Search
Close this search box.

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

HIGHLIGHT

  • พลังของการอ่านหนังสือ (Power of Reading) มีประโยชน์ทั้งกับร่างกายและจิตใจ ทั้งช่วยพัฒนาสมอง,​ ช่วยให้เข้าใจความแตกต่าง และช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • แต่ปัจจุบันมนุษย์อ่านหนังสือน้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับการอ่านเนื้อหาสั้น ๆ ที่สรุปมาแล้ว ซึ่งแม้จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาภาพกว้างได้ดี แต่ก็ลดทอนความละเอียดของเนื้อหาไปอย่างมีนัยสำคัญ
  • มีผลวิจัยที่ระบุว่าการอ่านหนังสือเพียงวันละ 30 นาที จะช่วยให้มีอายุยาวขึ้นถึง 2 ปี และการอ่านหนังสือถือเป็นวิธีลดความเครียดที่ให้ผลดีกว่าการฟังเพลง หรือเล่นวีดีโอเกม
  • องค์กรสามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านได้ง่าย ๆ ด้วยการสร้างพื้นที่อ่านหนังสือส่วนกลาง หรือจัดทำห้องสมุด (Office Library) ที่ถือเป็นสวัสดิการใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม
  • หากเลือกได้ หนังสือแบบตัวเล่มมีประโยชน์กับผู้อ่านมากกว่าหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพราะทำให้ผู้อ่านได้ใช้ประสาทสัมผัสมากกว่า, ไม่ถูกดึงความสนใจจากเครื่องมือหรือแอปพลิเคชั่น และกลิ่นของหนังสือยังช่วยสร้างความรู้สึกน่าดึงดูดคล้ายกับการฉีดน้ำหอมอีกด้วย

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่เราผูกพันตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านการ์ตูน, การอ่านนิยาย หรือแม้แต่การอ่านหนังสือเรียน แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการอ่านได้ลดความสำคัญลงไปมาก เพราะการเติบโตของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและลดบทบาทจากการอ่านหนังสือเล่มโตมาเป็นการอ่านสั้น ๆ ที่แม้จะตั้งอยู่ในบริบทของตัวอักษรเหมือนกัน แต่ก็มีความลึกซึ้งน้อยกว่าจนนับเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข

ในด้านการทำงาน วัฒนธรรมการอ่านคือรากฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทั้งด้านการบริหารองค์กร, การบริหารพนักงาน และการต่อยอดสิ่งที่มีไปสู่จุดที่ดีกว่า ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จะช่วยให้องค์กรเติบโตได้จริง แถมยังใช้งบประมาณน้อยมากหากเทียบกับกลยุทธ์อื่น ๆ 

ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงานมีอะไรบ้าง  หาคำตอบได้ในบทความนี้

Contents

Power of Reading การอ่านหนังสือมีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

การอ่านหนังสือคือวิธีเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เพราะนอกเหนือจากความบันเทิงที่ทำให้ให้เราได้ผ่อนคลายจากความวุ่นวายแล้ว การอ่านหนังสือยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นโลกนอกเหนือไปจากการทำงานที่ถือเป็นเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ช่วยให้วิสัยทัศน์ของเรากว้างไกลขึ้น นำไปสู่นวัตกรรมหรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากเอาแต่จมอยู่กับบริบทเดิม ๆ โดยปราศจากมิติของการเรียนรู้ ดังนั้นการอ่านหนังสือจึงเป็นวิธีที่ง่าย ราคาถูก แถมยังเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย โดยเราสามารถอธิบายประโยชน์ของหนังสือกับการทำงานออกมาเป็น 5 หัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

การอ่านหนังสือช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

การอ่านหนังสือจะทำให้เราได้เห็นความหลากหลายของตัวละครทั้งด้านของรูปลักษณ์, เชื้อชาติ, ทัศนคติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมิติของความหลากหลาย (Diversity) ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากนัก หนังสือจะเป็นใบเบิกทางให้รู้ว่าคนในแต่ละรูปแบบมีค่านิยมอย่างไร, มีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ซึ่งหากเรานำข้อมูลเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ก็จะช่วยให้เรามองผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจมากกว่าเดิม 

การวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Psychological Science เผยว่าการสัมผัสเรื่องราวของคนอื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องแต่งก็มีผลกับความคิดของเราทั้งสิ้น ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) จะนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Team Unity), สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ตลอดจนช่วยสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไป (Employee Retention)

