Clazy Cafe สภากาแฟสำหรับคนรักการเรียนรู้ ที่เต็มไปด้วยพลังงานของคนที่พร้อมเปลี่ยนโลก

วันนี้หลายๆ คนเริ่มรู้สึกแล้วว่าการมีอาชีพเดียว ความถนัดเดียว อาจเสี่ยงเกินไปแล้วกับโลกที่ผันผวนรุนแรง ชีวิตที่แขวนไว้กับความวูบไหวของเศรษฐกิจและสังคมที่อาจล้มลงได้ทุกเมื่อเพียงแค่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

Clazy cafe คือคาเฟ่เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยพลังงานของคนที่พร้อมเปลี่ยนโลกแห่งนี้คือสถานที่ ที่คุณจะไม่กล้าเรียกมันว่าร้านกาแฟอีกต่อไปเพียงแค่ได้ไปเยือนในครั้งแรก เพราะใครจะไปเชื่อว่าด้วยพื้นที่จัดสรรสุดแสนกะทัดรัดแห่งนี้จะสามารถรองรับ Event ขนาดย่อมๆ ได้มากถึง 60-70 งานต่อเดือน มีคนไหลเวียนเข้าออกนับพันคน

แต่ละงานเกิดขึ้นจากความรัก ความสนใจ หลายๆ งานอาจตั้งต้นจากการเป็นเพียง Side project ของลูกค้าสักคนที่ถูกผลักดันและต่อยอดจากพลังเครือข่ายของคนใน Community จนก่อกำเนิดเป็นงานที่มีความสร้างสรรค์หลากหลายในขณะที่ก็เป็นงานที่ตรงความต้องการจริงของผู้ที่มาเยือน

ในบทสัมภาษณ์นี้ HREX.asia จะพาไปรู้จักกับชายหนุ่มพลังงานสูงทั้งสองท่านที่อยู่เบื้องหลังปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้ พวกเขาคืออดีตนิสิตสถาบันพี่น้องจุฬา (คุณเคลวิน) – ธรรมศาสตร์ (คุณอ๋อง) ที่เคยมีส่วนร่วมในการจัดงานส่งต่อแรงบันดาลใจอย่าง TEDxThammasatU หากคุณอยากรู้ว่าทำคนตัวเล็กๆ สองคนมีวิธีการอย่างไรถึงสามารถจุดชนวนสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีโมเมนตัมรุนแรงขนาดนี้ได้ หากคุณเคยสงสัยว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้าง Event ที่มีคนมาอยากเข้าร่วม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือคุณเป็น HR ที่อยากจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร ในบทความนี้จะพาไปสำรวจแนวคิดการบริหารจัดการ Community ในโลกยุคใหม่

HREX.asia หวังว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อาจเป็น Case study ที่คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

ตัวอย่าง Event ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน

  • ลับคมทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Analytical Thinking
  • My body dont worry เข้าใจหุ่นที่ใช่ แต่งตัวมั่นใจกว่าเดิม
  • The Pursuit of Happiness | ค้นหาความสุข ผ่านการเล่น Board Game
  • ลงทุนครั้งเดียว มีงบโฆษณาไม่อั้น
  • Feedback อย่างไร : ให้และรับอย่างสร้างสรรค์ !

สภากาแฟ: ร้านกาแฟ X Learning community

HREX : ถึงแม้ผมจะเป็นลูกค้าประจำของที่นี่ แต่ขอให้คุณเคลวินช่วยเล่าความพิเศษของ Café ที่นี่ให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ

คุณเคลวิน:  ก่อนอื่นเลยก็คือเราไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียงแค่ Café มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย เพราะเราต้องการที่จะเป็น Learning community space มาตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนอื่นผมอยากจะอธิบายที่มาของชื่อร้านว่า Clazy Café  มาจากการผนวกกันระหว่างคำสองคำคือ Crazy + Lazy หรือ บ้าบวกขี้เกียจ  เพราะเราต้องการสร้างพื้นที่ให้คนบ้าๆ ที่เชื่อในความเป็นไปได้มานั่งพักผ่อนกัน

ส่วนหนึ่งก็เพราะผมเชื่อว่าไอเดียมันเกิดจาก Eureka moment ซึ่งเป็นช่วงที่เรามานั่งพักผ่อนสบายๆ แล้วเกิดปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาว่าเราอยากสร้างสรรค์อะไรใหม่ให้เกิดขึ้น

คุณอ๋อง: Background ของทีมเราเกิดจากตอนแรกเราอยากจะเริ่มทำธุรกิจสักอย่างหนึ่ง เราก็พยายามหาคำตอบว่าจุดแข็งของเราคืออะไร อะไรที่เราจะสามารถสนุกไปกับมันได้ แต่ก่อนอื่นผมต้องเล่าก่อนว่าเราเคยจัดงานประเภท Event กันมาก่อน  โดยเริ่มจากการเป็น Consult ของทีม TED ที่เราเคยจัดที่ธรรมศาสตร์ในสมัยที่เราเป็นนักศึกษา

แล้วเราก็เริ่มรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่ามันมีความเป็นไปได้นะ ในการที่เราจะสร้าง Community โดยใช้ Event ให้คนได้มาพบเจอกันเพื่อ Drive ให้เกิดการต่อยอดทำอะไรบางอย่างในสังคมขึ้นมาได้ ซึ่งตอนแรกจริงๆ เรามองว่าจะให้มันเป็นเป็นร้านอาหารด้วยซ้ำ แต่เราดูแล้วว่า Model ร้านอาหารกับสิ่งที่เราจะทำใน Community มันไม่เข้ากัน ก็เลยตัดสินใจทำในรูปแบบคาเฟ่ร้านกาแฟ

HREX : ทำไมถึงเลือกที่จะสร้าง Community ที่เป็น Physical place ทั้งๆ ที่มีต้นทุนและความเสี่ยงมากกว่าการสร้างเป็น Digital community

คุณเคลวิน: เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ จะต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า Community คืออะไร เราต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมมนุษย์บนโลกใบนี้มันเปลี่ยนไปทำให้คนแยกกันมากขึ้น ปรากฎการณ์อย่างมือถือก็ทำให้เราต้องมานั่งแชทกันมากขึ้น ไหนจะรูปแบบการอยู่อาศัยจากสมัยก่อนที่คนอยู่เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนก็เปลี่ยนมาเป็นเป็นที่พักอาศัยแนวดิ่งอย่างคอนโดมิเนียมมากขึ้น รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้คนเรามี Human touch ที่เป็นปฎิสัมพันธ์แบบเห็นหน้ามองตาลดลงไปมาก

ซึ่งตัวผมเองเชื่อว่า Human touch มันมีความสำคัญ การคุยกันผ่านแค่ Online มันยังขาดความรู้สึกของความจริงใจหรืออบอุ่นใจ เหมือนกับว่าความเชื่อมโยงของความรู้สึกมันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เต็มที่เมื่อเทียบกับการพบเจอกันจริงๆ ด้วยความเชื่อแบบนี้เราเลยเลือกที่จะสร้าง Community ที่เป็น  Physical place ที่จับต้องได้ขึ้นมา

ที่นี่พอไล่ต่อมากับคำถามว่าเราจะสร้าง community ขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆ มันก็จะมีองค์ประกอบ 3 ข้อด้วยกัน

อันที่ 1 ก็คือ Physical place หรือ Digital place  ตัวนี้คือพื้นที่ที่ให้คนมาปฎสัมพันธ์กัน

อันที่ 2 ผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน

อันที่ 3 คนที่มีความรู้อยู่ในนั้น

หากดูจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยก่อนจริงๆ ร้านกาแฟมันคือพื้นที่ที่เป็น Community ให้คนมารวมกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก่อกำเนิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าสภากาแฟ เราเลยอาจพอจะพูดได้ว่าเราคือสภากาแฟในโลกยุคสมัยใหม่ โดยเราจะโฟกัสไปกับการที่คนจะได้มาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันโดยผู้ที่จะมาเป็นคนนำการสอนหรือทำกิจกรรมในแต่ละคลาสจะมีความพิเศษตรงที่เราเองจะมีส่วนปลุกปั้นกับเขามาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ว่าช่วงหลังๆ มานี้มันเริ่ม Develop ขึ้นจนเริ่มมีหลายหัวข้อใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

รัน Event ด้วยแนวคิด Lean ของวงการ Startup

HREX : ถ้าไปดูที่หน้าเพจเฟสบุ๊คของทางร้าน จะเห็นว่า Event/Class มีความหลากหลายสูงมาก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า Event ที่จัดจะออกมาเวิร์คหรือไม่เวิร์ค โดยเฉพาะ Event ที่ดูแปลกๆ

คุณอ๋อง:  Event ในร้านเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท  โดยประเภทแรกคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของร้านจะเป็น Original idea ที่พวกเราช่วยกันคิดขึ้นมา นอกจากนั้นอีก 3 ใน 4 จะเป็นไอเดียที่มาจากผู้ร่วมงานที่ผสมกันจากหลายๆ คน

ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดเด่นของร้านตอนนี้จะเป็นเรื่องของ Event ซึ่งจะสังเกตว่าทุกคนคาดหวังกับงานที่มันปัง งานที่มันใหญ่ แต่ความจริงแนวคิดในการทำ  Event ของเราเป็นอะไรที่ค่อนข้าง Lean มากๆ ครับ คือแต่ละคนที่มีไอเดียเกิดขึ้นมาในหัวแล้วอยากจะมาเริ่มทำกับเรา มันค่อนข้างยากมากสำหรับเค้าในการที่จะเริ่มแต่ละครั้ง เราก็เลยจะเข้าไปช่วยเค้าในการเริ่มโปรเจ็คต์ได้ง่ายขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างซักหนึ่งโปรเจกเพื่อความเห็นภาพ เช่น เราพบว่ามีคนไทยบางกลุ่มที่เวลารับข่าวสารอะไรก็ตามก็จะเชื่อในทันทีแล้วก็แชร์ต่อเลยโดยที่ไม่มีการ Fact checker (ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล)

สิ่งที่เราทำคือเราก็ลองจัดเป็น Event นึงขึ้นมาก่อนแล้วก็รวมคนใน Community ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็นนี้ เราเริ่มจากการลองไปถามคนนู้นคนนี้ดูว่าคนรู้สึกยังไงกับ Fake news เราลองทำ Survey สั้นๆ ดูก่อนแล้วก็ทำการ Train speaker จากคนใน Community เช่น คนที่ทำด้าน AI, ข่าวสาร บางคนก็เป็นอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ แล้วก็รวมคนขึ้นมาจัดเวทีทอล์คกัน ตอนนั้นชื่องานว่า Fake news and how to deal with it !!! โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไวมาก

HREX : แปลว่า Event แรกจะเป็นเหมือนโครงการรึเริ่มที่เราจุด Initiate ขึ้นมา โดยอาจจะยังไม่แพลนชัดเจนว่าในท้ายที่สุดมันจะออกมาเป็นหน้าตาแบบไหนใช่ไหมครับ

คุณเคลวิน: คือต้องเข้าใจก่อนว่ามันค่อนข้างยากที่จะสร้าง Event ที่มัน Success โดยที่ไม่ทดสอบก่อน เพราะตอนนี้เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วเป็นแค่เราคนเดียวหรือเปล่าที่เจอปัญหาหรืออินกับเรื่องนั้น  เพราะจากตัวอย่างในกรณีด้านบนมันเป็น Original idea ที่เกิดจากเราสองคน

ผมเจอปัญหานี้  ผมรู้สึกว่าผมอยากเอาเรื่องนี้ออกสู่สังคม อยากให้คนอื่นเห็น อยากให้คนอื่นรับรู้  ผมก็เลยลองก่อนโดยไม่ต้องติดว่ามันจะ Success หรือล้มเหลว แล้วเอา Feedback ตรงนั้นมาพัฒนา Event อย่างรวดเร็วจนมันเป็นการ Reprocess ที่ทำให้มัน Success มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงอย่างนั้นเราเองก็ไม่เคย Expect ว่างานเราจะต้องมีคนมา 100 คนภายในครั้งแรกที่จัด เราไม่ได้คาดหวังและพยายามจะจะทำอย่างนั้นตั้งแต่แรกแล้วด้วย

Dummy event: ผิดได้ พลาดได้ เพื่อสร้างพื้นที่ให้โปรเจกที่สร้างสรรค์ได้เกิดขึ้น

คุณอ๋อง: คิดง่ายๆ ให้ Event ของเราเป็นเหมือน Model startup ที่ Sprint เร็วมากๆ เราจะเริ่มคิดโจทย์ว่างานนี้ เราพูดลักษณะนี้ เราสื่อสารแบบนี้ คนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าคนไม่เข้าใจ โอเค ยังไม่เวิร์ค แล้วเราก็จะก็เปลี่ยนด้วยความรวดเร็วใน Event ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ Mental health อีกซักตัวอย่างก็แล้วกัน โดยมันเริ่มจากมีคนมา Request ประเด็นนี้กับเรา ซึ่งพวกไอเดียพวกนี้ส่วนใหญ่เราจะได้จากลูกค้าที่เดินเข้าร้านมา แล้วก็จะมาบ่นปัญหาเหล่านี้ให้เราฟัง

“หนูมีปัญหาว่าเพื่อนหนูเป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็มีปัญหาว่าทุกครั้งที่เราให้กำลังใจเค้าเนี่ย เหมือนกับอาการแย่ลง ไม่ดีขึ้นเลย จะทำยังไงดี”

วิธีการของเราเวลาที่มันมี Demand เข้ามาปุ๊ป เราก็จะมาทำ Survey ในตลาดก่อนว่าจริงๆ แล้วเนี่ย สิ่งที่คุณเป็นปัญหามันเป็นปัญหาจริงๆ ที่คนอื่นก็มีประสบการณ์ร่วม หรือมันเป็นปัญหาที่คุณมีอยู่แค่คนเดียว เราอาจจะเริ่มจากการทำ Survey ทางออนไลน์ อาจจะมีโพสต์ใน Page หรือในเฟสส่วนตัวก่อน  เราอาจจะบอกออกไปว่าเราอยากจะจัด Event แก้ไขปัญหาเรื่องนี้นะ จากนั้นพอมีคน Comment กันเข้ามา เราก็ได้ข้อมูลตรงนั้นมาออกแบบเพื่อทำเป็น Dummy event เพื่อเก็บ Feedback ต่อไป

เราจะชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Topic ในเรื่องนั้นๆ มามีส่วนร่วมกับ Dummy event โดยเราอาจจะเชิญผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยตัวจริง ผู้ที่หายป่วยแล้ว คนที่ทำงานกับภาครัฐบาล คนที่เป็นนักวิจัยอาชีพ รวมถึงนักบำบัดตัวจริงที่เคยทำงานกับผู้ป่วยมาแล้วมากมาย โดยเราให้คนทั้งหมดนี้มาเจอกัน แล้วให้คนแต่ละกลุ่มเสนอไอเดียออกมาเพื่อสร้างเป็นโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อต่อยอดเป็น Event ต่อไป เช่น ตอนนี้เราก็จะมีโปรเจกต์ตัวนึงที่ทำเหมือนเป็น Café therapy ที่ทำให้คนทั่วไปที่มีความเครียดมาระบายปัญหากับเราได้ แล้วก็จะมีคุณหมอมานั่งประจำอยู่ที่ร้าน

คุณอ๋องเล่าต่อว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการจัด Event คือการ ‘บริหารความคาดหวัง’ นั่นทำให้ Dummy event เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของ Clazy Cafe ในการประยุกต์ใช้เอาหลักการ Lean ในวงการ Startup มาใช้ในการออกแบบ Event ในทางปฎิบัติ โดยจะมีสื่อสารกับลูกค้าอย่างชัดเจนว่า Event นี้จะเป็น Event ทดสอบซึ่งฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยงานเหล่านี้จะไม่ได้มีการโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ให้คนภายนอกรับรู้ แต่จะแจ้งให้ทราบเฉพาะลูกค้าประจำของ Clazy cafe ใน Event อื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องกัน

คุณเคลวิน: คือต้องเข้าใจก่อนว่า Speaker หลายๆ คนหลังจากที่เค้ามีปัญหาหรือเกิดไอเดียกับตัวเองแล้วได้เข้ามาพูดคุยกับเราเค้าก็อยากจะพัฒนามาเป็น Organizer เพื่อเป็นคนจัด Event เอง  เราเองก็จะต้องดูก่อนว่าเค้ามีประสบการณ์เยอะมากขนาดไหน ถ้าเค้าเคยลองมาหลายเวทีแล้ว เราก็ให้เค้าเข้ามาจัดได้เลย แต่ถ้าเค้าไม่มีประสบการณ์ ยังไม่ชัวร์ในกลุ่มลูกค้า ยังไม่แน่ใจว่าไอเดียของเค้าจะเวิร์คหรือเปล่า สิ่งที่เราทำเพื่อสร้าง Dummy event ก็คือการที่เราจะประกาศหลัง Event อื่นๆ แต่ละครั้งว่า มี Event นี้เกิดขึ้นซึ่งจะเป็น Event ลับ อยากให้ทุกคนมากันเพื่อมาช่วยกัน Comment เป็น Positive feedback เพื่อพัฒนา Event ให้ดีขึ้นก่อนที่จะปล่อยออกไปแบบ Official

ในฟากฝั่งของผู้ร่วมงาน สิ่งนี้จะเป็นเหมือนสิทธิพิเศษของลูกค้า Clazy cafe ที่จะได้มา Event ฟรี  เพราะเค้ารู้อยู่แล้วว่า DNA ของ Clazy คืออะไร ในระหว่างงาน Dummy event เค้าก็อาจจะมาให้คำแนะนำกับ Speaker ในเรื่องของความคุ้มค่าว่า ‘เค้ามองว่าความรู้เท่านั้นเท่านี้ที่จะได้รับอาจจะยังไม่พอนะกับราคาเท่านี้ที่คาดหวังไว้’ ส่วนในฝั่งด้าน Speaker เค้า Happy มากเพราะเค้าได้อยู่ใน Safe space ที่เราจัดให้กับเค้า เช่น  Speaker บางคนก็จะ Request เลยว่าผู้เข้ามาร่วมงานต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ต้องเป็นกลุ่มช่วงอายุนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่ Dummy event พวกนี้ทำให้ Speaker มั่นใจมากพอและฝั่งลูกค้าก็ Approve แล้วว่าโอเค เราจึงจะปล่อย Event แบบ Official ออกไป

สุดท้ายแล้ว Speaker เหล่านี้ที่เราช่วยสร้างเค้าขึ้นมาส่วนใหญ่เค้าก็เลือกที่จะจัดงานกับเราต่อไปเพราะเค้ารู้สึกว่า Clazy cafe ช่วยเค้าเยอะตั้งแต่จุดเริ่มต้น พอมองแบบนี้ก็จะเห็นได้ว่า Clazy cafe เองก็ถือว่าเป็นคนผลิต Speaker ขึ้นมาเองได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ Speaker เหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นคนดังตั้งแต่แรก แต่เราอยากจะเรียกพวกเขาว่าเป็นว่าเป็นเพชรในถ่าน คือเก่งมากแต่ว่าคนยังไม่ค่อยรู้จักเพราะพวกเขาไม่เคย Present ตัวเองมาก่อนเลย มันก็เลยย้อนกลับมายังประเด็นที่บอกไว้ตอนต้นว่า Event พวกนี้มันก็คือ Side project ของพวกเค้านั่นแหละ แต่เราแค่เอามันลงมาขยายผลให้เข้าสู่วงกว้างมากขึ้น

คุณอ๋อง: จริงๆ ในอีกแง่นึงที่เราทำอะไรแบบนี้เรารู้สึกภูมิใจนะ เพราะว่าหลายๆ คนเค้าอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า เป็นคนที่ Burnt out   เพราะงานประจำเค้าก็ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพแต่ไม่รู้สึกว่ามันมี Meaningful ในชีวิต

ทีนี้หลายๆ ครั้งการที่เค้าได้ออกมาทำอะไรแบบนี้ เค้ารู้สึกว่ามันตอบโจทย์ เพราะเค้าสามารถมาช่วย Built อะไรให้กับตัวเองและสังคมได้ ซึ่งก็มีเคสแบบนี้ประมาณ 2-3 เคสแล้วที่อาจจะแบบไม่โอเคกับชีวิตมากๆ แล้วพอได้ลองมาทำ Event อะไรใหม่ๆ แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไปเลย เราบอกได้เลยว่าข้างนอกนั่นยังมีคนอีกมากที่เค้ามีไอเดียใหม่ๆ เจ๋งๆ แต่ยังขาด Resource ยังขาดนู่นขาดนี่ ซึ่งตอนนี้เราก็ได้พยายามขยาย  Community เราให้ใหญ่ขึ้นล่าสุดก็เปิด Space เพิ่มด้านบนของร้านที่เราเรียกมันว่า ‘Connect’ ซึ่งอยู่ชั้น 3 จุได้ 120 คน ตอนนี้เราเริ่มทำงานใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อขยาย Impact วงกว้างออกไป

ในมุมของผู้ก่อตั้งที่ได้สัมผัสกับกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิด คุณเคลวินบอกเราว่าถ้าใครที่เป็นลูกค้าประจำจะรู้เลยว่าคนที่เดินเข้าเดินออกร้านแต่ละคนที่จัดว่าไม่ใช่คนธรรมดา ถ้าหากคุณได้ลองรู้จักหรือพูดคุยกับพวกเขาจะรู้ได้เลยว่าสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วย ‘คนมีของ’ ถ้าไม่นับผู้จัดงานที่เก่งกาจหาตัวจับยาก ก็ต้องเป็นลูกค้า Passion แรงที่รักการเรียนรู้ หากใครอยากหาสถานที่ที่ใช้ทำ Networking เพื่อพบเจอเพื่อนใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ HR NOTE แนะนำว่าลองเลือก Event ที่ตรงกับความสนใจตัวเองและลองมาเยือนดูซักครั้ง

Life long learning: เมื่อตลาดแรงงานไทยกระหายพื้นที่ในการ ‘สร้างตัวตนขึ้นใหม่’

HREX : มีการทำนายว่าในโลกอนาคต คนเราต้องเปลี่ยนงานกันทุกๆ 5 ปีเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี คิดอย่างไรกับประเด็นนี้และคิดว่า Clazy cafe เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์นี้อย่างไรบ้าง

คุณเคลวิน: ส่วนตัวแล้วผมยังไม่ได้มีข้อมูลตรงนี้นะว่าเราต้องเปลี่ยนทุก 5 ปีหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่า มันมีความน่าสนใจที่ว่าคนทุกวันนี้เราน่าจะทำได้หลายอาชีพ แล้วก็มีความสามารถในการพลิกไปพลิกมาได้อย่างเป็นเรื่องปกติ หลายๆ คนก็จะมีอาชีพเสริมเหมือนกับเป็นการกระจายความเสี่ยง ยิ่งเราทำได้เยอะ ความคิดสร้างสรรค์จะสูง ความสามารถในการพลิกแพลง Adapt เอาตัวรอดเราก็จะสูงขึ้นตาม

กลับมาที่คำถามตั้งต้น ผมว่าเราอาจจะเปลี่ยนงานทุกๆ 5 ปีก็จริงในสิ่งที่เป็นเป็นอาชีพหลัก แต่อาชีพเสริมจค่อยๆ กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะทำมันควบคู่อยู่ตลอดเวลาอยู่ดี ในวันที่โลกไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ

จริงๆ แล้วตอนนี้อัตราการว่างงานของประเทศไทยอยู่แค่ 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยทั้งโลกจะอยู่ที่ 8.6% ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลตอนปี 2016  ซึ่งที่นี้ตลาดของบ้านเราไม่ค่อยตกงานกัน แต่ในทางกลับกัน พอเราไปนั่ง Research เราจะพบว่าในความเป็นจริงคนไทยทำงานนอกสายงานเยอะมาก โดยมีอัตรา Transformation สูงมากอยู่ที่ 60% เช่น เค้าอาจจะจบบัญชีแต่เค้าอยากย้ายงานมาทางนี้ เค้าจบศิลปะแต่เค้าอยากย้ายไปทางนู้น คนพวกนี้ก็จะพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่ออุดช่องโหว่ของทักษะ ผมว่าธุรกิจอะไรก็ตามที่มาจับทาง Transformation มันน่าจtเป็นเทรนด์ที่มาแน่ๆ อยู่แล้ว

สิ่งที่ Clazy cafe พยายามจะทำคือการจับจุดให้ได้เวลาที่มีเทรนด์อาชีพอะไรเกิดขึ้นก็ตาม โดยเราจะพยายามเชื่อมโยงเทรนด์เหล่านั้นเข้ากับ Topic ที่เป็นเรื่องของคนทั่วไปให้ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราเองก็จะมี Event ที่เป็นคลาสวิชาการที่จับกลุ่มพนักงานไปเลยเช่นอย่างพวกคอร์ส Specialized ต่างๆ เช่น Data science, Marketing  แต่ว่าใบสมัครเพื่อร่วมงานพวกนี้ใน Google form ก็จะมีการถามละเอียดเพื่อคัดกรองว่าคุณมีพื้นฐานความรู้พอเพียงในการเข้าร่วมงานหรือเปล่า

แต่ส่วนใหญ่งานของเราก็จะเป็นแบบ  Daily life, 101 สำหรับคนทั่วไปมากกว่าเพราะเราต้องการให้มือใหม่เค้าเข้ามามีโอกาสได้สัมผัส แล้วถ้ามีคนจำนวนที่มากพอที่สนใจจะไปต่อ เราก็เริ่ม Develop ขึ้นเป็นซีรีย์ 102 103 ต่อเนื่องกันไป

ด้วยวิธีการแบบนี้มันเลยเป็นเหมือนกับการที่เราทำ Event เพื่อทดสอบตลาดก่อน เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเรามั่นใจเวลาที่เราจะปล่อย Event อะไรออกไปแล้วจะมีคนสนใจมาเข้าร่วม เพราะเราจัดงานโดยยึดจากข้อมูลที่เราทำ Survey มาก่อน มันไม่มีอะไรที่เป็น Random ซักอย่างใน Event ของ Clazy cafe เลย

Community scaling: วัดผลชุมชนอย่างไร ?

HREX : เรามี Target ไหมว่าจำนวนยอดของคน Event ในแต่ละเดือนจะต้องเป็นเท่าไหร่  สำหรับคนที่ทำ Community เราควรจะมี KPI เพื่อวัดผลอย่างไรดี

คุณเคลวิน: ในการทำ Community ให้เรานึกถึงภาพห้องชมรมที่พอเรียนเสร็จแล้วเราก็รู้สึกว่าอยากมีที่นึงที่อยากไปนั่งเฉยๆ เราจะไปเจอใครก็ไม่รู้ แต่แค่คิดก็อยากไปแล้วเพื่อไปรู้จักกับคนใหม่ๆ

ทำให้ Community ที่ดีในมุมของผมมันควรจะมีคนใหม่ๆ มาเสมอ คนเก่าๆ ก็ผลัดกันเข้ามา จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีแต่คนเก่าๆ อยู่ นั่นก็แปลว่า Community ของคุณไม่ได้โตขึ้นยังไงล่ะ แต่ถ้ามีคนใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ มันก็เหมือนที่เรียนพิเศษที่มีคนเข้าๆ ออกๆ มีการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ

สิ่งที่เราต้องการก็คือการทำให้คนใหม่กับคนเก่ามีโอกาสได้มาเจอกัน ทำให้เกืดการปฎิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะได้ Amplify แล้วก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีทำยอดเหมือนกัน โดยตั้งเป้าให้มันค่อยๆ โตขึ้นไปเรื่อยๆ  แต่ปัจจุบันนี้เราก็จะมีข้อมูลอยู่นะว่าคาเฟ่ของเราจะมี Event อยู่ที่ประมาณ 60-70 งานต่อเดือน จำนวนคนตกอยู่ที่ประมาณ 600-1000 กว่าๆ

ความชื่นใจของคนทำชุมชน

HREX : ตั้งแต่แต่ทำ Clazy cafe มา โมเมนต์ไหนที่รู้สึกมีความสุขมากที่สุด

คุณเคลวิน: ผมว่าผมมีอยู่ 2 Moment

Moment ที่ 1 คือเราพบว่า Community ของเราขยายตัวไปเรื่อยๆ ขยายตัวจนกระทั่งว่าหลายๆ คนสามารถจะรับงานกับองค์กรขนาดใหญ่ได้ หรือว่ามีบริษัทใหญ่มา Approach เพื่อดึงตัวไป ซึ่งมันบ่งบอกศักยภาพของเราว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำมันน่าจะมาถูกทางนะ เพราะว่าถ้ามันผิดทางคนก็คงไม่เหลียวแลตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าหลายๆ คนสนใจดึงคนของเราเข้าไปช่วยสร้างสรรค์โปรเจกต์นู้นโปรเจกต์นี้  มี Speaker เจ๋งๆ คนนู้นคนนี้แวะเวียนเข้ามาร่วมงานอยู่ตลอดเวลา มีคนแวะเข้ามาปรึกษาว่ามีไอเดียนี้อยากจะให้ช่วยให้สร้างสรรค์ ต้องการคนใหม่ๆ แล้วก็จะมีการบอกต่อกันใน Community เพื่อ Recommend คนจากเราอยู่เหมือนกัน

Moment ที่ 2 เป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนที่ Burn out หรือคนที่ Fail ในชีวิตให้กลับมาติดไฟ มีความสุข ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆ และ Scale impact แค่คนเดียว แต่ในความเป็นจริง คนหนึ่งคนนั้นสามารถ Amplify หรือว่าสามารถให้ประโยชน์หรือว่าสามารถสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ให้คนได้เยอะกว่าที่คิด โดยโปรเจกต์หลายๆ อย่างของเราบางทีมันก็เกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างที่ได้เล่าไป แล้วต่อยอดจนกลายเป็นโปรเจกต์ใหญ่ อย่างตอนนี้เราก็ถือโปรเจกต์ในมืออยู่ประมาณ 16 ชิ้นที่กำลังวางแผนจะทำในปีนี้

คุณอ๋อง: มันเป็นเหมือนเสน่ห์ของ Clazy cafe อย่างหนึ่งนะ เวลาที่คนบอกว่า ขาหนึ่ง การเรียนรู้ยุคใหม่จะต้องไปในแนวทางของ Technology จะเป็นโลกดิจิตอลที่ทำให้เกิด Online learning เป็น platform ให้คนยุคใหม่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเราก็เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีช่วยได้มาก

แต่ตอนนี้อีกขาหนึ่งที่แบบ เฮ้ย ! คนเราอ่ะ ความเป็นมนุษย์ ยังไงมันก็ยังต้องมี Interaction กัน  มีการ Refer ผ่านกันเพื่อสร้าง Trust แบบ Face to face แล้วเราเองก็ดันมีโมเดลเป็นแบบ Community ที่เป็นสถานที่แบบ Physical store  ผลก็คือมันออกมาเวิร์คมากๆ ก็อยากให้ลองนึกภาพว่ามีร้านกาแฟที่ทำแบบเดียวกับเรามั้ย เพราะผมก็รู้สึกว่าที่เราทำกันอยู่ตอนนี้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นของใหม่สำหรับเทรนด์การเรียนรู้ในประเทศของเราอยู่เหมือนกัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง