HIGHLIGHT
|
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแฟนกีฬาอยู่เยอะมาก ดังนั้นเมื่อมีมหกรรมกีฬาระดับโลกก็ย่อมมีพนักงานบางส่วนที่ต้องนอนดึกเพื่อเชียร์ทีมโปรดจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในวันรุ่งขึ้น หน้าที่ของ HR ที่ดีจึงเป็นการวางแผนให้พนักงานสามารถมีพื้นที่ตรงกลางเพื่อรองรับการทำงานที่จริงจังควบคู่ไปกับความบันเทิงที่ชุบชูจิตใจอย่างเป็นระบบ เรียกได้ว่าช่วงเวลาของฟุตบอลโลกหรือแม้แต่มหกรรมกีฬาใด ๆ ก็ตาม เป็นช่วงเวลาที่องค์กรต้องบริหารความสมดุลระหว่างเวลางานและเวลาพักผ่อน (Work Life Balance) ให้ดีกว่าเดิม
นอกจากเรื่องการบริหารเวลาแล้ว การดูกีฬายังเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีทักษะด้าน Soft Skills มากขึ้นแม้ผู้ดูจะไม่ได้เป็นแฟนกีฬาหรือชอบทีมใดเป็นพิเศษก็ตาม แต่จะทำได้อย่างไรนั้น หาคำตอบได้จากบทความนี้
การเชียร์กีฬาส่งผลดีกับการทำงานอย่างไร
รู้ไหมว่าหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกับการทำงานที่สุดคือการที่พนักงานไม่สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีผลวิจัยที่ระบุว่าทุกครั้งที่เราถูกหันเหความสนใจจากเรื่องหนึ่ง เราจะต้องใช้เวลาถึง 23 นาทีกว่าจะกลับมาโฟกัสเรื่องดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง ซึ่งการดูกีฬาคือเคล็ดลับที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจะช่วยฝึกทักษะให้เราสามารถจดจ่อกับงานได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเรากำลังลุ้นอยู่กับทีมโปรด เรามักลืมหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น และเอาแต่เฝ้าดูว่าทีมที่เชียร์อยู่จะทำผลลัพธ์ได้ตามที่คิดหรือไม่
การดูกีฬายังทำให้เรามีทัศนคติของการแข่งขัน (Competitive Mindset) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง โดยแนวคิดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเอาชนะคู่แข่งที่เป็นตัวบุคคล แต่อาจเป็นการเอาชนะเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น เราจะต้องขายงานนี้ให้ผ่าน, ต้องสอบภาษาเพิ่มเติมให้ได้ หรือแม้แต่หัวข้อง่าย ๆ อย่างการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานให้ดีขึ้นก็ได้เช่นกัน ยิ่งถ้าเราเปลี่ยนจากคนเชียร์มาเป็นคนเล่นเองก็จะยิ่งส่งผลดีไปอีกขั้น เพราะจะเกิดประโยชน์ทางด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นไปอีก
คุณดาเนียล วานน์ (Daniel Wann) ศาสตราจารย์จาก Murray State University กล่าวว่าการเป็นแฟนกีฬาถือเป็นกิจกรรมที่ “ดีต่อสุขภาพกายและใจมาก ๆ” เนื่องจากการเชียร์กีฬาจะทำให้เราดึงดูดคนที่มีความสนใจแบบเดียวกันเข้ามาในชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย๋ในฐานะของสัตว์สังคม โดยเขาเน้นย้ำว่าคนที่เป็นแฟนกีฬาจะมีความมั่นใจตัวเอง (Self-Esteem) มากขึ้น แถมยังมีอัตราความเหงา (Loneliness) ลดลงอีกต่างหาก
คุณสตีเว่น เรเซน (Stephen Reysen) ศาสตราจารย์จาก Texas A&M University ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าการสถาปนาตัวเองเป็นแฟนกีฬาจะทำให้เรารู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” ของทีมไปโดยปริยาย แม้ความจริงจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกมีความสุขตามไปด้วยเวลาเห็นทีมชนะ อย่างไรก็ตามการที่ทีมแพ้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียมากขนาดนั้น เพราะทุกคนที่เชียร์กีฬาจะมีความเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่าการแข่งขันทุกครั้งมีโอกาสแพ้ชนะอยู่ที่ 50/50 ดังนั้นแม้จะรู้สึกผิดหวังอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความรู้สึกที่รู้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
การดูกีฬายังทำให้เราเรียนรู้เรื่องความจงรักภักดี (Loyalty) กล่าวได้ว่าแฟนกีฬาอาจไม่สนใจเรื่องผลแพ้ชนะด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาอยู่ในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากกว่า ดังนั้นแม้จะผลงานตกลงอย่างไรก็จะยินดีสนับสนุนเสมอ ต่างจากการทำงานหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันที่เราพร้อมเปลี่ยนทันทีหากไม่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น ถ้าร้านอาหารที่ไปทำอาหารผิดซ้ำ ๆ เราก็จะเกิดความคิดว่าควรไปสนับสนุนร้านอื่นมากกว่า
คุณซิลเวียร์ เวสเตอร์วิค (Silvia Westerwick) ศาสตราจารย์จาก The Ohio State University กล่าวว่า การดูกีฬากับเพื่อนจะทำให้เรากล้าขอความช่วยเหลือรวมถึงกล้า “แลกเปลี่ยนความรู้สึก” ทั้งในแง่บวกเมื่อทีมชนะ และในแง่ลบเมื่อทีมแพ้ แนวคิดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ดี เช่นเมื่องานเกิดข้อผิดพลาดหรือไม่ได้เสียงตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น การพูดคุยเพื่อปลอบใจในกลุ่มเพื่อนจะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับความผิดหวัง ซึ่งทำให้เราไม่สูญเสียความมั่นใจโดยเปล่าประโยชน์
การดูฟุตบอลโลก (World Cup) มีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร
Forbes ได้ติดตามวัดผลการทำงานในช่วงฟุตบอลโลกมาตลอดในช่วง 10 ปีให้หลังเพื่อหาคำตอบว่ามหกรรมฟุตบอลโลกส่งผลกับการทำงานอย่างไรบ้าง จนได้ข้อสรุปว่าหากองค์กรบริหารจัดการไม่ดี ก็มีโอกาสที่ผลประกอบการในช่วงที่มีการแข่งขันจะลดลงจริง ๆ แต่ในทางกลับกันก็มีผลสำรวจระบุว่าองค์กรที่บริหารจัดการได้อย่างเป็นมืออาชีพจะทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุข อยากมาทำงานมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าองค์กรให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานมากเป็นพิเศษ
ดังนั้นในเมื่อฟุตบอลโลกเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ องค์กรก็ควรเปลี่ยนมุมมองจากการมานั่งกังวลว่าฟุตบอลโลกจะส่งผลเสียกับองค์กรอย่างไร แล้วมาตั้งคำถามว่าจะใช้ประโยชน์จากฟุตบอลโลกได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งเราสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ดังนี้
การดูฟุตบอลโลกช่วยให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น
ในประเทศไทยนั้นการดูฟุตบอลโลกมักเกิดขึ้นหลังเวลาทำงาน ปัญหาที่เกิดจึงมักเป็นเรื่องการพักผ่อนของพนักงานมากกว่า แต่ในบางองค์กรที่ทำงานจนถึงค่ำ การเปิดฟุตบอลระหว่างทำงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศที่เคร่งเครียดให้มีความสนุกสนานยิ่งขึ้น เพราะในสถานการณ์ปกติ พนักงานแต่ละแผนกอาจไม่มีเหตุผลให้ต้องพูดคุยหากไม่มีความรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นการร่วมดูฟุตบอลในพื้นที่ส่วนกลางจะเปิดโอกาสให้พนักงานมีหัวข้อสนทนา และทำให้เราได้เห็นเพื่อนร่วมงานในอีกแง่มุมใหม่ นำไปสู่ความเชื่อใจที่ทำให้การทำงานคล่องตัวกว่าเดิม
การดูฟุตบอลโลกช่วยให้เรามีโอกาสทางการขายมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญจาก GetCourse ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าองค์กรเคยมีพนักงานขายคนหนึ่งที่ไม่เคยสนใจฟุตบอลมาก่อน แต่เมื่อเห็นกระแสที่เพื่อนร่วมงานทุกคนต่างพูดถึงผลการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมาอย่างออกรส เขาก็เกิดความคิดว่าเรื่องราวของฟุตบอลโลกสามารถเป็นตัวเชื่อม (Bridge) ที่สำคัญระหว่างตนและลูกค้า เขาจึงเริ่มศึกษาฟุตบอลอย่างจริงจังและเอาไปพูดคุยระหว่างขายงาน ซึ่งก็ช่วยให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจริง
การเข้าใจกระแสฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งยังช่วยให้เราสามารถทำการตลาดที่ทันสมัยเพราะเนื้อหาที่ทำออกมาจะสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนกำลังสนใจ โดย GetCourse เผยว่าคอนเทนต์ฟุตบอลที่ทำในช่วงฟุตบอลโลกนั้น มีอัตราเข้าถึงสูงกว่าคอนเทนต์อื่น ๆ ถึง 44% มันจึงเป็นทางลัดที่จะช่วยให้ธุรกิจของเราเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้นในวงกว้าง
HR มีวิธีช่วยให้พนักงานดูฟุตบอลโลกและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าจะอย่างไรเสีย พนักงานที่เป็นแฟนกีฬาก็คงเลือกดูฟุตบอลโลกอยู่ดีแม้เราจะควบคุมอย่างไรก็ตาม ดังนั้นเพื่อยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม HR สามารถหาทางออกให้กับพนักงานด้วยวิธีต่อไปนี้
ถ้าพนักงานอยากลางาน ก็ปล่อยให้ลาไปเลย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าถ้าพนักงานขอลางานเพื่อไปเชียร์ฟุตบอลโลก สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การมองว่ามันคือเหตุผลที่ไร้สาระและปฏิเสธเพื่อให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ เพราะความจริงแล้วเมื่อพนักงานตัดสินใจลางานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การขัดขวางความต้องการมีแต่จะทำให้พนักงานมาออฟฟิศอย่างหมดใจ ได้เนื้องานที่ไม่มีประสิทธิภาพจนอาจทำให้ HR คิดว่า “รู้งี้ปล่อยให้ลางานไปตั้งแต่แรกดีกว่า”
สิ่งที่ HR ควรทำคือการปล่อยให้พนักงานลาไปเลยเพราะถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจกับความต้องการและเคารพสิทธิ์ของพนักงานอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งนี้หน้าที่การบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันคือสิ่งที่หัวหน้าทีมต้องทำให้ได้ หรือหากเป็นการลาแบบกระทันหัน องค์กรก็ต้องจัดประชุมทีมเพื่อแบ่งงานตามความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง โดยอาจเสนอตัวเลือกอื่น ๆ เช่นขอให้พนักงานทำงานในส่วนที่หยุดพักไม่ได้จริง ๆ จากที่บ้าน หรือจัดประชุมออนไลน์ในหัวข้อที่จำเป็น
การหาทางออกร่วมกันจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นซึ่งจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ภายในองค์กรให้ดีกว่าเดิม
ฉายฟุตบอลโลกในห้องประชุมไปเลย
เราต่างทราบดีว่าองค์กรทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงานมากเป็นพิเศษ และการใช้พื้นที่ส่วนกลางให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะเวลาหลังเงินงานเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น บริษัทบางแห่งเริ่มจัดทำ “ห้องนั่งสมาธิ” (Meditation Room) เพื่อเปิดคลาสโยคะหรือคลาสออกกำลังกายย่อม ๆ ให้พนักงานใช้ฆ่าเวลาเพื่อไม่ต้องไปฝ่ารถติดในท้องถนน หรือบางแห่งก็ออกนโยบาย “ดื่มในออฟฟิศ” ไปเลย
การทำให้ออฟฟิศมีสถานะใกล้เคียงกับบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานคุ้นเคยตลอดระยะเวลาที่โควิด-19 ระบาด ก็จะช่วยให้องค์กรที่กำลัง “เปลี่ยนผ่าน” และอยู่ระหว่างการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นออฟฟิศสายครีเอทีฟที่อยู่กันสบาย ๆ จนดึกดื่น หรือเป็นออฟฟิศที่จริงจังมีกำหนดเวลาชัดเจน คุณก็สามารถใช้โอกาสนี้เปลี่ยนออฟฟิศให้เป็น “พื้นที่แห่งความสบายใจ” ของพนักงานได้เลย
รู้จักนโยบายด้านการดูกีฬา (Sporting Event Policy) เคล็ดลับที่ HR ควรใช้ตอนมีฟุตบอลโลก
ไม่ใช่แค่ฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่การเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถเข้าถึงมหกรรมกีฬาหรือแม้แต่สื่อบันเทิงอื่น ๆ ได้มากขึ้น จึงมีโอกาสที่พนักงานจะตัดสินใจลางานเพื่อรับชมสิ่งที่พวกเขาสนใจมากกว่าในอดีตที่เรายังเข้าถึงสื่อได้อย่างจำกัด
เคล็ดลับของการออกนโนยบายด้านการดูกีฬา (Sporting Event Policy) มีดังนี้
ให้เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น
ในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก องค์กรสามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำงานชั่วคราวโดยมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ภายในกรอบเวลาที่กำหนดเพื่อให้พนักงานสามารถจัดสรรวิธีทำงานได้ตามใจ ทั้งนี้องค์กรมีสิทธิ์ประเมินตามความเหมาะสมหากพนักงานไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนด อนึ่งหาก HR เห็นว่าพนักงานมีแนวโน้มที่จะลางานจำนวนมาก ก็สามารถออกนโยบาย First Come, First Serve คือการตั้งลิมิตไว้เลยว่าจะอนุญาตให้พนักงานลางานได้กี่คนเพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงาน และหากมีพนักงานลาจนครบจำนวนแล้ว ก็ถือว่าพนักงานกลุ่มนั้นสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีกว่า ส่วนคนที่เหลือก็ค่อยหาวิธีทำงานแบบอื่น ๆ ตามความเหมาะสมในลำดับต่อไป
นโยบายการดูฟุตบอลโลกในเวลางาน
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็คือการออกกฎว่า “ทำได้หรือไม่ได้” ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน หากเป็นองค์กรที่ทำงานก่อสร้างหรือต้องอยู่กับเครื่องจักร การดูฟุตบอลโลกระหว่างทำงานก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสมเพราะอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ถ้าเราทำงานในพื้นที่ปลอดภัย มีห้องส่วนตัวที่ไม่รบกวนคนอื่น การดูฟุตบอลโลกขณะทำงานก็ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหามากจนเกินไปนัก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากความปลอดภัยคือเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตในที่ทำงาน กล่าวคือหากอินเทอร์เน็ตของคุณมีความเร็วไม่มากพอ ก็ควรให้ความสำคัญกับการใช้เพื่อทำงานก่อน แต่ถ้าการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูฟุตบอลไม่ส่งผลกระทบกับคนอื่น ก็ต้องคอยพิจารณาว่านโยบายด้านการใช้อินเทอร์เน็ตขององค์กรเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเป็นอย่างไรและออกนโยบายให้สอดคล้องกับแนวทางเดิม ทั้งนี้ต้องระวังไม่ให้การดูฟุตบอลของพนักงานคนหนึ่ง สร้างความรำคาญหรือขัดขวางการทำงานของพนักงานที่นั่งใกล้กัน เป็นต้น
องค์กรต้องชัดเจนเรื่องการดูแลสภาพร่างกายของพนักงาน
เป้าหมายของการทำงานคือการสร้างผลงานที่ตรงกับเป้าหมายขององค์กร ดังนั้นหน้าที่ของพนักงานคือการทำตัวเองให้พร้อมในฐานะกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนทีมให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น ๆ ไม่ใช่แค่การปรากฏตัวในที่ทำงานโดยไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นหากพนักงานดื่มเหล้าขณะดูฟุตบอลโลก และมาทำงานด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม องค์กรสามารถออกใบเตือนหรือให้กลับบ้านได้เลย เพราะถือว่าไม่อยู่ในจุดที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อยู่ดี
นโยบายด้านการแต่งกาย
พนักงานบางคนอาจต้องการใส่เสื้อของทีมโปรดเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะหากทีมที่เขาเชียร์ประสบความสำเร็จ
ในที่นี้ HR สามารถอนุญาตให้พนักงานใส่เสื้อตามต้องการได้เลยตามความเหมาะสม เช่นเมื่อไม่มีนัดหมายกับลูกค้าหรือประชุมสำคัญที่ต้องอาศัยความจริงจังเป็นพิเศษ เรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ แบบนี้จะทำให้บรรยากาศในที่ทำงานผ่อนคลายขึ้น และช่วยให้พนักงานก้าวผ่านเนื้องานที่เคร่งเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
บทสรุป
ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไร หรือมีมหกรรมขนาดใหญ่แค่ไหนเกิดขึ้น โลกธุรกิจก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ดังนั้นแทนที่เราจะขัดขวางกระแสที่เกิดขึ้น เราควรเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้นและหาทางใช้ประโยชน์กับมันให้มากที่สุดต่างหาก และช่วงเวลาของฟุตบอลโลกก็ถือเป็นช่วงเวลาที่องค์กรจะได้พิสูจน์ว่าโครงสร้างบริษัทที่มีอยู๋นั้นแข็งแรงแค่ไหน สามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานได้มากเพียงใด คำตอบตรงนี้จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ให้สามารถนำบริบทต่าง ๆ มาผลักดันกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะองค์กรที่ดีไม่ใช่องค์กรที่สนใจแต่เรื่องงาน แต่หมายถึงองค์กรที่พร้อมปรับตัวตลอดเวลาต่างหาก
ปรับตัวให้ทัน ! ทำงานให้คล่อง ! ด้วยตัวช่วยที่จะเปลี่ยนโลก HR ของคุณไปตลอดกาล กับ HR Products & Services สุดยอดแพลตฟอร์มแห่งแรกของไทยที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR เอาไว้ในที่เดียวมากกว่า 100 อย่าง รับรองว่าแค่คลิก ก็เหมือนธุรกิจของคุณได้ก้าวไปอีกขั้นแล้วล่ะ !