การอ่านหนังสือช่วยให้เรามีคลังคำศัพท์มากขึ้น

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

เคยคิดไหมว่าคนที่มีทักษะการพูดจะดูโดดเด่นกว่าคนอื่น ซึ่งทักษะนี้สามารถฝึกได้ด้วยการอ่านหนังสือให้มาก เพราะการอ่านจะทำให้เราได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ รู้จักวิธีเรียงประโยค, การเลือกใช้คำในแต่ละสถานการณ์ เหตุนี้คนที่อ่านหนังสือเยอะจึงสามารถสื่อสารได้ดี (Communication Skill

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการอ่านหนังสือจะทำให้เราเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ในทุกหน้ากระดาษที่เราเปิด แถมยังไม่ใช่แค่การอ่านความหมายเหมือนกับในพจนานุกรม เพราะจะได้รู้วิธีและผลกระทบของการใช้คำนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ เช่นรู้ว่าคำไหนช่วยโน้มน้าวคน, คำไหนช่วยสร้างบรรยากาศสนุกนาน หรือคำไหนที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ ทั้งนี้ มีผลวิจัยระบุว่ากลุ่มคนที่อ่านหนังสือมีคลังคำศัพท์มากกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือถึง 26%

การเลือกใช้วิธีสื่อสาร (Communication Method) อย่างเหมาะสมจะทำให้เนื้อหาของเราน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นเราควรใช้คำศัพท์ที่ดูยกย่องให้เกียรติหากต้องนำเสนองานกับผู้บริหาร และใช้คำศัพท์ที่เรียบง่าย ไม่ต้องกระเทาะหากพูดกับพนักงานรุ่นใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ ให้คิดเสมอว่าการสื่อสารที่ดีคือการอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่ายที่สุด และการอ่านหนังสือก็สามารถช่วยเรื่องนี้โดยตรง

การอ่านหนังสือช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น (Creativity Skills)

การอ่านหนังสือคือการเปิดประตูใบใหม่ให้กับเรา หากเราอ่านนิยาย เราก็จะได้พาความคิดของตัวเองไปสู่จินตนาการของผู้เขียน หรือหากเราอ่านหนังสือความรู้ เราก็จะได้เห็นวิธีแก้ปัญหาของคนที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์กว่า มุมมองเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านคิดว่า “ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้” และกล้านำเสนอจินตนาการของตนออกมามากขึ้นซึ่งอาจประยุกต์เป็นวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ โดย Creativity Research Journal กล่าวว่าคนที่อ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นเป็นประจำจะเป็นคนที่เปิดใจรับฟังความเห็นจากเพื่อนร่วมงานได้ดีกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย 

ความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการทำงาน เช่น ถ้าคุณต้องไล่พนักงานออก คุณก็จะเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการความรู้สึกของทุกฝ่าย, หากคุณต้องเสนองานแข่งกับลูกค้า คุณก็ต้องคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้ชัดเจน หรือหากคุณต้องออกแบบที่ทำงานใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ก็จะช่วยให้คุณใช้พื้นที่ได้อย่างสวยงามและเกิดประโยชน์ที่สุด ยังไม่รวมถึงการคิดแคมเปญโฆษณาใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

การอ่านหนังสือช่วยลดความเครียด

บางครั้งเมื่อเจองานหนัก ๆ เราก็อยากจะหนีความจริงออกไปให้เร็วที่สุด ดังนั้นคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการหยิบหนังสือสักเล่ม และกระโจนเข้าสู่โลกของจินตนาการไปเลย ! การพาตัวเองออกจากความเครียด (Stress Distraction) จะทำให้เรากลับมาโฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดีกว่าการฝืนทำงานอย่างไม่มีความสุข และการอ่านหนังสือก่อนที่จะต้องลุยงานหนักยังถือเป็นอีกเคล็ดลับที่ช่วยให้เรารับมือกับงานยาก ๆ ได้ดีขึ้น

University of Sussex ได้ศึกษาเรื่องวิธีลดความเครียด โดยเปรียบเทียบระหว่างการอ่านหนังสือ, การฟังเพลง, การดื่มของอุ่น ๆ , การเล่นวีดีโอเกม และได้คำตอบว่าการอ่านหนังสือช่วยลดความเครียดได้ดีที่สุด แถมการอ่านหนังสือเพียง 6 นาทีจะช่วยลดความเครียดของกล้ามเนื้อ ตลอดจนช่วยให้การเต้นของหัวใจกลับมาสมดุล

การอ่านหนังสือช่วยให้เราจริงจังกับงานมากขึ้น

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

การอ่านหนังสือทำให้เราได้เห็นพัฒนาการ (Development) ของตัวละครซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความสำเร็จ, ความล้มเหลว, ความสุข, ความผิดหวัง และผลของการกระทำต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งความเข้าใจตรงนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากประสบความสำเร็จกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเริ่มคิดว่าตนมีสถานการณ์ตัวอย่าง (Case Study) มากมายไว้อ้างอิงแล้ว

ผู้เชี่ยวขาญกล่าวว่าการอ่านหนังสือต้องใช้ความจดจ่อ (Commitment) ซึ่งแตกต่างจากการเล่นสื่อโซเชียลบนโทรศัพท์ที่เป็นการเรียนรู้ระยะสั้น (Micro Learning) ดังนั้นการอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะไปปรับพฤติกรรมของผู้อ่านให้สนใจเนื้องานได้นานขึ้นซึ่งสำคัญมากกับการทำงานในยุคที่คนถูกดึงความสนใจออกไปได้ตลอดเวลาและกระแสโลกเปลี่ยน (Transform) ไวกว่าที่เคย

หนังสือแบบเล่มกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) แบบใดมีประโยชน์มากกว่า

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นนี้ เราขออธิบายก่อนว่าการอ่านหนังสือไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ย่อมดีกว่าการไม่อ่านหนังสือเลย และการอ่านทั้งสองแบบมีจุดเด่น – จุดด้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้อ่าน เช่นคนที่มีปัญหาสายตาก็เหมาะกับการอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์เพราะสามารถปรับรูปแบบตัวหนังสือ (Font), ขนาด รวมถึงความสว่างของหน้าจอได้ตามใจ 

อย่างไรก็ตามมีการวิจัยที่ระบุว่าการอ่านแบบตัวเล่มจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า (Reading Comprehension) และการได้จับรูปเล่มยังให้ความรู้สึกผูกพันกับเรื่องมากกว่าการถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถกดปิดเพื่อสลับไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดายจนผู้อ่านไม่สามารถจดจ่อกับเนื้อหาได้อย่างที่ควรจะเป็น

ผลวิจัยยังกล่าวอีกว่าเมื่อสำรวจกับเด็กอายุระหว่าง 3-5 ปีก็พบว่าเด็กที่ฟังนิทานจากผู้ปกครองที่อ่านหนังสือแบบเล่ม จะเข้าใจเนื้อหามากกว่าเด็กที่ฟังนิทานจากผู้ปกครองที่อ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะถูกดึงความสนใจจากเนื้อหาไปสู่ความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่สามารถเกิดจากอุปกรณ์ชิ้นนั้น และผลวิจัยเดียวกันยังสรุปว่าเด็กนักเรียนที่อ่านหนังสือแบบรูปเล่มสามารถจำเนื้อหาได้ดีกว่า 

การอ่านหนังสือแบบเล่มยังช่วยให้เราหลับง่ายขึ้น ต่างจากการอ่านจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการอ่านหนังสือแบบเล่มจะทำให้ประสาทสัมผัสของมนุษย์ (Sense) ทำงาน และเราจะรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเห็นว่าหนังสือที่เราอ่านค่อย ๆ ลดปริมาณหน้าที่เหลือลงทีละนิด ขณะที่การอ่านจากอุปกรณ์จะทำให้สายตาต้องสู้กับแสงสีฟ้าที่ส่งผลต่อการหลั่งสารเซเรโทนิน (Seretonin) ซึ่งส่งผลกับความสุขและการนอนหลับโดยตรง

ผลวิจัยจากประเทศสโลวาเกียยังเผยอีกว่ากลิ่นของหนังสือ สามารถสร้างความสุขต่อผู้อ่านได้ไม่ต่างจากการฉีดน้ำหอม ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากการอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นหากคุณมีโอกาสเลือกระหว่างหนังสือทั้งสองรูปแบบ ให้เลือกหนังสือที่เป็นตัวเล่ม แต่หากคุณไม่ชอบอ่านแบบตัวเล่มจริง ๆ ก็ขอให้เลือกแบบที่ถนัด ขอเพียงให้มีวัฒนธรรมการอ่านติดตัวอยู่ก็พอ 

การอ่านหนังสือมีประโยชน์กับสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างไร

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือถูกเรียกว่าเป็น “ความรู้ตลอดชีวิต”​ (Lifetime Knownledge) เพราะสิ่งที่เรารู้จากหนังสือตั้งแต่วัยเด็ก สามารถฝังอยู่ในหัวของเราได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้เพราะการอ่านหนังสือส่งผลต่อสมองโดยตรง จึงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับร่างกายและจิตใจ อธิบายให้ชัดเจนขึ้นได้ดังนี้

การอ่านช่วยให้สมองแข็งแรงขึ้น

มีการวิจัยที่ใช้วิธีตรวจ MRI กับสมองควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือ และพบว่าสมองมีกลไกทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งเนื้อหาในเรื่องพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งปรับตัวให้พร้อมรับมือมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะสมองที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Somatosensory Cortex) และยังคงพัฒนาต่อเนื่องแม้จะอ่านหนังสือจบแล้วก็ตาม

การอ่านหนังสือเพียงวันละ 30 นาทีช่วยให้อายุยืนขึ้น

Yale University School of Public Health ได้ทำการวิจัยกับคนจำนวน 3,635 คนนานถึง 12 ปีจนได้ข้อสรุปว่าคนที่อ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 30 นาทีจะอายุยืนกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือราว 2 ปี เพราะการอ่านทำให้สมองถูกใช้งานเพื่อวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ ขณะที่ Rush University Medical Center จากชิคาโก้ยืนยันว่าการอ่านจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) ได้  อนึ่งผลวิจัยนี้อ้างอิงจากผู้ที่อ่านหนังสืออย่างจริงจัง ไม่ใช่นิตยสารหรือบทความทั่วไป

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

ยกระดับการทำงานด้วยการสร้างห้องสมุด (Office Library)

ขณะที่ HR ทั่วโลกกำลังหาสวัสดิการใหม่ ๆ มาโน้มน้าวให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือพยายามสร้างบรรยากาศขององค์กรให้สนุกสนาน ผ่อนคลายจนสามารถใช้ชีวิตเทียบเคียงกับการทำงานอยู่บ้านได้อย่างไร้รอยต่อ การปรับพื้นที่ในออฟฟิศจึงเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการสร้างบาร์เครื่องดื่มเป็นสวัสดิการพิเศษ แต่ในที่นี้เราขอแนะนำสวัสดิการที่เหมาะกับพนักงานทุกระดับ นั่นก็คือการสร้างห้องสมุดให้พนักงานได้ใช้พักผ่อนระหว่างวัน หรือยืมหนังสือที่ชอบกลับไปอ่านได้เลย 

ประโยชน์ของ Office Library มีดังนี้

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

1. ช่วยลดงบประมาณ : แทนที่จะซื้อหนังสือที่คิดว่ามีประโยชน์ให้กับพนักงานทุกคน องค์กรสามารถซื้อหนังสือดังกล่าวมาไว้ในห้องสมุดเพื่อแบ่งกันอ่านอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ที่มีราคาสูงเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังเรื่องการคัดลอกเอกสารหรือละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย

2. ช่วยให้มุมมองของพนักงานใกล้เคียงกัน : การหาข้อมูล (Research) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ เป็นเรื่องดีหากพนักงานทุกคนพยายามค้นคว้าจนทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่อย่าลืมว่าแม้ความรู้ที่ได้มาจะมีค่าแค่ไหน แต่หากเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะสื่อ การพูดคุยก็ไม่นำไปสู่อะไรอยู่ดี ดังนั้นเราจึงต้องสร้างภาษากลาง (Mutual Language) ให้ทุกคนมีรากฐานใกล้เคียงกันก่อน แล้วค่อยแยกย้ายกันไปหาข้อมูลที่จำเป็นมาอ้างอิง ซึ่งกลไกนี้เริ่มได้ง่าย ๆ จากการใช้แหล่งข้อมูลเดียวกัน การมีห้องสมุดกลางจึงช่วยได้มาก

3. ช่วยให้พนักงานเห็นว่าองค์กรมีมาตรฐานอย่างไร : จริง ๆ ไม่ต้องถึงกับเป็นห้องสมุดก็ได้ ขอเพียงมีชั้นหนังสือหรือพื้นที่ส่วนกลางให้คนเข้าถึงหนังสือได้อย่างเป็นระบบก็พอ กลยุทธ์นี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานแล้ว ยังสะท้อนมุมมองให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการอ่าน และหากต้องการประสบความสำเร็จที่นี่ การอ่านหนังสือให้มาก เรียนรู้ให้เยอะก็เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพนักงานเข้าใจบริบทนี้ ก็จะพากันยกระดับตัวเองขึ้นมา ส่งผลดีต่อบริษัทในภาพรวม

บริษัทมีวิธีโน้มน้าวให้พนักงานอ่านหนังสือได้อย่างไร ?

ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบอ่านหนังสือ แต่ในเมื่อองค์กรอยากเพิ่มวัฒนธรรมการอ่าน (Reading Cultures) ให้กับพนักงาน HR ก็ต้องคิดต่อว่าเราจะใช้กลยุทธ์ใดเพื่อทำให้พนักงานหันมาสนใจหนังสือโดยไม่รู้สึกกดดันเกินไป

วิธีแรกที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือการซื้อหนังสือแบบเฉพาะเจาะจงให้พนักงานไปเลย โดยอ้างอิงจากลักษณะนิสัยหรือความชอบที่เราสังเกตเห็น ไม่จำเป็นต้องเลือกแต่หนังสือความรู้เท่านั้น เช่นถ้าเราเห็นพนักงานชอบเรื่องฟุตบอล เราก็อาจซื้อหนังสือชีวประวัติของทีมฟุตบอลนั้น ๆ และพอพนักงานเริ่มเปิดใจให้กับการอ่านมากขึ้น ก็ค่อยเพิ่มความเข้มข้นเข้าไป ทั้งนี้หากพนักงานคนดังกล่าวเริ่มสนใจหนังสือเล่มใดเป็นพิเศษ องค์กรก็สามารถสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายตามสมควร

หลังจากที่เราสร้างวัฒนธรรมการอ่านเบื้องต้นภายในองค์กรได้แล้ว สิ่งที่ควรทำต่อมาก็คือการสร้างชุมชนการอ่าน (Book Club) เพื่อให้นักอ่านมีพื้นที่ตรงกลางให้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน วิธีนี้จะทำให้คนรู้สึกว่าความรู้ใหม่ที่ตนได้มามีประโยชน์ แถมการได้ฟังเรื่องราวสนุก ๆ จากหนังสือที่เพื่อนร่วมงานอ่านก็จะยิ่งโน้มน้าวให้อยากอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย

และหลักการสุดท้ายคือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (Lead by Example) ลองนึกดูว่าหากองค์กรต้องการให้พนักงานอ่านหนังสือ แต่ตัวผู้นำกลับไม่สนใจการอ่านหนังสือเลย พนักงานก็จะคิดตามว่าทีมของตนไม่ได้มองการอ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ถ้าหัวหน้าทีมให้ความสำคัญกับการอ่าน และแสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ที่น่าสนใจทั้งหลายเกิดจากการเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือ พนักงานก็จะเกิดความเชื่อมั่น จนอยากทำตามในที่สุด

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: พนักงานไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบหาความรู้เพิ่มเติม จะทำอย่างไรดี

พนักงานทำหน้าที่ได้ดีก็จริง แต่ขาดความกระตือรือร้นที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือ คิดว่าทำแต่หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็พอแล้ว นานเข้าเราก็กลัวว่าจะเป็นคนล้าสมัย ไม่สามารถออกความเห็นหรือคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ เราอยากสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในองค์กร มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ ?

A: ลองสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เช่นจัด Knowledge sharing

เริ่มจากเริ่มที่คนกำลังสนใจเช่น เชิญคนเก่งที่พอมีชื่อเสียง มาเล่าเรื่องการสร้าง Tiktok ให้น่าสนใจทำยังไง เป็นต้น เรื่องการเรียนรู้ สามารถเรียนได้มากมายหลากหลายมุม สร้างบรรยากาศแล้ว ต้องสร้างความท้าทายด้วยการสะสมชั่วโมงการเรียนรู้ผ่านระบบ HR ใครสูงสุดภายในเวลา X จะได้รับของรางวัลจาก CEO CHRO เป็นต้น ก้อน่าจะสร้างบรรยากาศของการเริ่มต้นได้ดีครับ แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำให้ต่อเนื่อง

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

บทสรุป Power of Reading

POWER OF READING : นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร ประโยชน์ของหนังสือกับการทำงาน

เมื่อพูดถึงการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สิ่งแรกที่ต้องทำไม่ใช่การถามว่าเราควรอ่านอะไร ด้วยเครื่องมือแบบไหน แต่เป็นการถามอย่างตรงไปตรงมาว่าเราจะทำให้คนหันมาสนใจหนังสือในยุคที่มีสื่อมากมายมาดึงความสนใจได้อย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้การอ่านหนังสือเองจะให้มุมมองและความรู้ที่เข้มข้นกว่าการอ่านสรุปหรือดูคลิปวีดีโอสั้น ๆ ตามกระแสนิยม แต่คนส่วนใหญ่กลับมีทัศนคติว่าความรู้แค่เท่านั้น “เพียงพอแล้ว” จนปิดกั้นตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว 

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” ถ้อยคำจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรยังคงศักดิ์สิทธิ์และใช้ได้เสมอ หากเราไม่ต้องการให้องค์กรล้าหลังจนก้าวไม่ทันโลก ก็ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหาร, HR และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง