HIGHLIGHT
|
ไม่กี่ปีมานี้ เทรนด์การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังแทรกซึมไปอยู่ในทุกวงการ ทั้งฟรีแลนซ์สายนักเขียน กราฟิก สถาปนิก วิศวะ บัญชี พนักงานขาย การตลาด หรือแม้กระทั่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล จนเกิดเทรนด์อาชีพ Freelance HR หรือคนไทยเรียกสลับกันว่า HR ฟรีแลนซ์
เพื่อต้อนรับการมาถึงของยุค Digital Disruption ที่คนส่วนใหญ่หันหน้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์มากกว่าทำงานประจำ HREX จะพาไปทำความรู้จัก Freelance HR ว่าคืออะไร พร้อมบอกวิธีการเปลี่ยนตัวเองจาก HR ประจำมาเป็น HR ฟรีแลนซ์ รวมไปถึงช่องทางการหารายได้อีกด้วย
ที่สำคัญคือ ทุกคนก็สามารถเป็น Freelance HR ได้นะ ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม ไปทำความรู้จัก Freelance HR หรือ HR ฟรีแลนซ์ ให้มากขึ้นกัน
Freelance HR คืออะไร
Freelance HR หรือ HR ฟรีแลนซ์ คือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่เป็นอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะเป็นการทำงานที่ไม่ใช่พนักงานประจำ แต่จะเป็นการว่าจ้างเป็นครั้งคราว โดยรูปแบบการทำงานและค่าตอบแทนจะเป็นลักษณะใดก็ได้แล้วแต่ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน เช่น ฟรีแลนซ์ที่รับงานเป็นโปรเจกต์แล้วจบไป, ฟรีแลนซ์ที่มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ต้องการทำเป็นอาชีพเสริม หรือฟรีแลนซ์ที่รับงานเป็นประจำจากองค์กรหนึ่ง แต่ไม่ได้สังกัดในองค์กรนั้นๆ เป็นต้น
เช่นเดียวกัน Freelance HR ก็เป็นไปได้ทั้ง full time และ part time แปรผันตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนว่าจะให้ความสำคัญกับ work-life balance มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นความยืดหยุ่นและอิสระจึงเป็นกุญแจสำคัญของ HR ฟรีแลนซ์ทุกคน
เทรนด์ Freelance HR: เมื่อคนทำงานผันตัวเองกลายเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น
ต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ ๆ Freelance HR หรือ HR ฟรีแลนซ์ ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่เติบโตมาจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากได้รับความอิสระในการทำงานมากขึ้น
จะว่าไปแล้ว หากมองในภาพรวมอาชีพฟรีแลนซ์ถือเป็นเทรนด์โลกที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาแต่ไหนแต่ไร จนเกิด Gig Economy จากแรงผลักดันทางการเปลี่ยนแปลของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มข้อมูลระดับประเทศในรอบ 5 ปีพบว่า สายงานฟรีแลนซ์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 29.9% ต่อปี สวนทางกับเทรนด์การจ้างงานที่ลดลง เพราะฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่สามารถจัดสรรเวลาได้เอง และมีอิสระมากกว่าการเป็นลูกจ้างประจำ
สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Upwork ที่บอกว่า 51% ของคนทำงานฟรีแลนซ์ มีแนวโน้มที่จะไม่กลับไปทำงานประจำอีก และกว่า 84% ของฟรีแลนซ์สามารถใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ที่ตนเองต้องการได้ ขณะที่พนักงานทำงานประจำสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนต้องการได้แค่ 54%
นี่จึงเป็นเทรนด์ใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อพนักงานประจำผันตัวเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของ HR แน่นอน อย่างไรก็ตาม เราเคยได้เขียนบทความเกี่ยวกับ บทบาทใหม่ของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล มาแล้ว
แต่ในกรณีนี้ เราจะพูดถึงอีกมุมหนึ่งเมื่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองนั่นแหละ ที่อยากผันตัวมาเป็น Freelance HR หรือ HR ฟรีแลนซ์ เสียเอง
7 ขั้นตอนเปลี่ยนตัวเองให้เป็นฟรีแลนซ์ Freelance HR
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพไหน จะทำงานประจำหรือเป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้ว เมื่อต้องการผันตัวเองให้เป็น Freelance HR เรามีข้อแนะนำ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. รู้จุดแข็งของตัวเอง
โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะทำงานในอุตสาหกรรมใด เราควรจะตระหนักถึงการเพิ่มคุณค่าตัวเองในสายงานนั้น ๆ ผ่านการรู้จักตัวเองดีพอที่จะระบุถึงจุดแข็ง จุดอ่อน หรือความสนใจส่วนตัวที่ตัวเองทำได้ดี
ในสาย HR ก็เช่นกัน คุณต้องรู้จักอุตสาหกรรมและแง่มุมต่าง ๆ ของงาน HR เป็นอย่างดี และทราบว่าตัวเองเชี่ยวชาญในด้านไหนที่สุด เช่น เป็น HR ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสรรหาพนักงาน, เชี่ยวชาญเรื่องนโยบาย, เชี่ยวชาญเรื่องเอกสาร หรือเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาคน เป็นต้น
2. เข้าใจแรงจูงใจและแรงขับเคลื่อนของการเป็น HR ฟรีแลนซ์
ก่อนจะรับงานฟรีแลนซ์ เราต้องเข้าใจตัวเองทำไมถึงอยากเข้าสู่วงการนั้น ๆ ในกรณีนี้อาจมีเหตุผลแค่เพียงต้องการรายได้ที่มากขึ้น ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่น หรือต้องการโอกาสเติบโตส่วนบุคคล
เมื่อทราบถึงแรงจูงใจแล้ว เราก็จะสามารถวางแผนการรับงานและการปฏิบัติงานได้ แถมยังสามารถผลักดันให้ตัวเองพัฒนาไปข้างหน้า เพื่อเติบโตเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ ฉะนั้นตรวจสอบแรงผลักดันของตัวเองให้ดี เพื่อให้เราก้าวสู่เส้นทาง Freelance HR
3. กำหนดตลาดเป้าหมาย
การทำงาน Freelance HR เราต้องระบุตลาดเป้าหมายของคุณให้ชัดเจน เพราะการเป็น HR ฟรีแลนซ์ทั่วไปจะทำให้เราไม่ต่างอะไรจากคนอื่น แถมยังเกิดการแข่งขันที่สูงอีกด้วย ฉะนั้นเราต้องระบุให้เฉพาะเจาะจงขึ้น เพื่อมองหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศักยภาพของเรา วิธีนี้จะช่วยให้เราปรับตัวเองให้เหมาะสมกับตลาดและใช้ประโยชน์จากช่องว่างที่มีอยู่
ยกตัวอย่างเช่น การเป็น Freelance HR ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสรรหาพนักงานในสายบันเทิง, เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายสำหรับพนักงานงาน, เชี่ยวชาญเรื่องเอกสารในธุรกิจการส่งออกระหว่างประเทศ หรือเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาคนในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ยิ่งลึกและละเอียดเท่าไหร่ ก็จะทำให้เรายิ่งโดดเด่นนั่นเอง
4. วางแผนการเงินระหว่างเป็น HR ฟรีแลนซ์
แน่นอนว่า การเป็นฟรีแลนซ์นั้นมาพร้อมกับความไม่มั่นคงและรายได้ที่ไม่แน่นอน ต่างจากการเป็นพนักงานประจำที่มีหลักประกันในการได้เงินเดือนทุกเดือน นั่นจึงทำให้การเป็น Freelance HR เราจะต้องวางแผนเรื่องเงินเข้า-ออกเป็นอย่างดี
5. สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์
เอาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น HR ประจำหรือ HR ฟรีแลนซ์ โลกออนไลน์คือโอกาสชั้นดีที่จะหาลูกค้าหรือสร้างเครือขายเป้าหมายของตัวเอง โดยเราจะต้องสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างชาญฉลาดและน่าเชื่อถือ ผ่านคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานของตัวเองที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาเป้าหมายลูกค้าใหม่ ๆ ที่ต้องการ
ทั้งนี้ Freelance HR สามารถสร้างโปรไฟล์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้หลากหลาย เช่น Facebook, LinkedIn หรือ Instagram เพื่อเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก รวมไปถึงการสร้างโปรไฟล์บนเว็บไซต์ตลาดงานอิสระ เช่น Fastwork.co, FreelanceBay เป็นต้น
6. วางกลยุทธ์การตลาดของตัวเอง
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้กันมากที่สุด คือการใช้บุคคลอ้างอิงในการใช้งาน ทว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา พลัง และการโน้มน้าวใจให้ลูกค้าเหล่านั้นกล่าวถึงการทำงานร่วมกันเรา เช่น ให้รีวิวถึงข้อดี จุดแข็ง และประโยชน์ที่ได้ทำงานร่วมกันเรา ซึ่งจะช่วยให้ภาพลักษณ์ฟรีแลนซ์มีความแข็งแกร่งและน่าเชือถือมากขึ้น แถมยังสร้างโอกาสให้ลูกค้าสนใจ หรือการทำงานร่วมกันกับลูกค้าเดิมซ้ำอีก
7. ดำเนินการตามแผนที่วางไว้
เมื่อเราได้วางแผนและวางกลยุทธ์ทางการตลาดตัวเองอย่างรอบด้านแล้ว ก็ถึงเวลานำไปใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แนะนำว่าควรเริ่มแผนต่าง ๆ ทันทีเมื่อผันตัวเป็น Freelance HR หรือเริ่มงานเสริมทำ ไม่ควรผัดวันประกันพรุ่งหรือใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของเวลามาทำให้ตัวเองเฉื่อยชา จำไว้ว่าเรากำลังเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ และจำเป็นต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อประสบความสำเร็จในเส้นทาง HR ฟรีแลนซ์
ทำไมองค์กรถึงจ้างฟรีแลนซ์ในตำแหน่ง HR
เพราะปัจจุบันตลาดงานมีการแข่งขันสูงในทุกอุตสาหกรรมและทุกตำแหน่ง แม้แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่หลายครั้งองค์กรกลับหา HR ที่เชี่ยวชาญและมีคุณสมบัติตามที่ต้องการได้ยาก การค้นหาพนักงานประจำใหม่จึงอาจเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ผู้บริหารหลายท่านจึงออกนโยบายใช้งาน Freelance HR มากขึ้น และนี่คือช่วงเวลาที่องค์กรมักจ้าง HR ฟรีแลนซ์มากกว่า HR ประจำ
- ต้องการ HR อย่างเร่งด่วน: ตามรายงานของ Society of Human Resource Management พบว่า การจ้างพนักงานประจำจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 42 วัน ซึ่งการสรรหาตำแหน่ง HR อาจใช้เวลานานกว่านั้น คิดประมาณ 3-6 เดือนทีเดียว นี่ยังไม่รวมถึงระยะเวลาก่อนเริ่มงานและการเรียนรู้งานอีกด้วย ทำให้การเลือก HR ฟรีแลนซ์ที่พร้อมทำงานทันที ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว
- อนาคตองค์กรยังไม่แน่นอน: การเลือกใช้ HR ฟรีแลนซ์จะไม่ใช่การทำสัญญาแบบพนักงานประจำ ทำให้ไม่มีข้อผูกมัดระยะยาว และไม่ต้องสูญเสียสวัสดิการใด ๆ เพิ่มเติม หากเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือเปลี่ยนนโยบายการจ้างงาน ก็สามารถยกเลิกสัญญา Freelance HR ได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายชดเชยใด ๆ เพิ่มเติม
- ต้องการ HR ที่มีความสามารถเฉพาะทาง: เมื่อตลาดแรงงานมีการแข่งขันมากขึ้น HR ฟรีแลนซ์ก็จะพัฒนาทักษะตัวเองจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้องค์กรมีตัวเลือก Freelance HR มากมายที่ตอบโจทย์สิ่งที่กำลังต้องการ หนำซ้ำยังสามารถนำความรู้ที่ได้ มาถ่ายทอดให้กับ HR ประจำในองค์กรได้อีกด้วย
- ใช้งบประมาณและค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่น: Freelance HR จะรับค่าตอบแทนที่ยืดหยุ่นตามที่ตกลงกัน องค์กรสามารถต่อรองทั้งราคาและระยะเวลาได้ ต่างจากพนักงานประจำที่องค์กรต้องคำนึงถึงต้นทุนอื่นเพิ่มเติม เช่น การฝึกอบรม ค่าตอบแทน สวัสดิการ ภาษี และเงินชดเชย
Freelance HR จะหางานฟรีแลนซ์ได้จากที่ไหนบ้าง
มีหลากหลายช่องทางที่ HR สามารถหางานฟรีแลนซ์ได้ ซึ่งแต่ละช่องทางก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม เราได้รวบรวมช่องทางที่เป็นไปได้มากให้แล้วดังนี้
- ปากต่อปาก: เป็นการได้งานจากการเชิญชวนของคนรู้จักหรือไว้วางใจ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นจากเพื่อนร่วมงาน เครือข่าย หรือแม้กระทั่งครอบครัวของคุณเอง
- โซเชียลมีเดีย: กรณีนี้เกิดจากการทำการตลาดตัวเองของ HR ฟรีแลนซ์ในช่องทางต่าง ๆ อาทิ Facebook, LinkedIn, Twitter, Instagram หรือแม้กระทั่งบล็อกส่วนตัว หากมีการสร้างโปรไฟล์ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจมีผู้ติดตามหรือผู้สนใจติดต่อเข้ามาหาเราได้ทันที
- เว็บไซต์หางาน: job boards หรือเว็บไซต์หางานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถเลือกบริษัทผู้ว่าจ้างได้ตามที่ต้องการ รวมไปถึงข้อกำหนดคร่าว ๆ ตามที่องค์กรนั้น ๆ ประกาศหาว่าเหมาะสมกับเราไหม ทั้งนี้ในประเทศมีเว็บไซต์หางานทั้งประจำและฟรีแลนซ์มากมาย เช่น JobsDB.com, ThaiJob.com หรือ Reeracoen
- เว็บตลาดฟรีแลนซ์: Freelance Marketplace หมายถึงเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้ฟรีแลนซ์มาฝากประวัติหรือฝากผลงานไว้ เพื่อที่ว่าองค์กรหรือผู้ว่าจ้างจะเข้ามาค้นหาและเลือกฟรีแลนซ์ที่ต้องการ มีเว็บไซต์ชื่อดังในบ้านเรา เช่น Fastwork.co, FreelanceBay และเว็บไซต์ที่น่าสนใจอย่าง SourcedOut เป็นต้น
ทักษะสำคัญของฟรีแลนซ์ Freelance HR
โดยปกติแล้ว หน้าที่ของ HR ฟรีแลนซ์จะเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเหลือบริษัทด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ฟรีแลนซ์รับผิดชอบแตกต่างกันตามสัญญาและความรับผิดชอบ เช่น การกำหนดนโยบายและขั้นตอนสำหรับพนักงาน วางแผนกลยุทธ์ในการจัดหางาน และทำให้แน่ใจว่าเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมายด้วย โดยทักษะสำคัญที่จะทำให้ Freelance HR โดดเด่นขึ้นมาก็คือ
- ทักษะการจัดการองค์กร (Organizational skills)
- ทักษะการทำงานร่วมกับคน (People skills)
- ทักษะการตัดสินใจ (Decision-making skills)
- ทัศนคติเชิงบวก (Positive attitude)
- มุมมองตามความเป็นจริง (Realistic outlook)
- ความรู้ทางธุรกิจ (Business knowledge)
- ความสามารถในการสื่อสาร (Communication skills)
- ความรับผิดชอบ (Accountability)
- ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving skills)
- ทักษะการวางแผนและสร้างความสัมพันธ์ (Planning and relationship building skills)
การทำงาน HR ฟรีแลนซ์จึงควรมีสายตาที่เฉียบคม สามารถจดจ่อกับรายละเอียดมากมายที่ไม่สามารถผิดพลาดได้เลย นับเป็นการทำงานภายใต้ความกดดันไม่แพ้งานปะรจำ และต้องทำให้ทันต่อเวลา และที่สำคัญที่สุดคือการมีวินัยในตัวเอง เพราะไม่มีใครควบคุมการทำงานของเรา นอกจากตัวเรานั่นเอง
บทสรุป
หลังจากนี้เราจะเห็นคนทำงานผันตัวเป็น Freelance HR หรือ HR ฟรีแลนซ์ กันมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าใครจะเข้าสู่วงการนี้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคนเสมอ สิ่งนี้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ และเครือข่ายของตัวอง
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่จะเกื้อหนุนหรือขัดขว้าง Gig Economy กับการจ้างงานฟรีแลนซ์ แต่เราเชื่อว่า ตลาดจะเปิดกว้างมากขึ้น เพราะขณะนี้หลาย ๆ บริษัทต่างจ้าง HR ฟรีแลนซ์กันมากขึ้นแล้ว
Freelance HR จะเป็นวิถีใหม่ในวงการทรัพยากรมนุษย์ นี่คืออนาคตของการทำงานที่เรากำลังก้าวไปข้างหน้า และมอบโอกาสใหม่ ๆ ในเส้นทางสายนี้