รู้หรือไม่? จริง ๆ แล้วหน้าที่ของ HR (HR Roles) คืออะไรกันแน่ ที่ไม่ใช่แค่สัมภาษณ์งาน

HIGHLIGHT

  • นิยามคำว่า HR ที่คนนอกมองเข้ามาส่วนใหญ่มองว่า หน้าที่ของ HR (HR Roles) คือการสัมภาษณ์งาน หรืออาจจะมองว่าแค่ดูแลเรื่องสวัสดิการพนักงาน เงินเดือน วันลา การโปรโมท ฯลฯ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก
  • บ่อยครั้งที่ HR ถูกมองข้ามไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว HR นี่แหละที่ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีสำคัญมากต่อองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะตำแหน่ง Director ตำแหน่ง Manager หรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไปในแผนก HR ก็มีบทบาทที่หลากหลายในองค์กร
  • HR มีหลายเรื่องที่จะต้องตัดสินใจนอกจากแค่การดูแลเรื่องคน ทั้งจะต้องจัดการคนให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทและผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ก็ต้องเอาใจใส่ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิดและผลประโยชน์ของพนักงานด้วยเช่นกัน
  • บทบาทของ HR ก็ยังมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้าที่ของ HR คือต้องมีการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรที่ตอบสนองความต้องการเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจด้วย HR จำเป็นต้องทำงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของบริษัท ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วย

สำหรับตำแหน่ง HR แล้ว หลาย ๆ คนคงเคยเจอกับสถานการณ์ที่ว่า คนภายนอกไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว HR ทำอะไรกันแน่ จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าตำแหน่ง HR คือการสรรหาคนมาทำงานให้กับบริษัท ดูแลเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ หรือจัดเทรนนิ่งต่าง ๆ ให้กับพนักงาน หรือการสัมภาษณ์พนักงานใหม่เข้ามาทำงานในสาย HR ถ้าถามว่าทำไมถึงอยากทำงานตำแหน่งนี้ ร้อยทั้งร้อยก็คงตอบว่าอยากทำให้เพื่อนพนักงานมีความสุข เป็นคนที่มอบรอยยิ้ม มอบสิ่งดี ๆ ให้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะส่วนหนึ่งของงาน HR ก็คือการดูแลพนักงาน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะ HR มีหน้าที่อีกมากที่นอกจากแค่การดูแลคนและสัมภาษณ์งาน

แล้วจริง ๆ หน้าที่ HR ทำอะไรกันแน่? หาคำตอบได้จากบทความนี้

หน้าที่ HR (HR Roles) ในสายตาคนทั่วไป

นิยามคำว่า HR ที่คนนอกมองเข้ามาส่วนใหญ่มองว่า หน้าที่ของ HR คือการสัมภาษณ์งาน จะรับใครไว้หรือปัดใครตกก็แค่อ่าน Resume ไม่ชอบก็โยนทิ้งไป หรืออาจจะมองว่าแค่ดูแลเรื่องสวัสดิการพนักงาน เงินเดือน วันลา การโปรโมท ฯลฯ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก พอคนภายนอกไม่รู้ว่างานที่ HR ต้องทำมีอะไรบ้าง เลยนิยามหน้าที่ของ HR ด้วยตัวเองอย่างผิด ๆ และยิ่งทำให้หลายคนเอานิยามนั้น ๆ มาจำกัดความสามารถในการทำงานของ HR อาจจะคิดว่าเป็นงานง่าย ๆ ไม่มีอะไรมากมาย เมื่อความคาดหวังลดลงก็ยิ่งเหมือนเป็นการลดคุณค่าและด้อยค่าความสามารถของตำแหน่ง HR ไป ซึ่งในความเป็นจริงการเป็น HR มีหน้าที่และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้นมาก

บทบาท HR คือผู้เล่นสำคัญในองค์กร

บ่อยครั้งที่ HR ถูกมองข้ามไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว HR นี่แหละที่ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีสำคัญมากต่อองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะตำแหน่ง Director ตำแหน่ง Manager หรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไปในแผนก HR ก็มีบทบาทที่หลากหลายในองค์กร งาน HR ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็มีความรับผิดชอบมากมาย ไม่ใช่แค่การหาคนหรือดูแลเรื่องสวัสดิการเท่านั้น อย่างที่จั่วหัวข้อเอาไว้ว่า HR คือผู้เล่นสำคัญ หลายคนอาจจะสงสัยว่าสำคัญอย่างไร หน้าที่ของ HR นั้นนอกจากดูแลพนักงานแล้วยังต้องรู้เรื่องธุรกิจด้วย จากบทสัมภาษณ์ คุณจ๋า ณัฐธิดา ศุกร์มาลา ตำแหน่ง HR Director – Unilever Thailand ได้อธิบายถึงหน้าที่ด้านธุรกิจของ HR เอาไว้ว่า 

“เราต้องมองก่อนว่า HR คือนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล HR ต้องเข้าใจธุรกิจ เข้าใจเป้าหมายองค์กร เข้าใจระบบการทำงานภายใน คู่แข่ง ธุรกิจปรับตัวกันยังไง เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะส่งผลกระทบคนและองค์กรอย่างไรบ้าง เรื่องพวกนี้ทำให้เราช่วยสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและพนักงานให้กับบริษัท” 

ในแง่ของมุมมองของผู้บริหารที่มีต่อ HR คุณจ๋าก็ได้กล่าวไว้ดังนี้ 

“ผู้บริหารต้องการให้ HR เป็นเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่แค่เดินมาคุยเรื่องคนอย่างเดียว เขาต้องการให้เราเข้าใจเรื่องธุรกิจ เพราะถ้า HR ไม่เข้าใจธุรกิจ เราไม่คุยกันในฐานะธุรกิจ เขาจะรู้สึกว่า HR มีแค่หน้าที่ของการดูแลระเบียบวินัยของการทำงาน การทำงานจิปาถะเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจริง ๆ เขาไม่ได้คาดหวังแบบนั้น เขาคาดหวังให้เราเข้าใจธุรกิจ เข้าใจว่าบริบทที่เกิดขึ้นกับธุรกิจคืออะไร เขาถึงต้องการคนเพิ่ม ทำไมเขาถึงต้องลงทุนกับตรงนั้นเพิ่ม ถ้าเราตอบแค่ว่า ได้ค่ะหรือไม่ได้ค่ะ เราจะไม่ต่างอะไรกับระเบียบวินัยหรือหลักการบทกระดาษ ไปหาอ่านเองก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดเสียใหม่ว่า HR คือนักธุรกิจ”

ส่วนในแง่ของการเป็น HR ในสายตาของพนักงาน คุณจ๋าก็ได้พูดถึงไว้ว่า

“พนักงานเองก็เขาคาดหวังว่าเราควรจะเป็นเพื่อนคู่คิดให้เขา และรักษาผลประโยชน์ของเขาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความยากของการเป็น HR คือ การบาลานซ์ระหว่างสองเรื่องนี่แหละ เราจะโน้มเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากไม่ได้ เพราะมันจะทำลายสมดุลและจรรยาบรรณของการเป็น HR ไป”

ดังนั้นหากจะกล่าวว่าบทบาทของ HR มีความสำคัญมากกับองค์กรก็คงไม่เกินจริงไป เพราะ HR มีหลายเรื่องที่จะต้องตัดสินใจนอกจากแค่การดูแลเรื่องคน ทั้งจะต้องจัดการคนให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทและผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ก็ต้องเอาใจใส่ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิดและผลประโยชน์ของพนักงานด้วยเช่นกัน หากโจทย์ที่ได้มาคือการเปลี่ยนแปลงองค์กร HR กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องทางด้านนโยบายบริษัทและธุรกิจแต่อาจทำให้พนักงานเสียผลประโยชน์หรือรู้สึกไม่ดี คือปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ HR ต้องแก้ให้ได้

การเปลี่ยนแปลงบทบาทของ HR ยุคใหม่

บทบาทของ HR กำลังเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เข้ากับความต้องการขององค์กรยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หน้าที่ของ HR แบบเดิม ๆ ในอดีตส่วนใหญ่จะเน้นไปที่งานธุรการ เอกสาร บัญชี ฯลฯ เช่น การจ่ายเงินให้พนักงาน การจัดการผลประโยชน์ และการติดตามการลาป่วยและวันหยุดต่าง ๆ แต่ในยุคนี้องค์กรต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมมากขึ้นในการจัดการคน  ต้องมีโปรแกรมและกระบวนการที่จ้างพนักงานอย่างเป็นระบบ ดูพนักงาน และดูแลเรื่องศักยภาพของพนักงานซึ่งมีผลไปถึงการพัฒนาองค์กรด้วย นอกจากนี้บทบาทของ HR ก็ยังมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง  หน้าที่ของ HR คือต้องมีการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรที่ตอบสนองความต้องการเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจด้วย HR จำเป็นต้องทำงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของบริษัท ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญทีเดียวที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำแหน่ง HR ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้

หาก HR ในองค์กรไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับแนวคิดองค์กรยุคใหม่ในปัจจุบัน ผู้บริหารอาจจะต้องมีการตั้งคำถามกับ HR Director ว่าสมควรที่จะยังทำงานให้องค์กรต่อไปหรือไม่ เพราะองค์กรในปัจจุบันต้องการ HR ให้เป็นเพื่อนคู่คิด หาก HR เกิดความล้มเหลว ไม่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและไม่ได้ช่วยให้บริษัทได้รับผลกำไรเพิ่มมากขึ้น ก็อาจถึงคราวอวสานของบริษัทนั้น ๆ เลยก็เป็นได้

สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนี้ บทบาท HR ส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของ HR ต้องสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องมีการปรับตัว ยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงทิศทางได้รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย HR ด้วยกันทังนั้น

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

HR ยุคใหม่ ต้องทำอะไรบ้าง

ในยุคปัจจุบัน HR ถือว่าจำเป็นมากต่อการพัฒนาองค์กร เป็นทั้งหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ ผู้สนับสนุนองค์กรผู้สนับสนุนพนักงาน และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ ขององค์กรด้วย ซึ่งบทบาทเหล่านี้ของ HR มีการพูดถึงอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘Human Resource Champions’ โดย Dr. Dave Ulrich หนึ่งในนักคิดและนักเขียนที่เชี่ยวชาญที่สุดในสาขา HR ยุคปัจจุบัน และเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมิชิแกนด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ที่เข้าใจบทบาทที่สำคัญเหล่านี้ก็ควบตำแหน่งการเป็นผู้นำองค์กรในด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น การพัฒนาองค์กร การใช้กลยุทธ์ของพนักงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ และการจัดการและพัฒนาความสามารถของบุคลากร

เป็นพาร์ทเนอร์ด้านการดูแลกลยุทธ์ของบริษัท

สำหรับการทำงานในปัจจุบัน HR ต้องคิดว่าตนเองเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับบริษัท เพราะ HR มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาและบรรลุผลสำเร็จตามแผนธุรกิจและวัตถุประสงค์ทั่วไปของทั้งองค์กร การที่ HR จำเป็นต้องรู้เรื่องธุรกิจก็เพื่อซัพพอร์ตแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และวัตถุประสงค์โดยรวมของบริษัทให้ได้ ตัวแทน HR จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ที่ค่อนข้างลึกซึ้งเกี่ยวกับการดีไซน์ระบบงานแบบใหม่ที่ทำให้บุคลากรมีส่วนรวมและสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วย

การเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรในด้านการดูแลกลยุทธ์ต่าง ๆ นี้ส่งผลต่อบริการด้านทรัพยากรบุคคลค่อนข้างมาก เช่น การออกแบบตำแหน่งงาน การจ้างงาน การโปรโมท การทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ดูแลด้านระบบการพัฒนาและประเมินผลงาน การวางแผน Career Path และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วย เมื่อ HR เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก็จะสามารถจัดระบบเกี่ยวกับคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ HR ต้องคิดให้เหมือนนักธุรกิจ รู้จักการเงิน การบริหาร และเชี่ยวชาญด้านการลดต้นทุน การวัดผล และกระบวนการในทาง HR ทั้งหมดด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการซัพพอร์ตบริษัทในด้านกลยุทธ์สู่ความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะเรื่องของคนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีบุคลากรมาทำงาน บริษัทก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

เป็นคนดูแลผลประโยชน์ให้พนักงาน

ในฐานะ HR หน้าที่หลักสำคัญอีกข้อคือการซัพพอร์ตพนักงาน ซึ่งการที่จะซัพพอร์ตพนักงานนี้ HR ต้องมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจ มีส่วนร่วม และมีความสุขในการทำงานกับองค์กร การซัพพอร์ตพนักงานมีหลายวิธีมาก เช่น การสื่อสารที่ดี การเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพนักงานในองค์กร และทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทนี้ร่วมกัน ที่สำคัญคือ HR ควรคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของพนักงานเป็นหลัก ถ้าพนักงานรู้สึกว่าบริษัทเอาเปรียบหรือดูแลเขาไม่ดี เขาก็ไม่อยากทำงานให้องค์กร และไม่ว่าองค์กรจะมีนโยบายแบบใดก็ตาม สภาพจิตใจของพนักงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกว่าไม่อยากทำงานให้องค์กร ก็เท่ากับเราเห็นความหายนะรออยู่ตรงหน้าใกล้มากขึ้นมากเท่านั้น

เป็นคนพัฒนาองค์กร โดยการพัฒนาบุคลากร

การประเมินประสิทธิผลขององค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้ HR ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งในยุคปัจจุบันแบบนี้ ทั้งความรู้และความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์ การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ HR เป็นฝ่ายที่มีความสำคัญสำหรับองค์กรอย่างมาก การรู้วิธีเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงกับความต้องการเชิงกลยุทธ์ขององค์กรจะช่วยลดความไม่พอใจของพนักงานและการลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของพนักงานด้วย ซึ่งการพัฒนาองค์กรยุคใหม่นี้ ทำให้หน้าที่ของ HR มีความท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะต้องมีหน้าที่ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ติดตามความพึงพอใจของพนักงาน และการวัดผลพนักงาน จนไปถึงการซัพพอร์ตพนักงานทั้งทางกายและทางใจ

Design Thinking สำหรับ HR: วิธีการใช้ Empathy และความคิดเชิงออกแบบเป็นเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงคนในองค์กร

HR ต้องดูแลผลประโยชน์ของใคร? พนักงานหรือองค์กร

HR ถูกจ้างมาโดยองค์กร ทำงานให้องค์กร เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หน้าที่ของ HR คือการดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับองค์กรเป็นหลัก แต่การดูแลผลประโยชน์ให้พนักงานก็คือส่วนหนึ่งของการดูแลผลประโยชน์ขององค์กร เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทก้าวต่อไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จได้ก็คือพนักงานทั้งหมดที่ทำงานให้กับองค์กร

การเป็น HR จึงไม่ใช่แค่ทำงานธุรการ แต่เป็นการดูแลผลประโยชน์ของทั้งองค์กรและพนักงานควบคู่กันไป 

ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข รักองค์กร รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร ซึ่งเกิดจากการดูแลของ HR ก็จะทำให้องค์กรพัฒนาไปได้เร็วและไกลมากยิ่งขึ้น 

บทสรุป HR Roles

ในยุคสมัยที่หลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ของการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากถ้าเทียบจากสมัยก่อน หน้าที่ HR จากที่คนทั่วไปเข้าใจก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ในทุกวัน แต่หน้าที่หลักของ HR นั้นก็คือการดูแลรักษาหายและใจให้กับพนักงาน ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งไม่ว่าเราจะทำตำแหน่งอะไรก็ตาม ก็ควรจะศึกษาและเข้าใจในตำแหน่งหน้าที่ที่แท้จริงของ HR รวมถึงให้คุณค่าและความสำคัญกับ HR มากขึ้นด้วย เพราะยิ่งการทำงานของ HR พัฒนาขึ้นไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับพนักงานและองค์กรมากขึ้นเท่านั้น

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง