins

HR จะสร้างวัฒนธรรม Small Wins ภายในองค์กรได้อย่างไร ?

การทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกถึงความสำคัญของชัยชนะเล็ก ๆ ต้องเริ่มจากการใส่ใจของผู้บริหาร เช่นรู้จักชมพนักงานบ่อย ๆ หรือมีการเลี้ยงฉลองเป็นระยะ แม้จะเป็นเรื่องที่เล็กนิดเดียว สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานกล้าหันไปชื่นชมคนข้าง ๆ โดยไม่รู้สึกแปลกแยก หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าตนมองโลกในแง่ดีเกินไป

วัฒนธรรมนี้จะกลายเป็นรากฐานที่ช่วยให้ทุกคนเติบโตอย่างมีความสุข มีกำลังใจในการทำงานไม่ว่าจะเจอกับบททดสอบที่ยากแค่ไหนก็ตาม

หากคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนใส่ใจ Small Wins อย่างไร เรามีคำแนะนำดังต่อไปนี้

1. องค์กรต้องชี้แจงเป้าหมายและกลยุทธ์ในการทำงานให้ชัดเจน (Strategic Plan)

ปัญหาขององค์กรบางแห่งคือการจ้างพนักงานมาทำเพียงแค่หน้าที่ของตนเท่านั้น โดยไม่รู้เลยว่าวิสัยทัศน์ของตนจะมีปลายทางใดรออยู่ หรือความสามารถของตนจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับองค์กรหรือคนรอบข้างได้อย่างไร

หากเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่พนักงานจะรู้สึกดีไปกว่าการนั่งทำงานไปวัน ๆ และรอรับเงินเดือน แต่หากเราบอกพนักงานเลยว่าสิ่งที่เราทำอยู่มีความหมายอย่างไร และการพยายามอย่างเต็มที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้มากขึ้นแค่ไหน พนักงานก็จะมีแรงจูงใจในการทำงานมากกว่าเดิม

นอกจากนี้หัวหน้าทีมต้องไม่กลัวที่จะชี้แจงให้พนักงานฟังหากเป้าหมายเดิมมีการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานทุกประเภทคือการรู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร (Right Direction) และจะดียิ่งขึ้นหากหัวหน้ามีทักษะในการแบ่งกระบวนการทำงานเป็นปลีกย่อยเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีหลักชัย (Milestones) เพื่อบรรลุเป้าหมายไปทีละขั้น นี่คือสิ่งสำคัญด่านแรกที่หัวหน้า (Leader) ทีมต้องสร้างให้ได้

2. ตรวจดูว่าแก่นขององค์กร (Core Value) คืออะไร และแสดงความชื่นชมยินดีโดยอ้างอิงจากเรื่องนั้น

อย่างที่บอกว่าชัยชนะเล็ก ๆ นอกจากจะช่วยทำให้พนักงานมีความสุขแล้ว ยังทำให้พนักงานมีความเชื่อมั่นในกลยุทธ์ที่กำลังลงมือทำอยู่มากขึ้น ดังนั้นเราต้องใช้เรื่องนี้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานอยากทำหน้าที่ให้ดีกว่าเดิม ไม่ออกนอกลู่นอกทาง หรือใช้สมาธิไปกับเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับงานเพียงเพื่อต้องการได้รับคำชม เพราะท้ายสุดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการทำให้พนักช่วยผลักดันธุรกิจให้ไปไกลที่สุดนั่นเอง

ตัวอย่างเช่นหากองค์กรของเราตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้รับคะแนนรีวิว 5 ดาวจำนวน 20 ครั้งภายในหนึ่งเดือน หัวหน้าทีมก็ควรชื่นชมพนักงานและจัดเฉลิมฉลองเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นพาไปเลี้ยงข้าวเมื่อเราได้รับคะแนนห้าดาวหนึ่งครั้ง และทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ครบตามเป้าหมาย แล้วค่อยจัดฉลองครั้งใหญ่เป็นพิเศษ

3. ชื่นชมพนักงานที่มีผลงานดีเป็นพิเศษ (Outstanding Employee)

การเห็นคนที่ทำงานเก่งได้รับรางวัล จะไปกระตุ้นให้ พนักงานคนอื่นอยากผลักดันตัวเองขึ้นมาให้อยู่ในจุดดังกล่าวบ้าง ซี่งแนวคิดนี้จะช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานมากขึ้น เราจะได้พนักงานที่อยากยกระดับตัวเองให้ก้าวทันโลกอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นองค์กรที่ทุกคนแข่งกันเพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น ในที่นี้เราสามารถให้พนักงานเป็นฝ่ายเสนอชื่อกันเองก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม

4. นำเสนอคำวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาแบบมีชั้นเชิง

อย่างที่ย้ำมาตลอดว่าการให้ทุกคนมีความสุขกับชัยชนะเล็ก ๆ ไม่ใช่การโลกสวย ดังนั้นเราต้องทำให้พนักงานรู้ตามความเป็นจริงว่าผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร

อย่างไรก็ตามเราสามารถบริหารจัดการคำวิจารณ์เหล่านั้นให้กลายเป็นแง่บวกได้ เช่นการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น หรือเอาข้อมูลนั้นไปพิจารณาเลือกหลักสูตรอบรมที่ตรงโจทย์กว่าเดิม

ผู้เชี่ยวชาญจาก Harvard Business Review กล่าวว่า อัตราที่จะทำให้พนักงานรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีความสุขคือ 6 ต่อ 1 หมายความว่าเมื่อได้รับคำวิจารณ์ในเชิงลบ 1 ครั้ง เราต้องใช้คำวิจารณ์ในแง่บวกถึง 6 ครั้งเพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกดีขึ้น

นี่คือกลยุทธ์เบื้องต้นที่ช่วยให้หัวหน้าทีมเตรียมการประชุมได้อย่างรัดกุมแ ละแน่ใจว่าการรายงานผลประกอบการแต่ละครั้ง จะไม่ทำให้พนักงานรู้สึกแย่จนหมดไฟง่าย ๆ แน่นอน

5. สร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนพร้อมช่วยเหลือกัน (Culture of Support)

การช่วยเหลือและสนับสนุนกันไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในเรื่องงาน หัวหน้าควรให้ความสำคัญกับทุกความสำเร็จของลูกทีม เช่นเมื่อภรรยาคลอดลูก, การขึ้นบ้านใหม่, การแต่งงาน หรืองานมงคล พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าองค์กรของเราสนับสนุนกัน ซึ่งความรู้สึกโล่งใจตรงนี้ก็ถือเป็น Small Wins ที่น่ายินดี

HR ต้องสร้างมุมมองใหม่ ๆ ในการทำงาน และอย่าลืมตัวช่วยอย่าง HR Products & Services

เมื่อกระแส The Great Resignation ระบาดหนักไปทั่วโลก จนเรามีคนอยู่ในระบบน้อยเป็นประวัติการณ์ HR ก็ต้องให้ความสำคัญกับทั้งการสรรหาพนักงาน (Recruiting) และการรักษาพนักงานเดิม (Retention) ซึ่งการทำให้พนักงานมีความสุขถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ องค์กรที่ดีจึงต้องใส่ใจเรื่องสวัสดิการ (Benefits) และรู้จักวิธีเพิ่มทักษะพนักงานให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่า (Personal Values) ของตัวเองมากกว่าเดิม

HR จึงต้องกลับมาดูเรื่องแนวทางของการตั้ง KPI ไม่คอยวัดผลที่ปลายทางเพียงอย่างเดียว เราต้องมีทักษะในการเลือกคนให้เหมาะสมกับตำแหน่ง และรู้ว่าควรหาการอบรมแบบใดมาเพิ่ม เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างทันท่วงที

หากเราใส่ใจตรงจุดนี้ พนักงานก็จะรู้สึกถึงแรงสนับสนุนจากองค์กร สามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ง่ายขึ้น รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีศักยภาพ ไม่ตกยุค สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา รวมถึงกล้าออกความคิดสร้างสรรค์ แม้งานบางอย่างจะไม่สำเร็จก็ตาม

HR ต้องตระหนักว่าความสำเร็จบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป สิ่งที่เคยล้มเหลวในอดีตอาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องในปัจจุบัน หรือสิ่งที่เคยสร้างชื่อเมื่อก่อนก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าในตอนนี้ก็ได้ เราต้องหมั่นหาความรู้ และเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดกับพนักงาน แค่นี้ ไม่ว่าจะปรับนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร  ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขแน่นอน

หาตัวช่วยดี ๆ ได้ทุกวัน ที่บริการ HR Products & Services จาก HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ด้านทรัพยากรบุคคลไว้มากที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ก็มีเครื่องมือให้เลือกใช้อย่างครบครัน อย่ารอช้า คลิกเลย !

บทสรุป

ขณะที่เราต่างพูดถึงการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน  คนส่วนใหญ่มักพูดไปถึงการใช้เครื่องมือ หรือนำเทคโนโลยี ใหม่ ๆ มาใช้ เช่นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

แต่ความจริงแล้ว การสร้างองค์กรที่ยั่งยืนคือการใช้กลยุทธ์ใดก็ได้ที่พนักงานทุกฝ่ายสามารถทำตามได้พร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทั่วไป หรือระดับผู้บริหาร เพราะทุกคนต่างจำเป็นต้องใช้เวลาในแต่ละวันด้วยความสุข โดยที่ยังสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์ในแง่ธุรกิจได้ดังเดิม

Small Wins หรือชัยชนะเล็ก ๆ ในแต่ละวันจึงเป็นกลไกที่สอนให้ทุกฝ่ายเริ่มต้นหาความสุขรอบตัว โดยเริ่มจากการยกระดับความคิดและจิตใจตัวเองให้เป็นไปในแง่บวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันตัว HR เอง ก็ควรนำแนวคิดนี้มาใช้ในการสร้างสรรค์สวัสดิการ หรือการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร (Branding) เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า แม้เป้าหมายสูงสุดขององค์กรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง แต่เราก็ควรให้ความสำคัญกับการเดินทางไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน

พนักงานทุกคนต้องกินดีอยู่ดี ต้องรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต และต้องรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ลองถามตัวเองดูว่าองค์กรของคุณมีกลไกที่ช่วยให้พนักงานเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นหรือไม่ ชื่นชมพนักงานมากพอหรือเปล่า เพราะหากคุณยังขาดสิ่งเหล่านี้ คุณก็อาจสูญเสียคนเก่งไปให้กับคู่แข่งโดยไม่ทันรู้ตัว

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง