สัมภาษณ์ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ HR จาก เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) องค์กรที่ยกย่องบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ

สัมภาษณ์ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ HR จาก เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) องค์กรที่ยกย่องบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ

น้อยคนนักในประเทศไทยที่จะไม่รู้จักแบรนด์ที่ชื่อว่า เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) หรือผู้ผลิตสาหร่ายปรุงรสที่อร่อยและครองความนิยมมา 20 ปีแล้ว 

แต่รู้หรือไม่ว่า สาหร่ายปรุงรสสูตรเด็ดจะครองใจผู้คนไม่ได้เลย หากเถ้าแก่น้อยปราศจากพนักงานที่ทำงานอย่างเต็มที่ แข็งขัน และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเหตุผลสำคัญนั้นก็มาจากการที่ทีม HR ขององค์กรร่วมด้วยช่วยกันสร้างบริษัทแห่งนี้ ให้กลายเป็นองค์กรที่ทุกคนอยากมาทำงานด้วยอย่างมีความสุขนั่นเอง

และนี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เถ้าแก่น้อย ได้รับรางวัล Best Companies To Work For in Asia ประจำปี 2023 จาก HR Asia ไปครอง

HREX มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ขององค์กร และก้าวต่อไปที่จะพัฒนาให้ เถ้าแก่น้อย เด่นยิ่งขึ้นไปอีก คุณปริญญ์ ให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาคนด้านไหนบ้าง มาหาคำตอบได้เลยในบทสัมภาษณ์นี้

สัมภาษณ์ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ HR จาก เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) องค์กรที่ยกย่องบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ

คุณคิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) ได้รับรางวัล Best Companies to Work for in Asia 2023 แล้วรางวัลนี้มีความหมายต่อองค์กรอย่างไรบ้าง ?

ปริญญ์: สาเหตุที่เถ้าแก่น้อยได้รับรางวัลนี้ เป็นเพราะเราเน้นการพัฒนาและการเรียนรู้ครับ เถ้าแก่น้อยมองบุคลากรทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของทุกองค์กร ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

บริษัทได้นำแนวคิด T-Shaped Model มาใช้ในการออกแบบการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เก่งทั้งแบบลึกและแบบกว้างหลากหลาย สอดรับกับความต้องการของบริษัทความเปลี่ยนแปลงและวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับการดูแลสวัสดิการของพนักงาน บริษัทให้ความสำคัญกับบุคลากร จึงนำแนวคิดการจัดสวัสดิการมาใช้เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพนักงาน โดยจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) ครอบคลุมเรื่องสุขภาพ การศึกษาบุตร และการพัฒนาตนเอง เป็นต้น ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีจากพนักงาน และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจพนักงานของบริษัทครับ

ส่วนการส่งเสริมความเป็นอยู่ร่วมกัน (Inclusivity) เถ้าแก่น้อยส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้าง และรับฟังเสียงจากพนักงานทุกคน เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศ เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม 

ขณะที่การจัดการความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ที่เถ้าแก่น้อยเราสนับสนุนการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว นำวิธีการทำงานแบบ Hybrid Workplace มาใช้ ให้พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ (Work Anytime Anywhere) พนักงานสามารถจัดสรรเวลาการปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง นอกเหนือจากเวลาปฏิบัติงานหลักที่บริษัทกำหนดไว้

ดังนั้น การที่เถ้าแก่น้อยได้รับรางวัลนี้จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อองค์กรของเราครับ นอกจากจะเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจดูแลพนักงานแล้ว ยังเป็นโอกาสในการดึงดูดบุคคลภายนอกที่สนใจได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น และยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงาน ตลอดจนถึงผู้บริหารในเถ้าแก่น้อยทุกคนครับ 

ที่ผ่านมา HR ฟังเสียงของพนักงาน แล้วนำมาปรับปรุงองค์กรให้น่าอยู่ น่าทำงานด้วยอย่างไรบ้าง

ปริญญ์: เราเน้นเรื่อง Employee Centric ในกระบวนการสร้าง Engagement ครับ นอกจากทำแบบสอบถาม Employee Survey เพื่อสำรวจความคิดเห็นแล้ว เรายังจัด Focus Group แยกแต่ละสายงาน และแยกพนักงานแต่ละระดับ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพนักงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

โดยเฉพาะประเด็นที่ผลจาก Employee Survey ได้คะแนนน้อยที่สุดสามลำดับแรก เราจะนำมาจัดทำเป็น Action Plan ร่วมกับผู้บริหารของแต่ละสายงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขประเด็นที่น่าเป็นห่วงเหล่านั้น เพื่อให้ทั้ง HR และผู้บริหารจากทุกหน่วยงานจนถึงระดับ C-Level มีส่วนร่วมในการปรับปรุงองค์กรให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้พบปะ หรือแสดงความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การจัด Townhall รวมทั้งการสื่อสารผ่านกล่องรับข้อเสนอแนะ ช่องทางออนไลน์ ผ่าน Line OA หรือ Application เพื่อใช้สื่อสารภายในองค์กร ให้เกิดการสื่อสารที่ทันท่วงทีครับ

สัมภาษณ์ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ HR จาก เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) องค์กรที่ยกย่องบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ

HR ยุคใหม่ สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กร ให้เป็นองค์กรที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วยได้อย่างไรบ้าง

ปริญญ์: แน่นอนครับ บทบาทของเราต้องสนับสนุนการเติบโตขององค์กร นอกจากนั้นเราเองก็ต้องสนับสนุน และสร้างระบบให้พนักงานที่ทำงานกับเราเติบโตไปพร้อมกันกับบริษัทด้วย

สิ่งที่เราทำคือพัฒนาและสนับสนุนทีมงาน วางแผนผังโครงสร้างสำหรับทีมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการทำงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน 

นอกจากนั้นเรายังสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนุกสนาน และสร้างกำลังใจให้พนักงาน เช่น บริษัทมีการตั้งเป้าหมายไว้ และเมื่อไปถึงเป้าหมายนั้น เราจะจัดให้พนักงานทุกคนได้ไป Outing ไปสังสรรค์ร่วมกัน ที่สำคัญเรายังเตรียมการให้มีการจัดกิจกรรม Well-Being เพื่อส่งเสริมความสมดุลทั้งร่างกาย อารมณ์ และสังคม ให้พนักงานได้เลือกในแบบที่ตนสนใจอีกด้วย

อีกสิ่งที่ทำคือการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร ที่สนับสนุนความเป็นอยู่ร่วมกันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และเรายังติดอาวุธให้กับพนักงานของเราให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งตัวบุคคล หรือกลุ่ม หรือให้พนักงานทำ Project ที่ท้าทาย และสร้างการเรียนรู้ที่จำเป็น

สุดท้ายคือการส่งเสริมให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) เพื่อใช้ข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจที่ถูกต้อง สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าทำงานและน่าอยู่ครับ

มีคำกล่าวว่า HR ยุคใหม่ต้องเป็นนักวางกลยุทธ์ และเป็น Business Driver เราจะเปลี่ยนตัวเองให้มีความพร้อมได้อย่างไร

ปริญญ์: HR กำหนดกลยุทธ์ของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ และแผนกลยุทธ์ขององค์กร นอกจากนี้ยังมีการทำ Goal Alignment ระหว่าง HR และหน่วยงานอื่น ๆ ให้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกันด้วย

นอกจากนี้ HR ยังเกาะติดสถานการณ์ในองค์กร ในประเด็นที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจ และนำเสนอข้อมูลทางด้าน HR เพื่อการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานภายในอย่างต่อเนื่องครับ

สัมภาษณ์ ปริญญ์ พิชญวิจิตร์ HR จาก เถ้าแก่น้อย (Taokaenoi) องค์กรที่ยกย่องบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ

เมื่ออนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน คิดว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้ HR มีภารกิจอะไรบ้าง ที่ต้องทำเพื่อยกระดับองค์กรและรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน

ปริญญ์: เรื่องแรกคือการพัฒนาทักษะและศักยภาพของพนักงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัท

ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความหลากหลายในองค์กร พัฒนา กระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพในงานเพิ่มมากขึ้น และตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจริงเป็นพื้นฐาน (Data Driven) 

HR ยังต้องติดตามและปรับปรุงกลยุทธ์ของ HR  ให้สอดคล้องกับบริษัท ด้วยการติดตามสถานการณ์ในสังคมไทยและในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งในด้านที่เป็นปัญหา และโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นครับ

อยากบอกอะไรกับ HR หรือ คนทำงานที่กำลังหมดไฟ และต้องการกำลังใจเพื่อเดินหน้าต่อไปบ้าง

ปริญญ์: ผมอยากบอกว่า ขอให้ทุกคนตั้งเป้าหมายในการทำงาน และตั้งใจที่จะทำมัน เพราะไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความล้มเหลวไม่ใช่จุดสิ้นสุด มันเป็นเพียงจุดเริ่มของการเรียนรู้และการเติบโต

เป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เสมอไป แต่ลองตั้งเป้าหมายกับเรื่องเล็ก ๆ เมื่อทำมันสำเร็จ เราก็เริ่มรู้สึกว่า Success ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง Don’t Give Up นะครับ

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง